สมาคมวิชาชีพสถาปนิก- วิศวกร ชี้ 23 จุดเสี่ยงหลังตรวจซานติก้าผับ
3 สมาคมวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศว กรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกัน พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูล ข้อสังเกตจากการตรวจสอบพื้นที่เพลิงไหม้อาคาร ซานติก้า ผับ โดยยืนยันว่า จากการตรวจสอบพบว่า อาคารดังกล่าวมีข้อน่าสังเกตรวม 23 ข้อ ที่บ่งชี้ถึงความไม่ปลอดภัยของตัวอาคาร เช่น เป็นอาคารสาธารณะ พื้นที่ 3 ระดับ มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีการใช้งานเป็นสถานบริการ
ขณะเดียวกัน พบว่าวัสดุภายในอาคารที่ใช้ตกแต่ง เป็นวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก เช่น โฟม ไฟเบอร์กลาส ขณะเดียวกัน ยังพบเส้นลวดทองแดงของสายไฟที่เป็นฉนวนมีสภาพหลอมละลายพาดวางไว้บนโครงอาคาร โดยไม่มีท่อร้อยสายไฟ สภาพผนังเป็นรอยแตกร้าวจากความร้อน ผนังภายในถูกเผาไหม้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านหลังเวที และโครงสร้างของเหล็กเพดานถูกความร้อนจนเสียรูปทรง เป็นต้น
และจุดที่สำคัญคือ จากการตรวจสอบภายในอาคาร ไม่พบระบบตรวจจับความร้อนและควันไฟ ไม่พบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ไม่พบระบบไฟฟ้าสว่างฉุกเฉิน ไม่พบป้ายทางหนีไฟ หรือแผนผังทางหนีไฟ ไม่พบระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และไม่พบหลักฐานว่ามีการตรวจสอบอาคารอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ความเห็นของ 3 สมาคม ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว น่าจะเป็น สำนักงานเขตทวีวัฒนา ที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตสถานประกอบการ รวมทั้ง 3 สมาคม จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขกฎหมายที่ยังเป็นช่องโหว่ของอุบัติเหตุ ดังกล่าว รวมทั้งขอให้เข้าไปตรวจสอบการใช้งานอาคารประเภทต่างๆ ว่าเป็นไปตามจุดประสงค์ที่ขออนุญาตไว้หรือไม่
นายชลชัย ธรรมวิวัฒนกูล นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร กล่าวว่า ยืนยันว่า หากเจ้าของอาคารมีการติดตั้งระบบไฟฉุกเฉิน ป้ายบอกทางออกที่เป็นภาษาสากลอย่างถูกต้อง เชื่อว่าจะมีความสูญเสียน้อยกว่านี้มาก
นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้กฎหมายไทยจะมีความครอบคลุมในการควบคุมอาคารอย่างดี แต่ก็พบว่ามักมีการไม่ปฎิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ ส่งผลให้เป็นที่มาของอุบัติเหตุหลายครั้ง
นายประสงค์ ธาราชัย นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ทางสมาคมต้องการส่งประเด็นเหล่านี้ไปยังรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่อาคารทั่วประเทศ และเสนอแก้กฎหมายที่เป็นจุดอ่อน เช่น การบังคับให้แต่ละอาคารต้องมีประกันภัย ที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมาย แต่ไม่มีบทลงโทษ รวมทั้งกฎหมายที่กำหนดอาคารที่ขนาดต่างกัน จะต้องให้บุคคลเข้าไปใช้งานได้ไม่เกินจำนวนเท่าใด ซึ่งที่ผ่านมา ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ จะมีกฎหมายระบุว่า ต้องขอใบอนุญาตตามประเภทของอาคาร เช่น อาคารสูง อาคารที่ชุมนุมของคน และอาคารที่เข้าข่ายกฎกระทรวง ที่มีการใช้มหรสพ สถานบริการ เป็นโรงแรมที่ขนาดมากกว่า 80 ห้อง โรงงานที่พื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางเมตร ซึ่งที่ผ่านมา มักไม่มีการให้ความสำคัญกับประเภทและการเตรียมมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีพอ