ชีวิตดั่งราชา ณ ยูเออี ของ "อุมัร อับดุลเราะห์มาน" ที่ต้องแลกด้วยฝันซึ่งหาซื้อไม่ได้
ย้อนกลับไปปี 2012 ทวีปเอเชียมีนักเตะเก่งๆ มากมาย จากญี่ปุ่นมีทั้ง ชินจิ คางาวะ, เคะสึเกะ ฮอนดะ และ ยาสึฮิโตะ เอ็นโดะ ขณะที่เกาหลีใต้ก็ยังมี ปาร์ค จี ซอง ที่ยังเล่นให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด รวมถึงยังเป็นมีนักเตะเอเชียในยุโรปอีกหลายราย
อย่างไรก็ตามมีดาวรุ่งอยู่หนึ่งคนที่ตอนนั้นอายุแค่ 21 ปี แถมมาจากชาติที่ไม่เคยมีความสำเร็จในระดับทวีปเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่หลายเสียงกล่าวว่า เพลย์เมคเกอร์จาก ยูเออี คนนี้แหละ ที่เก่งที่สุดในทวีปเอเชีย ...
มีการกล่าวขานกันว่า ยิ่งผ่านไปแต่ละปี "อุมัร อับดุลเราะห์มาน" เริ่มเก่งขึ้นเรื่อยๆ และเรื่อยจนถึงขั้นที่ว่าคำยกย่องว่าเขาคือมือ 1 ของ เอเชีย "เป็นเรื่องจริง"
อย่างไรก็ตามถ้าเขาเก่งขนาดนั้น ทำไมเขาจึงไม่ไปเล่นในยุโรปให้รู้แล้วรู้รอด มีเหตุผลอะไรที่เขาต้องค้าแข้งอยู่แต่ในตะวันออกกลางเพียงอย่างเดียว? ติดตามได้ที่นี่
สงครามเย็นผ่านฟุตบอล
ในอดีตกว่าพันปี อาณาจักรโรมันไบแซนตินและอาณาจักรเปอร์เซีย รบราฆ่าฟันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในแผ่นดินอาหรับ ก่อนที่อาณาจักรออตโตมานจะก้าวมามีอำนาจในดินแดนแห่งนี้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13
Photo : news.hct.ac.ae
ทว่าหลังจากอาณาจักรออตโตมานเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเลือกอยู่ฝั่งของ เยอรมัน ที่ท้ายที่สุดกลายเป็นผู้แพ้ ทำให้พวกเขาต้องรับมือกับการสูญเสียนี้
เมื่อธงของฝ่ายสัมพันธมิตรถูกชักขึ้นเพื่อแสดงออกถึงชัยชนะ ชาติใน "ทีม" อย่าง สหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส ก็เข้ามาเฉือนแผ่นดินของอาณาจักรออตโตมานออกเป็นประเทศต่างๆ และจากนั้นมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มีประเทศมุสลิมเกิดใหม่มากมาย ซึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ก็เป็นหนึ่งในรัฐอารักขาของสหราชอาณาจักรด้วย
ในช่วงแรก 7 ราชวงศ์ที่ปกครอง 7 รัฐคือ อาบูดาบี, อัจมาน, ดูไบ, ฟูไจราห์, ราสอัลไคมาห์, ชาร์จาห์ และ อุมม์อัลไกไวน์ ยังไม่ญาติดีกันนักจนกระทั่งเริ่มมีการสำรวจปิโตรเลียมหรือ "น้ำมัน" ในช่วงปี 1966 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มสงบศึกและหาผลประโยชน์ร่วมกัน ... และเมื่อมีเงินและมีทรัพยากรที่มีค่าที่ทั่วโลกต้องการ เมืองโบราณอายุสองพันปีกลายเป็นเมืองทันสมัยในพริบตา ด้วยโครงการ The Palm ที่เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งทะเลให้กลายเป็นแหล่งความเจริญ ทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม และรีสอร์ท ต่างๆด้วยงบลงทุนประมาณสามพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
แน่นอนเมื่อการแบ่งเค้กทำให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ไม่มีใครที่ไม่พอใจและคิดจะล้มกระดานนี้ ทุกคนอยู่กันภายใต้ขอบเขตหน้าที่ ทว่าสงครามยังไม่จบง่ายๆ เมื่อไม่สามารถสู้รบกันด้วยการฆ่าฟันได้ สงครามจึงย่อขนาดลงมา เหลือเพียงสงครามในฝืนหญ้ากว้างคูณยาวและอาวุธที่พวกเขาใช้ชิงความสำเร็จและแสดงอำนาจคือ "ฟุตบอล"
Photo : dubaibookmaker.com
ลีกฟุตบอลของ ยูเออี ที่ชื่อว่า Arabian Gulf League ระเบิดศึกครั้งแรกในปี 1973 โดยมี 12 ทีมที่ลงแข่งขัน และแต่ละทีมไม่ใช่ทีมชาวบ้านรวมตัวกันเตะเหมือนกับฟุตบอลในยุโรป แต่มันคือทีมที่มีเหล่า "ชีค" หรือราชวงศ์ของแต่ละรัฐเป็นเจ้าของทีม และเพื่อความเป็นหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็ในกีฬาฟุตบอลที่ทั่วโลกยกย่องจึงทำให้แต่ละทีมแต่รัฐจำเป็นต้องหานักฟุตบอลที่ดีที่สุดเข้ามาสู่ทีม
แม้หลายทีมจะมีนักเตะดีๆ เท่าที่พวกเขาจะหาได้ แต่ไม่มีทีมไหนทำได้ดีกว่า "อัล ไอน์" ทีมของ ชีค โมฮาเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน มงกุฎราชกุมารของรัฐ อาบูดาบี ที่สามารถค้นพบเพชรยอดมงกุฎของเอเชียอย่าง อุมัร อับดุลเราะห์มาน
ข้อเสนอที่ปฎิเสธไม่ได้
เมื่อฟุตบอลคือสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ นั่นหมายความว่านักฟุตบอลเปรียบดั่งสมบัติชิ้นสำคัญที่สามารถช่วย "เจ้าของทีม" ให้ประกาศศักดาเหนือคนอื่นๆ ได้
Photo : www.express.co.uk
สโมสร อัล ไอน์ เสาะหาแข้งฝีเท้าดีไปทั่วตะวันออกกลาง และพวกเขาได้มาเจอกับครอบครัวชาวเยเมนที่อาศัยในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีลูกชาย 3 คนได้แก่ มูฮัมหมัด, อาเหม็ด และ อุมัร อับดุลเราะห์มาน ... ทั้งสามคนเก่งกาจเรื่องฟุตบอลตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะคนสุดท้องนั้นเรียกได้ว่าอัจฉริยะลูกหนังเลยก็ว่าได้
แรกเริ่มสโมสร อัล ฮิลัล ทีมในซาอุฯ คือทีมแรกที่ติดต่อกับ อุมัร อับดุลเราะห์มาน ในวัยตั้งไข่เรื่องฟุตบอล ทว่าสุดท้ายทีมงานของ อัล ไอน์ ได้รับคำสั่งตรงจากท่านชีคว่าต้องเช็คบิลเด็กคนนี้ให้ได้ พร้อมใช้มาตรการเปย์ไม่อั้นปาดหน้าทีมดังที่เปรียบได้กับบ้านเกิดของเด็กคนนั้น
สิ่งที่ท่านชีค โมฮาเหม็ด บิน ซาเยด มอบให้กับ อุมัร คือข้อเสนอที่ไม่สามารถปฎิเสธได้ ... เพราะถ้าเรื่องเงินแล้วราชวงศ์ซาอุฯ เจ้าของ อัล ฮิลัล สามารถสู้กับ อัล ไอน์ ได้สบายๆ แต่ที่ อัล ไอน์ มอบให้กับเขามันคือเรื่องจริงที่ให้กันแบบจะๆ ไม่ขายฝันและไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียวเท่านั้น
พวกเขาตัดสินใจมอบสัญญา 3 ฉบับให้กับ อุมัร รวมถึงพี่ชายอีก 2 คนทั้ง มูฮัมหมัด และ อาเหม็ด เท่านั้นยังไม่พอ ครอบครัวของเด็กๆ เหล่านี้จะมีชีวิตที่ดีที่อาบูดาบี ที่สำคัญครอบครัวอับดุลเราะห์มานไม่ได้มาในฐานะลูกจ้าง แต่ทั้ง 5 คนจะได้สัญชาติยูเออีทั้งหมด ... ใช่แล้ว มอบสัญชาติให้กันเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อครอบครัวที่เคยหนีสงครามจาก เยเมน ได้ข้อเสนอที่ยิ่งกว่าถูกหวยแบบนี้ไม่ต้องสืบเลยว่าพวกเขาจะตกลงหรือไม่?
ในปี 2006 ครอบครัวอับดุลเราะห์มานแพ็คข้าวของใส่กระเป๋าและเดินทางข้ามประเทศไกลกว่า 600 ไมล์เพื่อมายัง ยูเออี ที่จะเป็นแผ่นดินต่อไปของพวกเขาทุกคน ... โดยการนำพาของลูกชายคนเล็กที่พวกเขาแสนภาคภูมิใจ
เพชรยอดมงกุฎ
เส้นทางการขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของ อุมัร อับดุลเราะห์มาน เหมือนกับเป็นเรื่องที่ง่ายดายอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่ฝั่ง อัล ไอน์ คาดหวัง อุมัร เก่งขึ้นทุกวันๆ ได้เป็นตัวหลักของทีมตั้งแต่อายุ 19 ปี ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปติดทีมชาติชุดใหญ่ในท้ายที่สุด
Photo : www.irishmirror.ie
อุมัร พา ยูเออี ให้เป็นที่รู้จักของฟุตบอลเอเชียด้วยการพาทีมคว้าเหรียญเงินในเอเชี่ยนเกมส์ปี 2010 ตามด้วยติดทีมชาติชุดใหญ่อย่างเป็นทางการใน เอเชี่ยน คัพ 2011 และที่แจ้งเกิดสุดๆ คือทัวร์นาเมนต์โอลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอน
ณ ตอนนั้น ยูเออี มาแข่งขันในฐานะทีมที่โดนมองข้าม ในเกมแรกพวกเขาแพ้ อุรุกวัย 1-2 แต่ในเกมนั้น อุมัร แอสซิสต์ และโชว์สกิลแทบทุกจังหวะที่ได้บอลจนจบเกม หลุยส์ ซัวเรซ ดาวยิงของทีมจอมโหดต้องเดินเข้ามาขอแลกเสื้อ ก่อนที่เขาจะได้อีก 1 แอสซิสต์ในเกมกับ สหราชอาณาจักร เจ้าภาพก่อน ยูเออี จะแพ้ไป 1-3
เมื่อทีมเจ้าภาพชนะ ข่าวมันก็จะเยอะๆ หน่อย นักเตะของบริเตนโดนไมโครโฟนจ่อปากอยู่หลายเรื่อง และเรื่องหนึ่งที่หลายคนพูดถึงคือ "อุมัร" แข้งปริศนาหมายเลข 15 ทีเปิดตัวในเวทีระดับนานาชาติครั้งแรกที่นี่
"นักเตะเบอร์ 15 ของ ยูเออี โหดมาก เป็นนักฟุตบอลที่เหนือชั้นและเล่นฟุตบอลด้วยความสวยงามมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมเคยเห็น รอดูเถอะ จับตาดูเขาไว้ อนาคตของเขาจะต้องยิ่งใหญ่ในเร็ววันนี้" ไมกาห์ ริชาร์ดส์ กองหลังของ แมนฯ ซิตี้ ในเวลานั้นกล่าว ขณะที่ ไรอัน กิ๊กส์ ก็เป็นอีกคนที่เดินเข้าไปหา อุมัร ในห้องแต่งตัวเพื่อขอแลกเสื้อกับหนุ่มร่างผอมวัย 20 ปีรายนี้
Photo : www.express.co.uk
ฝั่ง อัล ไอน์ พอใจอย่างมากที่นักเตะของพวกเขาแสดงศักยภาพออกมาจนผู้คนในวงกว้างเริ่มพูดถึง มันเหมือนกับการเอาชนะคู่แข่งรัฐอื่นๆ ว่าท้ายที่สุดแล้วเด็กของพวกเขานี่แหละที่จะเป็นประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอล ยูเออี ไม่ใช่นักเตะที่ทีมอื่นๆ พยายามจะปั้นขึ้นมาเพื่อให้ถึงจุดเดียวกันนี้
ยิ่งเล่นยิ่งพัฒนาและโด่งดัง นั่นทำให้ อุมัร กลายเป็นลูกรักของทีมผู้บริหารและเจ้าของทีม อัล ไอน์ เป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เขาพาทีมชนะรายการใหญ่หรือสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ยูเออี เขาจะได้ค่าตอบแทนมหาศาลจนใช้ชีวิตแบบมหาเศรษฐีได้สบายๆ อย่างเช่นหลังทัวร์นาเมนต์ กัลฟ์ คัพ 2013 เขาได้รางวัลเป็นรถสปอร์ต บูกัตติ เวย์รอน หลังนำยูเออีคว้าแชมป์และคว้ารางวัล MVP นอกจากนี้เมื่อชนะไปเรื่อยๆ อุมัร ยิ่งร่ำรวยหนักเข้าไปอีก กลุ่มบริษัทด้านโทรคมนาคมของ ยูเออี อย่าง Etisalat (ราชวงศ์ยูเออี เป็นเจ้าของ) เลือกเขาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของบริษัท เช่นเดียวกับแบรนด์กีฬา Nike และวิดีโอเกมชื่อดัง Pro Evolution Soccer ที่เลือกเขาเป็นพรีเซนเตอร์
Photo : www.the-afc.com
ส่วนค่าเหนื่อยที่ อัล ไอน์ ใช้มอบให้ อุมัร ต่อสัปดาห์ก็ไม่มากมายอยู่ที่ 75,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งในยุค 2-3 ปีก่อนนั้น ถือว่าเป็นค่าเหนื่อยระดับต้นๆ ของทีมกลางตารางในลีกดังของยุโรปได้สบายๆ แต่ที่มันยอดเยี่ยมยิ่งกว่านั้น คือรัฐบาลยูเออีประกาศไม่เก็บภาษีจากค่าเหนื่อยของ อุมัร ด้วย นั่นหมายความว่า 100% เต็มของค่าแรงนั้นเข้ากระเป๋าทั้งหมด
นี่คือส่วนเล็กๆ ที่ราชวงศ์แห่งยูเออีตอบแทนผลงานของเขา ... และเหตุผลอย่างเดียวที่พวกเขาทำขนาดนี้นั่นก็เพราะว่าพวกเขากลัวที่จะเสียอุมัรไป
แล้วฝันของนักฟุตบอล?
แม้จะเก่งแค่ไหนแต่ อุมัร ก็เหมือนนักฟุตบอลทุกคนบนโลกนี้ เพราะเมื่อถึงวันหนึ่งที่การแข่งขันในตะวันออกกลางหมดความท้าทาย เขาเองก็อยากที่จะไปค้าแข้งในดินแดนของฟุตบอลระดับสูงอย่างยุโรปเหมือนกัน
Photo : www.the-afc.com
6 สิงหาคม 2012 ถือเป็นจุดที่ใกล้เคียงที่สุดเพราะ อุมัร ในวัย 21 ปี เดินทางไปทดสอบฝีเท้ากับ แมนฯ ซิตี้ ทีมที่มีเจ้าของเป็นชาวยูเออีเหมือนกัน แม้จะมองดูเหมือนว่าเป็นเด็กฝาก แต่จริงๆ แล้วตามรายงานของนักข่าวสายอาหรับต่างระบุว่า อุมัร ซ้อมกับ แมนฯ ซิตี้ ได้นานถึง 2 สัปดาห์ เนื่องจากทีมอยากจะดูเขาให้ชัดเจนทุกมุม
ผลที่ออกมาคือ เขาเล่นซ้อมเข้ากับเพื่อนร่วมทีมได้ดีมาก อีกทั้งยังถูกส่งลงสนามในเกมอุ่นเครื่องและมีการรายงานว่าเล่นดีมีทรง อย่างไรก็ตามทุกอย่างพังลงอย่างง่ายดายเนื่องจากเหตุผลเรื่องเวิร์กเพอร์มิต แม้มันจะเคยเป็นเรื่องง่ายที่ ยูเออี แต่ที่นี่คืออังกฤษ ทุกอย่างเป็นมาตรฐานสากล ... และผลคือเขาที่ยังติดทีมชาติไม่กี่นัดแถม ยูเออี ก็ยังไม่ติดอันดับท็อป 70 ของ FIFA ในเวลานั้นจึงทำให้ที่สุดแล้วการย้ายทีมไม่เกิดขึ้น
"ซิตี้ เสนอข้อตกลงเป็นระยะเวลา 4 ปีในสัญญาที่ตั้งใจจะมอบให้ อุมัร หลังจากได้เห็นเขาซ้อมกับทีม 2 สัปดาห์ และถึงแม้ว่าข้อเสนอนั้นจะต้องพับไปแต่ ไบรอัน มาร์วู้ด ผู้อำนวยการแผนกอะคาเดมี่ของ ซิตี้ ยังมาที่นี่ประจำและบอกว่าพวกเขาจะพยายามคว้าตัวอุมัรเป็นครั้งที่ 2 ให้ได้" คอสมิน โอลาโรอู อดีตกุนซือของ อัล ไอน์ บอกเล่าเรื่องราวของนักเตะที่ดีที่สุดในทีม
ไม่ว่าการขอใบอนุญาตทำงานไม่ผ่านจะเกิดขึ้นเพราะเหตุผลอะไร แต่ อุมัร ยังบอกเสมอว่าเขาเองก็ยังไม่ทิ้งฝันที่จะไปเล่นในยุโรป เพียงแต่ทว่าตอนนี้เขาเป็นเหมือนอ้อยที่เข้าปากช้าง เมื่อเวลายิ่งผ่านไปและเขายิ่งเด่นมากขึ้นแค่ไหน อัล ไอน์ ก็ยิ่งหวงเขามากขึ้นเท่านั้น
Photo : www.ceroacero.es
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วงการฟุตบอล ยูเออี มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ครั้งหนึ่งดาวยิงอันดับ 1 ตลอดกาลของประเทศอย่าง อิสมาอิล มาตาร์ เคยได้รับความสนใจจากทีมในยุโรป หลังคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีในปี 2003 แต่คำตอบนั้นจบง่ายๆ แค่คำเดียวคือ "ไม่"
"ความคิดของเจ้าของทีมในยูเออีนั้นต้องกว้างไกลกว่านี้หน่อย พวกเขาต้องเปิดโอกาสให้นักเตะเก่งๆ ได้ออกไปเล่นที่อื่น แต่ในทางเดียวกันเรื่องแบบนี้คือเรื่องในระดับที่ เป็นไปไม่ได้" มาตาร์ เล่าถึงวันที่ตัวเองพลาดไปเล่นในต่างแดน
ทุกคนที่ได้เห็นฝีเท้าของเขานั้นเชียร์กันแบบสุดๆ ... ฮาเวียร์ อากีร์เร่ อดีตโค้ชทีมชาติเม็กซิโกที่เคยมาคุมทีม อัล วาห์ดา, ชาบี เอร์นันเดซ, ซลัตโก้ ดาลิช กุนซือรองแชมป์โลกของ โครเอเชีย ในปี 2018 ก็ว่าไปทางเดียวกันคือ อุมัร เสียเวลาเปล่ากับฟุตบอลที่ตามหลังเขาหลายก้าว การย้ายออกของเขาจะเป็นการเปิดประตูให้นักเตะจากตะวันออกกลางกล้าไปเจอกับโลกกว้างที่รออยู่
ระหว่างนั้นก็มีทีมอย่าง อาร์เซน่อล, เบนฟิก้า, ฮัมบูร์ก, บาเลนเซีย, เอสปันญอล และ บาเซิล ที่ต้องการนำเขาออกจาก อาบู ดาบี แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เหมือนเดิม มีแต่ข่าวแต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ...
Photo : www.thenational.ae
เราไม่อาจจะเดาใจเขาได้ว่า เขาคิดอย่างไรที่ต้องเล่นในลีก ยูเออี เป็น 10 ปี ทว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่พอจะบอกได้ว่าเขาไม่พอใจ นั่นคือในปี 2018 ที่ผ่านมา ที่ อุมัร ทำในสิ่งที่หลายคนไม่อยากจะเชื่อ นั่นคือเขาประกาศย้ายทีม ...
อย่างไรก็ตามปลายทางของเขาไม่ใช่ยุโรป แต่คือทีมเก่าของเขาเมื่อครั้งยังเป็นเยาวชนนั่นคือ "อัล ฮิลัล" และเรื่องนี้ทำให้เขาต้องแตกหัก
แตกหัก
เพราะข่าวย้ายทีมมีมานานเกินไป นับจากปี 2012 ก็ปาเข้าไป 5 ปีเต็มๆ แล้วที่ อุมัร ยังย่ำอยู่กับที บ้างก็บอกว่าเขาหมดแรงจูงใจ และอยากจะเป็นนักบอลลูกรักของท่านประธานและท่านเจ้าของมากกว่าการไปค้นหาชีวิตตัวเองในยุโรป ดินแดนที่ความสะดวกสบายและร่ำรวยจะหายไป แถมเงินเดินยังลดลงแบบครึ่งต่อครึ่งพร้อมทั้งต้องเสียภาษีอีกต่างหาก
Photo : www.albawaba.com
อย่างไรก็ตามคำตอบของปัญหาเริ่มชัดขึ้นช่วงปลายปี 2017 ที่ อุมัร เหลือสัญญากับ อัล ไอน์ ปีสุดท้าย เขาจึงเข้าไปคุยกับผู้บริหารและบอกว่าเขาจะยอมต่อสัญญากับทีม หากปล่อยตัวเขากลับไปให้ อัล ฮิลัล ยืมตัว ซึ่งไม่รู้ว่าการเจรจานั้นเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่าสุดท้ายแล้ว อัล ไอน์ ยอมทำตามที่เขาขอ
แม้จะดูง่ายดายแต่สุดท้ายก็แสบสันต์ เมื่อ อุมัร ได้สัญญายืมตัวกับ อัล ฮิลัล กลับกลายเป็นว่าเขากลับผิดคำพูด 1 ข้อ นั่นคือเขาไม่ยอมต่อสัญญากับทีมตามที่กล่าวไว้
อุมัร เล่นให้ อัล ฮิลัล 1 ปี และรอสัญญาหมดลง จนสามารถย้ายแบบฟรีๆ ไปอยู่กับทีม อัล จาซีร่า ทีมร่วมลีกยูเออี และการที่เขาเลือกทำแบบนั้น สำหรับผู้บริหารและแฟนๆ ของ อัล ไอน์ มองว่าเขาทรยศกันซึ่งหน้า และเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ แต่ทำไมเขาจึงทำ?
ดูไบ สปอร์ต แชแนล ยืนยันอย่างมั่นใจว่า อุมัร เก็บความแค้นนี้ไว้นานแล้ว ความจริงคือเขาอยากจะไปเล่นในยุโรปมากจริงๆ แต่ทุกครั้งที่มีทีมยื่นข้อเสนอมา กลับกลายเป็นว่า อัล ไอน์ เตะถ่วงดึงเวลาและเล่นแง่จนสุดท้ายทีมจากยุโรปก็หายไปหมด ซึ่งประเด็นนี้มีเค้ามากจริงๆ เพราะหลังจากปี 2016 เป็นต้นมาดูเหมือนว่า อุมัร จะไม่มีข่าวกับทีมในยุโรปเลย มันพอจะวิเคราะห์ได้ 2 ทาง
ข้อ 1 คือ อุมัร เป็นแบดบอยของวงการ มีนิสัยรักความสบายและวินัยน้อย ซึ่งส่วนนี้สำนักข่าวเดิมก็ย้ำว่ามันมาจากผู้บริหาร อัล ไอน์ เองที่สปอยล์เขาตั้งแต่เด็กจนโต ซึ่งถึงตอนนั้น (ณ ปี 2017) เขาก็อายุ 26 ปี แล้ว และมันก็กลายเป็นไม้แก่ดัดยากที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องของนิสัย
ส่วนข้อ 2 คือ ต่อให้แบดบอยแค่ไหนแต่ถ้าเก่งจริงทำไมจะเล่นไม่ได้? ในยุโรปเองก็มีแบดบอยมากมายที่ประสบความสำเร็จในสนาม ซึ่งเหตุผลมันอาจจะมาจากความเหนื่อยหน่ายในการเจรจากับเจ้าของทีม อัล ไอน์ ที่เล่นแง่มากกว่า ... ซึ่งจะด้วยเหตุผลอะไรในตอนนี้ก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะ อุมัร ยังคงไม่ได้เล่นในยุโรปต่อไป
Photo : www.tellerreport.com
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลข้อใดก็ตาม สิ่งนั้นล้วนทำให้ อุมัร เสียโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต หากเขาได้ออกไปทดลองและค้นหาสิ่งที่ตัวเองฝัน วิ่งชนความลำบากเพื่อความยิ่งใหญ่ที่โลกต้องยอมรับ ไม่แน่ฉายา "นักเตะที่เก่งที่สุดในเอเชีย" ของเขาอาจจะถูกเปลี่ยนเป็น "เพลย์เมคเกอร์อันดับ 1 ของโลก" ก็เป็นได้
แต่ในเมื่อเรื่องทั้งหมดไม่เกิดขึ้น เราจึงได้แต่คาดเดาว่าหากไปเล่นในยุโรปกับผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลก เขาจะผ่านบททดสอบนี้ได้หรือไม่
แน่นอนไม่ใช่แค่แฟนฟุตบอลเท่านั้น ลึกๆ แล้วทุกคนรู้ดีว่า อุมัร อับดุลเราะห์มาน เสียดายโอกาสนี้แค่ไหน ... และหากย้อนเวลากลับไปได้ เขาอาจจะไม่อยากได้ความสะดวกสบายและชีวิตหรูหราจากท่านชีคที่มอบให้เขาและครอบครัวสำหรับการเป็นชาว ยูเออี ก็เป็นได้