ศอฉ.เตรียมตั้งคณะทำงานติดตามการชุมนุม 17-19 ก.ย.

ศอฉ.เตรียมตั้งคณะทำงานติดตามการชุมนุม 17-19 ก.ย.

ศอฉ.เตรียมตั้งคณะทำงานติดตามการชุมนุม 17-19 ก.ย.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม่ทัพ 3 เชื่อเสื้อแดงชุมนุมที่เชียงใหม่ไม่แรง คนชุมนุมน้อย เพราะฝนตกชุก แต่ไม่ประมาท ส่งทหารลงพื้นที่เกาะงานด้านการข่าว ป้องเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่ "สุเทพ" สั่งศูนย์ข่าวร่วมจัดทำมาตรการข่าวเชิงรุกดูแลสถานการณ์ 3 วันอันตราย 17-19 ก.ย. พร้อมตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องการดำเนินการทางกฎหมายภายใน 2 ชั่วโมง กรณีละเมิดกฎหมายและประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.ท.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงการจัดกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 17 - 19 ก.ย.นี้ โดยเชื่อว่าคนเสื้อแดงไม่น่าทำอะไรที่ก่อให้เกิดความรุนแรง แต่ทหารก็ไม่ได้ประมาท โดยให้ความสำคัญด้านการข่าวด้วยการให้ทหารลงพื้นที่หาข่าวตรวจสอบทางลึก ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง หากมีคนสร้างสถานการณ์จะได้ป้องกันเหตุร้ายได้ทันที

"พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม กำลังทหารในขณะนี้พร้อมอยู่ในที่ตั้งอยู่ตลอด หากเกิดเหตุร้าย ทหารก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลในพื้นที่ทันที แต่เบื้องต้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในความสงบ อย่าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจากรายงานฝ่ายข่าวพบว่าจำนวนผู้มาร่วมชุมนุมยังไม่เป็นไปตามเป้าที่เขาต้องการ และที่เชียงใหม่ก็มีฝนตกหนักอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีคนมาร่วมกิจกรรมน้อย" แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง / ผู้อำนวยการ ศอฉ. สั่งการให้ศูนย์ข่าวร่วม ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานด้านการข่าวจัดทำมาตรการด้านการข่าวเชิงรุกเพื่อดูแลสถานการณ์ในช่วง 3 วันอันตราย และเสนอต่อที่ประชุม ศอฉ.ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย.) ขณะเดียวกันได้ให้นโยบายหน่วยข่าวและตำรวจจับตากลุ่มต่าง ๆ โดยต้องรู้เป้าหมายปฏิบัติของกลุ่มเหล่านั้นให้ชัดเจน ไม่ใช่การข่าวแบบคาดเดา เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นให้ได้

ทั้งนี้ นายสุเทพ ยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลการจัดกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ให้กระทำผิดกฎหมายและไม่ละเมิดประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้แยกออกจากการกระทำของกลุ่มที่ต้องการสร้างสถานการณ์ ขณะที่ ศอฉ.จะตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ประชุมเพื่อประเมินและสั่งการให้จับกุมได้ภายใน 2 ชั่วโมง กรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วนกรณีการลอบสังหารบุคคลสำคัญ เป้าหมายหลักยังคงเดิม คือ ผู้นำทางการเมืองและผู้นำทหาร ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัย มาตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว โดยปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยและวิธีการตามห้วงเวลา ตามสถานการณ์มาตลอด อย่างไรก็ตาม ได้มีมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลเป้าหมายรองเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็เห็นว่ากรณีที่ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า มีกลุ่มคนชุดดำจะลอบทำร้าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้น อาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook