อิทธิพล ประวัติศาสตร์ และแนวคิด : ชื่อในตัวละครการ์ตูนกัปตันสึบาสะมีที่มาอย่างไร?
กัปตันสึบาสะ ถือเป็นหนึ่งในมังงะที่มีอายุยาวนานเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1981 นับจนถึงวันนี้ในภาค Rising Sun ภาคล่าสุดที่ยังเขียนไม่จบ มันก็มีอายุถึง 38 ปีไปแล้ว
และจากการที่เป็นมังงะที่มีอายุยาวนาน มีหลายเล่ม หลายภาค ทำให้มันได้ถือกำเนิดตัวละครมากมาย ทั้งฝั่งตัวเอกและคู่แข่ง ที่กลายเป็นหนึ่งในสีสันของเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี ชื่อของตัวละครเหล่านี้ หลายคนล้วนมีที่มา มีเบื้องหลัง ที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดของผู้แต่งได้เป็นอย่างดี ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
มังงะที่ช่วยขับเคลื่อนฟุตบอล
แม้ว่าในปัจจุบันฟุตบอลจะเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น แต่ถ้าหากย้อนไปในยุค 1970-80s หรือก่อนที่มังงะกัปตันสึบาสะจะถูกตีพิมพ์ออกมา เกมลูกหนังดูเหมือนจะห่างไกลจากความรู้สึกของคนญี่ปุ่นทั่วไป
Photo : en.as.com
ในตอนนั้น ทุกลมหายใจของคนญี่ปุ่นคือเบสบอล มันเป็นกีฬาที่ถูกนำเข้ามาตั้งแต่เกือบ 100 ปีก่อน และฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่น ครองเบอร์หนึ่งในใจของชาวอาทิตย์อุทัย ซึ่งอาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่นเบสบอลมาตั้งแต่สมัยเรียน และชื่นชอบกีฬาชนิดนี้มาก
แต่นัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1978 ก็ทำให้เขาเปลี่ยนไป ความตื่นตา และความสนุกของเกมลูกหนัง ทำให้เขาหลงรักในฟุตบอลอย่างเต็มเปา ทาคาฮาชิ เริ่มศึกษาหาข้อมูลในกีฬาชนิดนี้อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟุตบอล ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักญี่ปุ่น หลายคนไม่รู้แม้กระทั่งว่าฟุตบอลโลกคืออะไร ทำให้ ทาคาฮาชิ มีความมุ่งมั่นว่าเขาจะใช้การ์ตูนเป็นสื่อที่ทำให้คนในประเทศรู้จักกับกีฬาชนิดนี้มากขึ้น
และมันก็กลายเป็นต้นกำเนิดการ์ตูนในตำนานที่ชื่อว่า “กัปตันสึบาสะ”
“ตอนผมอายุ 18 ผมได้ดูฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศที่อาร์เจนตินา (ในปี 1978) และหลงใหลมันมาก ผมรักฟุตบอลที่เล่นที่นั่น ที่ญี่ปุ่น มันยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ผมอยากจะทำให้มันเป็นที่นิยม ก็เลยเริ่มต้นวาดการ์ตูน” ทาคาฮาชิกล่าวกับ AS
Photo : en.as.com
กัปตันสึบาสะ เป็นเรื่องราวของ โอโซระ สึบาสะ นักฟุตบอลอัฉริยะที่มี “ฟุตบอลเป็นเพื่อน” เขามีความฝันในชีวิต นั่นคือการพาญี่ปุ่นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก (แม้ในขณะนั้น ญี่ปุ่นจะยังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกเลยสักครั้ง)
แต่กว่าที่สึบาสะจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องอุปสรรคมากมาย ทั้งคู่แข่งในประเทศและต่างประเทศทั้งในลีก โดยมีพวกพ้องร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน ตามขนบของการ์ตูนจัมป์
“ไม่ว่าสึบาสะจะเป็นอัจฉริยะแค่ไหน เขาก็เล่นฟุตบอลคนเดียวไม่ได้ ผมจึงคิดให้มิซากิปรากฎตัวขึ้นมาก่อนที่จะต้องเจอกับคู่แข่ง” ทาคาฮาชิกล่าวกับ Davinci News
“ตัวละครที่เป็นคู่แข่งกำหนดไว้ว่าต้องเป็น ‘ความท้าทายประมาณนี้การแข่งขันจึงจะสนุก’ สำหรับตัวสึบาสะ เพราะความสนุกที่แท้จริงของการ์ตูนจัมป์มันคือการต่อสู้กัน (Battle)”
ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ มีตัวละครเกิดขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มเพื่อนตัวเอก ศัตรูในประเทศ คู่แข่งในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในลีกและทีมชาติ ที่ต่างแวะเวียนกันมาเป็นบททดสอบให้กับสึบาสะและผองเพื่อนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ชื่อของตัวละครเหล่านี้ หลายคนกลับมีเบื้องหลังที่อาจคาดไม่ถึง
ความรักธรรมชาติของคนญี่ปุ่น
แม้ว่าชื่อของตัวละครในกัปตันสึบาสะ หากดูอย่างผิวเผิน อาจจะไม่ได้ต่างจากชื่อของคนญี่ปุ่นทั่วไปนัก แต่ในความเป็นจริงหลายคนกลับมีความหมาย ที่อาจารย์ทาคาฮาชิ แฝงเอาไว้อย่างตั้งใจ
Photo : www.soccer-king.jp
ด้วยความที่คนญี่ปุ่น มีความผูกพันกับธรรมชาติ ทำให้ตัวละครหลายคนในเรื่องนี้ มีชื่อซึ่งมีที่มาจากสิ่งรอบตัวพวกเขา ตัวอย่างเช่น (เรียว) อิชิซากิ ที่แปลว่าแหลม (ทะเล,แม่น้ำ) ที่มีหิน, (เก็นโซ) วาคาบายาชิ ที่แปลว่าป่าวัยเยาว์ หรือ (ฮาจิเมะ) ทาคิ ที่แปลว่าน้ำตก
หรือแม้แต่ชื่อของ โอโซระ สึบาสะ ตัวเอกของเรื่อง ก็มีความเกี่ยวพันกับธรรมชาติ โดยชื่อและนามสกุลของเขาแปลได้ว่า ปีกแห่งท้องฟ้า และความหมายของมันก็เป็นที่มาของท่า Skywing Shot ท่าไม้ตายที่ โรแบร์โต ฮอนโง สอนให้อีกด้วย
และบางครั้งชื่อที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติในการ์ตูนเรื่องนี้ ก็ยังสามารถบอกถิ่นที่อยู่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ฮิคารุ มัตสึยามะ กัปตันแห่ง ฟุราโนะ เอฟซี ที่คำว่า ยามะ ในนามสกุลของเขา นอกจากจะความหมายตรงตัวว่าภูเขาแล้ว ยังสื่อได้ถึงดินแดนแห่งภูเขาสูง นั่นก็คือฮอกไกโด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ มัตสึยามะ
“คนญี่ปุ่นมีความผูกพันกับธรรมชาติ นามสกุลส่วนใหญ่ก็มักเกี่ยวพันกับธรรมชาติรอบตัว ลองนึกถึงนามสกุลที่คนไทยน่าจะได้ยินบ่อยๆ เช่น ทานากะ (กลางนา) โคบายาชิ (ป่าเล็ก) หรือ ยามาดะ (นาภูเขา)” ปฐมาภรณ์ วรศิริ อาจารย์สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวกับ Main Stand
“ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติเหล่านั้น บ่งบอกถึงลักษณะพื้นที่ทางกายภาพ และลักษณะดังกล่าว บางครั้งก็เชื่อมโยงไปถึงถิ่นที่อยู่ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ใช้นามสกุล อิชิคาวะ ที่แปลว่าแม่น้ำที่มีหิน อาจเป็นคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หรือ ยามาโมโต ที่แปลว่าต้นกำเนิดแห่งขุนเขา ก็อาจเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งเราอาจเชื่อมโยงกับลักษณะเด่นทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ในประเทศ และคาดเดาต่อไปได้ว่าตระกูลของพวกเขาเหล่านั้นในอดีตมาจากภูมิภาคใด”
Photo : ja.whotwi.com
นอกจากนี้ ชื่อตัวละครหลายคน ยังถูกตั้งขึ้นเพื่อบอกคาแรคเตอร์ของตัวละครนั้น ไม่ว่าจะเป็น ชินโง อาโออิ ที่ อาโออิ สื่อถึงสัญญาณไฟเขียว ที่ทำให้เขาเป็นพวกทะลุทะลวงด้วยความเร็วสูง เหมือนที่ครั้งหนึ่ง อาโออิเคยพูดว่า “ผมคือไฟเขียวผ่านตลอด”
เช่นเดียวกับ โทเมยะ อาคาอิ ที่ส่วนหนึ่งของชื่อ (โทเมะ) แปลว่า “หยุด” และ อาคาอิ มีความหมายถึงไฟแดง และเปรียบเปรยว่าเขา มีหน้าที่หยุดเกมรุกคู่แข่ง ไม่ยอมให้ใครผ่านไปได้ ด้วยลูกเสียบอันหนักหน่วง
และเบื้องหลังของชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะนักเตะญี่ปุ่นเท่านั้น
อิทธิพลจากฟุตบอลโลก
ด้วยความที่ในช่วงต้นของเรื่อง คู่แข่งของสึบาสะล้วนแต่เป็นนักเตะในประเทศ ทำให้ชื่อตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่อง ยังคงเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นอยู่
Photo : natalie.mu
แต่หลังจบศึกชิงแชมป์มัธยมต้นปี 3 ญี่ปุ่นได้รวมนักเตะที่เก่งที่สุดไปลงแข่งฟุตบอลชิงแชมป์โลก รุ่นจูเนียร์ยูธ ครั้งแรกที่ฝรั่งเศส และนั่นทำให้ศัตรูต่างชาติค่อยๆ เผยโฉมออกมา
และนั่นคือชื่อจุดเริ่มต้นของชื่อตัวละครต่างชาติ ที่หลายชื่อดันไปละม้ายคล้ายคลึงกับนักฟุตบอลที่มีตัวตนอยู่จริง แถมยังไม่ใช่เป็นความบังเอิญแต่อย่างใดอีกด้วย
ตั้งแต่ภาคจูเนียร์ยูธ เป็นต้นมา อาจารย์ทาคาฮาชิ ได้นำนักฟุตบอลชื่อดังมากมาย มาโลดแล่นในการ์ตูนของเขา บางคนนำมาเพียงแค่ชื่อ บางคนนำคาแร็คเตอร์มา ในขณะที่บางคนมาพร้อมทั้งชื่อและคาแร็คเตอร์
ตัวอย่างเช่น คาร์ล ไฮนซ์ ชไนเดอร์ ที่มาจาก คาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิกเก้ อดีตกองหน้าทีมชาติเยอรมันของ บาเยิร์น มิวนิค, เฮอร์มันน์ คัลทซ์ ก็เอาชื่อมาจาก แมนเฟรด คัลทซ์ อดีตแข้ง ฮัมบูร์ก หรือ มาร์ค โอไวรัน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ซาอีด อัล-โอไวรัน อดีตดาวยิงซาอุดิอาระเบีย
เช่นเดียวกับ จิโน เฮอร์นันเดซ ที่มีต้นแบบมาจาก ดิโน ซอฟฟ์ อดีตนายทวารจอมหนึบทีมชาติอิตาลี, ซัลวาตอเร เจนติเล มาจาก คลาดิโอ เจนติเล อดีตกองหลังยูเวนตุส ในขณะที่ ฮวน ดิอาซ เพลย์เมกเกอร์หมายเลข 10 ของทีมชาติอาร์เจนตินา ก็เป็นส่วนผสมระหว่างคาแรคเตอร์ของ ดิเอโก มาราโดนา และชื่อของ รามอน ดิอาซ กองหน้าของทัพฟ้าขาวในยุค 80
Photo : pi-la.tumblr.com
“ดิเอโก มาราโดนา ทำสิ่งพิเศษให้ผมเห็นอยู่เสมอ เขามักจะทำสิ่งตรงข้ามกับที่เราคิดไว้ เขาทำให้ตกใจอยู่เสมอ สิ่งที่เขาตัดสินใจทำมักจะถูก เขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างเรื่องราว และอยู่เบื้องหลังคาแร็คเตอร์ของ ฮวน ดิอาซ” ทาคาฮาชิ ให้สัมภาษณ์กับ AS
ในขณะเดียวกันในยุคต่อมา การตั้งชื่อต่างชาติของอาจารย์ทาคาฮาชิ ก็เริ่มเปลี่ยนไป เขาเริ่มที่จะใช้ชื่อพร้อมด้วยคาแร็คเตอร์ และหน้าตาของนักฟุตบอลที่กำลังโด่งดังในยุคนั้น มาดัดแปลงให้อยู่ในการ์ตูนของเขา
แนวทางแบบนี้เริ่มชัดเจนตั้งแต่ภาค Road to 2002 ที่สึบาสะ ได้ไปค้าแข้งในยุโรปกับ บาร์เซโลนา ทำให้มีนักเตะดังมากมายปรากฎขึ้นในการ์ตูนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในทีมบาร์ซาอย่าง ริวัล ที่มีต้นแบบมาจาก ริวัลโด้ อดีตเพลย์เมกเกอร์ชาวบราซิล และ กรันดิออส อันมีที่มาจาก เป๊ป กวาดิโอลา
Photo : mangareader.info
หรือในเตะในลีกอื่น ที่ดูแค่ชื่อก็พอจะเดาออกว่ามาจากนักเตะคนไหน ทั้ง อเลสซานโดร เดลปิ (อเลสซานโดร เดล ปิเอโร), โทราม (ลิลิยง ตูราม), ฟิลิปโป อินซาร์ส (ฟิลิปโป อินซากี), หลุยส์ เอนโปลี (หลุยส์ เอนริเก), เซดาน (ซีเนดีน ซีดาน), อลัน (อลัน เชียร์เรอร์) หรือ โอลิเวอร์ ฮาน (โอลิเวอร์ คาห์น)
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ฟุตบอลตะวันตก ส่งผลอิทธิพลอย่างมากในการตั้งชื่อของอาจารย์ทาคาฮาชิ ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกที่เต็มไปด้วยชื่อของนักเตะยุค ‘80 หรือในยุคต่อมา ที่ดัดแปลงจากชื่อของนักเตะกำลังค้าแข้งในยุคนั้น
“สันนิษฐานว่าตัวละครต่างชาติในการ์ตูนกัปตันสึบาสะในช่วงแรก ได้รับอิทธิพลมาจากฟุตบอลโลกค่อนข้างมาก” กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International study มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่นกล่าวกับ Main Stand
“ชื่อของนักเตะต่างชาติจากภาค Junior Youth จึงเอามาจากนักฟุุตบอลจริงแทบทั้งหมด แถมยังเป็นความรับรู้ของฟุตบอลในยุคทศวรรษที่ 1980s เช่น ดิวเตอร์ มุลเลอร์ (ดีเตอร์ มุลเลอร์), จิโน เฮอร์นันเดซ (ดิโน ซอฟฟ์), คาร์ล ไฮนซ์ ชไนเดอร์ (คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้) หรือ ฮวน ดิอาซ (รามอน ดิอาซ)”
อย่างไรก็ดี มันไม่ได้มีแค่นี้
ตัวละครในประวัติศาสตร์
แม้จะเป็นนักวาดการ์ตูนฟุตบอล แต่อาจารย์ ทาคาฮาชิ ก็ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านฟุตบอลเลยแม้แต่นิด การวาดเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอล นอกจากความหลงใหลในตัวของมัน มันยังทำให้เขาต้องค้นคว้าหาข้อมูล มากกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว
Photo : www.taromisaki.blogfa.com
และผลพวงจากการค้นหาข้อมูล นอกจากตัวละครในเรื่องจะมาจากนักฟุตบอลจริงๆ เขายังนำบุคคลในประวัติศาสตร์ มาตั้งเป็นชื่อตัวละครในเรื่องอีกด้วย และตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ หลุยส์ นโปเลียน กองหน้าชาวฝรั่งเศส ที่ปรากฎตัวครั้งแรกในทัวร์นาเมนต์จูเนียร์ยูธ
นโปเลียน คือกองหน้าตัวเก่งของทัพตราไก่ ชื่อของเขาไม่ได้นำมาจากนักฟุตบอลคนใด แต่นำมาจากจักรพรรดินโปเลียนมหาราช แม่ทัพอันเกรียงไกรของฝรั่งเศส แต่บางทฤษฎีบ้างก็เอามาจาก นโปเลียนที่ 3 ผู้เป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ต่างเป็นบุคคลที่สำคัญในประวัติศาสตร์ด้วยกันทั้งคู่
เช่นเดียวกับ เอลซิด ปิแอร์ คู่หูของนโปเลียนในทีมชาติฝรั่งเศส ก็มีที่มาจาก โรดริโก ดิอาซ เด บีบาร์ ขุนนางชาวสเปน และผู้นำทางทหารของแคว้นกัสตียาในยุคกลาง ที่มีชื่อเล่นว่า “เอลซิด” แม้ว่าอาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันกับฝรั่งเศสโดยตรง แต่ถือเป็นหนึ่งในอัศวินที่มีชื่อเสียงในยุโรป จากตำนานที่ว่าแม้จะสิ้นชีพไปแล้ว แต่ยังถูกตรึงไว้บนหลังม้าเพื่อข่มขวัญศัตรู
หรือในกรณีของ ฮิวงะ โคจิโร กองหน้าของ เมวะ เอฟซี และ โทโฮ ทีมที่เป็นคู่แข่งของนันคัตสึ และเป็นคู่แข่งคนแรกๆ ของสึบาสะ ที่มีทฤษฏีว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ซาซากิ โคจิโร นักดาบในตำนานในยุคสงครามกลางเมือง (เซนโงคุ) ของญี่ปุ่น
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วชื่อ โคจิโร กับ สึบาสะ มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะมันดูเหมือนจะมีไม่มีความเกี่ยวพันกันเลย? เหตุผลก็คือต้องย้อนไปไกลกว่านั้น
อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรกว่า โคจิโร มีที่มาจาก ซาซากิ โคจิโร นักดาบชื่อดัง โดยเขามีคู่ปรับสำคัญก็คือ มิยาโมโต มุซาชิ อีกหนึ่งซามูไรฝีดาบระดับพระกาฬอีกคนของยุค
ตามตำนานเล่าว่าในยุคสงครามกลางเมือง พวกเขาทั้งคู่ต่างเป็นนักดาบที่เก่งกาจที่สุดในตอนนั้น และไม่มีใครปราบได้ ทำให้ทั้งสองได้มาประลองกันเองเพื่อชิงความเป็นหนึ่งที่เกาะกันริว ก่อนที่ มุซาชิ จะเป็นฝ่ายเหนือกว่า และเอาชนะไปได้ในศึกนั้น
ชื่อของ มุซาชิ และ โคจิโร จึงมักถูกนำมาใช้ตั้งเป็นตัวละครคู่หูหรือคู่ปรับในการ์ตูนมากมาย ที่พอจะคุ้นเคยกันก็คือ คู่หูวายร้าย มุซาชิ-โคจิโร ในเรื่องโปเกมอน เช่นเดียวกับในเรื่องกัปตันสึบาสะ ที่ให้ สึบาสะ เป็นตัวแทนของ มุซาชิ
เหตุผลก็คือมีทฤษฎีว่า สึบาสะ มีต้นแบบมาจากนักฟุตบอลที่ชื่อว่า มุซาชิ มิสุนุมะ ที่แม้ว่าอาจารย์ทาคาฮาชิ จะไม่เคยออกมายอมรับในเรื่องนี้ แต่มันก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก
เนื่องจาก มิสุนุมะ ต่างมีเส้นทางชีวิตที่คล้ายกับสึบาสะ
เขาคือนักฟุตบอลในยุค 1980s เกิดที่ญี่ปุ่นในปี 1964 ก่อนจะย้ายไปบราซิลตอนอายุ 10 ขวบในปี 1985 ซึ่งใกล้เคียงกับตอนแรกที่ สึบาสะ เกือบได้ไปบราซิลตอนจบประถม 6 (อายุ 12) ในขณะเดียวกัน เขายังได้อยู่ทีมเยาวชนกับ เซา เปาโล และเซ็นสัญญาอาชีพที่นั่น ซึ่งเป็นสโมสรเดียวกับสึบาสะ ในการ์ตูนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ชื่อตัวละครบางตัวที่ดูเหมือนว่าเอามาจากในประวัติศาสตร์ อย่าง บุนนาค สิงห์ประเสริฐ กองหลังทีมชาติไทย ซึ่งหลายคนอาจจะนึกถึงตระกูล “บุนนาค” ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย ก็กลับกลายเป็นการนำชื่อที่หาได้มาผสมกัน เนื่องจากความยากของภาษา
Photo : livejapan.com
“ตอนนั้นผมแค่อยากจะสร้างตัวละครมีจุดเด่น และที่เป็นตัวแทนความเป็นไทยได้ ก็เลยคิดตัวละครที่เคยเป็นนักมวยไทย และนักตะกร้อกลายเป็นนักฟุตบอล มันคือ ไอเดีย ไม่ได้มาจากผู้เล่นคนไหนของไทยหรอก” ทาคาฮาชิ ให้สัมภาษณ์กับ Goal
“การสรรหาชื่อตัวละครไทยค่อนข้างยาก ผมก็ใช้ดูชื่อนักฟุตบอลไทย และพวกชื่อคนไทยทั่วๆไปแล้วเอามาผสมๆกัน ผมไม่รู้หรอกว่า ‘บุนนาค’ เป็นชื่อของชนชั้นสูงอะไร ในประเทศไทย (ฮา)”
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเห็นได้ว่า แม้ว่าตัวละครในการ์ตูนสึบาสะจะมีมากมาย แต่ชื่อของตัวละครหลักส่วนใหญ่ ล้วนผ่านการคิดและกลั่นกรอง ก่อนที่จะออกมาสู่สายตานักอ่าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการทำงานที่ละเอียดของอาจารย์ทาคาฮาชิ
มันคือการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างลึกซึ้ง บวกกับความตั้งใจที่จะสื่อถึงตัวตนของตัวละครนั้นๆ ในขณะเดียวกัน มันยังทำให้เห็นว่าการ์ตูนที่ถูกปรามาสว่าเต็มไปด้วยท่าไม้ตายที่เวอร์วัง และสนามที่ดูยืดยาวไม่มีที่สิ้นสุด มันมีอะไรมากกว่านั้น
และเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าเพราะเหตุใด “กัปตันสึบาสะ” ที่มีอายุเกือบ 40 ปี ถึงครองใจผู้อ่านจวบจนถึงทุกวันนี้