เสี่ยขาว ซานติก้า มอบตัว! สู้คดี66ศพ
เสี่ยขาวซานติก้า มอบตัว หลังถูกหมายจับข้อหาร่วมกันกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต และข้อหาร่วมกันจัดตั้งสถานบริการยินยอมและปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ "พีระพันธุ์" สั่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเฝ้าซากตึก 24 ชั่วโมง หวั่นหลักฐานถูกทำลาย อัยการแจงเหตุสั่งไม่ฟ้อง เหตุศาลปกครองสั่งคุ้มครอง อยู่ระหว่างรอยต่อ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร กทม.เตรียมสรุปผลสอบซานติก้า 2-3 วันนี้
ความคืบหน้าคดี "ซานติก้า" ผับดังระดับประเทศประสบอุบัติเหตุเพลิงไหม้ในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่สน.ทองหล่อ นายวิสุข หรือ "เสี่ยขาว" เสร็จสวัสดิ์ อายุ 44 ปี หุ้นส่วนใหญ่ซานติก้าผับ เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต และข้อหาร่วมกันเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานบริการ ยินยอมและปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ โดยมี พล.ต.ต.โชคชัย ดีประเสริฐวิทย์ ผบก.น.5 พ.ต.อ. สุทิน ทรัพย์พ่วง ผกก.สน.ทองหล่อ ร่วมสอบปากคำในห้องฝ่ายปฏิบัติการจราจร สน.ทองหล่อ
นายวิสุข มีข้อสงสัยถึงกรณีที่ตนเองถูกออกหมายจับจึงสอบถาม พล.ต.อ.จงรัก รองผบ.ตร จึงอธิบายให้ทราบว่า หลังจากพนักงานสอบสวนได้สอบปาก คำพยานและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว มีความเห็นว่าผู้ต้องหาได้จัดให้มีการแสดงขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ทั้งๆ ที่สภาพอาคารไม่พร้อม อีกทั้งทางซานติก้า ผับมีการส่งเอสเอ็มเอสเชิญชวนแขกไปนับหมื่นราย และมีแขกที่เดินทางมาเที่ยวเกินกว่า 1,000 ราย เกินกว่าที่อาคารจะรับได้ นอกจากนี้ระบบรักษาความปลอดภัยภายในอาคารก็ไม่มี ถือว่าเข้าข่ายความผิดกระทำการโดยประมาท จึงต้องออกหมายจับ
จากนั้นเจ้าหน้าที่สอบปากคำนายวิสุขโดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นอันเสร็จสิ้น พล.ต.อ.จงรัก เปิดเผยว่า วันนี้ได้แจ้งข้อหาร่วมกันกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต และข้อหาร่วมกันเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานบริการ ยินยอมและปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่อายุต่ำ กว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการกับนายวิสุข เบื้องต้นนายวิสุข ให้การปฏิเสธทั้งสองข้อหา สำหรับนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ ในวันนี้ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อหาด้วย คาดว่าคงจะหลบหนีไปแล้ว โดยหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนที่จะต้องติดตามจับกุมมาดำเนินคดีต่อไป หากพบตัวที่ไหนจะจับกุมทันที
พล.ต.อ.จงรัก กล่าวต่อว่า นายวิสุข ยื่นคำร้องขอประกันตัว ทางพนักงานสอบสวนจะนำมาตรฐานคำสั่งเดียวกับการกำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้อง หาซึ่งทางศาลอาญาใช้เป็นหลักเกณฑ์นำมาเทียบ เคียง ปกติแล้วข้อหากระทำการโดยประมาทนี้ใช้ หลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นเรื่องที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตถึง 66 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้เพิ่มหลักทรัพย์เงินประกันเป็น 1 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ประกันตัวหรือไม่ พล.ต.อ.จงรัก ตอบว่า ทางพนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือจะต้องพิจารณาความหนักเบาของข้อหา รวมทั้งพฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดี และต้องดูว่า หากให้ประกันตัวแล้วผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ แต่การที่ผู้ต้องหาเข้ามามอบตัวเองก็แสดงว่าผู้ต้องหาไม่น่าจะหลบหนี ถือว่าเป็นประโยชน์ในการใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราว
พล.ต.อ.จงรัก กล่าวอีกว่า สำหรับคดีนี้จะต้องมีการออกหมายจับบุคคลอื่นอีกแน่นอน แต่ต้องรอผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์อีกเล็กน้อยก็จะรู้สาเหตุที่ชัดเจนของเพลิงไหม้ครั้งนี้ ขณะนี้มีทั้งพยานบุคคลและภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือทำให้พอจะรู้บ้างว่ามีใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง หากหลักฐานพาดพิงถึงใครก็จะถูกดำเนินคดีทั้งหมด
ต่อข้อถามที่ว่า กรณีที่รมว.ยุติธรรม ออกมาระบุว่า ต้องมีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนรับผิดชอบ และปล่อยปละละเลยเกี่ยวกับเรื่อง ใบอนุญาต ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ เขต รวมทั้งการสั่งไม่ฟ้องจำนวนหลายคดีมีความเห็นอย่างไร พล.ต.อ.จงรัก ตอบว่า เป็นสิ่งที่ดีที่รมว. ยุติธรรมเข้ามาดูแล จะได้ทราบว่าช่วงเวลาที่ซานติก้าผับเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา มีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบหรือรับผลประโยชน์ในการปล่อยปละละเลย ซึ่งทางสตช.เองมีมาตรการเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว
ด้านนายวิสุข กล่าวว่า วันนี้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอให้การในชั้นศาล ส่วนเงินประกันเตรียมเงินสดมาเพียงแค่ 500,000 บาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะติดต่อให้เพื่อนนำมาให้เพิ่มเติม สำหรับนายสุริยา นั้นขณะนี้กำลังพยายามติดต่ออยู่ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้เลยตั้งแต่วันเกิดเหตุ ส่วนกรณีที่ตำรวจระบุว่า ทางซานติก้าผับ มีการส่งเอสเอ็มเอสเชิญชวนแขกไปนับหมื่นรายนั้น ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องของทีมงานการตลาด
จากนั้นนายวิสุข ขอตัวไปทำเรื่องการประกันตัว โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายวิสุข ไปพิมพ์ลายนิ้วมือที่หน้าห้องขังชั้น 2 ของโรงพัก ก่อนรอผลพิจารณาคำร้องขอประกันตัว จากผบก.น.5 ก่อนประกันตัวออกไป
วันเดียวกัน นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เหตุที่อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้บริหารซานติก้าผับ ที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ จับกุมดำเนินคดี ฐานจัดตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายสุราในเวลาห้ามนั้น อัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะนั้นมีคำสั่งของศาลปกครองสั่งคุ้มครองซานติก้าผับอยู่ เมื่อตำรวจส่งสำนวนสั่งฟ้องมา อัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้ผิดจึงสั่งไม่ฟ้อง ส่วนที่มีการระบุว่าอัยการไม่พิจารณาสำนวนในระยะเวลาอันควรนั้น ที่จริงช่วงเวลาที่มีการส่งฟ้องซานติก้าผับให้อัยการพิจารณาสั่งคดี แต่อัยการที่รับผิดชอบสำนวนคดีขณะนั้นมีปัญหาสุขภาพไม่สบาย ไม่ใช่เรื่องไม่พิจารณาสำนวนในเวลาอันควร ส่วนที่มีการรวมสำนวน 47 สำนวนตั้งแต่ปี 2547-49 เป็นคดีเดียวกันและภายหลังรวมมี คำสั่งไม่ฟ้องนั้น เข้าใจว่าเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแบบวันเว้นวัน ติดต่อกันมาแล้วส่งสำนวนให้อัยการ อัยการจึงรวมเป็นคดีเดียวกัน และที่สั่งไม่ฟ้องน่าจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างกฎหมายควบคุมอาคาร อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลคดีทั้งหมดมาตรวจสอบ และพร้อมจะแถลงรายละเอียดทั้งหมดให้ทราบภายในวันที่ 14 หรือ 15 ม.ค.นี้
ที่กระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า สั่งการให้พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปเฝ้าซากอาคารซานติก้า ผับ ตลอด 24 ชั่วโมง หลังพบว่าขณะนี้ไม่มีตำรวจเข้าไปดูแลอาคารดังกล่าว มีเพียงการกั้นแนวเชือกไม่ให้บุคคลเข้าออกเท่านั้น อาจทำให้มีคนเข้าไปภายในอาคารและทำลายหลักฐานที่ยังไม่มีการตรวจสอบได้ โดยตนเชื่อว่าคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรมจะสามารถสรุปผลได้ในอีก 3 สัปดาห์ โดยจะมีการขยายผลในอีกหลายประเด็นเชื่อว่าจะมีรายละเอียดที่มากกว่าทางตำรวจ
ที่อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.เป็นประธานประชุมผู้ประกอบการอาคาร เรื่อง "ความปลอดภัยในอาคารจากอัคคีภัย" สำหรับเนื้อหาของการประชุมประกอบด้วยการแนะนำในเรื่องความปลอดภัยของอาคารตามที่กฎหมายกำหนด กฎหมายควบคุมสถานบริการและใบอนุญาต การติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย การรับผิดชอบของเจ้าของอาคาร ทั้งนี้ ก่อนการประชุมได้มีการยืนไว้อาลัยให้กับเหยื่อจากเหตุการณ์ซานติก้า ผับเป็นเวลา 1 นาทีด้วย
พ.ต.ท.กิตติธัช พิมพ์ทนต์ รอง ผกก.ฝอ.6 บก.อก.บช.น. กล่าวตอนหนึ่งว่า กรณีของซานติก้าผับ ที่มีการปล่อยให้นักเที่ยวเข้าไปเป็นจำนวนมากเกินกว่าพื้นที่ของผับจะรับได้นั้น ตามกฎหมายสถานบริการ ไม่สามารถเอาผิด เพราะกฎหมายสถานบริการตั้งแต่ พ.ศ.2509 จนถึงฉบับปัจจุบัน ไม่มีการระบุความผิดเกี่ยวกับเรื่องจำนวนคนเข้า มีแต่เพียงกำหนดให้สถานที่ต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น ซึ่งตรงนี้นับเป็นจุดอ่อนของ พ.ร.บ.สถานบริการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎกระทรวงสถานบริการที่ คณะทำงานอยู่ระหว่างการร่างนั้น จะดำเนินการแก้ไขโดยใส่ข้อความในเรื่อง การกำหนดจำนวนคนเข้า ไปด้วย
น.พ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรมการบริหาร สปสช. เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ด สปสช. มีมติอนุมัติให้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ ซานติก้าผับ เฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งสิ้น 31 ราย ในจำนวนนี้เป็นสิทธิ์ว่างที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนในระบบบัตรทอง 6 ราย ซึ่งสปสช. ให้ความดูแลรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลให้ด้วย
น.พ.ประทีป กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บทั้ง 31 ราย แบ่งเป็นการรักษาแบบไปกลับ 24 ราย นอนพักรักษาที่โรงพยาบาล 7 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยในจำนวนนี้ได้รักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายของ สปสช. เพียง 6 ราย ซึ่งส่วนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลเพราะสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ สปสช. ได้ทันที ซึ่งยังนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 5 ราย ส่วนที่เหลืออีก 25 ราย รวมถึงผู้เสียชีวิต 3 รายด้วย ถูกส่งตัวรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งอยู่นอกเครือข่ายของสปสช. 12 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลคามิลเลียน โรงพยาบาลพญาไท 1, 3 โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ เป็นต้น รวมมูลค่าค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น 3,429,320.34 บาท ในส่วนนี้ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะรับ ผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะเป็นการรักษาในกรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ตามมาตราที่ 7 และขณะนี้ยังมีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 2 ราย
วันเดียวกัน นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ย่านเอกมัย ว่า คาดว่า 2-3 วัน คณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวในส่วนของกทม.จะรายงานผลมายังตนได้ นอกจากนี้ กทม.ยังได้ส่งรองปลัดกทม. เข้าไปร่วมในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่กระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้น เพื่อให้การตรวจสอบมีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนกรณีไฟไหม้ซานติก้าผับ ของกระทรวงยุติธรรม สรุปผลสอบเบื้องต้นระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่เขตวัฒนา ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ด้วยนั้น ตนยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้หากพบความผิดที่ชัดเจนก็ต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัย
ปลัดกทม. กล่าวด้วยว่าในส่วนที่เจ้าของอาคารที่ยังไม่ได้ยื่นรายงานผลการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารมายัง กทม. จากที่เหลือ 2,000 ราย ล่าสุดได้ยื่นรายงานการตรวจสอบอาคารเข้ามาแล้วเหลืออีกกว่า 1,000 ราย โดยรายที่เหลือจะต้องยื่นรายงานเข้ามาภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นกทม.จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนในเรื่องของการตรวจสอบอาคารนั้น มอบหมายให้รองปลัดตามกลุ่มโซน ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคาร 9 ประเภทให้เป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้ เบื้องต้นจะให้คำแนะนำเจ้าของอาคารในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุงอาคาร หากไม่ดำเนินการปรับปรุงเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถออกคำสั่งให้ทำการแก้ไขภายใน 7-15 วัน ถ้ายังไม่ทำการปรับปรุงอีกจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ