โอลิมปิก 1988 : การแข่งขันที่ช่วยเปลี่ยนเผด็จการเป็นประชาธิปไตยสู่เกาหลีใต้

โอลิมปิก 1988 : การแข่งขันที่ช่วยเปลี่ยนเผด็จการเป็นประชาธิปไตยสู่เกาหลีใต้

โอลิมปิก 1988 : การแข่งขันที่ช่วยเปลี่ยนเผด็จการเป็นประชาธิปไตยสู่เกาหลีใต้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกาหลีใต้ คือหนึ่งในชาติมหาอำนาจของทวีปเอเชีย พวกเขามี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี 2019 เป็นหนึ่งในเจ้าพ่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และมีอุตสาหกรรมบันเทิง ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

แต่ย้อนไปเมื่อ 50-60 ปีก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้คือชาติที่ยากจนอันดับต้นๆของโลก มี GDP น้อยกว่าประเทศ เคนยา หรือ กานา ในทวีปแอฟริกาเสียอีก

สิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเกาหลีใต้ เข้าสู่ยุคความรุ่งเรืองในปัจจุบัน มาจากการจัดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ของมวลมนุษยชาติ อย่างโอลิมปิก เกมส์ ในปี 1988 ซึ่งช่วยเปลี่ยนประเทศนี้ ไปโดยสิ้นเชิง

ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการพลิกโฉมหน้าทางการเมือง ของประเทศแห่งนี้ไปด้วย

เกาหลีใต้ในอดีต

เกาหลีใต้ ไม่ใช่ชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในฐานะรัฐสมัยใหม่ พวกเขาได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี 1948 หลังจากกองทัพสัมพันธมิตร ปลดแอกดินแดนแห่งนี้ จากการครอบครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


Photo : archive.boston.com

ท่ามกลางภัยสงครามเย็น ของสองขั้วความคิดทางการเมือง ระหว่างคอมมิวนิสต์ กับโลกเสรีนิยม นำไปสู่การเกิดสงครามตัวแทน “สงครามเกาหลี” ในช่วงปี 1950 ถึง 1953 ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้

เพื่อป้องกันการรุกราน จากภัยสงคราม ทำให้เกาหลีใต้ ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ในช่วงเริ่มต้น นำโดย อี ซึงมาน ประธานาธิบดี คนแรกของประเทศเกาหลีใต้ จากการเลือกตั้ง พร้อมการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1948

แนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ ถูกใช้เป็นฉากบังหน้าในการรักษาฐานอำนาจ ของรัฐบาลเผด็จการ ในเวลานั้นเกาหลีใต้ได้รับเงินสนับสนุน จากสหรัฐอเมริกามากถึง 935 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28,500 ล้านบาทในปัจจุบัน) แต่กลับเป็นประเทศด้อยพัฒนา ที่มี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ต่ำเป็นลำดับต้นๆ ของโลก 

ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดี ถูกมองว่ามีการแทรกแซงจากรัฐบาล ซึงมานดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศ 3 สมัยซ้อน ... ส่วนการเลือกตั้งครั้งที่ 4 คู่แข่งของซึงมาน ในการเลือกตั้งอย่าง โอค โชพยอง เสียชีวิตก่อนการเลือกตั้ง เพียง 1 เดือนอย่างไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้ซึงมานชนะการเลือกตั้ง ครั้งที่ 4 ของตัวเอง ด้วยวัย 84 ปี

ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนัก จากประชาชน ด้วยความไม่พอใจทางการเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้ซึงมาน ต้องออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ ในปี 1960 ... อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1961 เกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้การปกครอง ของเผด็จการอีกครั้ง จากการรัฐประหาร ของนายพล พัก จองฮี เพื่อแก้ปัญหา เศรษฐกิจที่ตกต่ำลงกว่าเดิม ราคาข้าวเพิ่มขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 1 ปี และผู้คนมากกว่า 23 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ กลายเป็นคนตกงาน


Photo : archive.boston.com

พัก จองฮี เข้ามาแก้วิกฤติเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เขาออกแผนพัฒนา 5 ปี ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและไฟฟ้า แทนที่ภาคเกษตรกรรม ด้วยการร่วมมือจากบริษัทกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ซึ่งรู้จักในเวลาต่อมาว่า กลุ่มแชโบล 

การเกิดสงครามเวียดนาม ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในฐานะฐานผลิตอาวุธให้กับสหรัฐอเมริกา ... ย้อนไปตอนปี 1961 ที่ พัก จองฮี เข้ามามีอำนาจในประเทศ ค่าเฉลี่ยรายได้ของคนเกาหลีใต้ มีไม่ถึง 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 7,600 บาทในปัจจุบัน) แต่เมื่อถึงปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่นายพลพักหมดอำนาจ ค่าเฉลี่ยรายได้ เพิ่มขึ้นเป็น 1,750 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 53,000 บาทในปัจจุบัน)


Photo : www.wilsoncenter.org

เศรษฐกิจที่เติบโต สวนทางกับเสรีภาพทางการเมืองของชาวเกาหลีใต้ หลังจาก พัก จองฮี ฉีกรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตนเองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป เป็นสมัยที่ 3 (รัฐธรรมนูญเดิม กำหนดให้ประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย) รวมไปถึงมีการลักพาตัว นักการเมืองของฝ่ายคู่แข่งอีกหลายครั้ง

การฉีกกฎหมายเก่า และเขียนกฎหมายใหม่ ที่ให้อำนาจรัฐบาลเผด็จการ อย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การประท้วงในวงกว้างของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน และนักศึกษา ... ผลลัพธ์ที่ตามมา ประชาชนหลายพันคน ถูกจับกุมตัวในค่ายทหาร ยิ่งการปราบปรามมากขึ้นเท่าไหร่ การเรียกร้องประชาธิปไตย ในหมู่มวลชน ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

มากกว่าการแข่งขันกีฬา

เกาหลีใต้เดินเข้าสู่ยุค 80’s ภายใต้การจับตาของชาวโลก ในทางหนึ่งประเทศนี้สร้างความประทับใจ ให้กับชาติตะวันตกฝั่งโลกเสรีเป็นอย่างมาก จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน ประเด็นเสรีภาพทางการเมือง คือเรื่องที่ทุกฝ่ายวิตกกังวล


Photo : structurae.net

ปี 1981 เกาหลีใต้ถูกเสนอชื่อเข้าชิง การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ประจำปี 1988 ซึ่งต้องแข่งกับประเทศญี่ปุ่น ชาติบ้านใกล้เรือนเคียง ที่มีความพร้อมมากกว่า ในทุกๆ ด้าน

อีกทั้งหนึ่งปีก่อนหน้านี้ เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เมืองกวางจู จนมีผู้บาดเจ็บ สูญหาย และล้มตาย เกือบ 4,000 คน ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ ถูกมองในแง่ลบ และประเด็นทางการเมือง ถูกใช้ถามถึงความเหมาะสม ต่อการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

30 กันยายน 1981 คือวันตัดสินว่า เมืองใด จะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก คะแนน 52 ต่อ 27 คือผลลัพธ์ที่ประกาศออกมาว่า กรุงโซล จากประเทศเกาหลีใต้ พลิกล็อคเอาชนะ เมืองนาโกยา ของประเทศญี่ปุ่นไปได้

สหรัฐอเมริกา คือตัวการสำคัญ ที่ผลักดันให้เกาหลีใต้ ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพราะต้องการให้มหกรรมกีฬาครั้งนี้ เป็นพื้นที่แสดงศักยภาพของประเทศฝั่งโลกเสรี ในการข่มขวัญประเทศฝั่งคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้เกิดภาพเปรียบเทียบระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ 

ยุคสงครามเย็น การใช้มหกรรมกีฬา ในการแสดงออกศักยภาพทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะในปี 1980 สหภาพโซเวียต (ประเทศรัสเซียในปัจจุบัน) ได้ใช้กีฬาโอลิมปิก ที่กรุงมอสโก เป็นพื้นที่ประกาศอำนาจของชาติ สู่เวทีโลก

ไม่ใช่แค่ชาติมหาอำนาจที่ได้ประโยชน์ จากการจัดโอลิมปิก เกมส์ …รัฐบาลเกาหลีใต้ มีส่วนผลักดันอย่างมาก ที่จะดึงมหกรรมกีฬานี้ มาจัดในประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก หลังถูกตั้งคำถามจากประเด็นทางการเมือง มาโดยตลอด 


Photo : @koryodynasty

ขณะเดียวกันการได้สิทธิ์ เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ได้ช่วยลดแรงต่อต้านจากประชาชน ที่กำลังดำเนินการเรียกร้อง ความเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ทั้งเกาหลีใต้ และชาติมหาอำนาจฝั่งโลกเสรี ล้วนต้องการให้โอกาส ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโซล คือโอกาสสำคัญ ของการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ ให้ก้าวไปอีกระดับ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อครั้งที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ที่กรุงโตเกียว ในปี 1964 ซึ่งส่งให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติมหาอำนาจ ของทวีปเอเชีย

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อนาคตที่สดใส กำลังรอประเทศเกาหลีใต้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น พวกเขามีหลายสิ่งที่ต้องแก้ไข

ประเด็นสำคัญ ที่ถูกใช้โจมตีเกาหลีใต้ คือปัญหาทางการเมือง และสังคมภายในประเทศ นับตั้งแต่ได้รับเอกราช พวกเขาตกอยู่ภายใต้การปกครอง ด้วยระบอบเผด็จการมาตลอด ซึ่งขัดกับความต้องการของชาติตะวันตก ที่ต้องการเห็นสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนเกาหลีใต้ มากกว่าที่เป็นอยู่


Photo : www.pbs.org

“ในช่วงเวลานั้น ภาพจำของคนเกาหลีใต้ทั่วโลก มีอยู่ไม่กี่เรื่อง สงคราม, ทหาร, การปราบปรามนักศึกษา และการยิงแก๊สน้ำตา มันทำให้คนเกาหลีใต้เริ่มเกิดความคิดว่า เราต้องโชว์อะไรบางอย่างออกไปให้โลกเห็น และต้องเป็นภาพลักษณ์ที่ดีด้วย” ไมเคิล บรีน นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวของประเทศเกาหลีใต้ กล่าว

โอลิมปิก เกมส์ กลายเป็นตัวจุดความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ต้องการเห็นเกาหลีใต้ ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ รัฐบาลทหาร ในยุคของ ชุน ดูฮวาน ค่อยๆ ปรับตัวกับเสียงเรียกร้อง เริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก เข้ามามีบทบาทในประเทศ ให้เสรีภาพแก่ประชาชน ในหลายด้าน ลดการเซนเซอร์สื่อสาธารณะลง ... อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวเกาหลีใต้ ต้องการมากที่สุด คือการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส เพื่อแสดงภาพลักษณ์ ความเป็นประชาธิปไตย แก่ชาวโลก

ขณะเดียวกัน ช่วงยุค 80’s คือเวลาสำคัญของการชี้เป็นชี้ตาย บทสรุปของสงครามเย็น การจัดงานโอลิมปิก 1988 คืออีกปัจจัยสำคัญ ที่อาจช่วยให้ฝั่งโลกเสรี มีชัยในสงครามครั้งนี้ ยิ่งทำให้สหรัฐอเมริกา มองหาลู่ทาง ที่จะสร้างความมั่นใจว่า โอลิมปิก เกมส์ครั้งนี้ จะต้องออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ หนึ่งในทางแก้ปัญหา คือการเปลี่ยนให้เกาหลีใต้ เป็นประเทศประชาธิปไตย

เดือนมิถุนายน ปี 1987 นายพลชุน ดูฮวาน ประกาศเตรียมลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่แทนที่จะเลือกคืนอำนาจให้กับประชาชน เขากลับเตรียมมอบอำนาจให้กับ โร แทอู อดีตนายพลอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของรัฐบาลเกาหลีใต้ ในช่วงเวลานั้น


Photo : www.tellerreport.com

การสืบทอดอำนาจ นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 240,000 คน จากการชุมนุมใน 22 เมืองทั่วประเทศ สุดท้าย ชุน ดูฮวาน ต้องยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย ในเดือนธันวาคม ปี 1987 และเปลี่ยนประเทศเกาหลีใต้ ให้เป็นประเทศประชาธิปไตย ในที่สุด ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวก็คือ โร แทอู นั่นเอง

“โอลิมปิก เกมส์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเกาหลีใต้ ให้กลายเป็นประชาธิปไตย เพราะชาวเกาหลีใต้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เป็นประเทศประชาธิปไตยมานานแล้ว”

“แต่โอลิมปิก เกมส์ มีส่วนที่ทำให้การสืบทอดอำนาจ ของรัฐบาลเผด็จการสิ้นสุดลง เพราะการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1988 ทำให้โลกจับตามองดูเกาหลีใต้ทุกฝีก้าว รัฐบาลเกาหลีใต้ ไม่มีทางเลือก นอกจากคืนอำนาจให้ประชาชน” ไบรอัน โกลด์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ เอเชียตะวันออก กล่าว

เปิดประตูสู่สากล

เกาหลีใต้ปลดล็อคทุกเงื่อนไข ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ จะเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลเกาหลีใต้ ให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกว่า โอลิมปิกครั้งนี้ จะสมบูรณ์แบบอย่างที่สุด และต้อนรับทุกประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ด้วยความเท่าเทียม ไม่ว่าจะมาจากฝั่งโลกเสรี หรือโลกคอมมิวนิสต์ พวกเขาลงทุน 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 100,000 ล้านบาทในปัจจุบัน) เพื่อจัดงานกีฬาครั้งใหญ่ของประเทศ 


Photo : www.hojaderutas.com

พิธีเปิดของการแข่งขัน ถูกจัดขึ้นในวันที่ 17 กันยายน ปี 1988 ซึ่งเกาหลีใต้จัดการแสดงออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่ อลังการ พร้อมกับโชว์ความเป็นตัวตนของชนชาติเกาหลี และศักยภาพของการเป็นชาติชั้นนำ ในเอเชีย ซึ่งพิธีเปิดครั้งนี้ สร้างเสียงชื่นชมให้กับชาติเจ้าภาพ ได้เป็นอย่างดี

“นี่เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สงครามเกาหลี ที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่เกาหลีใต้ เป็นจำนวนมหาศาล” ไมเคิล บรีน เล่าถึงความสำคัญของโอลิมปิก เกมส์ 1988 ที่ช่วยเปิดโลกให้กับเกาหลีใต้

“สิ่งที่แสดงผ่านการแข่งขัน คือสเตเดี้ยมที่ยิ่งใหญ่อลังการ สิ่งอำนวยความสะดวกที่สมบูรณ์แบบ และเป็นการโชว์ศักยภาพการทำงานของคนเกาหลีใต้ ในการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ ได้อย่างยอดเยี่ยม”

“ย้อนไปในตอนนั้น โอลิมปิกที่กรุงโซล คือมหกรรมกีฬาที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่มีรายการไหนเทียบได้เลย”


Photo : egloos.zum.com

ความสำเร็จกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ คือการสร้างความเชื่อมั่นในเวทีโลก ว่าเกาหลีใต้ ไม่ได้มีแค่เศรษฐกิจที่เติบโตเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพทั้งทางเทคโนโลยี, บุคลากร และความสามารถในการจัดการ ที่พร้อมจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลก

ยิ่งไปกว่านั้น โอลิมปิก เกมส์ คือพื้นที่เปิดโอกาส ให้เกาหลีใต้ได้มีความสัมพันธ์ทางการฑูต กับชาติฝั่งคอมมิวนิสต์ ที่ไม่เคยติดต่อกันมาก่อน ทั้ง สหภาพโซเวียต, จีน และอีกหลายชาติทางยุโรปตะวันออก ซึ่งในภายหลังได้พัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกัน จนกลายเป็นพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่ง

หลังจากปี 1988 ชาติทั่วโลกให้การรับรองเกาหลีใต้ ในฐานะคู่ค้าทางเศรษฐกิจ ผ่านความเชื่อมั่นจากการจัดงานโอลิมปิก เกมส์ ขณะเดียวกันระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ 

“สิ่งสำคัญที่สุด บริษัทเกาหลีใต้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการค้าในเวทีโลก แซงขึ้นมาจากด้านหลัง และเดินหน้าท้าทายบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย” ไมเคิล บรีน กล่าว


Photo : www.cnbc.com

เข้าสู่ยุค 90’s เกาหลีใต้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เกิดการแลกเปลี่ยนทางการค้า เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ซึ่งช่วยต่อยอด การสร้างผลิตภัณฑ์เกาหลี ที่จะได้รับความนิยมอย่างมาก ในเวลาต่อมา อย่างอุตสาหกรรมบันเทิง ... ขณะที่ปัจจุบันเกาหลีใต้ ก้าวขึ้นมาเป็นชาติแนวหน้าของโลกทางการค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์


Photo : news.jtbc.joins.com

สำหรับคนเกาหลีใต้ โอลิมปิก เกมส์ จึงไม่ได้เป็นเพียงมหกรรมกีฬา แต่เป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศแห่งนี้ ให้เดินหน้าไปไกลกว่าเดิม ทั้งเรื่องการเมืองในประเทศ และการเปิดตลาดเศรษฐกิจนอกประเทศ 

แม้เหตุการณ์โอลิมปิก 1988 จะผ่านมามากว่า 30 ปี แต่ยังเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึง และถูกศึกษาในเชิงวิชาการ กับการเปลี่ยนแปลงประเทศแห่งหนึ่งไปตลอดกาล ด้วยการจัดงานกีฬาเพียงแค่ครั้งเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook