"กาซี สเตเดี้ยม" : สนามกีฬาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลานประหารกลางแจ้งของกลุ่ม "ตาลีบัน"

"กาซี สเตเดี้ยม" : สนามกีฬาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลานประหารกลางแจ้งของกลุ่ม "ตาลีบัน"

"กาซี สเตเดี้ยม" : สนามกีฬาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลานประหารกลางแจ้งของกลุ่ม "ตาลีบัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรุงคาบูล, ประเทศอัฟกานิสถาน

บ่ายวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง ปี 1999 ท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ ปรากฏกลุ่มคนจำนวนมากกำลังเดินขบวนไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ผ่านตลาดใหญ่ใจกลางเมือง มุ่งหน้าสู่โซนตะวันออกที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังจากการระเบิด กลางฝูงชนกลุ่มนั้นมีรถกระบะขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยนักรบตาลีบันติดอาวุธหนัก ผ้าคลุมที่ปกปิดใบหน้าพวกเขาเหล่านั้นปลิวไสวไปตามแรงลม แต่ถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นแววตาที่ลอดออกมาผ่านช่องเล็กๆ มันคือแววตาของเหล่าคนหนุ่มที่แข็งกร้าวไร้ความปราณี

ในขณะที่ฝูงชนเดินทยอยเดินขบวนไปอย่างช้าๆ เหล่าเด็กๆ ต่างก็รบเร้าพ่อแม่ให้ซื้อขนมมาเป็นของหวานระหว่างการรับชม "ความบันเทิง" ในไม่กี่อึดใจต่อจากนี้... และในที่สุดพวกเขาก็มาถึงจุดหมายปลายทาง มันคือ กาซี สเตเดี้ยม สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอัฟกานิสถาน

สายธารแห่งฝูงชนทยอยเข้าสู่สนาม ก่อนจะจับจองที่นั่งแถวบนสุดจนเต็ม เมื่อมองจากระยะไกลดูคล้ายกับเงาสีดำขนาดใหญ่ตัดกับท้องฟ้าสดใสและภูเขาขรุขระสีน้ำตาลที่เป็นฉากหลัง... ในที่สุดทุกคนก็เข้าไปในสนามได้ครบ หลังจากนั้นไม่นาน ช่วงเวลาสำคัญก็เริ่มขึ้น

 

รถกระบะสีแดงวิ่งเข้ามาหยุดอยู่ตรงกลางสนาม ท้ายรถมีผู้หญิงสามคนในบูร์กา (ผ้าคลุมปกปิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เปิดแค่เพียงส่วนของดวงตา) สีฟ้าอ่อนพร้อมอาวุธครบมือ นั่งอยู่กับผู้หญิงอีกคนที่แต่งกายเหมือนกันแต่ไม่มีอาวุธ ทั้งสามพยุงร่างของหญิงสาวคนดังกล่าวไปที่อีกมุมหนึ่งของสนาม ซึ่งเป็นบริเวณภายในกรอบเขตโทษห่างจากหน้าปากประตูไม่กี่หลา เธอเดินไปอย่างยากลำบาก อาจจะเพราะอายุ หรือความเจ็บปวดที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ไม่มีใครทราบ และเมื่อถึงจุดที่กำหนด เหล่าทหารหญิงก็บังคับให้เธอคุกเข่านั่งลง จากนั้นก็มีเสียงจากไมโครโฟนดังออกมาจากลำโพงที่ติดอยู่รอบสนาม

"ผู้หญิงคนนี้คือ ซามีนา ลูกสาวของ กูลัมฮาซนัต จากจังหวัดปาร์วาน เธอเป็นแม่ของลูกเจ็ดคน แต่เธอได้สารภาพว่าเธอฆ่าสามีของเธอด้วยการทุบด้วยค้อน เหตุเกิดขึ้นเมื่อห้าเดือนก่อน คำพิพากษาถึงที่สุดให้ศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต"

เมื่อเสียงประกาศเงียบลง เสียงปืนสามนัดก็ดังขึ้นมาแทนที่ ร่างของผู้หญิงที่นั่งคุกเข่าอยู่สั่นไหวไปตามแรงกระแทกของกระสุนปืน ฝุ่นกระจายฟุ้งไปทั่วบริเวณกรอบเขตโทษ และเมื่อมันจางหายไป ร่างของเธอก็นอนแน่นิ่งไปกับพื้นสนามแล้ว บรรยากาศในสนามที่เมื่อครู่ยังเต็มไปด้วยเสียงดังอื้ออึงกลับเงียบลงทันตา เหลือเพียงเสียงสวด "อัลลอหุ อักบัร" ซึ่งหมายความว่า "อัลลอฮ์ทรงเกรียงไกร" ที่แต่ละคนพึมพำออกมาเบาๆ เท่านั้น

ใช่... นี่คือการประหารชีวิตสาธารณะโดยกลุ่มตาลีบัน และมันเป็นเพียงหนึ่งใน 101 ครั้งเท่านั้นที่พวกเขากระทำการอุกอาจเช่นนี้ ตลอดระยะเวลา 6 ปี นับตั้งแต่ปี 1996-2001 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เช่นนี้กว่า 119 ราย และลานประหารที่พวกเขาใช้บ่อยที่สุดก็คือ กาซี สเตเดี้ยม สนามกีฬาแห่งความตายแห่งนี้

ก่อนที่พื้นหญ้าจะโชกด้วยเลือด

กาซี สเตเดี้ยม เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเมืองคาบูล ส่วนใหญ่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลเป็นหลัก มีความจุประมาณ 25,000 ที่นั่ง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอมานุลเลาะห์ เสร็จสมบูรณ์ในปี 1923 และเปิดใช้งานในปีเดียวกัน

 1

ว่ากันตามตรง กาซี สเตเดี้ยม ก็ไม่ต่างอะไรจากสนามกีฬาทั่วไป มันคือศูนย์กลางที่ทำหน้าที่รวบรวมผู้คนมาไว้ด้วยกันเพื่อผ่อนคลายด้วยความบันเทิงจากกีฬา นอกจากนั้นมันยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวอัฟกานิสถาน เพราะที่นี่คือรังเหย้าของทีมฟุตบอลทีมชาติ ฟาดฟันกับประเทศอื่นๆ ด้วยวิชาลูกหนัง และมันก็เป็นอย่างนั้นเรื่อยมาจนถึงปี 1979

ช่วงเวลาดังกล่าว อัฟกานิสถานโดนรุกรานจากสหภาพโซเวียต ก่อนจะลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่แม้แต่มหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา ก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผลกระทบของสงคราม ทำให้ประเทศอัฟกานิสถานอยู่ในสภาวะเกือบล่มสลาย เศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด ผู้คนอดอยากมากมายนับไม่ถ้วน เลวร้ายไปกว่านั้น การสู้รบครั้งนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดกลุ่มนักรบที่เรียกตัวเองว่า "ตาลีบัน"

คำว่า ตาลีบัน มีความหมายว่า "นักเรียน" ก่อนที่ต่อมาคำนี้จะกลายเป็นชื่อของกลุ่มชาวอิสลามหัวรุนแรง ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศอัฟกานิสถานระหว่างปี 1996-2001

กลุ่มตาลีบันก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นยุค 90’s โดยกลุ่มอัฟกันมุจาฮิดีน นักสู้อิสลามที่เคยต่อต้านการยึดครองของสหภาพโซเวียต ผู้นำตาลีบันส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากรากฐานนิยมเดียวกัน สมาชิกหลายคนปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่า "พัชตุนวาลี" (Pashtunwali) ขบวนการตาลีบันส่วนใหญ่คือชาวปาทาน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน

 2

ท่ามกลางประเทศที่ล่มสลาย กลุ่มตาลีบันกลับเรืองอำนาจขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดพวกเขาก็สามารถยึดครองประเทศอัฟกานิสถานและตั้งตนเป็นรัฐบาลได้สำเร็จในปี 1996 ซึ่งขณะอยู่ในอำนาจ ตาลีบันได้บังคับใช้การตีความกฎหมายชารีอะฮ์ หนึ่งในกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดที่เคยมีมาในโลกมุสลิม

ด้วยการปกครองของตาลีบัน พวกเขาต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะควบคุมประชาชนไว้ในกำมือ การประหารกลางสาธารณะชนจึงถูกนำมาใช้นับตั้งแต่นั้น มันคือหลักจิตวิทยา "เชือดไก่ให้ลิงดู" และสถานที่ที่พวกเขาเลือกใช้เป็นลานประหารบ่อยครั้งคือ กาซี สเตเดี้ยม... ใช่ กลางสนามที่รายล้อมด้วยอัฒจันทร์ซึ่งรองรับผู้ชมได้กว่าสองหมื่นห้าพันคนแห่งนี้แหละ เหมาะที่สุดแล้วในการใช้ประกาศศักดาของรัฐบาลชุดนี้

เมื่อเวลาผ่านไป ศพแล้วศพเล่าถูกสังเวยชีวิตกลางสนามหญ้าแห่งนี้ บ้างถูกยิง บ้างก็ถูกแขวนคอ รู้ตัวอีกทีการกระทำเช่นนี้ก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว บางครั้งการประหารผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มีผู้คนเข้ามาเตะฟุตบอลในสนามเล่นราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

"บนพื้นสนามแห่งนี้มีเลือดผสมอยู่เยอะเกินไป เยอะจนมันซึมลงไปด้านล่าง ทำให้ไม่สามารถปลูกหญ้าใหม่ได้ เราต้องเพิ่มชั้นดินใหม่เพื่อให้สามารถปลูกหญ้าได้ และเพื่อไม่ให้ผู้เล่นในสนามต้องเหยียบเลือดของผู้คนมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือญาติของผมเอง" โมฮัมหมัด นาซิม ผู้ดูแลกาซี สเตเดี้ยม กล่าว

"เขาบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ต้องจบชีวิตลงที่นี่"

จากสนามกีฬาที่เคยเป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ กลับกลายเป็นทะเลเลือดในช่วงเวลาหกปีที่กลุ่มตาลีบันปกครองประเทศ แต่ในที่สุดรัฐบาลตาลีบันก็ล่มสลาย

 3

หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 กลุ่มตาลีบันถูกโค่นล้ม ด้วยปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ สมาชิกส่วนใหญ่หลบหนีไปยังปากีสถาน ที่ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันใหม่เป็นขบวนการกบฏ เพื่อสู้รบกับสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปลายปี 2001 และกองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงนานาชาติ (International Security Assistance Force - ISAF) นำโดย องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต

ปฏิบัติการที่กินระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้อัฟกานิสถานกลับมาอยู่ในความสงบและสันติมากขึ้น แม้กลุ่มตาลีบันจะยังไม่ล่มสลาย แต่ก็อ่อนกำลังอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็นกองกำลังกบฏ ที่รวมตัวกันเป็นกองกำลังย่อย​ๆ​ กบดานอยู่แถวชายแดนอัฟกานิสถานกับปากีสถาน​

หลังจากนั้นเป็นต้นมา กาซี สเตเดี้ยม ก็ไม่เคยกลับไปเป็นลานประหารอีกเลย อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครลืมว่าเคยเกิดอะไรขึ้นที่นี่

ความกลัวไม่เคยจางหาย

หลังการล่มสลายของรัฐบาลตาลีบัน หญ้าในกาซี สเตเดี้ยม ก็กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง แต่มันก็เป็นเพียงความสวยงามเปลือกนอกเท่านั้น ภาพในใจของชาวอัฟกันยังคงจดจำว่าพื้นหญ้าของสนามแห่งนี้ครั้งหนึ่งมันเคยโชกไปด้วยเลือด ส่วนคานประตูครั้งหนึ่งก็เคยใช้แขวนคอผู้คนหลายสิบชีวิต

 4

"มีโจรคนหนึ่งขโมยของบางอย่างจากหมู่บ้านของเขา... เขาโดนจับมาตัดมือที่นี่ และผมก็เคยเห็นการตัดหัวทั้งเป็น การยิงที่ไร้ปราณีที่นี่ มันคือความทรงจำที่ไม่มีวันลืม" ไซบูลา นักข่าวชาวอัฟกานิสถานเล่าถึงความทรงจำ

ไม่มีใครกล้ามาเยือนสนามแห่งนี้ ยิ่งเป็นช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดิน บรรยากาศยิ่งทวีความวังเวงขึ้นไปอีก

"ไม่มีใครกล้ามาที่นี่หลังฟ้ามืด แม้แต่ผมเองก็ไม่ยอมเข้าไปข้างในเด็ดขาด" นาบีล ควารี่ พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำ กาซี สเตเดี้ยม กล่าว

"พวกเขาเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้ยังถูกหลอกหลอนด้วยวิญญาณของผู้คนที่ถูกฆ่าตายอย่างทรมาน"

ถึงแม้สนามแห่งนี้จะถูกปรับปรุงใหม่จากการร่วมมือกันระหว่างผู้นำประเทศอัฟกานิสถาน กับ ไรอัน คร็อกเกอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และนายพล จอห์น อัลเลน ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน จุดประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า ว่าประเทศแห่งนี้หลุดพ้นจากสถานะสงครามและการสู้รบกับกลุ่มตาลีบันแล้ว นอกจากนั้น พวกเขายังหวังว่าการตกแต่งใหม่จะลบล้างความทรงจำที่เลวร้ายของผู้คนออกไปได้

แต่มันไม่ได้ผลเลย มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ช่วยเยียวยาชาวอัฟกันได้ สิ่งนั้นคือ... เวลา

การเกิดใหม่ของ กาซี สเตเดี้ยม และจิตใจของชาวอัฟกานิสถาน

กาซี สเตเดี้ยม วันที่ 20 สิงหาคม 2013... สิบสองปีหลังการล่มสลายของรัฐบาลตาลีบัน และสองปีหลังจากการปรับปรุงสนามใหม่ วันนี้คือวันที่ชาวอัฟกานิสถานทุกคนเฝ้ารอ เพราะมันคือครั้งแรกในรอบเกือบสี่ทศวรรษที่ทีมฟุตบอลทีมชาติของพวกเขาสามารถกลับมาใช้สนามแห่งนี้เป็นรังเหย้าได้อีกครั้ง ราวกับเป็นการเริ่มต้นใหม่หลังจากเหตุการณ์เลวร้ายทั้งปวง

 5

ถึงแม้จะเป็นเพียงการแข่งขันนัดกระชับมิตร แต่มันก็ถูกรับรองโดยฟีฟ่า นอกจากนั้นคู่แข่งของอัฟกานิสถานคือ ปากีสถาน ประเทศที่มีปัญหากระทบกระทั่งกันมาอย่างยาวนาน

ประชาชนชาวอัฟกันหลั่งไหลเข้าไปชมเกมในสนามจนเต็มความจุ ภายใต้การรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้น มีตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนายคอยควบคุมสถานการณ์อยู่รอบบริเวณ และไม่ใช่เพียงแค่ในสนามเท่านั้น ไม่ว่าจะในร้านอาหารหรือร้านกาแฟก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่มารอชมการถ่ายทอดสด

เวลาผ่านไปครบ 90 นาที เกมจบลงด้วยชัยชนะของอัฟกานิสถานที่ไล่ต้อนปากีสถานไป 3 ประตูต่อ 0 และหลังจากนั้น ความดีใจอย่างบ้าคลั่งของชาวอัฟกันก็เริ่มต้นขึ้น... มันเป็นบรรยากาศที่ยากจะจินตนาการได้ถ้าไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้นด้วยตัวเอง

"ผมไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้เลย" บิลัล โอโรซา นักฟุตบอลทีมชาติอัฟกานิสถาน กล่าวออกมาด้วยความตื้นตันหลังจากเสียงนกหวีดหมดเวลาดังขึ้น

"มันไม่ใช่แค่ชัยชนะของทีมฟุตบอลเท่านั้น แต่มันคือชัยชนะของประเทศเราด้วย ผมอยากแสดงความยินดีออกมาจากก้นบึงของหัวใจต่อชัยชนะครั้งนี้"

ส่วนผู้บรรยายกีฬาที่ทำหน้าที่อยู่ในห้องส่งนั้นก็มีความรู้สึกเอ่อล้นไม่ต่างกัน

"ผมหวังว่าตอนนี้ผมจะมีปีก จะได้บินเข้าไปร่วมฉลองในสนามได้ ผมภูมิใจที่เกิดเป็นคนอัฟกานิสถาน!" เขาตะโกนออกมาสุดเสียง

ยิ่งไปกว่านั้น อัสมาไซ ฟาเซลี ที่เดินทางมาเชียร์จากต่างจังหวัด เขาเล่าให้ฟังว่า ระหว่างทางเขาเจอกับตาลีบันกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะมีบทสนทนากันเล็กน้อย

"ระหว่างทางมาที่นี่ผมเจอกับกลุ่มตาลีบันแถวจังหวัดวาร์ดัก แต่เมื่อผมบอกพวกเขาไปว่าผมกำลังจะเดินทางไปชมเกมของทีมชาติอัฟกานิสถาน พวกเขาก็ปล่อยให้ผมผ่านมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แถมยังอวยพรให้ผมโชคดีอีกด้วย"

"ตอนนี้ผมรู้สึกรักชาติและมีความสุขมากๆ"

 6

คารูมาดีน คาริม ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอัฟกานิสถานกล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณเชิงบวกว่า อัฟกานิสถานอยู่ในสภาวะปกติแล้ว และจะเป็นการเปิดประตูให้ประเทศอื่นๆ สามารถสบายใจในการเดินทางมาแข่งขันกีฬาในอัฟกานิสถานในอนาคต

บรรยากาศโดยรอบกาซี สเตเดี้ยม ณ ช่วงเวลานั้น ปกคลุมด้วยไปด้วยหมู่มวลความสุข มันอัดแน่นจนภาพความทรงจำอันโหดร้ายเลือนหายไปชั่วครู่ ถึงจะไม่สามารถทำให้หายไปได้ในทันที เพราะแม้แต่ในปัจจุบัน ทีมชาติอัฟกานิสถานเองยังต้องลงเตะเกมทีมชาติหลายนัดในหลายประเทศ ทั้งๆที่พวกเขาเป็นเจ้าบ้าน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

แต่เชื่อเหลือเกินว่า ด้วยพลังการรวมใจกันของชาวอัฟกัน สักวันหนึ่ง กาซี สเตเดี้ยม คงไม่ใช่สถานที่ที่น่ากลัวอีกต่อไป...

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "กาซี สเตเดี้ยม" : สนามกีฬาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลานประหารกลางแจ้งของกลุ่ม "ตาลีบัน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook