อัยการธนกฤต เผยเคส ตึก สตง. 2 พันล้าน ถล่มจากแผ่นดินไหว ใครต้องจ่ายเงินสร้างใหม่

อัยการธนกฤต เผยเคสตึก สตง. ถล่มจากแผ่นดินไหว สัญญาระบุชัดใครต้องรับผิดชอบ จ่ายเงินสร้างตึกใหม่
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2568 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความ และกฎหมายพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thanakrit Vorathanatchakul กรณีตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลงมาหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว
โดยกล่าวถึง ความรับผิดของผู้รับจ้างกรณีตึก สตง. ถล่ม ซึ่งตึกดังกล่าวมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างจากการเสนอราคาต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท แต่ถล่มลงมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568
ประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับจ้าง
1. กรณีตึกถล่ม ใครต้องรับผิดชอบจ่ายเงินสร้างตึกใหม่
ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 11 วรรคสอง หากตึกถล่มเพราะความผิดของผู้รับจ้าง รวมถึงเหตุสุดวิสัยจากแผ่นดินไหว แต่ ยังไม่มีการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบก่อสร้างตึกใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง และ ไม่สามารถเรียกร้องเงินค่าจ้างเพิ่มเติมจาก สตง. เว้นแต่การถล่มเกิดจากความผิดของ สตง. ผู้ว่าจ้าง
นอกจากนี้ ข้อ 13 ของสัญญากำหนดว่า ผู้รับจ้าง ไม่สามารถอ้าง การมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือผู้ควบคุมงานเพื่อพ้นจากความรับผิดได้ (โดยการก่อสร้างตึก สตง. แห่งใหม่นี้มีกิจการร่วมค้า PKW เป็นผู้ควบคุมงาน)
2. กรณีความเสียหายต่อคนงานของผู้รับจ้างและบุคคลภายนอก
ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 12 วรรคสาม ผู้รับจ้างต้องทำ ประกันภัยให้ลูกจ้างทุกคน และ ข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบต่อ อุบัติเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตราย ที่เกิดจากการทำงาน รวมถึงการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของตน
ดังนั้น
-
คนงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะได้รับเงินเยียวยาตามกรมธรรม์ประกันภัยและสิทธิที่มีตามกฎหมาย
-
บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด
นายกฯ ขีดเส้น 1 สัปดาห์ หาข้อสรุป ตึก สตง. ถล่ม
วันนี้ (29 มีนาคม 2568) ที่กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณีกรณีตึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ว่า ได้รับรายงานว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีตึกหนึ่งตึกที่ถล่ม ส่วนตึกอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีผลกระทบถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับโครงสร้างตึกในกรุงเทพฯ มีมาตรฐานในการรองรับกรณีการเกิดแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ตามกฎข้อบังคับ โดยตอนนี้ได้เร่งรัดให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับตึกที่ถล่มลงมาว่าเกิดอะไรขึ้น และมาตรการต่อไปจะเป็นอย่างไร
"ได้มอบหมายให้กลับมารายงานผลใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า ว่าเหตุเกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ และสามารถแก้ไขอะไรได้ต่อไปในอนาคต" น.ส.แพทองธาร ระบุ
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สามรรถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทอน ซึ่งรัฐบาลขอย้ำให้ประชาชนมั่นใจว่า จากกรณีแผ่นดินไหวครั้งนี้ และเกิดอาฟเตอร์ช็อก อีก 50 ครั้ง แต่ว่าเราไม่ได้รู้สึก เพราะแรงสั่นสะเทือนลดลงเรื่อย ๆ จนล่าสุดที่ได้รับรายงานเมื่อช่วงเที่ยงคืน ลดเหลือขนาด 1.2 เท่านั้น
อย่างไรก็ตามรัฐบาลพร้อมเยียวยา และดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกอย่าง ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศไทย โดยรัฐบาลจะพยายามใช้ทุกสรรพกำลัง เพื่อดแลประชาชนให้ปลอดภัย และเยียวยาให้เร็วที่สุด