2 ทุ่มได้ยินเสียงแปลกๆ ในห้องลูกชาย 4 ขวบ แม่ถึงกับอึ้ง เห็นสิ่งที่ย่าทำกับหลาน
ได้ยินเสียงแปลกๆ ในห้องลูกชายวัย 4 ขวบ ตอน 2 ทุ่ม แม่แอบมองและช็อกเมื่อเห็นสิ่งที่คุณย่ากำลังทำกับหลาน
เว็บไซต์ aFamily รายงานว่า คุณแม่ชาวจีนรายหนึ่งได้โพสต์เล่าเรื่องราวในครอบครัวของตัวเอง เมื่อในคืนหนึ่งเธอสะดุ้งตื่นเพราะได้ยินเสียงแปลกๆ จากห้องลูกชาย ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เธอรีบหยิบเสื้อคลุม เดินอย่างเงียบๆ ไปที่หน้าประตูห้อง แสงสลัวลอดออกมาจากช่องประตูที่แง้มไว้ ภาพที่เห็นทำให้เธอช็อกจนพูดไม่ออก
ภาพที่เธอเห็นคือแม่สามีกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าลูกชายของเธออายุแค่ 4 ขวบกว่า ในมือถือไม้เรียวเล็กๆ และพูดกับหลานด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “หลานต้องเชื่อฟัง ต้องเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ เป็นผู้ชายแล้วร้องไห้คืออ่อนแอ โตขึ้นไม่มีใครนับถือ” ขณะที่ลูกชายของเธอนั่งก้มตัว มือเล็กๆ กำชายเสื้อแน่น ตาแดงก่ำ ริมฝีปากเล็กๆ ของเขาสั่นเหมือนอยากพูดอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่กล้า
ในตอนนั้นเธอแทบอยากพุ่งเข้าไปเพื่อช่วยลูกชาย แต่ขาของเธอเหมือนถูกตรึงไว้ กลัวว่าถ้าโวยวายออกไปสถานการณ์อาจแย่ลง เธอยืนอยู่ตรงนั้นด้วยความเจ็บปวด ผิดหวัง และโกรธ ทำไมแม่สามีถึงสอนหลานแบบนี้? ลูกชายของเธอยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจคำพูดตำหนิเหล่านั้น และที่สำคัญเขาต้องการการกอดและความอบอุ่น ไม่ใช่การบังคับให้เข้มแข็งแบบนี้
หลังจากแม่สามีออกจากห้อง เธอก็เดินเข้าไปอย่างเงียบๆ ลูกชายสะดุ้งด้วยสายตาเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เมื่อเธอค่อยๆ ถาม เขาเล่าว่าเขาเล่นโยนบอลในบ้านจนทำของพัง เธอดึงเขาเข้ามากอด ปลอบโยนว่า “ไม่เป็นไรนะ แม่อยู่ตรงนี้แล้ว ถ้าหนูอยากร้องไห้ก็ร้องได้ ร้องไห้ไม่ใช่เรื่องอ่อนแอ มันเป็นวิธีที่ลูกบอกแม่ว่าลูกต้องการแม่” และนั่งข้างเขาอยู่นานจนเขาผล็อยหลับในอ้อมกอด
ลูกสะใภ้ตัดสินใจจับเข่าคุยกับแม่สามี
เช้าวันรุ่งขึ้น เธอตัดสินใจพูดคุยกับแม่สามี แม้จะเป็นบทสนทนาที่ไม่ง่ายเลย เธอพยายามพูดด้วยน้ำเสียงสงบว่า “แม่คะ ขอบคุณแม่มากที่ห่วงใยและดูแลหลาน แต่เมื่อคืนวิธีการของแม่อาจจะเข้มงวดไปหน่อย หลานยังเล็ก สิ่งที่แม่พูดอาจทำให้เขารู้สึกกลัวมากกว่าจะเข้าใจถึงความตั้งใจดีของแม่”
แม่สามีเงียบไปครู่หนึ่งก่อนตอบว่า “ลูกไม่เข้าใจหรอก สมัยแม่เลี้ยงลูก ถ้าไม่เข้มงวด ลูกๆ ก็จะเสียคน ทุกวันนี้เด็กๆ ถูกตามใจมากเกินไป โตขึ้นจะรับแรงกดดันไม่ไหว”
เธอถอนหายใจ เพราะรู้ว่านี่คือความคิดที่หยั่งรากลึกในตัวแม่สามี แต่ก็ไม่สามารถปล่อยให้สิ่งนี้ส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกชายได้ จึงพูดต่ออย่างนุ่มนวล “หนูเข้าใจว่าแม่หวังดี แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วค่ะ ทุกวันนี้เราพยายามเลี้ยงลูกด้วยการให้กำลังใจและช่วยเขาเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง แทนที่จะบังคับ หลานยังเล็ก หนูอยากให้เขาเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปี่ยมไปด้วยความรัก เพื่อที่เขาจะเผชิญกับชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่ใช่ความกลัว”
แม่สามีมองหน้าเธอด้วยแววตาที่ดูอ่อนลงเล็กน้อย “แม่ไม่ได้อยากทำร้ายหลานนะ แต่แม่ก็กลัวว่าเขาจะอ่อนแอ ถ้าเป็นเด็กที่ร้องไห้ตลอดแบบนี้จะไหวได้ยังไง”
เมื่อได้ยินแบบนี เธอจึงจับแม่สามีไว้ และพูดว่า “การเข้มแข็งไม่ได้หมายถึงการไม่ร้องไห้หรือเก็บความรู้สึกไว้คนเดียวนะคะ ความเข้มแข็งคือการรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ลุกขึ้นเมื่อพลาดพลั้ง และกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น”
หลังจากวันนั้น แม่สามีก็ดูเหมือนจะครุ่นคิดมากขึ้น แม้จะไม่ได้พูดอะไร แต่เธอสังเกตได้ว่าแม่สามีเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูหลาน และเปิดใจรับฟังเธอมากขึ้น ส่วนตัวเธอเองก็พยายามอดทน ไม่ด่วนตัดสินความคิดของอีกฝ่าย และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้น
บทสรุปจากเหตุการณ์ดังกล่าว
สุดท้ายเธอได้ตระหนักว่า ความขัดแย้งในการเลี้ยงดูลูกระหว่างคนต่างรุ่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือวิธีที่เราจัดการกับความแตกต่างเหล่านั้น หลังจากเหตุการณ์วันนั้น เธอเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจคือความอดทน การรับฟัง และการให้ความเคารพ
แทนที่จะเผชิญหน้าหรือวิจารณ์แม่สามี เธอเลือกที่จะสงบสติและรับฟังมุมมองของอีกฝั่ง เพราะรู้ดีว่าแต่ละรุ่นล้วนมีประสบการณ์และค่านิยมของตัวเอง และหากต้องการหาจุดร่วมกัน เธอต้องอธิบายอย่างนุ่มนวล พร้อมยอมรับความตั้งใจดีของแม่สามีในการดูแลหลาน สิ่งที่เธอทำไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธวิธีของแม่สามี แต่เพื่อเปิดมุมมองใหม่ที่เหมาะสมกับลูกชายในยุคปัจจุบัน
และยังได้เรียนรู้ว่า การแก้ไขความขัดแย้งต้องมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายร่วมกัน นั่นคือความสุขและการพัฒนาของลูก เมื่อทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของลูกเป็นอันดับแรก เราก็สามารถหาจุดที่เห็นพ้องต้องกันได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญคือแทนที่จะใช้การบังคับ เธอเลือกที่จะประนีประนอม และอธิบายว่าความเข้มแข็งไม่ได้หมายถึงการปิดกั้นอารมณ์ แต่คือการเข้าใจและควบคุมอารมณ์ของตัวเอง
บทสนทนาครั้งนั้นไม่เพียงช่วยให้แม่สามีมองหลานชายในมุมที่ต่างออกไป แต่ยังทำให้เธอเข้าใจว่า ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งเลวร้าย มันเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้และสร้างสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้ร่วมกัน และพยายามเป็นแม่ที่ดีที่สุดสำหรับลูกชาย
การเดินทางของการเป็นแม่และการเป็นสะใภ้คือบทเรียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด แต่เธอเชื่อว่า ด้วยความรักและความเข้าใจ ความแตกต่างทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ และที่สำคัญที่สุด ลูกชายของเธอสมควรได้รับการเติบโตในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรัก ความร่วมมือ และการเรียนรู้ร่วมกัน