เพิ่ม 8 พื้นที่เขตรักษาพันธุ์และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พร้อมอนุญาตเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก

เพิ่ม 8 พื้นที่เขตรักษาพันธุ์และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พร้อมอนุญาตเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก

เพิ่ม 8 พื้นที่เขตรักษาพันธุ์และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พร้อมอนุญาตเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติเพิ่ม 8 พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่งใน จ.พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 6 แห่ง พร้อมอนุญาตเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 เห็นชอบเพิ่มเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าใหม่ 2 แห่งดังนี้ กำหนดบริเวณที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม ป่าสงวนแห่งชาติป่าแดง และป่าชาติตระการ ป่าสงวนแห่งชาติป่าลำน้ำภาค และป่าลำแควน้อยฝั่งซ้ายเนื้อที่ 151,965 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขัด จ.พิษณุโลก ส่วนอีกแห่งให้กำหนดบริเวณที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากะทูน และป่าปลายกะเบียดเนื้อที่ 61,811 ไร่ ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งเห็นชอบประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเพิ่มอีก 6 แห่งดังนี้ 1.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ จ.นครศรีธรรมราช เนื้อที่ 64,496 ไร่ 2.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร เนื้อที่ประมาณ 16,208 ไร่ 3.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย จ.สระบุรี เนื้อที่ 34,396 ไร่ 4. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า จ.นครราชสีมา 5.กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลอยไร่ ป่าสักลอ และป่าน้ำพุง เนื้อที่ 17,712 ไร่ ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ จ.พะเยา-เชียงราย และ 6.กำหนดพื้นที่สวนป่าที่หมดอายุการให้สัมปทานของกรมป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ท้องที่ ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 3,902 ไร่ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำนางรอง จ.บุรีรัมย์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหานกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก ซึ่งผู้ประกอบการเพาะเลี้ยง ได้เสนอให้เพิกถอนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 นั้นที่ประชุมเห็นชอบอนุญาตให้เพาะเลี้ยงได้ แต่จะยังไม่เพิกถอนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำนกจากธรรมชาติออกมาขาย ส่วนกรณีที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ซึ่งได้เสนอเรื่องให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 ต.ค.2533 เรื่องการห้ามส่งงูมีชีวิตและหนังงูที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร เพื่อให้สามารถยกเว้นส่งออกงูสวยงามที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงไปขายได้นั้น เห็นว่าข้อมูลและการศึกษาวิจัยยังไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่พิจารณาในคราวนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook