คลังชง ครม.ไฟเขียวยกเว้นภาษีประกันชีวิตเพิ่มอีก 1 แสนบาท
กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นภาษีเงินได้ค่าเบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ จากเดิมไม่เกิน 1 แสนบาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 2 แสนบาท
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นภาษีเงินได้ค่าเบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ จากเดิมไม่เกิน 1 แสนบาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 2 แสนบาท เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้มีเงินได้ ทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสะสมเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณอายุ ซึ่งจะสร้างหลักประกันความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิต และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการออมให้กับผู้มีเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท
ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงานว่าการเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าในปัจจุบันผู้มีเงินได้พึงประเมินสามารถนำค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปคำนวณหัก เป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้ เป็นจำนวน 10,000 บาท และยกเว้นภาษีเงินได้อีกเป็นจำนวน 90,000 บาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท
ขณะที่กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญมีผู้ทำสัญญาประกันชีวิตเป็นจำนวน ไม่มากนัก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ได้เสนอให้พิจารณาขอหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีสำหรับค่าเบี้ย กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้น และเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2552 ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่เสนอขอให้หักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ โดยให้อยู่ในวงเดียวกันกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสล.) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ด้วย
นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลสำหรับเรือที่เดินทางไป-กลับ ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ที่จัดเก็บอยู่ในร้อยละ 34 ควบคู่กันไปด้วย เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลไทย และมาเลเซีย ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย หรือเจดีเอ เพื่อสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติปิโตรเลียมร่วมกัน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่ขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต เทียบระยะทาง ไป-กลับ จากชายฝั่งถึงแปลงสำรวจต่าง ๆ ในเขตพื้นที่เจดีเอ หากมีปริมาณการใช้น้ำมันเกินกว่าปริมาณที่คำนวณได้ตามระยะทางในอัตราที่กำหนด ก็จะยกเว้นภาษีให้เฉพาะตามปริมาณที่ใช้จริง แต่ไม่เกินปริมาณที่คำนวณได้เท่านั้น
"การยกเว้นภาษีทั้ง 2 ประเภทนั้นเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลมากนัก แต่จะเป็นการดีเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้หลังเกษียณอายุ ซึ่งจะช่วยลดภาระรัฐบาลได้อีกทางหนึ่ง เพราะจากนี้ไปสังคมไทยจะก้าวข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายเรื่องกองทุนบัญชีเงินออมแห่งชาติและผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แล้วจะยิ่งเป็นการส่งเสริมการออมให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น" รายงานข่าว กล่าว