ศึกษาพบดญ.เสี่ยงถูกล่อลวงจากเทคโนโลยีสมัยใหม่
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอผลศึกษาอิทธิพลของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีต่อเด็กหญิงและเยาวชน สตรี พบการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงจากการถูกหลอกและล่อลวง ไปพบคนแปลกหน้าที่ได้รับการติดต่อจากการสนทนาออนไลน์ และถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางไม่ชอบ โดยเฉพาะในเว็บไซต์ลามกอนาจาร
นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการประชุมเชิงวิชาการหัวข้อ "อิทธิพลของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีต่อเด็กหญิงและเยาวชนสตรี" ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และเยาวชนกว่า 200 คน เข้าร่วมการประชุมว่า จากการศึกษาวิจัย "Girls in Cyberspace in Thailand : Dangers and Opportunities Research Project วัยรุ่นหญิงไทยในโลกออนไลน์ : อันตรายหรือโอกาส" ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การแพลน แห่งประเทศไทย โดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การจัดทำสนทนากลุ่มย่อยในกลุ่มเด็กผู้หญิงและผู้ชายในเขตเมืองและนอกเมือง ของจังหวัดกรุงเทพฯ ชลบุรี ระนอง และเชียงราย ซึ่งมีความหลากหลายทางสังคม ตลอดจนการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องและการเก็บข้อมูลจากการสำรวจผ่าน ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคมที่ผ่านมา
นายอิทธิพล กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเด็ก มี 3 ลักษณะ คือ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือและเกมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต เด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงจากเนื้อหาในการเข้าถึงสื่อผิดกฎหมายและไม่เหมาะสม กับวัย โดยเฉพาะเรื่องเนื้อหาทางเพศมีความเสี่ยงมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้งาน เช่น ออกไปพบคนแปลกหน้าที่ได้รับการติดต่อจากการสนทนาออนไลน์ การถูกล่อลวง การถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางไม่ชอบ โดยเฉพาะในเว็บไซต์ลามกอนาจาร รวมทั้งการถูกหมิ่นประมาทให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
ขณะที่เด็กผู้หญิงในเขตนอกเมือง ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าอินเทอร์เน็ต และระบบการสนทนาออนไลน์ เพราะสะดวกมากกว่า โดยใช้พูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ได้เบอร์ติดต่อจากระบบการสนทนาออนไลน์ และยังส่งผลต่อปัญหาเรื่องค่านิยมในการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปัญหาการค้าประเวณี และปัญหาเรื่องการค้ายาเสพติด
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอแนะ มี 4 ประการ ได้แก่ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้กรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ บังคับใช้กฎหมายในการจัดการความเสี่ยง, พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังและทำงานร่วม กับหน่วยงานภาคนโยบายและเอกชนที่เกี่ยวข้อง, การพัฒนาวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชน พ่อแม่ครูและชุมชน และผลักดันกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนกลไกลในการพัฒนาโอกาสในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อ สารในเชิงสร้างสรรค์