พันธมิตรฯ ร้องศาลปกครองเพิกถอนบันทึกข้อตกลงเจบีซี
พันธมิตรฯ ร้องศาลปกครอง เพิกถอนบันทึกข้อตกลงคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา พร้อมขอไต่สวนฉุกเฉินห้ามใช้เอ็มโอยู 2543 - แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551 เกรงกระทบไทยเสียดินแดน
เมื่อเวลา 14.00 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้มีคำสั่งเพิกถอนบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2543 ให้เพิกถอนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543
ให้เพิกถอนข้อกำหนดและแผนแม่บทสำคัญสำหรับการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2546 ให้เพิกถอนมติรัฐสภาที่เห็นชอบ "กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกัมพูชาตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและกลไกอื่นภายใต้กรอบนี้ วันที่ 28 ตุลาคม 2551
นอกจากนี้ ยังให้เพิกถอนบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา รวม 3 ฉบับ อันได้แก่ บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยสามัญ ณ เมืองเสียมราฐ วันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2551, บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2552, บันทึกการประชุมกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เมษายน 2552
รวมถึงให้เพิกถอนมิติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติชอบให้เสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือที่ นร 0503/11564 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 และให้เพิกถอนร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ (ไทย-ปราสาท) (กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวิเฮียร์) (พระวิหารในภาษาไทย) ที่จัดทำขึ้นในเดือนเมษายน 2552 ที่กำลังของความเห็นชอบจากรัฐสภาอยู่ในขณะนี้
นายปานเทพ กล่าวภายหลังยื่นคำร้องว่า การยื่นคำร้องวันนี้ (29 ต.ค.) ส่วนใหญ่เป็นการขอเพิกถอนเอกสารที่เกี่ยวกับผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา มีเพียงเอ็มโอยู 2543 ที่ขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้องค์กรใดนำไปใช้ เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่า เอ็มโอยู 2543 เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนได้ นอกจากนี้่ เอ็มโอยู 2543 และแถลงการณ์ร่วม ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จึงถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยถือว่าเอ็มโอยู 2543 ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 224 ส่วนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551 ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190
"พันธมิตรฯ ต้องการให้เป็นบรรทัดฐาน อย่างน้อยถือว่า พันธมิตรฯ ได้ทดลองต่อสู้ในแนวทางนี้แล้ว พันธมิตรฯ จะทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้ รัฐบาลโดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตกลงกับเราว่า จะไม่นำผลการประชุมเจบีซีเข้าพิจารณาในรัฐสภา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเปิดเข้าสู่วาระการประชุม จากนั้น จะให้อภิปรายแล้วปิดประชุมเพื่อเลื่อนพิจารณาไป แต่ต่อมากลับปล่อยให้มีการพิจารณา การอภิปรายและมีความพยายามที่จะลงมติ มีความพยายามประชุมลับ และมีขบวนการเร่งรัดการพิจารณาให้เร็วขึ้นประกอบกับโฆษกรัฐบาลกัมพูชาให้ข่าวว่าจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่การหารือกับเลขาธิการยูเอ็น เพราะประเทศไทยรับปากจะผ่านความเป็นชอบผลการประชุมเจบีซี" นายปานเทพ กล่าว
เมื่อถามว่า การยื่นวันนี้ (29 ต.ค.) จะทันต่อการนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 2 พฤศจิกายนหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ศาลจะให้ความเมตตา สำหรับการชุมนุมวันที่ 2 พฤศจิกายน เรายืนยันการชุมนุมจะอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การชุมนุมเราใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนที่จะมาต้องการแสดงความเห็นของตัวเอง พันธมิตรฯ ไม่มีความคิดขัดขวางการประชุมรัฐสภา สมาชิกสามารถมาประชุมได้ เพียงแต่ต้องตอบประชาชนได้
ด้านนายสุริยะใส กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองมีวิกฤตเรื่องน้ำท่วมเป็นวิกฤตใหญ่ การลงมติชุมนุมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราตัดสินใจเช่นนั้น แต่เมื่อเห็นว่าวันที่ 2 พฤศจิกายน จะเป็นการประชุมที่ทำไปสู่การเสียดินแดน จึงต้องนัดชุมนุม ถ้ารัฐบาลฟังแล้วตั้งแต่ต้นคงไม่ต้องถึงโรงถึงศาล ไม่ต้องมีการชุมนุม ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีพูดบนเวทีของพันธมิตรฯ และในรายการช่อง 11 นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่ได้บอกว่าเอ็มโอยู 2543 มีประโยชน์ หากมีปัญหาพร้อมจะทบทวน