นักวิทย์ตรวจพบ "อนุภาคผี" ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สำนักข่าว เอพี รายงานผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ เรื่องการตรวจพบ "นิวตริโน" อนุภาคมูลฐานตรวจจับยากที่มนุษย์ยังคงไขปริศนากันอยู่
นิวตริโน คืออนุภาคมูลฐานที่มีแหล่งกำเนิดจากหลายแหล่ง เช่น ปฏิกิริยาคอสมิก ดวงอาทิตย์ การสลายของกัมมันตรังสีบนพื้นโลก ไปจนถึงปฏิกิริยานิวเคลียร์โดยมนุษย์
ด้วยความที่มีมวลน้อย เคลื่อนที่เร็วเกือบเท่าแสงและมีประจุไฟฟ้าเป็นกลาง ทำให้นิวตริโนสามารถวิ่งทะลุสสารต่างๆได้ดีโดยไม่ทำปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่ทะลุผ่านไปหลายชนิด รวมถึงร่างกายมนุษย์ที่ถูกทะลุผ่านด้วยนิวตริโนหลักล้านล้านหน่วยทุกวินาทีโดยที่ไม่รู้ตัว ความเล็กจิ๋วและตรวจจับยากนี้เองที่ทำให้มันมีชื่อเล่นว่า "อนุภาคผี" (Ghost particle) การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เราเข้าใจมวลขนาดจิ๋วมากขึ้นเรื่อยๆ และหนึ่งในวิธีการศึกษาก็คือการตรวจจับนิวตริโนด้วยมวลสารหลายชนิดที่ทำปฏิกิริยากับมัน ที่เรียกกันว่า เครื่องตรวจจับนิวตริโน (Neutrino Detector)
และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นิวตริโนได้เคลื่อนผ่านและมีปฏิกิริยากับเครื่องตรวจจับที่ใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้นักวิจัยมาตรวจวัดพลังงานจนสามารถทำออกมาเป็นผลการศึกษาในวารสารวิชาการ Nature
อาร์ต ไฮโบร์ หนึ่งในผู้ทำชิ้นงานวิจัยนี้จากสถาบันวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคย่อยของอะตอม หรือ นิเคฟ (Nikhef) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า การศึกษานี้คือส่วนหนึ่งของ "การพยายามเข้าใจกระบวนการทางพลังงานที่สูงที่สุดของจักรวาล"
การตรวจพบครั้งนี้เกิดขึ้นที่จุดสังเกตการณ์ใต้ทะเลลึกที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยอุปกรณ์ตรวจจับเหล่านี้มักจัดวางอยู่ในจุดที่ลึกลงไปในทะเล แผ่นน้ำแข็งหรือใต้ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ตรวจจับกัมมันตรังสีจากพื้นผิวโลก

กระนั้น ในความเห็นของ แมรี บิชาย นักฟิสิกส์จากสถาบันวิจัยแห่งชาติบรูคแฮเวน (Brookhaven National Laboratory) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ยังมองว่าเร็วเกินไปที่จะตอบว่านิวตริโนที่ตรวจจับได้นั้นมีที่มาจากที่ใด และต้องนำผลการสังเกตการณ์จากเครื่องตรวจจับอื่นๆมาร่วมศึกษาต่อไป
ทางด้าน เดนเวอร์ วิตทิงตัน นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยซิราคิวส์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยข้างต้นเช่นกัน มองว่าการค้นพบนี้ถือเป็น "สัญญาณว่าเรามาถูกทาง และเป็นลางบอกใบ้ว่าอาจจะมีเซอร์ไพรส์"