The Cup of Life : เพลงเวิลด์คัพ 1998 และการพิชิตโลกดนตรีของ "ละตินป๊อป"
ตลาดเพลงของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นแข็งโป๊ก ไม่ว่าเพลงจะฮอตฮิตมาจากมุมไหนของโลกก็ยากที่จะตีให้แตกได้ โดยเฉพาะในยุคก่อนๆ นั้น เพลงที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษแทบไม่มีหวังเข้ามาคว้ารางวัล และได้รับการยอมรับจากชาวอเมริกันได้ จนกระทั่ง...
"เฮียร์ วี โก้! อาเล อาเล้ อ่าเล! โก้ โก้ โก้! อาเล อาเล้ อาเล่!"
นี่คือท่อนอมตะของเพลงประกอบฟุตบอลโลกที่เร้าใจและติดหูแฟนบอลทั่วโลกมากที่สุด ที่ขับร้องโดยศิลปินชาว เปอร์โตริโก อย่าง ริคกี้ มาร์ติน ในชื่อภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า "The Cup of Life" ที่ขับร้องไว้ในช่วงศึกฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส
นอกจากจะเป็นเพลงฮิตระดับอมตะแล้ว มันยังเป็นปฐมบทที่ทำให้ ริคกี้ มาร์ติน ใช้กรุยทางเข้าสู่การเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก ด้วยการตีตลาดอเมริกันแบบแตกกระจายอีกด้วย
ติดตามเบื้องหลังสุดมันของเพลงระดับตำนานได้ที่นี่
เรื่องราวก่อนจุดเริ่มต้น
"ละตินป๊อป" คือหนึ่งในแนวดนตรีที่มีผู้ฟังวงกว้างมากที่สุดในโลก เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะภาษาสเปนนั้นถือเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีจำนวนถึงผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของภาษามากถึงราว 330 ล้านคน และผู้ที่อ่านออกเขียนได้อีก 550 ล้านคน มากกว่าภาษาอังกฤษ และเป็นรองเพียงภาษาฮินดี (ราว 570 ล้านคน) และ จีนกลาง หรือ แมนดาริน (ราว 873 ล้านคน) เท่านั้น
อย่างไรก็ตามการจะได้รับความยอมรับในวงกว้างหรือที่เรียกว่าในระดับสากลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกำแพงของภาษาและอารยธรรมของโลกใบนี้ ที่ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่ใช้แบบเป็นทางการมากที่สุด มีคนบนโลกนี้กว่า 1.8 พันล้านคนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในระดับการสื่อสารได้ ดังนั้นการที่เพลง "ละตินป๊อป" จะเข้ามาตีตลาดมหาอำนาจอย่าง "อเมริกันป๊อป" ถือเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญแบบสุดๆ
ศิลปินในปลายยุค '90s ที่ครองตลาดโลกใน 20 อันดับแรก ล้วนเป็นวงดนตรีที่มาจากอเมริกันชนแทบทั้งสิ้น นำโดยวงดนตรีอย่าง Nirvana, Pearl Jam, Red Hot Chili Peppers, U2 และ Metallica ขณะที่ตลาดเพลงป๊อปเป็นของศิลปินอย่าง Mariah Carey, Celine Dion, Destiny's Child, Janet Jackson ขณะที่กระแสฮิปฮอปมี 2Pac ผู้ล่วงลับ, Usher และ Beastie Boys เป็นหัวหอก โดยมีวงดนตรีจากอังกฤษบางวงที่สามารถสอดแทรกเข้ามาตีตลาดในอเมริกาได้
ส่วนดนตรีจากภาษาละตินนั้น ก่อนหน้านี้ปรากฎบนชาร์ตของ Billboard ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น "เบอร์ 1 ของโลก" แบบแทบจะนับนิ้วได้ จนกระทั่งในปี 1998 ในวาระการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ริคกี้ มาร์ติน ศิลปินชาวเปอร์โตริโก ได้ก้าวเข้ามาพร้อมชิงพื้นที่หน้าสื่อในระดับโลกพร้อมด้วยเพลงที่เขย่าบัลลังก์นามว่า "La Copa de la Vida" หรือที่เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษว่า "The Cup of Life"
ความยอดเยี่ยมที่ต้องกลั่นกรอง
ริคกี้ มาร์ติน เป็นเด็กมีพรสวรรค์ หัดร้องเพลงตั้งแต่ 6 ขวบ และการเติบโตในครอบครัวคาทอลิก นั่นจึงทำให้เขาได้ฝึกฝนด้วยการเป็นคนร้องเพลงประจำโบสถ์อีกด้วย
ก่อนจะมาถึงเพลงบรรลือโลก ริคกี้ มาร์ติน ออกอัลบั้มมาแล้ว 3 อัลบั้ม ไล่เรียงมาตั้งแต่อัลบั้มปี 1991 (Ricky Martin) 1993 (Me Amarás) และ 1995 (A Medio Vivir) ซึ่งทุกอัลบั้มเป็นเพลงภาษาสเปนแบบเต็ม 100%
หลังจากงานอัลบั้มที่ 3 จบลงไป ริคกี้ มาร์ติน ถูกเรียกว่า "จิตวิญญาณแห่งเพลงละติน" เพราะเขาได้นำเพลงในอัลบั้มนั้นที่ชื่อว่า "Maria" เข้าไปตีตลาดในยุโรปและสเปนได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ตามเขาฝันใหญ่ยิ่งกว่านั้น ตัวของ ริคกี้ "คาดหวังที่จะเติบโตให้ได้มากกว่านี้" เขาอยากจะทำเพลงที่สามารถทำให้ดนตรีละตินป๊อปเอาชนะใจคนทั้งโลกได้ และตีตลาดที่แข็งที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาให้จงได้ เพราะเพลง Maria นั้น แม้จะประสบความสำเร็จในยุโรป แต่ที่สหรัฐอเมริกา กลับจอดป้ายแค่เพียงอันดับ 88 บนชาร์ต Billboard ในปี 1996 เท่านั้น เขาจึงใช้เวลาทำทุกขั้นตอนออกมาอย่างละเอียดและถี่ถ้วนที่สุด เพื่อซื้อเดิมพันว่าอัลบั้มชุดที่ 4 ของเขาจะต้อง "ดังระดับโลก" ให้ได้
ริคกี้ มาร์ติน ใช้เวลา 3 ปีทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกและท่องเที่ยวเพื่อหาแรงบันดาลใจไปพร้อมกับการทยอยอัดเพลงในอัลบั้มชุดที่ 4 Vuelve (1998) เขาให้คำจำกัดความในการทำอัลบั้มชุดนี้ว่า "ดุเดือดอย่างไม่น่าเชื่อ"
ในระหว่างที่เริ่มอัดเพลงอัลบั้มดังกล่าว สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ได้ติดต่อกับ ริคกี้ มาร์ติน โดยตรงและต้องการให้เขารังสรรค์เพลงที่จะใช้เป็นเพลงธีมของฟุตบอลโลก 1998 แม้จะท้าทายแต่มันเป็นงานที่เขาอยากจะทำอยู่พอดีตามความตั้งใจเดิม อัลบั้ม Vuelve จะเป็นอัลบั้ม 2 ภาษาครั้งแรกของเขา และ ริคกี้ เลือกที่จะอัดเพลง "La Copa de la Vida" ขึ้นมาสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้
"ผมต้องยอมรับเลยว่ามันเป็นอะไรที่ท้าทายและทำให้ผมกังวลบ้างเล็กน้อย แต่หากทำได้มันจะเป็นการผลักดันศักยภาพของผมให้เติบโตขึ้นสำหรับอาชีพศิลปิน ด้วยเหตุผลเช่นนั้นเองผมจึงตัดสินใจยอมรับงานนี้" ริคกี้ มาร์ติน เขียนในอัตชีวประวัติของเขาเอง
การจะยกระดับเพลงให้กว้างขวางระดับสากลทำให้หนนี้ ริคกี้ มาร์ติน เลือกใช้โปรดิวเซอร์ถึง 2 คน คนแรกคือ โรบี้ โรซ่า โปรดิวเซอร์คู่บุญตั้งแต่เริ่มทำเพลงภาษาสเปน นอกจากนี้เขาได้จ้าง เดสมอนด์ ไชลด์ โปรดิวเซอร์มือดีชาวอเมริกันที่เป็นคนเขียนเพลงให้กับวงดังอย่าง Kiss, Aerosmith และ Bon Jovi มาแล้วอีกด้วย
"The Cup of Life" ชัยชนะของ "ละตินป๊อป"
การหาจุดกึ่งกลางของเพลงละตินกับเพลงภาษาอังกฤษออกมาเป็นเพลง "La Copa de la Vida" ในภาษาสเปน และ "The Cup of Life" ในภาษาอังกฤษ
เนื้อเพลงเล่าถึงความเร่าร้อนของการแข่งขันเพื่อคว้าชัยชนะ จงเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการลงแข่งขันให้เต็มที่แบบ "Do it or die" และไปคว้าถ้วยรางวัลแห่งชีวิตมาให้ได้
เนื้อหาโดยรวมนั้นถือว่ากว้างมาก มันไม่ได้หมายถึงการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันหมายถึงอะไรก็ตามในชีวิตที่ต้องแลกเดิมพันด้วยการทุ่มเต็มที่ ซึ่งเนื้อเพลงดังกล่าวต่อให้คนไม่ดูฟุตบอลก็เข้าถึงได้ง่ายๆ เพราะทุกคนล้วนย่อมมีสิ่งที่ต้องสู้ในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมพอๆ กับเนื้อเพลง คือจังหวะเพลงที่แตกต่างไปจากเพลงฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างสิ้นเชิง "The Cup of Life" ทำออกมาในแนวดนตรีแนวละตินป๊อปแดนซ์ชวนเต้น ท่วงทำนองติดหู จำง่าย ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของเพลงธีมการแข่งขันเลยทีเดียว
“Here we go! Ale, ale, ale! Go, go, go! Ale, ale, ale!” คือท่อนที่ไม่ว่าคุณจะรู้ภาษาสเปนหรือภาษาอังกฤษหรือไม่คุณก็สามารถร้องได้อย่างไม่ต้องเคอะเขินเพราะกลัวผิด ง่ายๆ แต่ทรงประสิทธิภาพ คือ คำจำกัดความที่เหมาะสมที่สุดของ "The Cup of Life" อย่างแท้จริง และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เพลงนี้ทำให้ฟุตบอลโลก 1998 ถูกจดจำมากขึ้น ในฐานะทัวร์นาเมนต์ที่มีเพลงธีมเร้าใจและสนุกที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เพลงดังกล่าวติดชาร์ตอันดับ 1 ในออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, สวีเดน, เยอรมัน, สเปน, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยี่ยม และอีกมากมายในยุโรป และสิ่งที่เขาคาดหวังที่สุดคือเพลงนี้สามารถติดชาร์ต Billboard ท็อป 100 ได้สำเร็จด้วยการขึ้นถึงอันดับที่ 60 ก่อนที่จะการันตีความยิ่งใหญ่ด้วยการถูกรับเชิญไปขึ้นแสดงในงานประกาศรางวัล แกรมมี่ อวอร์ด ครั้งที่ 41 อีกด้วย
"มีการต่อต้านอย่างมากในตอนแรกที่เขาได้แสดงในงานแกรมมี่ พวกเขาไม่อยากที่จะฟังเพลงของศิลปินที่ไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอัลบั้มของ ริคกี้ ขายไปได้ 10 ล้านชุดทั่วโลก และนั่นคือเรื่องที่ผมรับไม่ได้เลยกับการต่อต้านนี้" ทอมมี่ ม็อตโตล่า เจ้าของค่ายเพลง คาซาบลังก้า เร็คคอร์ด และผู้บริหารของ โซนี่ มิวสิค เล่าถึงการต่อสู้ของเพลงละตินของ ริคกี้ มาร์ติน กับวงการเพลงอเมริกัน
"เพอร์ฟอร์แมนซ์ (การแสดงบนเวที) ของริคกี้มีผลอย่างมากในการแสดงที่แกรมมี่ครั้งนี้ เขาจะต้องเฉิดฉายให้ได้มากที่สุดเพื่อแสดงอิทธิพลให้โลกได้รู้จัก"
การแสดงสดของ ริคกี้ มาร์ติน กลายเป็นตัวชูให้เป็นภาพจำยิ่งขึ้น ลีลาบนเวทีของเขาไม่ว่าจะร้องหรือเต้นจัดว่าเป็นลีลาของเอนเตอร์เทนเนอร์โดยแท้จริง ทุกๆ อย่างรวมกันทำให้ "La Copa de la Vida" หรือ "The Cup Of Life" กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดนับตั้งแต่เขาเป็นศิลปินเลยทีเดียว
"ที่เหลือก็ไม่ต้องถามอะไรอีกแล้ว มันคือประวัติศาสตร์" ม็อตโตล่า เล่าถึงการขึ้นไปจัดการคนดูอย่างอยู่หมัดของ ริคกี้ มาร์ติน และทำให้ชื่อเสียงของเพลงนี้และตัวของเขาดังยิ่งกว่าเดิม ยืนยันด้วยการที่เขาขายอัลบั้มดังกล่าวได้อีก 20 ล้านอัลบั้ม และซิงเกิ้ลนี้กลับมาฮิตติดชาร์ตอีกครั้งด้วยอันดับที่ดีกว่าเดิม คืออันดับที่ 45 อีกด้วย
"นี่คือการแสดงที่ถือเป็นการเปลี่ยนความคิดของศิลปินที่มาโชว์ในงานแกรมมี่ไปตลอดกาลเลย" ร็อบ ปรินซ์ อดีตหัวหน้าของ UTA เอเจนซี่ดารานักร้องชื่อดัง พูดถึงปรากฎการณ์ของเพลงนั้น และการเปลี่ยนตัวเองให้การเป็นบุคคลระดับผู้มีอิทธิพลในวงการเพลงระดับโลกของ ริคกี้ มาร์ติน ด้วย
นอกจากนี้ ในวาระที่เพลง "La Copa de la Vida" มีอายุครบ 20 ปี ในปี 2018 ที่ผ่านมา ฝ่ายจัด แกรมมี่ อวอร์ด ได้เชิญให้เขาขึ้นมาแสดงสดในงานประกาศรับรางวัลครั้งที่ 60 อีกครั้ง ซึ่งมันคือข้อพิสูจน์ว่า "La Copa de la Vida" หรือ "The Cup of Life" คือเพลงอมตะอย่างไม่ต้องสงสัย
ชัยชนะของละตินป๊อปที่เริ่มขึ้นโดย ริคกี้ มาร์ติน เป็นการนำร่องมาถึงศิลปินละตินรุ่นหลังที่เข้ามาสร้างปรากฎการณ์ในบิลบอร์ดชาร์ตอย่าง ชากีร่า, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, มาร์ค แอนโธนี่ และ เอนริเก้ อิเกลเซียส โดยเฉพาะล่าสุดกับเพลงละตินป๊อปที่ใครทั้งโลกก็รู้จักอย่าง Despacito ของ Luis Fonsi & Daddy Yankee ที่นอกจากจะขึ้นอันดับ 1 บิลบอร์ด ชาร์ต แล้ว ยังคว้ารางวัลมากมายทั้งจาก บิลบอร์ด มิวสิค อวอร์ด, และเข้าชิงรางวัล แกรมมี่ อวอร์ด ในปี 2018 อีกด้วย
"ในฐานะศิลปิน ถือเป็นความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแกรมมี่ แต่ครั้งนี้มันรู้สึกพิเศษกว่าทุกครั้งเพราะเรา (ศิลปินละติน) ได้รวมพลังและแสดงให้เห็นถึงรากของภาษาละตินมาสู่โลกใบนี้" ริคกี้ มาร์ติน กล่าวเริ่มในการแสดงสดเมื่อปี 2018
"20 ปีที่แล้วผมโชคดีมากที่ได้ขึ้นแสดงเป็นครั้งแรกในรายการนี้ มันกลายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการชี้ชะตาอาชีพศิลปินของผมอย่างแท้จริง ตั้งแต่นั้นมาพวกเราต่างมุ่งมั่นทำเพลงของพวกเราให้พัฒนาขึ้นตามกาลเวลา และไม่มีเพลงละตินที่ถูกกระแสหลักปฎิเสธอีกแล้ว กำแพงของภาษาและการยอมรับได้พังทลายลง ตอนนี้ โลกกำลังฟังสิ่งที่พวกเราได้ขับขานแล้ว"
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ