ชุนซุเกะ นาคามูระ : นักฟุตบอลอัจฉริยะแห่งศึกฟุตบอลมัธยมปลายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

ชุนซุเกะ นาคามูระ : นักฟุตบอลอัจฉริยะแห่งศึกฟุตบอลมัธยมปลายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

ชุนซุเกะ นาคามูระ : นักฟุตบอลอัจฉริยะแห่งศึกฟุตบอลมัธยมปลายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว” เป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาศักดิ์สิทธิ์ของญี่ปุ่น มันถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1917 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว และแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

รายการนี้ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ยิ่งใหญ่กว่าอินเตอร์ไฮ ที่จัดขึ้นในช่วงหน้าร้อน ด้วยระบบการคัดเลือกที่เข้มข้น แต่ละจังหวัดจะมีตัวแทนได้เพียงแค่ 1 ทีม (ยกเว้นโตเกียวที่ได้ 2 ทีม) และประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน 

ด้วยเหตุนี้ทำให้มันกลายนี้เป็นเวทีบ่มเพาะนักเตะชื่อดังขึ้นมาประดับวงการมากมาย และครั้งหนึ่ง ชุนซุเกะ นาคามูระ นักเตะระดับตำนานของญี่ปุ่นก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น  

และนี่คือเรื่องราวของเขากับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเวทีแห่งนี้

นาคามูระที่ทุกคนร่ำลือ 

นาคามูระ ดูเหมือนจะผูกพันกับฟุตบอลมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก เขาถือกำเนิดในวันที่ 24 มิถุนายน 1978 ที่เมืองโยโกฮามา จังหวัดคานางาวะ มันอาจจะไม่ใช่วันที่สลักสำคัญอะไรสำหรับชาวญี่ปุ่น แต่สำหรับวงการลูกหนังโลก มันคือหนึ่งวันก่อนที่อาร์เจนตินาคว้าแชมป์โลกในบ้านตัวเอง


Photo : www.sakaiku.jp

เด็กชายนาคามูระ เริ่มรู้จักกับฟุตบอลตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ก่อนที่ในปี 1985 เขาได้มีโอกาสเข้าร่วมสโมสรท้องถิ่นที่ชื่อว่า โยโกฮามา มิโซโนะ เอฟซี และที่นั่นก็ทำชื่อเสียงของเขาเลื่องลือไปทั่ว 

นาคามูระ มี ดีเอโก มาราโดนา ที่ถนัดซ้ายเหมือนกับเขาเป็นไอดอลในวัยเด็ก เขาชอบดูวิดีโอการเล่นของดาวเตะชาวอาร์เจนไตน์ และนำมาฝึกซ้อมเลียนแบบอยู่เสมอ 

“ถ้าไม่ฝึกซ้อม ผมก็คงจะเอาชนะไม่ได้” นาคามูระในวัยเด็กเคยกล่าวเอาไว้ 

ที่มิโซโนะ เขากลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นของทีม ด้วยเทคนิคที่แพรวพราวหาตัวจับยาก และเท้าซ้ายที่จ่ายบอลและยิงได้อย่างแม่นยำ ทำให้ชื่อของนาคามูระ ถูกพูดถึงไปถึงจังหวัดข้างเคียง

จากคำบอกเล่าของเพื่อนนาคามูระสมัยประถมบอกว่า ตอนที่เขาไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ (ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจิบะ) ในตอนนั้นเพื่อนของเขาใส่เสื้อทีมมิโซโนะไป ทำให้ถูกคนแปลกหน้าเข้ามาทักและถามว่า “เธอมาจากมิโซโนะใช่มั้ย ที่นั่นมีคนที่ชื่อ ชุนซุเกะ นาคามูระ หรือเปล่า” 

ชื่อเสียงของเขายังไปเตะตาโค้ชของทีมเมืองโยโกฮามา ทำให้ตอน ป.5 เขาได้รับเลือกจากเมืองติดทีมไปแข่งขันที่สหภาพโซเวียต ทั้งที่ปกติแล้วจะเลือกนักเตะในระดับ ป.6 และ ม.1 เข้ามาเล่นในทีมนี้

อย่างไรก็ดี หลังกลับมาถึงญี่ปุ่น นาคามูระ กลับถูกตัดออกจากทีมตัวจริงของ มิโซโนะ ทั้งที่เพิ่งได้รับประสบการณ์มากมายในการไปต่างประเทศ และเหตุผลก็คือ เขามีความทะนงตัวมากเกินไป  

ในตอนนั้น นาคามูระ เข้ากับเพื่อนร่วมทีมไม่ค่อยได้ อีกทั้งเขายังเป็นพวกเกลียดความพ่ายแพ้ ทำให้เขาหัวเสียกับคนที่เอาแต่เล่นสนุกอยู่เสมอ แต่เขาอาจจะลืมไปว่านี่เป็นเพียงสโมสรท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์การเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือฝึกพื้นฐานเท่านั้น มันจึงกลายเป็นการทำลายบรรยากาศโดยรวมของทีมโดยไม่ตั้งใจ 


Photo : mizuho-fc.com

“ถ้าระดับของการคัดเลือกอยู่ในระดับสูง ความเหลื่อมล้ำเล็กน้อยคงจะมีอยู่บ้าง คุณต้องรับมันให้ได้ ถ้าคุณรับมันไม่ได้ และส่งต่อความคิดไปให้กับทีม มันก็จะเกิดการด่าทอ และตำหนิเพื่อนร่วมทีม” โยชิโอะ วาคาบายาชิ โค้ช โยโกฮามา มิโซโนะ อธิบาย 

“ในฐานะผู้สอน ตามปกติแล้วผมอยู่ในเหตุการณ์เสมอ พอพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะแค่ภายใน แต่การดูเกมจากข้างนอกก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมจึงตัดสินใจตัดเขาออกจากทีม” 

นั่นคือการลิ้มรสความผิดหวังครั้งแรกของเขา

หวานขมที่ โยโกฮามา มารินอส 

เพชรไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ยังเป็นเพชรวันยังค่ำ แม้ความยโสโอหังจะทำให้ นาคามูระ ปิดฉากไม่ดีกับ มิโซโนะ แต่ความสามารถของเขาก็ยังเป็นที่ประจักษ์ เขาโดดเด่นกว่าผู้เล่นคนอื่นในช่วงอายุเท่ากัน และนั่นก็ทำให้เขาถูกรับเลือกเป็นหนึ่งใน 50 ผู้เล่นของทีมจูเนียร์ยูธของ นิสสัน เอฟซี (โยโกฮามา มารินอส) ตอนที่เขาอยู่ชั้น ม.1 ในปี 1991 


Photo : number.bunshun.jp

นี่เป็นหนึ่งในฝันสำหรับเด็กที่เล่นฟุตบอล ในตอนนั้นสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น กำลังมีโครงการที่จะก่อตั้งเจลีก และ นิสสัน เอฟซี ก็เป็นหนึ่งในทีมที่จะสมัครเข้าร่วม การได้ร่วมทีมจูเนียร์ ยูธ จึงเป็นเหมือนเส้นทางสู่มืออาชีพ หากเขาไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ ความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คงจะอยู่ไม่ไกล

นาคามูระ ที่โดดเด่นเกินวัย ได้รับเลือกเป็นตัวจริงตั้งแต่ปีแรก เขาทำผลงานได้อย่างสุดยอด ด้วยการพาทีมนิสสัน จูเนียร์ ยูธ คว้าแชมป์ระดับประเทศ และสามารถป้องกันแชมป์ได้อีกครั้งในปีต่อมา กลายเป็นการคว้าแชมป์ 2 สมัยติดต่อกัน

อนาคตของเขาดูจะไปได้สวย เมื่อตอนขึ้น ม.3 นาคามูระ ได้รับเบอร์ 10 ของทีม เบอร์เก่งที่หลายคนปรารถนา แต่เหมือนฟ้าผ่ากลางหัว เขาถูกตัดออกจากทีมตัวจริงอีกครั้ง 

ความเย่อหยิ่งกลับมาทำร้ายเขาอีกแล้วหรือ? เปล่าเลย คราวนี้มันคือปัจจัยที่เขาควบคุมไม่ได้ นั่นคือความสูงของเขา แม้จะเป็นนักเตะที่มีเทคนิคที่ยอดเยี่ยม แต่นาคามูระ เป็นเด็กที่มีรูปร่างเล็กมาก หากย้อนดูรูปเก่าๆ เวลาทีมถ่ายรูปหมู่ เขาดูจะเป็นผู้เล่นตัวเล็กเกือบที่สุดในทีม 

และรูปร่างก็กลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาหลุดจากทีม ในตอนนั้นเพื่อนร่วมทีมมีส่วนสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 170 เซนติเมตร แต่นาคามูระสูงเพียงแค่ 160 เซนติเมตร และมันก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอ ที่จะทำให้เขาต้องดูเพื่อนเล่นเกือบทั้งปี  

“มันเริ่มจะเด่นชัดมากตอนมัธยมต้นปี 2 เขาเริ่มถูกเบียดกระแทกได้ง่าย จริงๆ แล้วผมตั้งใจที่จะแตะเรื่องนี้ แตะแบบอ้อมๆ แต่ส่วนสูงเขาไม่เพิ่มขึ้นเลย มันได้กลายเป็นแต้มต่อสำคัญที่จะเอื้อมไปถึง” โยชิโอะ โนจิ อดีตผู้อำนวยการ โยโกฮามา มารินอส รุ่นจูเนียร์ยูธย้อนความหลัง 

“พอมัธยมต้นปี 3 พวกผมก็ยังคิดเรื่องนี้ กลายเป็นความกลุ้มใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ได้ลงเล่น ทั้งๆที่ได้เบอร์ 10 ของทีมไปสวมใส่”

ในขณะที่ตัว นาคามูระ เขาเองรู้สึกผิดหวังมาก เขาเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่เขาทำตัวดีขึ้นแล้ว เขาตัดความทะนงตัวออกไป เล่นเพื่อทีมมากขึ้น แต่ทำไมโชคชะตาดูเหมือนจะไม่เป็นใจ? 

“ตอนปี 3 ส่วนสูงผมไม่เพิ่มขึ้นเลย ก็เลยไม่ได้ลงสนาม ตอนนั้นผมไม่พอใจมาก แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้เล่นอยู่ดี” 

ส่วนสูงไม่เพียงเป็นเหตุผลสำคัญทำให้เขาถูกตัดออกจากตัวจริงเท่านั้น มันยังตัดอนาคตเขาอีกด้วย เมื่อเขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่โดนตัดออกจากสโมสร ไม่ได้ถูกเลื่อนขั้น ขึ้นไปเล่นในระดับเยาวชน (U18) ของนิสสัน… เขาผิดหวังซ้ำสอง

เบนเข็มสู่ฟุตบอลมัธยม  

นาคามูระ ทิ้งความผิดหวังไว้เบื้องหลัง แม้ถนนสู่มืออาชีพจะถูกขัดขวาง แต่มันไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เขาค้นหาเส้นทางอื่น และพบว่าการเป็นอันดับ 1 ในฟุตบอลมัธยมปลายก็อาจจะพาเขาไปสู่นักฟุตบอลอาชีพได้ 


Photo : www.easyatm.com.tw

นาคามูระได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมปลาย โทโค กักคุเอ็ง ด้วยความมุ่งมั่น โรงเรียนใหม่ของเขากำลังเริ่มมีชื่อในด้านฟุตบอล หลังเคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติในปี 1993 หรือก่อนหน้าที่เขาจะเข้าเรียนหนึ่งปี 

อย่างไรก็ดี ด้วยระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่เข้มข้นในชมรมฟุตบอล ทำให้ปีแรกของนาคามูระ ต้องหมดไปกับงานเบ็ดเตล็ด ไม่ว่าจะเป็นเก็บบอลของรุ่นพี่ ขัดลูกบอล หรือขีดเส้นในสนาม โดยที่ไม่ได้ลงเล่นแม้แต่นัดเดียว แถมในปีนั้นโรงเรียนโทโคยังตกรอบคัดเลือก ไม่ได้ไปเล่นในศึกชิงแชมป์ระดับประเทศอีกด้วย 

ในตอนแรก นาคามูระ ท้อแท้มาก เขารู้สึกว่าเขาตัดสินใจผิด เขาไม่ได้เข้าทีมมาเพื่อทำอะไรแบบนี้ แต่พอได้เห็น มิโนรุ โคบายาชิ กัปตันทีม ก็ทำให้ความคิดเขาเปลี่ยนไป 

“มันเป็นประสบการณ์ขัดลูกบอลและขีดเส้นในสนามครั้งแรกของผมเลยในตอนนั้น ตอนอยู่จูเนียร์ ยูธ เราไม่มีความสัมพันธ์สูงต่ำแบบนี้ พูดตรงๆ ตอนแรกผมรู้สึกเสียใจ คิดว่าตัดสินใจผิดพลาด แต่พอได้เห็นรุ่นพี่โคบายาชิ (ปัจจุบันเป็นโค้ชให้ จูบิโล อิวาตะ) ความคิดผมก็เปลี่ยนไป” นาคามูระกล่าวกับ Soccer Digest

“ทั้งๆ ที่โทโคไม่มีซ้อมตอนเช้า (บางโรงเรียนจะมีซ้อมตอน 7 โมง) แต่โคบายาชิซังก็จะมาแต่เช้าโดยสมัครใจ มาฝึกยืดกล้ามเนื้อ แม้ว่าเขาจะเป็นกัปตันและเป็นผู้เล่นพรสวรรค์ที่ถูกเลือกติดทีมระดับภูมิภาคคันโต (ภาคตะวันออก) แต่พอเห็นเขาแล้ว ผมก็อยากฝึกซ้อมให้มากขึ้น” 

ถึงจะสับสนกับระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่โคบายาชิก็ทำให้เขากลับมามุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมอย่างหนัก ในขณะเดียวกันส่วนสูงของเขาก็เพิ่มขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด จาก 160 เซนติเมตรกลายเป็น 175 เซนติเมตร หรือ 15 เซนฯ ภายในปีเดียว 

แม้ว่าร่างกายของเขาจะเติบโตขึ้นมาก แต่ลักษณะโดยรวมเขายังเป็นคนผอมบาง ทำให้ นาคามูระ พยายามชดเชยลักษณะทางกายภาพของเขา ด้วยการฝึกซ้อมเท้าซ้ายของเขาให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะลูกตั้งเตะ 

เขามักจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง หลังซ้อมทีม ฝึกซ้อมส่วนตัว เขาซ้อมทั้งฟรีคิก เตะมุม จนถึงเวลาปิดไฟของสนามเป็นประจำทุกวัน ที่ทำให้กว่าจะกลับถึงบ้านก็เกือบ 4 ทุ่มไปแล้ว (บ้านนาคามูระกับโรงเรียนอยู่ห่างกันราว 1 ชั่วโมงหากเดินทางด้วยรถไฟ) 

“ผมพยายามและปรับเปลี่ยนวิธีที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ” นาคามูระกล่าวกับ Number 

“ผมไม่ค่อยมีแรงเตะเท่าไร แต่ผมคิดว่าความแม่นยำในการจ่ายบอลสั้นของผมนั้นดีมาก ผมคิดว่ายังห่างไกลผู้เล่นพวกนั้น ถ้าผมเป็นผู้เล่นที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและการจ่ายบอลที่ดี หลังจากนั้นผมน่าจะกลายเป็นผู้เล่นที่น่าสนใจ” 


Photo : スポーツナビ サッカー編集部

จนกระทั่งปี 2 (ม.5) เขาได้ขึ้นมามีส่วนกับทีมมากขึ้น เขาได้รับหมายเลข 8 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเบอร์สำคัญ และช่วยให้ทีมผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติได้สำเร็จในปี 1995 

แต่น่าเสียดายที่เขาได้มีโอกาสสัมผัสเกมในรอบสุดท้ายเพียงแค่เกมเดียว เมื่อ โทโค จอดป้ายตั้งแต่รอบแรกในการแข่งขันครั้งที่ 74 หลังพ่าย ฮิงาชิ ฟุคุโอกะ ตัวแทนจากจังหวัดฟุคุโอกะ 2-1 

อย่างไรก็ดี หนึ่งปีต่อมา เขามีโอกาสแก้ตัวอีกครั้ง หลังก้าวขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ของทีม เขาได้รับการสืบทอดเบอร์ 10 เอซนัมเบอร์ ที่รอคอย และพาทีมผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน 

และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ทั่วประเทศพูดถึงแต่เด็กที่ชื่อ “นาคามูระ”

หักด่านแชมป์เก่า, เชือดแชมป์ 4 สมัย 

โรงเรียน โทโค ภายใต้การนำทัพของ นาคามูระ มีโชคตั้งแต่รอบแรก เมื่อพวกเขาได้บาย ก่อนจะประเดิมสนามในรอบสอง ด้วยการเอาชนะโรงเรียน ฮาสึชิบะ จากจังหวัดวาคายามะ 2-1 ตามมาด้วย มัตสึโช ตัวแทนของจังหวัดนางาโน 2-0 ในรอบต่อมา 


Photo : life-time-value.com

และผู้เล่นที่โดดเด่นใน 2 นัดแรกก็ไม่ใช่ใครนอกจาก นาคามูระ ฟรีคิกและลูกเตะมุมของเขา สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้รักษาประตูคู่แข่ง ในขณะเดียวกันการลากเลื้อยและจังหวะจ่ายสั้นๆ ก็สร้างจังหวะให้ทีมมากมาย

นอกจากนี้ 3 ใน 4 ประตูที่ทีมทำได้ ก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากเขา ไม่ว่าจะเป็นประตูขึ้นนำในเกมพบฮาสึชิบะ ที่เขาเป็นคนเปิดฟรีคิกเข้าไป หรือสองประตูในเกมพบมัตสึโช ที่ทั้งสร้างเกมและเปิดเตะมุมจนทำให้ทีมได้ประตู 

พวกเขาเริ่มมาเจอความท้าทายในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเมื่อต้องพบกับ อุราวะ ชิริตสึ อดีตแชมป์ 4 สมัยในรายการนี้ แต่เท้าซ้ายของนาคามูระ ก็ไม่ได้เกรงกลัวศักดิ์ศรีแต่อย่างใด  กลับกลายเป็นโทโคที่โหมเกมรุกเข้าใส่ภายใต้การนำของเขา จนมาได้ประตูออกนำจนได้

หลังจากได้ประตูออกนำ นาคามูระ ก็ยังเป็นปัญหาของคู่แข่ง เขากลายเป็นผู้เล่นที่เด่นที่สุดของนัดนี้ ด้วยการสร้างโอกาสให้ทีมได้มากมาย และเกือบจะซัดประตูนำห่างให้ทีม แต่น่าเสียดายที่โดนผู้รักษาเซฟไว้ได้ และสุดท้ายก็เฉือนเอาชนะไปด้วยประตูนั้น 

อย่างไรก็ดี รอบรองชนะเลิศโทโคและนาคามูระ ก็ต้องมาเจอกับบททดสอบครั้งสำคัญ เมื่อโคจรมาพบกับ ชิสุโอกะ กักคุเอ็ง ตัวแทนจากชิสุโอกะ หนึ่งในจังหวัดที่เก่งกาจด้านฟุตบอลที่สุดของญี่ปุ่น แถมทีมยังเป็นแชมป์เก่าเมื่อปีที่แล้ว 


Photo : スポーツナビ サッカー編集部

เกมเปิดกันแลกกันอย่างสนุกตั้งแต่ต้นเกม และดูเหมือนว่าโค้ชจะสร้างแผนโดยมีนาคามูระ เป็นศูนย์กลาง ทีมขึ้นเกมโดยมีจุดเริ่มต้นจากเขา การพลิกบอล การแก้ไขสถานการณ์ยากๆ อย่างการหนีจากวงล้อมคู่แข่ง เขาก็ทำได้อย่างเนียนตา แถมยังเกือบยิงประตูให้ทีมออกนำหลายครั้ง แต่โดนกองหลังมาสกัดไว้ได้ 

ทว่าท้ายที่สุดโทโค ก็เป็นฝ่ายกำชัย เมื่อได้ประตูออกนำจากจังหวะทำเข้าประตูตัวเองของคู่แข่ง แต่มาโดนตีเสมอ จนต้องตัดสินด้วยการยิงจุดโทษ และเป็นทีมของนาคามูระ ที่ยิงได้แม่นกว่า เอาชนะไปด้วยประตูรวม 5-3 ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

เหลืออีกเพียงก้าวเดียวความฝันที่จะเป็นเบอร์ 1 ของประเทศของเขาก็ จะบรรลุเป้าหมายแล้ว

ผิดหวังอีกครั้ง…ยังไม่ตาย

โรงเรียนโทโค ภายใต้การนำของนาคามูระมาไกลเหลือเกิน ก่อนหน้านี้ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาคือการผ่านเข้ามาเล่นในรอบ 16 ทีมสุดท้ายเมื่อปี 1993 นี่จึงเป็นการเข้าชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพวกเขา 


Photo : @sn_soccer

คู่ต่อกรของพวกเขาในวันนี้ก็ถือเป็นงานหินไม่แพ้นัดอื่น นั่นก็คือโรงเรียน ชิริตสึ ฟุนาบาชิ แชมป์เก่าเมื่อ 2 ปีก่อน ที่นำโดย ฮิเดกิ คิตาจิมา ดาวยิงกัปตันทีมที่ซัดไปแล้ว 5 ประตูในรายการนี้

เกมนี้เริ่มต้นด้วยความตึงเครียด ทั้งสองทีมพยายามครองบอลหาจังหวะเข้าทำ และแน่นอนว่าเพลย์เมกเกอร์ของโทโค ก็ยังเป็นนาคามูระ เขาพยายามหาจังหวะยิงไกลหลายครั้งแต่ไม่เข้าไป แต่ก็ยังโชว์การลากเลื้อยสวยๆ เข้าไปสร้างโอกาสการทำประตู

แต่กลับกลายเป็น ฟุนาบาชิ ที่เล่นบอลเพียงไม่กี่จังหวะ ก่อนที่ คิตาจิมา ที่ได้บอลหลุดกับดักล้ำหน้าเข้าไปกระดกข้ามหัวผู้รักษาประตูไปทางเสาไกลให้ทีมออกนำไปก่อน 1-0 

โทโค พยายามเปิดเกมรุกอย่างหนัก จากการสร้างสรรค์เกมของนาคามูระ ทั้งจากฟรีคิกและทรูพาส แต่ไม่ค่อยเข้าเป้า เนื่องจากคู่แข่งบีบให้เขาใช้เท้าขวา แต่สุดท้ายเขาก็ยังหาจังหวะสร้างโอกาสให้ทีมได้อยู่ดี 

อย่างไรก็ดีก็เป็น ฟุนาบาชิ ที่โอกาสน้อยกว่ามาได้ประตูที่ 2 จากจังหวะสับยิงหน้ากรอบเขตโทษ บอลผ่านมือผู้รักษาประตูเข้าไปตุงตาข่ายในนาทีที่ 73 ทำให้โทโค ต้องเจองานหนัก เพราะเหลือเวลาให้แก้ตัวแค่ 7 นาที (รายการนี้แข่งครึ่งละ 40 นาที) 

แม้ท้ายที่สุดโทโค จะได้ประตูตีตื้นในนาทีที่ 77 แต่พวกเขาและนาคามูระ ก็ทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็เจาะประตูเพิ่มจากฟุนาบาชิไม่ได้เลย และพ่ายไปด้วยสกอร์ 2-1 ในท้ายที่สุด 

นาคามูระ ดูจะเป็นผู้เล่นที่ผิดหวังที่สุดในเกมนี้ เขาพากเพียรพยายามจนสามารถพาทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ แถมยังเล่นได้อย่างโดดเด่นในนัดนี้ แต่ถ้วยรางวัลยังมาไม่ถึงเขาเสียที 

หลังสิ้นเสียงนกหวีด เขาก้มหน้าด้วยความผิดหวัง ดวงตาหลุดลอยไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ ในพิธีขอบคุณคู่แข่ง ในขณะที่เพื่อนร่วมทีมกำลังร้องไห้ เขาก้มหน้าไม่พูดกับใครไปตลอดเกือบสิ้นพิธี

เขาอาจจะคิดว่าต้องผิดหวังซ้ำๆ ไปอีกนานแค่ไหน แต่มันอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ในฐานะมือสมัครเล่น

ล้มเพื่อลุกอีกครั้ง 

แม้ว่าเขาจะพ่ายแพ้ในเกมการแข่งขัน แต่ดูเหมือนว่าในเส้นทางชีวิต เขากำลังจะได้รับชัยชนะ เขาได้รับการพูดถึงจากคนทั้งประเทศ จากการร่ายมนต์ในสนามที่ทำให้ลูกฟุตบอลที่ออกมาจากปลายสตั๊ดของเขาดูตื่นตา


Photo : equaliserblog.wordpress.com

นอกจากนี้ ผลงานในศึกชิงแชมป์แห่งชาติ ยังทำให้เขาได้รับการจับตามองจากสโมสรเจลีก มีสโมสรมากมายอยากได้เขาไปร่วมทีม และเชิญไปร่วมซ้อม ไม่ว่าจะเป็น เวอร์ดี คาวาซากิ, กัมบะ โอซากา หรือแม้แต่ โยโกฮามา มารินอส สโมสรที่เฉดหัวเขาออกมา 

อย่างไรก็ดี สุดท้ายนาคามูระ ก็ประกาศว่าสโมสรที่เขาเลือกจะไปอยู่ด้วยในฐานะผู้เล่นอาชีพก็คือ มารินอส สโมสรที่เขาเคยเจ็บช้ำมาก่อน แต่ครั้งนี้เขาไม่ยอมผิดหวังอีกแล้ว 

“หลังจากไปซ้อมกับหลายๆ ทีม สุดท้ายผมก็ชอบมารินอสมากที่สุด ผมอยากจะเป็นผู้เล่นเท้าซ้ายให้พวกเขา ที่มารินอสไม่มีคนในตำแหน่งนั้น” 

“นอกจากนี้พวกเขายังมีผู้เล่นทีมชาติอย่าง (มาซาชิ) อิฮาระ, (โยชิคัตสึ) คาวางุจิ, โชจิ (โจ), (โนริโอะ) โอมุระ ผมคิดว่าผมน่าจะเติบโตขึ้นได้หากได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้”  

ท้ายที่สุด นาคามูระ ก็เติบโตขึ้นมาอย่างที่ตั้งใจ เขากลายเป็นเพลย์เมกเกอร์ของ โยโกฮามา มารินอส ได้ลงเล่นถึง 27 นัดในปีแรก ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหมายเลข 10 ด้วยวัยเพียง 20 ปี และกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมชาติญี่ปุ่นในเวลาต่อมา 


Photo : www.junpiterfutbol.com

แม้ว่าได้โบยบินไปค้าแข้งในต่างแดน และประสบความสำเร็จกับ เรจจินา และ กลาสโกว์ เซลติก ก่อนจะกลับมาค้าแข้งในญี่ปุ่นกับ โยโกฮามา เอฟ มารินอส, จูบิโล อิวาตะ และปัจจุบันกับ โยโกฮามา เอฟซี สโมสรในเจ 2 แต่เรื่องราวของเขาในฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ ก็ยังถูกพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ 

ว่าครั้งหนึ่งเคยมีนักเตะที่ใช้เท้าซ้ายปั่นหัวคู่แข่งจนพาทีมเข้าชิงชนะเลิศมาแล้ว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook