เมื่อครั้งหนึ่ง... "ซาดาโกะ" ปรากฎตัวกลางสนามเบสบอลญี่ปุ่น?

เมื่อครั้งหนึ่ง... "ซาดาโกะ" ปรากฎตัวกลางสนามเบสบอลญี่ปุ่น?

เมื่อครั้งหนึ่ง... "ซาดาโกะ" ปรากฎตัวกลางสนามเบสบอลญี่ปุ่น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเอ่ยถึงผีญี่ปุ่น ซาดาโกะ จากเรื่อง ริงงุ หรือ เดอะ ริง น่าจะเป็นชื่อลำดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อน ภาพของหญิงสาวผมยาวรุงรังปิดหน้า ในชุดสีขาว ได้สร้างความขวัญผวาไปทั่วทั้งโลก

อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่ง ซาดาโกะ ก็เคยทำให้หลายคนต้องขนลุก เมื่ออยู่ๆ เธอปรากฎตัวกลางสนามเบสบอลที่กำลังเตรียมการแข่งขัน 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

ซาดาโกะคือ? 

"เมื่อใครได้ดูวิดีโอม้วนนี้ ต้องมีอันเป็นไปภายใน 7 วัน"

 1

นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสยองขวัญของเรื่อง ริงงุ ผลงานการกำกับของ ฮิเดโอะ นาคาตะ ที่สร้างมาจากนวนิยายขายดีในชื่อเดียวกันของ ซูซูกิ โคจิ หรือเจ้าของฉายา "สเตเฟน คิง แห่งญี่ปุ่น" ที่ออกฉายในปี 1998 

ริงงุ คือเรื่องราวของนักข่าวสาวที่ชื่อว่า เรโกะ ที่บังเอิญได้เจอกับเรื่องเล่าว่าหากใครได้ดูวิดีโอลึกลับ ผู้นั้นจะต้องเสียชีวิตภายใน 7 วัน และหลังจากนั้นดันมีผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มในวันและเวลาเดียวกันอย่างปริศนา 

เรโกะ พยายามเสาะหาความจริง ซึ่งทำให้เธอได้ดูวิดีโอมรณะม้วนนั้นอย่างไม่ตั้งใจ จึงพยายามไขปริศนาร่วมกับสามีเก่า เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตาย ก่อนจะค้นพบว่า ซาดาโกะ หญิงสาวที่ถูกฆ่าอย่างเลือดเย็นคือต้นตอของวิดีโอม้วนนี้ 

แต่เดิมแล้ว ซาดาโกะ เป็นเด็กสาวที่มีพลังจิต ที่เกิดจากแม่ที่มีพลังจิต และได้รับพลังมา แต่เธอต้องมาประสบเหตุตอนไปเยี่ยมพ่อที่โรงพยาบาล เมื่อถูกหมอที่นั่นข่มขืนแล้วผลักตกบ่อน้ำ และใช้ชีวิตอยู่ในนั้นอย่างทรมาน 7 วันก่อนจะสิ้นลม 

 2

การถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ บวกกับก่อนหน้านี้แม่ของเธอโดนคนรุมประณาม หลังโชว์พลังจิตไม่สำเร็จ ทำให้ ซาดาโกะ โกรธแค้นคนทั้งโลก จึงกักขังวิญญาณและพลังจิตของตัวเองไว้ในบ่อน้ำนั้น จนกระทั่งมีรีสอร์ทมาสร้างทับบ่อน้ำดังกล่าว

วันหนึ่งมีกลุ่มวัยรุ่นเช่าวิดีโอมาดู และจุดเครื่องเล่นวิดีโออยู่ตรงบ่อน้ำพอดี ทำให้แรงอาฆาตของเธอเข้าไปอยู่ในม้วนวิดีโอ และกลายเป็นวิดีโอต้องสาป 

ริงงุ ประสบความสำเร็จอย่างมากมายในญี่ปุ่น ด้วยรายได้ที่สูงถึง 1,000 ล้านเยน (300 ล้านบาท) ก่อนที่มันจะสร้างความขวัญผวาไปทั่วโลก หลังถูกนำไปรีเมกที่ฮอลลีวูดในชื่อ เดอะ ริง ที่มีดารานำอย่าง นาโอมิ วัตต์ส ร่วมแสดง และกวาดรายได้ไปถึง 239 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7,200 ล้านบาท) 

 3

ในขณะที่ ผู้หญิงผมยาวปิดหน้าในชุดสีขาว ที่ปีนขึ้นมาจากบ่อน้ำ ก่อนจะทะลุออกมาจากทีวีของซาดาโกะ ได้กลายเป็นภาพจำของคนทั้งโลก และกลายเป็นฉากคลาสสิค ที่สร้างความสยดสยองและน่าขนลุกไปพร้อมกัน 

อย่างไรก็ดี อยู่ๆ วันหนึ่งเธอก็ดันมาปรากฎตัวในที่สาธารณะ

ซาดาโกะ VS คาโยโกะ 

ปี 2016 ในเกมเบสบอลระหว่าง นิปปอนแฮม ไฟท์เตอร์ส และ ยาคูลท์ สวอลโลวส์ ก่อนเริ่มการแข่งขันไม่นาน ทั่วสนามก็ต้องตกตะลึง เมื่อในขณะที่สนามกำลังฉายภาพซาดาโกะ กำลังปีนออกมาจากทีวี... ซาดาโกะ ก็ดันมาปรากฎตัวในมุมหนึ่งของสนาม 

เธอมาในชุดขาวที่เป็นชุดประจำตัว และผมยาวที่รกรุงรังปิดหน้าปิดตาเหมือนในวิดีโอ แต่สวมรองเท้าเบสบอลและถุงมือเบสบอลแบบจัดเต็ม ก่อนจะเดินอย่างเชื่องช้า โดยมีจุดหมายอยู่ที่แท่นขว้างกลางสนาม 

 4

หลังจากนั้น คายาโกะ ตัวเอกจากเรื่อง จูออน อีกหนึ่งภาพยนตร์สยองขวัญสุดคลาสสิคที่ฉายในปี 2003 ก็ปรากฎตัวขึ้นโดยมือข้างหนึ่งถือไม้เบสบอล เธอมาพร้อมกับ โทชิโอะ ลูกชายของเธอที่สวมเสื้อยืดสกรีนว่า I love Kayako

จากนั้น การดวลกันระหว่างสองผีในตำนานของญี่ปุ่น ก็เริ่มขึ้น ซาดาโกะ วอร์มด้วยท่าที่เหมือนกำลังคืบคลานออกมาจากในทีวี ในขณะที่ คายาโกะ ดูเหมือนจะตั้งท่าพร้อมไปแล้ว จากนั้น ซาดาโกะ ก็ขว้างออกไปสุดแรง ด้วยความเร็ว 96 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่คายาโกะ ที่วันนี้ดูล่ำบึกกว่าในภาพยนตร์ ยังไวกว่า เธอตีลูกได้อย่างแม่นยำ ทว่าพอเริ่มวิ่งเพื่อเข้าเบส เธอดันวิ่งไม่ไหว จึงต้องแตะมือส่งต่อให้ โทชิโอะ วิ่งต่อ และสามารถวิ่งเข้าเบสหนึ่งได้ และกลับมาดึงแม่ขึ้นมาเพื่อประกาศชัยชนะ 

 

แน่นอนว่า ซาดาโกะ และ คายาโกะ รวมไปถึง โทชิโอะ ไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นหนึ่งใน "พิธีขว้างเปิด" เพื่อโปรโมทภาพยนตร์ Sadako vs Kayako หรือในชื่อไทย ซาดาโกะ ปะทะ คายาโกะ ดุนรกแตก ที่จับสองผีคลาสสิคแห่งยุคมาเจอกัน และออกฉายเมื่อปี 2016 

มันคือเรื่องราวของ ยูริ คุราฮาชิ ที่บังเอิญได้เปิดวิดีโอต้องสาปของ ซาดาโกะ กับเพื่อนในบ้านที่มีผีคายาโกะสิงอยู่ จนทำให้ทั้งคู่ติดอยู่ในคำสาปของวิญญาณทั้งสอง และทำให้ ซาดาโกะ และ คายาโกะ ต้องมาพบกันเอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่ต้องมาดวลกันอีกครั้งในสนามเบสบอลในพิธีขว้างเปิด 

ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันคือการตลาด ที่สามารถสร้างกระแสได้ดี แต่ในความเป็นจริงมันมีอะไรมากกว่านั้น สำหรับพิธีนี้

พิธีขว้างเปิด = ตัดริบบิ้น

"พิธีขว้างเปิด" อาจจะไม่ชื่อที่คุ้นเคยกับชาวไทยมากนัก เพราะเป็นพิธีที่มีเฉพาะในกีฬาเบสบอล กีฬาที่ฝั่งเอเชียได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ถือเป็นกีฬาอันดับ 1 ของพวกเขา 

มันเป็นประเพณีที่ให้คนดัง หรือกลุ่มดารานักร้อง ได้มีโอกาสเป็นพิตเชอร์ ที่ถือเป็นตำแหน่งพระเอกในกีฬาชนิดนี้ ได้ออกไปขว้างก่อนเกม เพื่อเปิดการแข่งขันในเกมนัดนั้น ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็อาจจะคล้ายกับการตัดริบบิ้นของไทย 

แม้ว่าพิธีขว้างเปิดอาจจะดูเป็นเชิงพาณิชย์ เมื่อมันถูกใช้เพื่อโปรโมตสินค้า ทั้งกิจกรรม ภาพยนตร์ หรือวงดนตรี ที่ทำให้เรามักจะเห็นกลุ่มศิลปินไอดอล ไม่ว่าจะเป็น 48 Group หรือ Nogizaka46 ที่มักจะได้รับเกียรติให้ออกไปขว้างบ่อยๆ แต่ที่จริงมันเป็นพิธีที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน 

ต้นกำเนิดของพิธีนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปีก่อนที่สหรัฐอเมริกา ต้นกำเนิดของกีฬาเบสบอล เมื่อ วิลเลียม แม็คคินเลย์ ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ในตอนนั้น (ก่อนจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา) ได้ขว้างบอลจากที่นั่งของเขาเข้าไปในสนามเพื่อเป็นการเปิดเกมระหว่าง โทเลโด และ โคลัมบัส ในปี 1892 

 6

จากนั้นพิธีนี้ก็ถูกพัฒนาเรื่อยมา จากการขว้างตรงที่นั่งข้างสนาม ก็เปลี่ยนมาขว้างที่เนินขว้างกลางสนาม แต่ที่สหรัฐฯ จะมีแค่พิตเชอร์ (ผู้ขว้าง) และ แคตเชอร์ (ผู้รับ) เท่านั้น โดยผู้ตี (แบตเตอร์) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

โดยคนที่ได้รับเชิญเป็นพิตเชอร์ขว้างเปิดงาน ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ทรงเกียรติ ตั้งแต่ผู้ว่าการรัฐไปจนถึงประธานาธิบดี ทำให้เคยมีผู้นำสหรัฐฯหลายคน ไม่ว่าจะเป็น โรนัลด์ เรแกน และ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ต่างได้รับโอกาสนี้ 

ในขณะที่สำหรับญี่ปุ่น พิธีขว้างเปิดของพวกเขา ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากอเมริกา และมีขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1908 หลังทีม Reach All-Stars ซึ่งเป็นทีมเบสบอลทีมแรกของสหรัฐฯ ได้มาทัวร์ญี่ปุ่น และเจอกับทีมเบสบอลจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ  

โดยคนที่ได้เป็นผู้ขว้างบอลเปิดในวันนั้นก็คือ โอคุมะ ชิเงโนบุ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังของแดนอาทิตย์อุทัย

 7

อย่างไรก็ดี พิธีขว้างเปิดของญี่ปุ่นนั้นต่างจากชาวอเมริกันเล็กน้อย เมื่อพวกเขาจะมีแบตเตอร์หรือผู้ตีร่วมในพิธีนี้ด้วย โดยครั้งนั้น โชงิ ยามาวากิ มือตีอันดับต้นๆ ของวาเซดะ ได้รับเลือกมาในครั้งนี้ 

ทว่าเมื่อเอาเข้าจริง กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เมื่อ โอคุมะ ขว้างบอลไปหายามาวากิ แต่กลับสั้นเกินไป บอลลอยไปตกพื้นตรงหน้าผู้ตี ก่อนจะกลิ้งไปข้างหน้าเล็กน้อยแล้วหยุด 

จากคำบันทึกหลายแห่งระบุว่าผู้เล่นชาวอเมริกัน วิ่งไปที่บอลและหยิบขึ้นมา ซึ่งหมายความว่า โอคุมะ ขว้างไม่สำเร็จ เพราะบอลไปไม่ถึงผู้ตีหรือผู้รับ แต่ ยามาวากิ ไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เขาเหวี่ยงไม้ และทำให้ผู้ตัดสินตะโกนว่า "สไตรก์" จากนั้นเหล่าผู้ชมก็ส่งเสียงเฮ 

และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นในพิธีขว้างเปิดว่า แม้คนขว้างจะขว้างดีหรือไม่ดีแค่ไหน แต่ผู้ตีต้องเหวี่ยงไม้ และพยายามตีอย่าให้โดนลูก เพื่อให้คนขว้างได้สไตรก์ และปฏิบัติตามกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน 

นอกจากจะเป็นต้นกำเนิดธรรมเนียมที่ต่างจากต้นฉบับแล้ว ญี่ปุ่น ยังเป็นต้นกำเนิดความสร้างสรรค์ในพิธีขว้างลูกมาตลอด ชนิดว่าไม่แพ้ ซาดาโกะ เลยทีเดียว

ไมโกะก็มา มวยปล้ำก็มา

เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2019 ได้เกิดกระแสฮือฮาไปทั่วญี่ปุ่น เมื่อ คานาโกะ "ไมโกะ" หรือเกอิชาฝึกหัดจากเกียวโต ได้มีโอกาสเป็นผู้ขว้างบอลในพิธีขว้างเปิด ในเกมระหว่าง ฮันชิน ไทเกอร์ส พบกับ ยาคูลท์ สวอลโลวส์ ที่สนามโคชิเอ็ง จังหวัดเฮียวโงะ 

 8

ไมโกะ เกอิชา และกีฬาเบสบอล ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าหากขนาด ซาดาโกะ และ คายาโกะ ต่างเคยขว้างมาแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร  

คานาโกะ มาในแบบที่ค่อนข้างเต็มยศ ด้วยชุดกิโมโน และเกตะสีเหลือง (เกี๊ยะญี่ปุ่น)  พร้อมแต่งหน้าขาว เธอโค้งให้กับผู้ชมทั้งสี่ทิศรอบสนาม ก่อนจะขว้างเต็มแรง บอลเด้งตกพื้นหนึ่งจังหวะแล้วเข้ามือแคตเชอร์ไป 

"ฉันรู้สึกกังวลมากๆ แต่ก็สนุก ฉันรู้สึกสนุกที่ได้มีโอกาสทำสิ่งนี้" เธอกล่าวหลังเสร็จสิ้นพิธีขว้างเปิด 

"ฉันรู้สึกเครียดเกินไป จนจำอะไรไม่ได้ แต่ฉันพยายามขว้างบอลให้ตรงที่สุดกว่าตอนที่ฉันฝึกซ้อม"

 9

ไมโกะ และ ซาดาโกะ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ดูจะไปด้วยกันไม่ได้กับเบสบอล เพราะในอดีตต่างก็เคยมีบุคคล หรือกลุ่มคน ที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เข้าร่วมพิธีขว้างเปิดมากมาย

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 จูชิน ธันเดอร์ ไลเกอร์ นักมวยปล้ำญี่ปุ่น ได้มีโอกาสไปขว้างเปิดเกมที่สนาม ซัปโปโร โดม เขาปรากฎกายในยุดเต็มยศ พร้อมกับหน้ากากปีศาจ ทว่าธันเดอร์ ขว้างผิดเป้าไปไกล จนเกือบโดน เฟรบ เดอะ ฟ็อกซ์ มาสค็อตของ นิปปอนแฮม ไฟเตอร์ส จนทำให้มาสค็อตไม่พอใจ

เฟรบ เดอะ ฟ็อกซ์ ปรี่เข้ามาหาเรื่อง ธันเดอร์ โดยมีมาสค็อตของอีกทีมเข้ามาห้าม แต่สุดท้ายห้ามไม่ไหว จึงต้องตัดสินด้วยการต่อสู้ แต่ด้วยประสบการณ์ที่เหนือกว่า ทำให้ เฟรบ เดอะ ฟ็อกซ์ สู้ไม่ได้ และถูกธันเดอร์ เล่นงานอยู่ฝ่ายเดียว ก่อนที่จะโดน ธันเดอร์ จับกดและแพ้ไป

 

หรือในกรณีของวง World Order วงบอยแบนด์ ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเหล่านักมวย ที่มีท่าเต้นที่โดดเด่น ก็เคยได้รับเกียรติมาขว้างเปิดในเกมของ โทโฮคุ โกลเดน อีเกิ้ลส์

พวกเขาเข้ามาในท่าเดินแบบหุ่นยนต์ ที่เป็นเครื่องหมายการค้า ก่อนที่สมาชิกของวงทั้ง 7 คนจะมายืนเรียงแถวที่เนินขว้าง ก่อนจะขว้างลูกออกไปด้วยท่าที่เป็นเป็นเอกลักษณ์ เรียกเสียงฮาจากแฟนทั่วทั้งสนาม ก่อนจะออกไปด้วยท่าหุ่นยนต์เช่นเคย 

 11

อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนในวงการบันเทิง จะมีโอกาสได้รวมในพิธีขว้างเปิดเป็นส่วนใหญ่ ที่ทำให้ส่วนมากไม่สามารถคาดหวังการขว้างสวยๆจากพวกเขา แต่ก็มีนักแสดงหรือนางแบบจำนวนไม่น้อยที่สามารถทำเรื่องเหนือความคาดหมาย 

อย่างในปี 2015 อามิ อินามูระ กราเวียร์ไอดอล หรือไอดอลที่ขายความเซ็กซี่ เคยขว้างเปิดด้วยความเร็ว 104 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับผู้หญิง และคนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ โดยเบื้องหลังก็คือ เธอเคยเล่นเบสบอลมาก่อนถึง 9 ปี ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมต้น

หรือเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โชทาโร มามิยะ นักแสดงชายวัย 26 ปีได้ขว้างเปิดในเกมระหว่าง ฮันชิน ไทเกอร์ส กับ โยโกฮามา ดีนา เบย์สตาร์ส โดยเขาสามารถขว้างด้วยความเร็วถึง 139 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลายเป็นคนบันเทิงที่ขว้างลูกได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติเดิมเป็นของ เคนจิ ดาร์วิช ของวง โกลเดน บอมเบอร์ ที่ทำไว้ 135 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อปี 2018 และแน่นอน เขาเคยเล่นเบสบอลมาก่อนสมัยประถมเช่นกัน 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้ความสำคัญของคนญี่ปุ่น เป็นเรื่องจริงว่ามันคือการตลาด หรือการโปรโมทสินค้า แต่เมื่อพวกเขาได้รับโอกาส ก็พยายามทำให้ดีที่สุดในแบบของตัวเอง ที่ทำให้เห็นความจริงจังที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขันของพวกเขา 

แม้บางมุมอาจจะดูตลก บางมุมอาจจะดูฮาร์ดเซล แต่มันกลับแฝงได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่พวกเขาต้องการจะสื่อออกมา มันจึงทำให้ "พิธีขว้างเปิด" นั้นแตกต่างไปจากต้นฉบับอย่างอเมริกา อย่างเทียบไม่ติด 

และเชื่อว่า "ซาดาโกะ" จะไม่ใช่ผีตนสุดท้ายที่ได้รับเกียรติปรากฎกายในสนามเบสบอลในฐานะพิตเชอร์อย่างแน่นอน  

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ เมื่อครั้งหนึ่ง... "ซาดาโกะ" ปรากฎตัวกลางสนามเบสบอลญี่ปุ่น?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook