ซี8ศธ.ยันเดินหน้าต่อฟ้องศาลปค. เพื่อนขรก.แห่ให้กำลังใจ
เลขาก.พ.เผยซี8ศธ.ฟ้องศาลชวดเงินประจำตำแหน่ง แค่เข้าใจผิดเอง แจกคงสิทธิ์ขรก.ตามเดิม เจ้าตัวจวกกฎลักลั่น-เลือกปฏิบัติ อ้างเพื่อนร่วมงานโทรหนุนเคลื่อนไหวเพียบ
นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม กรณี นายประหยัด พิมพา นักวิชาการ 8 ว สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว ระงับ และหรือเพิกถอนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2551 หลังเสียสิทธิจากการยกเลิกระบบจำแนกตำแหน่งแบบซีแล้วจัดระบบจำแนกตำแหน่งแบบใหม่เป็นแท่ง ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากการปรับเข้าสู่ระบบจำแนกตำแหน่งแบบใหม่มีหลักการสำคัญคือ ต้องไม่ลิดรอนสิทธิข้าราชการ ใครเคยได้รับสิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนอย่างไร ก็ยังคงสิทธิตรงนั้น
"เกณฑ์ในการพิจารณาว่าสายงานใดสมควรได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่าใด มีหลายอย่าง อาทิ สภาพการณ์ของตลาดแรงงาน อัตราการจ้างงานภายนอกภาคราชการ ฯลฯ เพื่อให้สามารถแข่งขัน และรักษาข้าราชการที่มีคุณภาพสูงไว้ในระบบราชการได้"
นายปรีชา กล่าวอีกว่า กรณีของนายประหยัด สำนักงาน ก.พ.ได้ตรวจสอบกับ ศธ.แล้ว พบว่า เดิมได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือนในอัตรา 3,500 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ข้อ 6 ซึ่งหลังยกเลิกระบบซี นายประหยัดได้เปลี่ยนมาอยู่ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และยังคงได้รับเงินค่าตอบแทนเท่าเดิม ไม่ใช่ได้ 5,600 บาท ตามที่เข้าใจ
ด้าน นายประหยัด กล่าวว่า ทราบข้อมูลและเหตุผลที่สำนักงาน ก.พ.ออกกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2551 โดยกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ และระดับชำนาญการพิเศษ ที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 3,500 บาท และ 5,600 บาท มีเพียง 26 สายงาน ซึ่งเป็นสายงานวิชาชีพ (วช.) เดิม ที่เคยได้รับเงินประจำตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว
"แต่ยังยืนยันถึงความไม่เป็นธรรม ลักลั่น และเลือกปฏิบัติ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ กำหนดให้นักวิชาการ 7 ว และ 8 ว จัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ ที่จะต้องได้รับเงินประจำตำแหน่ง 3,500 บาท และ 5,600 บาท ตามลำดับ โดยอยู่แท่งเดียวกับ วช.แต่พอลงรายละเอียดถึงสิทธิที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง กลับระบุในบัญชีแนบท้ายกฎ ก.พ.ฉบับดังกล่าว ว่าต้องอยู่ใน 26 สายงานนี้เท่านั้น ถึงจะได้รับสิทธิในการได้เงินประจำตำแหน่ง ถือว่าลักลั่นอย่างยิ่ง"
นายประหยัด กล่าวอีกว่า เมื่อกฎหมายแม่ระบุให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งเหมือนกันหมด โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าจะต้องเป็นสายวิชาการ หรือวิชาชีพ ในกฎหมายลูกก็สมควรต้องสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ไม่ใช่กำหนดรายละเอียดที่เกิดความลักลั่นดังกล่าว ซึ่งทำให้สายวิชาการอีก 120 สาย ใน 19 กระทรวง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสียเปรียบ และไม่มีโอกาสได้รับเงินประจำตำแหน่งไปจนเกษียณอายุราชการ ทั้งที่ครูและข้าราชการพลเรือนสายวิชาชีพ ที่เทียบอยู่ในระดับ (ซี) เดียวกัน กลับได้เงินประจำตำแหน่ง 3,500 บาท และ 5,600 บาท ดังนั้น มองว่าแนวทางการเยียวยาในอนาคต สำนักงาน ก.พ.จะต้องกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าให้กับสายวิชาการด้วย โดยอาจให้สายวิชาการทำผลงาน หรืออบรมเพิ่มเติมในสายงานตัวเอง เพื่อมาปรับฐานเงินวิชาการต่อไป
"หลังมีข่าวฟ้องร้อง มีเพื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งสายงานเดียวกัน และสายงานอื่นโทร.เข้ามาแสดงความเห็นใจ และสนับสนุนกับการเคลื่อนไหวของผมครั้งนี้ คนอื่นๆ ไม่กล้าออกมาฟ้องร้อง เพราะหวั่นได้รับผลกระทบจากผู้บังคับบัญชา ดังนั้น จึงได้แต่ให้การสนับสนุนผม" นายประหยัดกล่าว