ยกฟ้อง รังสรรค์ จ้างฆ่า ประมาณ
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง "รังสรรค์ ต่อสุวรรณ" กับพวก จ้างฆ่า "ประมาณ ชันซื่อ" อดีต ปธ.ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ชี้ไม่มีเหตุจูงใจ ไม่น่าเชื่อว่ามีเรื่องจ้างวานฆ่าอยู่จริง
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง วันนี้ (21 ก.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีลอบสังหารฆ่าประธานศาลฎีกา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมพร หรือ หมา เดชานุภาพ นายเณร มหาวิลัย อาชีพค้าไม้ นายอภิชิต อังศุธรางกูร หรือ เล็ก สตูล นักธุรกิจ อดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง และนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ นักธุรกิจและสถาปนิกชื่อดัง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันใช้ จ้าง วาน ฆ่า นายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา
คดีนี้อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2535 - 25 พฤษภาคม 2536 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 4ได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนโดยใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมให้ นายอภิชิต จำเลยที่ 3 ติดต่อ นายบรรเจิด จันทนะเปลิน จัดหาบุคคลไปฆ่า นายประมาณ โดยจะให้ค่าจ้างมือปืน 1 ล้านบาท ซึ่ง นายบรรเจิด ตอบตกลง และติดต่อให้ นายสมพร จำเลยที่ 1 และนายเณร จำเลยที่ 2 จัดหาบุคคล ซึ่งได้นายประทุม สุดมณี และ นายบำรุง ชัยเมือง เป็นมือปืน และให้เงินกับทั้งสองเป็นเงิน 80,000 บาท และจำเลยที่ 1-2 ได้พา นายประทุม กับ นายบำรุง ไปดูบ้านพักของ นายประมาณ ในซอยศรีนคร ถนนนางลิ้นจี่ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. แต่ภายหลังทั้งสองทราบข่าวว่า นายประมาณ เป็นประธานศาลฎีกา จึงกลับใจไม่ยอมกระทำความผิด
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1-3 ได้ และจำเลยที่ 4 เข้ามอบตัว ชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพ แต่กลับให้การปฏิเสธในชั้นศาล ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาอ้างว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดฉากสร้างเรื่องเท็จเพื่อจับกุมดำเนินคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่ ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อาญา ม.289 (4) ซึ่งความผิดนั้นมีโทษประหารชีวิต แต่เมื่อความผิดไม่ได้ทำลงเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ผู้ใช้จึงต้องระวางโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษประหารชีวิตคือกึ่งหนึ่งของโทษจำคุก 50 ปี จึงให้จำคุกจำเลยทั้ง 4 คนละ 25 ปี จำเลยที่ 1-2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 ไว้คนละ 16 ปี 8 เดือน
ต่อมาจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วย
ศาลอุทธรณ์ตรวจประชุมปรึกษาหารือกันโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีนี้ พ.ต.ท.ประพันธ์ เนียรภาค สารวัตรสอบสวน สภ.อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ทราบเรื่องการจ้างว่าฆ่า นายประมาณ จาก นายประทุม และ นายบำรุง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 จึงเล่าเรื่องให้ พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ผบก.ป. (ขณะนั้น) และมีคำสั่งให้สืบสวนสอบสวน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2536 - 19 พฤษภาคม 2536 โดย นายประมาณ ให้การในชั้นสอบสวนและชั้นศาลว่า การปฏิบัติราชการของ นายประมาณ ทำให้จำเลยที่ 4 เกิดความเสียหาย เรื่องการสร้างอาคารศาลฎีกาแห่งใหม่ แต่ นายประมาณ ไม่ได้นำเอกสารราชการ เรื่องการสร้างศาลฎีกาซึ่งอยู่ในความควบคุมของกระทรวงยุติธรรม มาให้พนักงานสอบสวนหามูลเหตุจูงใจ ว่าทำให้จำเลยที่ 4 เสียหายและโกรธแค้นอย่างไร นอกจากนี้ ทางนำสืบยังได้ความจาก นายประมาณ เบิกความรับว่า ไม่ปักใจเชื่อว่าจำเลยที่ 4 จะเป็นตัวการในการจ้างวานฆ่า
ส่วนที่จำเลยที่ 4 มีข้อพิพาทเรื่องก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่พัทยา และข้อพิพาทเรื่องการทวงเงินค่าออกแบบห้างสรรพสินค้า เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ จำนวน 200 ล้านบาท ที่อาจทำให้จำเลยที่ 4 ไม่ได้รับค่าเสียหายนั้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักฐานของคู่ความและศาลจะเชื่อหลักฐานนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 4 จ้างวานฆ่า นายประมาณ จึงไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 มีมูลเหตุจูงใจใช้จ้างวานฆ่า นายประมาณ
สำหรับข้อพิพาทเรื่องการย้าย นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ ภรรยา จำเลยที่ 4 จากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และเรื่องวิกฤติตุลาการนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 และ นางยินดี ไม่มีอำนาจในการกีดกั้นตุลาการไม่ให้เข้าห้องประชุม เพราะเป็นคนภายนอกและแม้ผู้พิพากษาเองก็ไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวถ้าไม่มี หน้าที่ และเรื่องการย้าย นางยินดี เป็นเรื่องของคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ไม่ใช่ นายประมาณ เพียงคนเดียว อีกทั้งยังเป็นการโยกย้ายในระดับเดียวกัน ไม่ได้เป็นการถูกลดชั้น โดยหลังจากที่ นายประมาณ ได้เป็นประธานศาลฎีกาแล้ว มีหนังสือพิมพ์ข่าวพิเศษ เขียนบทความโจมตี นายสวัสดิ์ โชติพาณิช อดีตประธานศาลฎีกา ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว โดยกล่าวถึงความผูกพันของ นายสวัสดิ์ และจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เข้าไปในห้องประชุม ก.ต.เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 จึงเป็นพิรุธมีพฤติการณ์แสดงว่าร่วมกันสร้างมูลเหตุจูงใจเรื่องการจ้างวาน ฆ่า นายประมาณ
นอกจากนี้ คำสั่งสอบสวนคดีนี้ของพนักงานสอบสวนมีลักษณะในการสอบสวนย้อนหลัง จึงไม่น่าเป็นไปได้ ส่อแสดงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งจำเลยที่ 1-2 นำสืบว่า คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เกิดจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายของพนักงานสอบสวน เป็นคำรับสารภาพที่เกิดจากความไม่สมัครใจ และ นายประมาณ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง แต่รับฟังมาจากคนอื่น และที่พนักงานสอบสวนอ้างว่า ได้คุยกับ นายประทุม และ นายบำรุง ยอมรับว่ายังเหลือเงินที่ได้รับเป็นค่าจ้างฆ่า นายประมาณ อีก 10,000 บาทเศษ แต่ไม่ได้ยึดเงินดังกล่าวไว้เป็นของกลาง ทั้งที่เป็นหลักฐานที่สำคัญ เช่นเดียวกับหลักฐานภาพถ่าย ที่ นายประทุม อ้างว่า เป็นภาพถ่ายของ นายประมาณ ซึ่งเป็นเป้าหมาย เป็นหลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นว่า จะมีการจ้างวานฆ่า ดังนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับยกฟ้อง