แม่ทัพฟุตบอลที่หายไป : ลิเบโร ตำแหน่งลูกหนังสำคัญที่โลกลืม
“ลิเบโร” อาจเป็นคำที่ได้ยินไม่บ่อยนัก สำหรับแฟนฟุตบอลรุ่นใหม่ ที่เริ่มติดตามเกมลูกหนัง ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
แตกต่างไปจากแฟนบอลที่เริ่มดูฟุตบอลในช่วงยุค 90’s หรือเป็นคอลูกหนัง ที่อายุล่วงเลยเข้าวัยเลข 3 หรือเลข 4 แทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่รู้จักคำว่า “ลิเบโร” ตำแหน่งการเล่นของนักฟุตบอล ที่เคยทรงอิทธิพลอย่างมาก ในวงการลูกหนัง
ครั้งหนึ่ง ตำแหน่งนี้เปรียบเสมือนแม่ทัพ ผู้นำเกมรุกให้กับทีมฟุตบอล และแทคติคการเล่นที่มีลิเบโร สามารถคว้าแชมป์ได้อย่างมากมาย ตั้งแต่ระดับสโมสร ไปจนถึงถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผันผ่านไป ด้วยหลายเหตุผล หลายปัจจัย ส่งผลให้ตำแหน่งนี้ถูกลืมเลือน และกลายเป็นเพียงความทรงจำสีจาง ของโลกฟุตบอลเท่านั้น
ก่อนจะมีลิเบโร
จุดกำเนิดของตำแหน่งลิเบโร ต้องย้อนไปในยุค 60’s ของศตวรรษที่ 20 หนึ่งในแทคติคที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ในช่วงเวลานั้นคือ คาเตนัคโช (Catenaccio) แทคติคปิดประตูตีหัวเข้าบ้าน ของอินเตอร์ มิลาน ที่พาทัพงูใหญ่ คว้าแชมป์ยุโรปถึงสองสมัย
Photo : 110.inter.it
หนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญของ “กรันเด อินเตอร์” คือ อาร์มันโด ปิคชี (Armando Picchi) ที่เข้ามารับบทบาท ผู้เล่นกองหลังตัวสุดท้าย ยืนอยู่ด้านหลัง แผงกองหลังสามตัว ของแทคติคคาเตนัคโช
หน้าที่สำคัญของปิคชี คือการคอยไล่เก็บตก ปัดกวาดเกมรุกของฝ่ายตรงข้าม ที่ทะลุแผงหลังสามมาเป็นด่านสุดท้ายก่อนถึงผู้รักษาประตู ด้วยหน้าที่นี้ ทำให้เขาสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ไม่มีตำแหน่งตายตัว เพื่อรับผิดชอบเกมรับของทีม
ตำแหน่งของปิคชี ในแผนคาเตนัคโช คือจุดเริ่มต้นของการสร้างชื่อ ให้กับตำแหน่ง “สวีปเปอร์” ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก กับฟุตบอลอิตาลีในยุคนั้น เพราะจากความสำเร็จของ อินเตอร์ มิลาน ทำให้ทีมฟุตบอลในแดนมักกะโรนี นำแทคติคนี้ไปใช้งานอย่างกว้างขวาง
ความโด่งดังของแทคติคคาเตนัคโช ค่อยๆ เดินทางออกนอกประเทศ หลายทีมฟุตบอล เริ่มเอาแนวทางการเล่นนี้ไปปรับใช้ และหนึ่งในนั้น คือทีมชาติอังกฤษ ที่มีผู้นำทีมในตอนนั้น เป็นสุดยอดกองหลัง ที่อาจจะเก่งที่สุดที่โลกใบนี้เคยมีมา บ็อบบี มัวร์ (Bobby Moore)
มัวร์ไม่เหมือนกองหลังทั่วไป ในยุค 60’s เขาไม่ได้ยอดเยี่ยมแค่การสกัดบอล หรือไล่หวดกองหน้าเท่านั้น แต่เปี่ยมด้วยทักษะการคลองบอลที่ยอดเยี่ยม และที่สำคัญที่สุด เขาสามารถจ่ายบอลได้อย่างแม่นยำ รวมถึงเป็นปราการหลังคนแรกๆ ของโลก ที่สามารถเปิดบอลยาวข้ามแผงกองหลัง ให้กองหน้าสามารถทำประตูได้ในทันที
ด้วยความสามารถรอบตัว ทั้งรุกและรับ อัลฟ์ แรมซีย์ (Alf Ramsey) จึงปรับแนวทางการเล่นของทีมชาติอังกฤษเสียใหม่ โดยให้มัวร์เป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกมรุก เริ่มต้นออกบอลจากแผงหลัง และสามารถพาบอลขึ้นไปด้านหน้าได้ตามต้องการ
ส่วนผลลัพท์ที่ตามมา จากการสร้างแนวทางการเล่นแบบใหม่ ให้กับ บ็อบบี มัวร์ คือแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรก ของทีมชาติอังกฤษ และเป็นสมัยเดียว จนถึงปัจจุบัน
Photo : www.telegraph.co.uk
“เขาเป็นจิตวิญญาณ เป็นหัวใจของทีมชาติอังกฤษ...ถ้าไม่มีเขา ทีมชาติอังกฤษคงไม่มีทางเป็นแชมป์โลก” แรมซีย์ กล่าวถึงนักเตะคู่บุญของเขา
แฟนบอลและนักเขียนสายลูกหนัง หลายคนมองว่า มัวร์คือหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญที่ให้กำเนิด ตำแหน่งลิเบโร แต่ติดตรงที่ว่า ตลอดระยะเวลาที่เขาเล่นให้กับทีมชาติอังกฤษ หรือในระดับสโมสร กับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เขายืนอยู่ในแผงปราการหลังสี่ ไม่เคยยืนอยู่หลังแผงปราการหลัง แบบสวีปเปอร์
อย่างไรก็ตาม แนวทางการเล่นของมัวร์ ถือเป็นการจุดประกายว่า กองหลังสามารถเป็นผู้เล่นสร้างสรรค์เกมรุกได้ ถ้านักเตะคนนั้นมีความสามารถที่ถึงพร้อม
แม่ทัพบนผืนหญ้า
นักเตะคนสำคัญที่เข้ามาต่อยอด รากฐานของมัวร์ คือกองกลางหนุ่มดาวรุ่ง ที่ได้ดวลกับมัวร์ ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1966 ชื่อของนักเตะรายนี้คือ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ (Franz Beckenbauer)
Photo : www.dailymail.co.uk
ถึงต้องเจ็บช้ำกับประตูที่คนเยอรมัน เชื่อว่ายังไม่ข้ามเส้น จนต้องพลาดตำแหน่งแชมป์โลก แต่ใช่ว่าชนชาติเชื้อสายอารยัน จะไม่ได้ของดีติดมือ จากเกมนัดชิงในครั้งนั้น เมื่อ ซลัทโก ชายคอฟสกี (Zlatko Čajkovski) กุนซือของ บาเยิร์น มิวนิค ได้เห็นแนวทางการเล่นของมัวร์ และตัดสินใจลองนำมาปรับใช้กับ เบคเคนบาวเออร์
เบคเคนบาวเออร์ เป็นผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางมาก่อน เข้ามีจุดเด่นรอบด้าน ที่กองกลางควรจะมี การอ่านเกม, การครองบอล, ความสามารถในการเลี้ยงบอล และการจ่ายบอลที่เฉียบคม...ทำให้ชายคอฟสกี ตัดสินใจลองหยิบเขา มายืนเป็นสวีปเปอร์อยู่ด้านหลังแผงกองหลัง ด้วยจุดประสงค์สำคัญ คือการสร้างกองหลัง ที่สามารถสร้างสรรค์เกมรุกได้ด้วยตัวเอง
ด้วยความสามารถของเบคเคนบาวเออร์ เขาสร้างการเล่นในรูปแบบใหม่ ที่สวีปเปอร์ไม่ได้มีหน้าที่ เพียงแค่ปัดกวาดเกมรับอย่างอิสระเท่านั้น...ด้วยทักษะการเลี้ยงบอล และจ่ายบอล ทำให้เบคเคนบาวเออร์ สามารถพาบอลขึ้นไปสร้างสรรค์เกมด้วยตัวเอง ช่วยให้ทีมสามารถเล่นเกมสวนกลับ ได้อย่างรวดเร็ว
รวมถึงความสามารถในการครอบครองบอล ทำให้เบคเคนบาวเออร์ สามารถควบคุมจังหวะของเกม และทิศทางในการสร้างเกมรุกของทีมได้ ด้วยความสำคัญ และจุดการยืนตำแหน่งในสนามบอล ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นแม่ทัพของทีม จนนำมาสู่ฉายา “แดร์ ไกเซอร์” ของเบคเคนบาวเออร์
เบคเคนบาวเออร์ กลายเป็นแบบอย่าง ของการเล่นกองหลังรูปแบบใหม่ เพราะวงการฟุตบอลในยุค 60’s-70’s ไม่เคยมีกองหลังคนไหน ที่สามารถเลี้ยงบอลยาว จากหน้ากรอบเขตโทษของตัวเอง ไปจนถึงเส้นกลางสนามได้มาก่อน และสามารถปัดกวาดแผงหลัง สร้างสรรค์เกมรุกได้ด้วยคนเดียว
วิธีการเล่นของเบคเคนบาวเออร์ ถูกเรียกว่าสวีปเปอร์ตัวรุก (Attacking Sweeper) ก่อนจะถูกขนานนามว่า ลิเบโร ซึ่งมาจากคำว่า “ฟรี” ในภาษาอิตาลี เพราะการเล่นในตำแหน่งนี้ สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างไม่ตายตัว ไปทั่วสนาม
เหตุผลที่ชื่อของตำแหน่งนี้ ต้องมาจากภาษาอิตาลี นอกจากเหตุผลว่า ตำแหน่งสวีปเปอร์ เริ่มต้นได้รับความนิยมจากอิตาลี...ในช่วงเวลาเดียวกับที่ เบคเคนบาวเออร์ สร้างชื่อให้กับตัวเอง ด้วยการเล่นตำแหน่งนี้ อิตาลี สามารถหาผู้เล่นในอุดมคติ ของตำแหน่งลิเบโรได้เช่นเดียวกัน
เกตาโน ชิเรอา (Gaetano Scirea) คือบุคคลผู้นั้น เขามีความสามารถทุกอย่าง แบบที่เบคเคนบาวเออร์มี จนทำให้เขาได้รับการยกย่อง ให้เป็นหนึ่งในกองหลัง ที่ดีที่สุดในโลก
Photo : pass.juventus.com
ความเก่งกาจของเขา ทำให้เขากลายเป็นผู้นำของทั้งทีมชาติอิตาลี และสโมสร ยูเวนตุส ยิ่งไปกว่านั้น เขาช่วยเสริมสร้างอิทธิพล การเล่นในตำแหน่งของลิเบโร ให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการกวาดแชมป์มากมาย เหมือนกับที่เบคเคนบาวเออร์เคยทำได้
แชมป์ฟุตบอลโลก, แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (ยูโรเปียน คัพ ในอดีต), แชมป์ลีก, แชมป์บอลถ้วยในประเทศ คือเกียรติประวัติมหาศาล ที่ทั้งเบคเคนบาวเออร์ และชิเรอา สามารถคว้ามาครอบครอง ด้วยการเล่นในตำแหน่งลิเบโร
อิทธิพลของทั้งเบคเคนบาวเออร์ และชิเรอา ช่วยให้ตำแหน่งลิเบโร เป็นที่จดจำในโลกฟุตบอล และมีบทบาทสำคัญ ในโลกลูกหนัง ไปอีกหลายปีหลังจากนั้น
เสื่อมอิทธิพล
โลธาร์ มัทเธอุส (Lothar Matthäus), มัธธีอัส ซามเมอร์ (Matthias Sammer), โรนัลด์ คูมัน (Ronald Koeman), เฟร์นานโด เอียร์โร (Fernando Hierro) ไปจนถึง เอลแดร์ หรือที่แฟนบอลไทยคุ้นกับชื่อ อัลดาเอียร์ (Aldair) จากบราซิล ทั้งหมดล้วนเป็นนักเตะ ที่สร้างชื่อจากการเล่นในตำแหน่งลิเบโร สืบทอดรูปแบบการเล่น ความแข็งแกร่งจากผู้เล่นยุคก่อนหน้า
Photo : www.eurosport.de
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่ยุค 70’s ตำแหน่งลิเบโร ได้รับเครดิตอย่างมาก ในแทคติคฟุตบอล...คอลัมน์นิสต์ลูกหนังหลายคน มองว่าตำแหน่งนี้ มีความสำคัญไม่ต่างกับตำแหน่งควอเตอร์แบ็ค (Queterback) ในกีฬาอเมริกันฟุตบอล ที่เป็นศูนย์กลางและหัวใจในการทำเกมบุก สามารถความคุมแนวทางการเล่นเกมรุกในสนาม ได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุค 90’s การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เกิดขึ้นทั้งในและนอกสนามฟุตบอล ซึ่งส่งผลโดยตรง กับการเล่นในตำแหน่งของลิเบโร
แทคติคของฟุตบอล เป็นที่รู้กันดีว่า ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด...จากฟุตบอลที่แข็งแกร่ง เน้นเกมรับ และสร้างเกมรุกอย่างเป็นระบบ ผ่านแผนการเล่นโดยมีลิเบโร เป็นศูนย์กลาง เทรนด์ฟุตบอลเริ่มหันมาเน้นฟุตบอลเกมบุก ที่รวดเร็วฉับไวมากยิ่งขึ้น ด้วยการโจมตีจากผู้เล่นริมเส้นความเร็วสูง
หนึ่งในชาติที่ไม่นิยมการเล่นแบบลิเบโร คืออังกฤษ และภายใต้การนำของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Alex Ferguson) ได้ปลุกปั้นให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเขา โดดเด่นอย่างมาก กับการเล่นฟุตบอลสวนกลับที่รวดเร็ว
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับทัพปีศาจแดง ผ่านแนวทางของเฟอร์กูสัน ช่วยเขย่าวงการฟุตบอล กับความจริงที่ว่า การสร้างเกมบุกจากแดนหลัง โดยเริ่มที่นักเตะเพียงคนเดียว อย่างลิเบโร อาจจะช้าเกินไป สำหรับการเล่นฟุตบอล
ประกอบกับความสำคัญ ของตำแหน่งกองกลางที่เพิ่มมากขึ้น นักเตะแบบเพลย์เมคเกอร์หลายคน เริ่มแจ้งเกิดในวงการลูกหนัง ทั้ง ซีเนดีน ซีดาน (Zinedine Zidane), ไมเคิล เลาดรูป (Michael Laudrup) และ จอร์จี ฮาจี (Gheorghe Hagi)
Photo : www.bucurestifm.ro
รวมถึงกองหน้าตัวต่ำที่สร้างสรรค์เกมได้ อย่าง โรแบร์โต บาจโจ (Roberto Baggio) และ เดนนิส เบิร์กแคมป์ (Dennis Bergkamp) ทำให้ผู้จัดการทีม เริ่มไม่ให้ความสำคัญการสร้างตำแหน่งลิเบโร ที่คุมเกมบุกไว้ที่ตัวเองเพียงคนเดียว เพื่อนำความเป็นหัวใจในเกมรุก มาให้กับผู้เล่นในตำแหน่งเหล่านี้
รวมถึงความสำคัญของกฎล้ำหน้า ที่ทีมฟุตบอลหันมาใช้อาวุธ ในการจัดการของเกมรุกฝ่ายตรงข้าม ยิ่งทำให้ความสำคัญ ของตำแหน่งลิเบโรลดลงไป เพราะการมีปราการหลังห้อยท้ายอยู่หลังแนวกองหลัง คืออุปสรรคสำคัญอย่างมาก กับการใช้แทคติคกับดักล้ำหน้า ให้ได้ผล
นอกจากนี้ การหาผู้เล่น ที่จะมาเล่นในตำแหน่งลิเบโร เริ่มหาได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะต้องมีฝีเท้าที่ยอดเยี่ยม ยังต้องมีความเป็นผู้นำสูง และได้รับความเคารพจากเพื่อนร่วมทีม ในฐานะแม่ทัพบนสนามฟุตบอล
ด้วยโลกฟุตบอลยุค 90’s ที่สื่อและเงินทองเข้ามามีบทบาท นักฟุตบอลเริ่มเต็มไปด้วยอีโก้ การที่ผู้เล่นจะยอมนอบน้อม อยู่ภายใต้การนำของผู้เล่นตำแหน่งลิเบโร เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากกว่าในอดีต...ขณะเดียวกันในระดับสโมสร นักฟุตบอลจากหลากหลายชาติ เริ่มผสมผสานอยู่ในทีมเดียวกัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรม บนสนามฟุตบอล ยิ่งทำให้ภาพของการเล่นฟุตบอล ผ่านตำแหน่งลิเบโร ซึ่งทรงอิทธิพล ในยุคที่สโมสรฟุตบอล เต็มไปด้วยนักเตะภายในชาติ ดูล้าหลังไปพอสมควร
Photo : www.twipu.com
ชาติที่ยังยึดมั่น กับการเล่นด้วยตำแหน่งลิเบโร จนถึงหยดสุดท้าย คือเยอรมัน เพราะรูปแบบการเล่นนี้ มีทุกอย่าง ที่พวกเขาต้องการ
แต่ความล้มเหลว ในศึกฟุตบอลยูโร 2000 ที่ทัพอินทรีเหล็กต้องตกรอบแรก โดยมีเพียงแค่แต้มเดียว ผ่านแทคติค ที่ยังใช้ โลธาร์ มัทเธอุส ยืนเป็นลิเบโร นำทีมอยู่ด้านหลังแผงกองหลัง คือการตอกย้ำที่ชัดเจนที่สุด ว่าเวลาของตำแหน่งลิเบโร ได้หมดลงแล้วในวงการฟุตบอล
มรดกของลิเบโร
นับตั้งแต่ยูโร 2000 เราแทบไม่เห็นการเล่น ในตำแหน่งลิเบโรอีกเลย ชื่อของตำแหน่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกลืมเลือน ในโลกฟุตบอล ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไหร่ ความทรงจำของแฟนฟุตบอล กับตำแหน่งนี้ ยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น
Photo : 1n2prono.com
อาจดูเป็นเรื่องที่น่าเศร้า สำหรับการจากไปของลิเบโร แต่หากถามว่า ลิเบโรได้จากไป จากวงการลูกหนัง แบบเต็มร้อยเปอร์เซนต์หรือไม่? เราคงตอบได้ว่า...ไม่เชิงเสียทีเดียว
แม้ตำแหน่งลิเบโร จะไม่เป็นที่ต้องการของโลกฟุตบอลอีกต่อไป แต่สุดท้าย วิวัฒนาการของแทคติคฟุตบอล ได้พาโลกลูกหนังวนกลับมาหา หนึ่งในคุณสมบัติที่ลิเบโร ได้มอบเอาไว้ นั่นคือกองหลังที่สามารถจ่ายบอลได้
ฟุตบอลสมัยใหม่ ต้องการการสร้างเกมรุกจากแผงหลังอีกครั้ง เพื่อสร้างความได้เปรียบ ผ่านการครอบครองบอล นักเตะอย่าง ริโอ เฟอร์ดินานด์ (Rio Ferdinand) และ เคราร์ด ปิเก (Gerard Pique) คือผู้นำเทรนด์กองหลัง ที่ถูกเรียกว่า บอล-เพลย์อิง-ดีเฟนเดอร์ (Ball Playing Defender) หรือกองหลังที่สามารถออกบอล สร้างสรรค์เกมบุกได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคราร์ด ปิเก ที่ถูกมองว่าเป็นกองหลังรูปแบบใหม่ ที่สมบูรณ์แบบ ผ่านการสร้างสรรค์ของ เป็ป กวาร์ดิโอลา (Pep Guardiola) ผู้นำแทคติคฟุตบอล สร้างเกมบุกจากแผงหลัง กลับมาใช้อีกครั้ง และในปัจจุบัน สโมสรฟุตบอลชั้นนำของโลก ล้วนต้องการกองหลังที่สามารถออกบอลได้ดี ไว้ในทีมแทบทั้งสิ้น
ขณะที่ตัวของลิเบโรเอง ก็ได้มีโอกาสกลับมาแวะเวียน ทักทายแฟนบอลบนผืนหญ้าบ้าง ตามสถานการณ์ ซึ่งนักฟุตบอลชื่อดัง ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เคยผ่านการเล่น ในตำแหน่งนี้ คือ เซร์คิโอ รามอส (Sergio Ramos)
วันที่ 16 มกราคม 2017 เรอัล มาดริด บุกเยือน เซบียา ในศึกลาลีกา ลีกสเปน ทัพราชันชุดขาว ลงเล่นด้วยแผนกองหลังสามคน ซึ่งไม่ใช่แผนที่ยอดทีมจากกรุงมาดริดจะใช้งานบ่อยนัก
Photo : therealchamps.com
เมื่อเสียงนกหวีดเป่าเริ่มเกม เราได้เห็นรามอส ลงไปยืนต่ำด้านหลังคู่เซนเตอร์แบ็คอีกสองคน และเริ่มสร้างเกมบุกจากตัวเขา ทั้งจ่ายบอลสั้น และบอลยาว รวมถึงพาบอลขึ้นหน้าเมื่อมีโอกาสทุกครั้ง
วิธีการเล่นของรามอส คือวิธีการเล่นแบบลิเบโรในอดีต แทบไม่มีความแตกต่าง...อันที่จริง ต้องบอกว่าตัวของรามอสเอง มีคุณสมบัติหลายอย่าง ที่เหมาะสมกับการเล่นลิเบโร ทั้งการจ่ายบอลที่แม่นยำ, ความเร็วในการเคลื่อนที่, การสกัดบอลที่เฉียบขาด และที่สำคัญที่สุด ความเป็นผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของเกมวันนั้น กลายเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า ยุคสมัยของลิเบโรได้จบลงแล้ว เพราะเรอัล มาดริด พ่ายแพ้ให้กับเซบีญา ด้วยสกอร์ 2-1 และรามอสยังมีชื่อทำประตูบนสกอร์บอร์ด ด้วยการทำเข้าประตูตัวเองอีกต่างหาก
ยุคสมัยของลิเบโร อาจปิดฉากโดยสมบูรณ์ แต่ความสวยงามของตำแหน่งนี้ ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน กับครั้งหนึ่งที่ลิเบโร คือกลไกสำคัญ ของแทคติคฟุตบอล ที่สร้างความสำเร็จมาแล้วนักต่อนัก
วิวัฒนาการของแทคติคฟุตบอล ไม่เคยหยุดนิ่งหรือถึงจุดสิ้นสุด ไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แทคติคการเล่นแบบลิเบโร อาจกลับมามีที่ยืนอีกครั้งบนพื้นหญ้า...หากตำแหน่งนี้ สามารถตอบโจทย์ พาทีมฟุตบอล คว้าชัยชนะ มาครอบครองได้ เหมือนในวันวาน