"มิยางิ เรียวตะ" ในโลกจริง : ยูกิ โทงาชิ...นักบาสฯญี่ปุ่นคนแรกที่รายได้แตะ 100 ล้านเยน
เมื่อส่วนสูงเป็นแค่ลักษณะทางร่างกาย แต่ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับนักบาสฯรายนี้
นอกจากความสนุกในเกมการแข่งขัน อีกหนึ่งจุดเด่นของสแลมดังค์ คือความมีมิติของตัวละคร ที่ทำให้แต่ละคนในเรื่องมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป และหนึ่งในนั้นก็คือ มิยางิ เรียวตะ
เขาเป็นคนเลือดร้อน มีเรื่องชกต่อยจนต้องนอนโรงพยาบาลหลายเดือน แต่เมื่อลงเล่นในสนามเขามีความมุ่งมั่นในชัยชนะ แม้จะมีส่วนสูงเพียงแค่ 167 เซนติเมตร แต่เขามีความเร็ว, ชาญฉลาด และเป็นหนึ่งในผู้เล่นพรสวรรค์ที่ทำให้โชโฮคุ เกือบพิชิตทั่วประเทศ
ฟังดูอาจจะเป็นแค่เรื่องในการ์ตูน เนื่องจากส่วนสูงเพียงเท่านี้ อาจจะตัวเล็กเกินไปสำหรับกีฬาบาสเกตบอล แต่ในโลกความจริง ก็มีนักบาสฯ คนหนึ่งที่ได้สร้างปรากฎการณ์ในลีกบาสญี่ปุ่น ด้วยส่วนสูงเท่ากับ มิยางิ เรียวตะ
ผู้เล่นคนนั้นมีชื่อว่า ยูกิ โทงาชิ และนี่คือเรื่องราวของเขา
อัจฉริยะผู้พิชิตทั่วประเทศ
ชีวิตของ โทงาชิ ดูเหมือนจะผูกพันกับบาสเกตบอลมาตั้งแต่เด็กๆ เขาเกิดในครอบครัวที่พ่อของเขาฮิเดกิ โทงาชิ เป็นโค้ชบาสเกตบอลโรงเรียน ทำให้รู้จักกับกีฬาชนิดนี้มาแต่เล็กๆ
Photo : nbagleague
เขาเริ่มเล่นมินิบาสเกตบอลมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นป.1 ก่อนจะเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนชิบาตะฮมมารุ ที่พ่อเขาเป็นโค้ชอยู่ และที่นั่นทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากกว่าแค่ในจังหวัด ด้วยการพาโรงเรียนคว้าแชมป์ระดับชาติ 3 สมัยซ้อน และถูกเรียกติดทีมชาติญี่ปุ่น ชุดอายุไม่เกิน 15 กับ 16 ปีอีกด้วย
“ตอนที่เด็กคนนั้นเริ่มชู้ตบาสฯ ไม่รู้ว่าเขาเลิกใส่ผ้าอ้อมไปหรือยังนะ เขาเลี้ยงบอลแบบทะลุทะลวง ครั้งแรกน่าจะช่วงป.4 ผมได้ไปดูการแข่งขัน ตอนที่เห็นก็รู้สึกแปลกใจ รู้สึกว่าเก่งขนาดนี้เลยเหรอ” ฮิเดกิ โทงาชิ พ่อของเขากล่าวกับ Real Sports
“ตอนที่มาที่โรงเรียนของผม (โรงเรียนมัธยมต้นชิบาตะชิริตสึฮมมารุ) เขาก็สมบูรณ์แบบแล้ว ตอน ม.1 พาทีมชนะทั่วประเทศระดับม.ต้น ด้วยส่วนสูงเพียง 148 เซนติเมตร คือไม่มีใครหยุดเขาได้เลย”
ด้วยฝีไม้ลายมือที่เกินวัยของเขา ทำให้โค้ชคาสุโอะ นาคามูระ ที่เป็นโค้ชทีมฮามามัตสึ และฮิงาชิ มิคาวะ ฟีนิกซ์ แนะนำให้ ฮิเดกิ ส่งลูกชายของเขาไปเรียนต่อที่ดินแดนแห่งเสรีภาพ เขาบอกว่า “จงไปเป็นคาซู (คาสุโยชิ มิอุระ นักฟุตบอลญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เล่นในเซเรียอา) ที่อเมริกา”
“การมุ่งไป NBA มักจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดเสมอ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้คิดว่ามันคือเป้าหมาย แต่มองว่ามันเป็นการมีอยู่ที่เราแทบจะถอยหลังกลับไม่ได้ ตอนที่ผมกำลังหาที่เรียนต่อในญี่ปุ่น ก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้ไว้เลย ก็เลยตัดสินใจที่จะไปอเมริกา” โทงาชิ กล่าวกับ Asahi
“พ่อของผมเป็นโค้ชให้กับทีมโรงเรียนของผมสมัยม.ต้น เขามีคนรู้จักเป็นโค้ชโรงเรียนม.ปลายเยอะแยะ บางคนก็มาชวนแข่งซ้อม บางคนก็มานอนพักที่บ้าน คนเหล่านั้นก็ชวนผมไปเรียนต่อที่โรงเรียนของเขา ตอนนั้นรู้สึกเกรงใจก็เลยตามไปด้วยความรู้สึกลำบากใจ แต่พอกลุ้มใจมากๆ ก็เลยพูดเรื่องจะไปอเมริกาออกมา ความรู้สึกที่จะไปยังน้อยอยู่เลย แต่อีกฝ่ายทำใจยอมรับ”
โทงาชิ ได้ออกมาเผชิญโลกกว้างครั้งแรกด้วยวัย 15 ปี เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียน มอนทรอส คริสเตียน เมืองร็อควิลล์ รัฐแมรีแลนด์ ที่แห่งนี้คือคือโรงเรียนเดียวกันที่ปลุกปั้น เควิน ดูแรนท์ และ กราวิส วาสเกวซ สองนักบาสชื่อดังแห่ง NBA แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นการเลือกสรร จากความตั้งใจของพ่อเขา
แม้ในช่วงแรกจะพบกับความยากลำบาก ทั้งภาษาและการปรับตัว แต่โทงาชิ ก็ใช้เวลาไม่นาน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวหลักของทีม แถมยังอยู่ในชุดคว้าอันดับ 2 ของประเทศในปี 2010 เขาฝันว่าหลังเรียนจบ เขาจะได้เล่นบาสต่อที่นี่
อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงกับความฝันนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นักบาสที่สูงเพียง 167 เซนติเมตร
แม้ว่า โทงาชิ จะฝีไม้ลายมือที่เก่งกาจ และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมสมัยมัธยมปลาย แต่เนื่องจากเขามีรูปร่างที่เล็กมาก และสูงเพียงแค่ 167 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเล็กเกินมาตรฐานนักบาสทั่วไป โดยเฉพาะในลีกอาชีพที่อุดมไปด้วยผู้เล่นเกิน 2 เมตร
Photo : www.sbnation.com
ในสมัยมัธยมฯ ส่วนสูงของเขาอาจจะไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะมาตรฐานการเล่นอาจจะไม่ได้แตกต่างกันเท่าไร แต่ในโลกของมืออาชีพมันคือแต้มต่อ ที่สามารถตัดสินชัยชนะได้
และนั่นก็ทำให้หลังจบม.ปลาย เขาไม่ได้รับการเสนอทุนจากทีมใน NCAA (ลีกมหาวิทยาลัย) ทำให้เขาเบนเข็มกลับมาญี่ปุ่น และเข้าทีม อาคิตะ นอร์ธเทิร์น แฮปปิเน็ตส์ ทีมในลีก BJ ลีกบาสระดับอาชีพของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ที่มีโค้ชนาคามูระกุมบังเหียนอยู่
แต่ โทงาชิ ก็ไม่ยอมแพ้ ปี 2014 เขาไปอเมริกาอีกครั้ง เขาเริ่มต้นจากการลงเล่นใน NBA ซัมเมอร์ลีก ซึ่งเป็นการแข่งขันในช่วงปิดฤดูกาล และทำหน้าที่เหมือนเป็นการคัดตัวผู้เล่นหน้าใหม่ไปเล่น NBA และได้ร่วมทีม ดัลลัส แมฟเวอริคส์
เขาได้ลงเล่น 4 จาก 5 เกม ในฐานะพอยท์การ์ดมือ 3 ของทีม และแม้จะทำแต้มได้ แต่ด้วยจำนวนนาทีลงเล่นที่จำกัด ทำให้หลังจบซัมเมอร์ลีก เขาต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง เมื่อไม่มีทีมไหนใน NBA เซ็นเขาไปร่วมทีม
แต่ในข่าวร้ายยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อ เท็กซัส เลเจนด์ส ทีมในระดับ NBA G League หรือที่รู้จักในชื่อ National Basketball Development League (NBDL) ซึ่งเป็นทีมน้องของแมฟเวอริคส์ สนใจในฝีไม้ลายมือของเขา และทำให้ โทงาชิ ได้รับโอกาสลงเล่นในลีกบาสอาชีพของอเมริกาจนได้
Photo : nbagleague
แต่ผลงานกับเท็กซัส ก็ไม่ได้ดีมากนัก เขาได้ลงเล่นไปเพียง 25 นัด เป็นตัวจริงเพียงนัดเดียว ทำแต้มเฉลี่ยเพียงเกมละ 2 คะแนน กับแอสซิสต์เฉลี่ย 1.0 ครั้งต่อเกม ในปีต่อมาเขาไปลองคัดตัวในลีกยุโรป แต่ตกลงสัญญากันไม่ได้ ก็เลยกลับมาเล่นในบ้านเกิด และเป็น จิบะ เจ็ตส์ ที่รับตัวเขาไปดูแล
และเหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ในปีแรกที่เขากลับมาญี่ปุ่น เจ็ตส์ มี เซจิโก พับลิเซวิช ผู้จัดการทีมชาวโครเอเชียคุมทีม เขาเป็นโค้ชสไตล์ยุโรป ที่จริงจังกับเรื่องส่วนสูงยิ่งกว่า บาสอเมริกัน และนั่นก็ทำให้ โทงาชิ ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงไปเพียงแค่ 5 เกม จนทำให้เขาคิดเรื่องย้ายทีม
ก่อนเปิดฤดูกาล 2016-2017 เขาขอคุยกับ อัตสึชิ โอโนะ ผู้จัดการของทีมคนใหม่ในเรื่องโอกาสในการลงเล่น และการเปิดอกคุยในครั้งนั้น ก็เปลี่ยนชีวิตเขาไป
ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
“ผมคิดเรื่องการย้ายทีมอย่างหนัก ก่อนเปิดฤดูกาลผมก็เลยเข้าไปคุยกับคุณโอโนะ ทั้งๆ ที่ไม่เคยร่วมงานกัน แต่ผมก็ได้รับการเชื่อใจจากเขา” โทงาชิ ย้อนความหลังกับ Real Sports
“การเจอกันครั้งนั้นจึงดีมากๆ เมื่อคิดถึงชีวิต 3 ปีที่ผ่านมามันสุดยอดมาก ผมจึงอยากจะอยู่กับทีมต่อไปอีกนานๆ”
Photo : www.japantimes.co.jp
การพูดคุยครั้งนั้น ทำให้สถานการณ์ของเขาเปลี่ยนไป โทงาชิ เข้ามามีบทบาทกับทีมมากขึ้น ทำให้ได้ลงเล่นถึง 60 นัดในฤดูกาล 2016-2017 และเป็นตัวจริงทุกนัด ทำแต้มเฉลี่ย 13.2 แต้มต่อเกม กับแอสซิสต์เฉลี่ย 4.0 ครั้งต่อเกมในฤดูกาลดังกล่าว และทำแต้มเฉลี่ย 15.7 แต้มต่อเกม กับแอสซิสต์ 5.3 ครั้งต่อเกม จากการลงเล่น 50 นัดในฤดูกาลถัดมา
ก่อนในฤดูกาล 2018-2019 ที่ผ่านมา จะถือเป็นปีทองของโทงาชิอย่างแท้จริง เมื่อเขาพาทีมชนะคู่แข่งไปถึง 56 เกม และแพ้เพียง 9 เกม ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ฤดูกาลปกติ รองแชมป์เพลย์ออฟ และแชมป์ถ้วยจักรพรรดิ
สำหรับแชมป์เอ็มเพอเรอร์คัพ เขาคือผู้นำชัยสู่ทีมอย่างแท้จริง เมื่อเป็นผู้ยิง 3 คะแนนตอนเหลือ 3 วินาทีสุดท้าย ช่วยให้เจ็ตส์เอาชนะ อุสึโนะมิยะ เบร็กซ์ อย่างเฉียดฉิว ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 71-69 คว้าถ้วยใบนี้เป็นฤดูกาลที่ 3 ติดต่อกัน
ส่วนในนามทีมชาติ เขายังพาญี่ปุ่นคว้าชัย 8 นัดในรอบคัดเลือกรอบที่ 2 เป็นตัวแทน 1 ใน 4 ของเอเชียที่ผ่านเข้าไปเล่นในบาสเกตบอลชิงแชมป์โลก 2019 ที่ประเทศจีนได้สำเร็จ
จากผลดังกล่าวทำให้ โทงาชิ ได้รับเลือกเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการคว้าตำแหน่ง MVP ครั้งแรกของเขา และเป็นเกียรติประวัติสูงสุดที่เขาเคยได้รับ หลังอยู่กับทีมมา 3 ฤดูกาล
“ปีนี้ผู้คนรอบๆ ตัวผมบอกว่ามันเป็นปีที่สำคัญมากๆ ผมจึงรู้สึกดีที่ได้ลงแข่ง และเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในฤดูกาลนี้” โทงาชิเผยความรู้สึก
“ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าเทคนิคผมพัฒนาขึ้นเท่าไหร่ แต่ในด้านจิตใจนั้นพัฒนามาโดยตลอดใน 2 ซีซั่นที่ผ่านมา และโดยเฉพาะฤดูกาลนี้”
“แม้ว่าผมจะไม่ได้ทำผลงานได้ดีเท่าไร สถิติก็ธรรมดา แต่ทีมก็สามารถเก็บชัยชนะได้ มันจึงเป็นความรู้สึกว่าเป็นฤดูกาลที่นำไปสู่ชัยชนะ และตัวผมค่อยๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่”
Photo : www.japantimes.co.jp
นอกจากนี้ เขายังได้รับสัญญาสัญญาใหม่มูลค่า 100 ล้านเยนต่อปี (28.28 ล้านบาท) หรือราวเดือนละ 8.3 ล้านเยน (2.35 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นนักบาสญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีฐานเงินเดือนสูงขนาดนี้
ตามปกติแล้วบาสเก็ตบอลในญี่ปุ่นถือเป็นกีฬาที่ความนิยมเป็นรองทั้งเบสบอลและฟุตบอลอย่างสุดกู่ และยังมีฐานเงินเดือนที่ไม่สูงนัก จากสถิติของบีลีกระบุว่า ผู้เล่นญี่ปุ่นในลีกสูงสุดมีรายได้เฉลี่ยอยู่เพียง 13.1 ล้านเยนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.09 ล้านเยน (ราว 3 แสนบาท) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาจาก 8.2 ล้านเยนหรือเฉลี่ย 6.8 แสนเยน (1.92 แสนบาท) ในฤดูกาลก่อนหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาเฉพาะนักกีฬาญี่ปุ่นในเบสบอลและฟุตบอลยังพบว่า กีฬาดังกล่าวมีผู้เล่นชาวอาทิตย์อุทัย ที่มีรายได้เกิน 100 ล้านเยนมากกว่าบาสหลายเท่า โดยในเบสบอล มีคนที่เข้าข่ายนี้ถึง 71 คน ในขณะที่ฟุตบอลมีทั้งสิ้น 12 ราย
อะไรที่ทำให้นักบาสที่สูงเพียงแค่ 167 เซนติเมตร สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดได้สำเร็จ
คนตัวเล็กหัวใจใหญ่
แม้ว่าการไปอเมริกาของ โทงาชิ ถือว่าห่างไกลจากความสำเร็จ เมื่อเขาไม่ได้สัญญาจากทีมใน NBA แถมผลงานใน NBDL ก็ไม่ได้โดดเด่น แต่คงพูดไม่ได้ว่าเขา “ล้มเหลว” เพราะที่นั่นล้วนเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่ส่งผลต่อเขามาจนถึงปัจจุบัน
Photo : www.listph.com
“แม้ว่าอาจจะไม่ได้มีอิทธิพลมากนัก แต่ก็ส่งผลต่อตัวผม ผมคิดว่ามันดีมากที่ได้ท้าทายมัน ช่วงนี้มีคนมาถามถึงเส้นทางเรียนต่อหลังจบมัธยมปลาย ผมถูกถามมากในช่วงนี้ ผมคิดว่าการเรียนต่อของผมในตอนนั้นมีความหมายมากเลยทีเดียว” โทงาชิอธิบายกับ Real Sports
โทงาชิ เป็นคนขี้อายมาก นั่นทำให้เขามีปัญหาการเข้าสังคมมาตั้งแต่เด็กๆ แม้จะเป็นผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ตอนชั้น ม.ต้น แต่เขามักจะเลี่ยงการตอบคำถามของนักข่าวอยู่เสมอ และยังเป็นอยู่แบบนี้แม้กระทั่งตอนไปอเมริกา
และมันก็กลายเป็นปัญหาที่นั่น เมื่อเขาไม่ยอมพูดกับใคร แถมสำเนียงภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่น ทำให้เขาถูกล้อ มันก็ยิ่งทำให้เขาไม่กล้าพูดมากขึ้นไปอีก แต่มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้เล่นต่างชาติที่จำเป็นต้องสื่อสารกับโค้ชและเพื่อนร่วมทีม จนในที่สุด โทงาชิ เลือกที่จะไม่สนใจกับเสียงล้อเลียน เขาเลือกที่จะเอาชนะความกลัวในจิตใจ พูดออกมาโดยไม่สนใจใคร ซึ่งมันทำให้เขาเริ่มชิน และกล้าพูดมากขึ้นในที่สุด
“เมื่อก่อนผมเป็นคนขี้อายมากๆ ไม่ค่อยถนัดพูดคุยกับคนเพิ่งเคยเจอหน้าเป็นครั้งแรก แม้แต่ที่อเมริกาตอนแรก ผมก็ไม่พูดภาษาอังกฤษกับใครเลย ผมรู้สึกอายที่ต้องเป็นคนพูดก่อน ก็เลยพูดไม่ได้ คนรอบตัวผมดูเหมือนสนใจกับการออกเสียงของผม ทั้งหัวเราะ ทั้งเลียนเสียง” โทงาชิย้อนความหลังกับ Asahi
“แต่ช่วงกลางๆ ปีแรก ผมเริ่มชินและคิดว่าแม้จะถูกหัวเราะก็ไม่เป็นไร ตั้งแต่ตอนนั้น ก็เริ่มมีความกระตือรือร้นที่จะพูดมากขึ้น”
อเมริกาไม่เพียงทำให้สภาพจิตใจเขาแข็งแกร่งขึ้น มันยังทำให้สไตล์การเล่นเขาเปลี่ยนไป การต้องเจอกับผู้เล่นที่มีส่วนสูงเกือบ 2 เมตรเป็นประจำทุกวัน ทำให้ โทงาชิ คิดหาวิธีที่จะเอาชนะผู้เล่นเหล่านั้น จนกลายมาเป็นเทคนิคประจำตัวที่ญี่ปุ่น
จริงอยู่ที่โทงาชิ ถือว่าเป็นคนตัวเล็กสำหรับกีฬาชนิดนี้ แต่เขาก็ชดเชยมันด้วยความเร็วที่เป็นกรด และร่างกายที่บึกบึน การเลี้ยงบอลทะลุทะลวงของเขาถือเป็นอันดับต้นๆของญี่ปุ่น เขามักจะแหวกเข้าไปเลย์อัพ หรือจ่ายให้เพื่อนร่วมทีม ชนิดคู่แข่งไม่ทันตั้งตัวอยู่เสมอ
“ผมพยายามมองหาพื้นที่ แล้วมุ่งไปตรงนั้น” โทงาชิ กล่าวกับ Shuplay News
“แม้ว่าเขา (ผู้เล่นที่สูง 2 เมตร) จะอยู่ตรงหน้าคุณ แต่ถ้าเปลี่ยนจังหวะ เขาก็จะบล็อคไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอดจนถึงตอนนี้ ผมจะคิดหาวิธีที่ทำให้พวกเขาบล็อคไม่ได้อยู่เสมอ ผมเชื่อว่าผมจะทำให้คู่แข่งบล็อคไม่ได้ ไม่ว่าเขาจะสูงกี่เซนติเมตรก็ตาม”
นอกจากนี้ เขายังมีทีเด็ดที่ลูกยิง 3 คะแนน แม้ว่าจะเล่นตำแหน่งพอยท์การ์ด โดยมีสถิติยิงลง 41.8 เปอร์เซ็นต์ในฤดูกาล 2017-2018 และ 37.7 เปอร์เซ็นต์ในฤดูกาลล่าสุด ซึ่งทำให้คู่แข่งคาดเดาไม่ได้ว่าเขาจะเลี้ยงแหวกเข้าไปเอง ส่ง หรือยิงไกล
ในขณะเดียวกัน ความมุ่งมั่นที่จะเป็นแบบอย่างให้กับรุ่นต่อไปในการก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง การแสดงให้เห็นว่าผู้เล่นที่มีส่วนสูงเพียงแค่ 167 เซนติเมตร ก็สามารถเล่นบาสได้ แถมยังเล่นได้ดี ก็เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
“ส่วนสูงของผมสำหรับบาสฯ มันเป็นส่วนสูงที่เล็กมากจริงๆ เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าผมน่าจะสามารถมอบความหวังและความกล้าให้กับผู้คนมากมายๆ โดยเฉพาะพวกเด็กๆ” โทงาชิกล่าว
และมันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเปิดเผยรายได้ตอนเซ็นสัญญาฉบับใหม่มูลค่า 100 ล้านเยน โดยหวังว่าจะให้มันเป็นแรงบันดาลใจว่าผู้เล่นที่มีส่วนสูงไม่มากนัก ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับท็อปได้
“ผมคิดอยู่นานว่าผมจะเปิดเผย (เงินเดือนของผม) ต่อสาธารณะหรือไม่ แต่เพื่อมอบความฝันให้กับเด็กๆ ที่อยากจะเล่นบาสฯ หรือกำลังเล่นบาสฯ อยู่ ผมจึงตัดสินใจประกาศออกมา” โทงาชิ อธิบายกับ Japan Times
Photo : www.zimbio.com
โทงาชิ ยังเหลือความฝันอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการลงเล่นกับนักกีฬาระดับโลก น่าเสียดายที่เขาดันมามีอาการบาดเจ็บ ก่อนศึกบาสฯ ชิงแชมป์โลก 2019 ที่จีนไม่นาน ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นทำผลงานได้ไม่ดีในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว
แต่เขายังมีโอกาสแก้ตัวในอีก 1 ปีข้างหน้า เมื่อญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่เขาจะได้พิสูจน์ตัวเอง
อย่างไรก็ดี เหนือสิ่งอื่นใด คือ เขาเป็นตัวอย่างคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และไม่ยอมสิ้นหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ใช้ความสามารถของตัวเองก้าวข้ามขีดจำกัด จนก้าวขึ้นมาเป็นนักบาสประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
เหมือนกับที่อาจารย์อันไซจากการ์ตูนสแลมดังค์เคยว่าเอาไว้ “ถ้าตัดใจเมื่อไร เกมก็จบเมื่อนั้นน่ะสิ”