โพลล์ ชี้ ปชช.กังวลค่าเงินบาท ไม่ไว้ใจนักการเมือง-ธนาคาร
เอแบคโพลล์ เผยผลวิจัย เรื่อง ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อ กรณีค่าเงินบาท ชี้ 56.0 ติดตามข่าวก กว่า71.4 กลัวกระทบชีวิตประจำวัน และ51.5 ไม่ไว้วางใจนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมกับ นายวรภัทร ปราณีประชาชน นักศึกษา ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อ กรณีค่าเงินบาท กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,823 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมาว่าประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 56.0 ติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท มีร้อยละ 44.0 ไม่ได้ติดตาม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.3 จำไม่ได้ว่า ในอดีตมีนักการเมืองและกลุ่มนายทุนที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน ในขณะที่เพียงร้อยละ 11.7 ที่จำได้
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ยังเปิดเผยอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.6 กังวลว่าการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 กังวลว่าจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 เห็นว่า รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงค่า เงินบาท แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.3 มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง
ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.5 ไม่ไว้วางใจทั้งสองกลุ่มคือ นักการเมืองในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 22.4 ไว้ใจทั้งสองกลุ่ม ร้อยละ 16.9 ไว้ใจเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และร้อยละ 9.2 ไว้วางใจนักการเมืองในรัฐบาล ตามลำดับ