ญี่ปุ่นเปลี่ยนทีมองค์กรเป็นสโมสรอาชีพได้อย่างไร?
ปตท. ระยอง กลายเป็นทีมองค์กรรายล่าสุดที่โบกมืออำลาฟุตบอลลีกอาชีพของไทย หลังบอร์ดบริหารประกาศพักทีมชั่วคราว เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงในแต่ละปี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่สโมสรฟุตบอลมาผูกกับรัฐวิสาหกิจหรือองค์กร มีส่วนทำให้หลายทีมต้องล้มหายตายจาก เนื่องจากจำเป็นต้องพึ่งพาองค์กรแม่เป็นหลัก หากไม่ได้การสนับสนุนต่อ ก็อาจจะต้องขายสิทธิ์ หรือถึงขั้นยุบทีม ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย, องค์การโทรศัพท์, พนักงานยาสูบ หรือล่าสุดอย่าง ปตท.
อย่างไรก็ดี ปัญหานี้แทบไม่เกิดขึ้นกับเจลีก ทั้งที่พวกเขาก็มีจุดเริ่มต้นจากทีมที่มีรากมาจากสโมสรขององค์กร หรือบริษัทในวงการอุตสาหกรรม
พวกเขาทำได้อย่างไร?
โอลิมปิกสร้างฟุตบอลลีก
แม้ว่าฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่เข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 20 แต่ความนิยมเมื่อเทียบกับเบสบอล กีฬาที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศเหมือนกัน กลับห่างกันแบบทาบไม่ติด ทำให้เกมลูกหนังในช่วงแรก กลายเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนเล่นอยู่เพียงหยิบมือ
Photo : archive.footballjapan.jp
จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1960s ฟุตบอลก็ได้ลืมตาอ้าปากบ้าง เมื่อมันกลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ญี่ปุ่นตั้งใจพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อผลิตผู้เล่นลงแข่งใน โตเกียว โอลิมปิก ที่ตัวเองกำลังจะเป็นเจ้าภาพในปี 1964
ในปี 1960 หรือหนึ่งปีหลังถูกรับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล ในการสร้างระบบพัฒนานักฟุตบอลที่ญี่ปุ่น และที่สำคัญพวกเขายังได้เชิญ เด็ตมาร์ คราเมอร์ โค้ชชาวเยอรมัน เข้ามาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิคของสมาคมอีกด้วย
คราเมอร์ ไม่เพียงเข้ามาช่วยฝึกสอนนักเตะเท่านั้น เขายังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานในการพัฒนาวงการฟุตบอลญี่ปุ่น เขาเสนอให้ JFA ก่อตั้งระบบอบรมโค้ช และพัฒนาคุณภาพผู้ตัดสินให้ดีขึ้น รวมไปถึงเป็นคนริเริ่ม ให้คนญี่ปุ่นเปลี่ยนจากการเล่นสนามดินมาเป็นสนามหญ้า เนื่องจากก่อนหน้านั้น สภาพแวดล้อมในการเล่นฟุตบอลของนักฟุตบอลญี่ปุ่นอยู่ในขั้นย่ำแย่ ถึงขนาดไม่มีแม้แต่สนามหญ้าให้ทีมชาติได้ฝึกซ้อม
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ครามเมอร์ คือคนที่เสนอให้ JFA ก่อตั้งลีกอาชีพ
แม้ว่าก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นจะมีทีมฟุตบอลอยู่บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นทีมโรงเรียน หรือทีมมหาวิทยาลัย และลงเล่นในการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์เท่านั้น ซึ่งการแข่งขันแบบนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นญี่ปุ่นพัฒนาได้ไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการแข่งขันในระยะเวลาสั้นๆ และบางทีมอาจได้ลงเล่นแค่ไม่กี่นัด หากพวกเขาตกรอบแต่เนิ่นๆ
หลังจากวางแผนกันมาอย่างยาวนาน ในปี 1965 ลีกฟุตบอลญี่ปุ่นก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเต็มตัวในชื่อ เจแปน ซอคเก้อร์ ลีก (Japan Soccer League) หรือ JSL โดยมี 8 ทีมเข้าร่วมชิงชัยในฤดูกาลแรกได้แก่ โทโย อินดัสทรี, ยาวาตะ สตีล, ฟุรุคาวะ อิเล็กทริค, ฮิตาชิ, มิตซูบิชิ มอเตอร์ส, โทโยดะ ออโตเมติก ลูม เวิร์ค, นาโงยา มิวชวล แบงค์ และ ยันมาร์ ดีเซล
Photo : readyfor.jp
แน่นอนว่าสโมสรแทบทั้งหมดในฤดูกาลแรก ล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินทุนหนาสุด ซึ่งเป็นผลมาจากการการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
“ในช่วงนี้ฐานอุตสาหกรรมด้านกีฬาขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะว่าการส่งเสริมกิจกรรมกีฬาในโรงเรียนและกลุ่มเยาวชนที่เรียกว่า ‘โชเนน ดัน’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 1964” มาซาฮิโร ซุงิยามา, เซลินา คู และ ร็อบ เฮส กล่าวในงานวิจัย Grassroot Football Development in Japan
“โชเนน ดัน ก่อตั้งขึ้นในปี 1962 และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกีฬารวมไปถึงฟุตบอลแก่เด็กนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960s”
อย่างไรก็ดี แม้จะก่อตั้งลีกฟุตบอลได้สำเร็จ แต่ในระยะยาวกลับไม่เป็นอย่างที่คาดเอาไว้
ยุคมืดซามูไรบลู
การวางแผนพัฒนาฟุตบอลของ JFA และคราเมอร์ เริ่มผลิอดอกออกผลตั้งแต่โอลิมปิก 1964 เมื่อทีมชาติญี่ปุ่น สามารถผ่านเข้าไปเล่นถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้เป็นครั้งแรก ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมาที่เม็กซิโก พวกเขาจะไปไกลถึงขั้นคว้าเหรียญทองแดงมาคล้องคอ และกลายเป็นทีมแรกจากเอเชีย ที่สามารถคว้าเหรียญในฟุตบอลโอลิมปิกได้
Photo : www.jfa.jp
ความสำเร็จในครั้งนั้นได้เกิดกระแส “ฟุตบอลบูม” ไปทั่วญี่ปุ่น คุนิชิเงะ คามาโมโต กลายเป็นขวัญใจคนทั้งชาติ เมื่อเขาคว้ารางวัลดาวซัลโวโอลิมปิกมาครอง และถือเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำได้
ทว่าหลังจากนั้น กลับกลายเป็นช่วงขาลงของวงการฟุตบอลแดนซามูไร เพราะหลังจากโอลิมปิก 1968 ญี่ปุ่นก็ไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายได้อีกเลยจนถึงปี 1996 ที่แอตแลนตา เช่นเดียวกับฟุตบอลโลก ที่พวกเขาได้แต่มองเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ ซึ่งได้ไปโชว์ฝีเท้าในรอบสุดท้ายอยู่เป็นประจำ ขณะที่พวกเขาจอดป้ายแค่รอบคัดเลือกอยู่เสมอ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่นตกต่ำในเวทีระดับนานาชาติในช่วงทศวรรษที่ 1970-80 คือการที่พวกเขาไม่มีลีกอาชีพ เพราะ JSL เป็นเพียงแค่ลีกสมัครเล่นที่มีแต่ทีมจากองค์กรหรือบริษัทมาฟาดแข้งกัน
แม้ว่าหลายคนที่ลงเล่นในลีกแห่งนี้อาจจะมีฝีเท้าดี เป็นนักกีฬาโรงเรียนหรือนักกีฬามหาวิทยาลัยมาก่อน แต่อาชีพหลักของพวกเขาคือพนักงานบริษัท ที่ต้องทำงานในเวลาปกติ และมีเวลาซ้อมฟุตบอลแค่หลังเลิกงานเท่านั้น ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาฝีเท้าได้อย่างจริงจัง
และมันก็ส่งผลให้ JSL ไม่สามารถผลิตนักเตะระดับสูงที่สามารถลงเล่นในการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ทำให้หลังจากยุค คามาโมโต นอกจาก ยาซุฮิโกะ โอคุเดระ ที่มีโอกาสได้ไปค้าแข้งในบุนเดสลีกา ก็ไม่มีนักเตะคนไหนที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นตัวความหวังได้อีกเลย
จนกระทั่งมีเสียงสวรรค์ของฟีฟ่า ทำให้พวกเขา เริ่มขยับตัวอีกครั้ง
จากองค์กรสู่มืออาชีพ
ความผิดหวังในผลงานสุดบู่ของทีมชาติญี่ปุ่น ทั้งในระดับเอเชีย และระดับนานาชาติ ในช่วงทศวรรษที่ 1970-80 กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ JFA มุ่งมั่นที่จะยกระดับฝีเท้าของนักเตะในประเทศอย่างจริงจัง
Photo : www.nikkansports.com
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ โจอัว ฮาเวลานจ์ ประธานฟีฟ่าในยุคนั้น ได้สอบถามผู้บริหาร JFA ถึงโอกาสการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในอนาคต กลายเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ญี่ปุ่นพยายามที่จะก่อตั้งลีกอาชีพเพื่อพัฒนาฟุตบอลของประเทศ
อย่างไรก็ดี ทีมที่มีแต่เดิมในตอนนั้น ล้วนเป็นทีมขององค์กร ที่ผูกโยงและมีผู้สนับสนุนหลักเป็นบริษัทแม่ ทำให้ตอนก่อตั้งเจลีก คณะกรรมการดำเนินงาน ได้ออกกฎระเบียบเพื่อสลายความเป็นองค์กร และก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างเต็มตัว
พวกเขาได้ออกกฎให้ทุกทีมต้องเป็นอิสระจากบริษัทใดๆ และใช้ระบบ “ท้องถิ่น” เข้ามาแทนที่ โดยให้แต่ละทีมเน้นสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน หรือเมืองที่เป็นฐานที่มั่นของสโมสร มากกว่าตัวองค์กรที่เคยเป็นเจ้าของทีม
“1. ทุกทีมต้องเป็นอิสระจากบริษัทแม่
2. ใช้ระบบฟุรุซาโตะ (บ้านเกิด) ในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนมากกว่าบริษัท
3. ทุกทีมต้องมีสนามที่ต้องมีความจุไม่น้อยกว่า 15,000 ที่นั่ง
4. ทุกทีมต้องมีทีมอายุไม่เกิน 18 ปีและ 15 ปี และทีมเยาวชน หรือแนวโน้มว่าจะทำ
5. ทุกทีมต้องมีโค้ชที่ผ่านคุณสมบัติ
6. ทุกทีมต้องร่วมจ่ายค่าจัดการในการก่อตั้งลีก, ค่าโฆษณา และค่าจัดการ
7. ลีกถือสิทธิ์ในเกมการแข่งขัน, ผู้สนับสนุน, การถ่ายทอดสดและสินค้าที่ระลึก”
กฎที่แจกให้กับทีมสมัครเข้าร่วมเจลีกเมื่อปี 1991 ระบุเอาไว้
จากผลดังกล่าวทำให้ทุกทีมที่เข้าร่วมเจลีกในปีแรก ยกเว้น ชิมิสุ เอสพัลส์ (สโมสรก่อตั้งใหม่) ต้องเปลี่ยนชื่อทีม เนื่องจากการมีชื่อบริษัทแม่หรือสปอนเซอร์ในชื่อสโมสรกลายเป็นเรื่องผิดกฎ ที่ทำให้ทีมอย่าง มัตสึชิตะ เอฟซี (พานาโซนิค) กลายเป็น กัมบะ โอซากา, มาสดา เอสซี กลายเป็น ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา หรือ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส กลายเป็น อุราวะ เรดส์
Photo : www.huffingtonpost.jp
การกำเนิดขึ้นของเจลีก ทำให้เกิดกระแส “ฟุตบอลบูม” ขึ้นอีกครั้ง การเดินหน้าโปรโมท รวมไปถึงการที่หลายทีมพยายามทุ่มเงินดึงนักเตะระดับเวิลด์คลาสมาร่วมทีม ทำให้ลีกเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในฤดูกาล 1993 ซึ่งเป็นฤดูกาลแรก พวกเขามียอดแฟนบอลเฉลี่ยสูงถึงเกือบ 18,000 คนต่อ ก่อนจะเพิ่มเป็น 19,598 ในฤดูกาลต่อมา
ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์จากเจลีกก็ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า ไม่ว่าจะเป็นของที่ระลึก ที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 16,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน) ในปีแรก หรือ การที่ขนมขบเคี้ยวที่มีของแถมเกี่ยวข้องกับเจลีกก็มียอดขายนับ 1 ล้านชิ้น
การเติบโตอย่างเหนือความคาดหมายทำให้เจลีกกลายเป็นลีกที่น่าจับตามองของเอเชีย มีนักเตะระดับโลก ทยอยมาเล่นอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้แฟนชาวญี่ปุ่น ได้ชื่นชมฝีเท้าของผู้เล่นชั้นยอดอย่าง ดุงกา, ดราแกน สตอยโควิช และ ไมเคิล เลาดรูป
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาอันหอมหวานกลับผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ฟองสบู่เจลีก
ปรากฎการณ์เจลีกสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วแดนอาทิตย์อุทัยได้เพียงไม่นาน สัญญาณแห่งความอันตราย ก็เริ่มก่อตัวขึ้นในปีที่ 3 เมื่อยอดผู้ชมเฉลี่ยตกลงมาจาก 19,598 คน ในปี 1994 เหลือเพียง 16,922 คนในปี 1995
Photo : dot.asahi.com
หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นกราฟดิ่งลงสำหรับเจลีก เมื่อยอดผู้ชมเฉลี่ยของพวกเขา ตกลงมาเหลือ 13,535 คนในปี 1996 ก่อนจะทรุดหนัก เหลือเพียง 10,131 คน ในปี 1997 หรือลดลงเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 1994
สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกสโมสรในเจลีก เนื่องจากรายได้หลักของพวกเขามาจากค่าบัตรเข้าชม, สปอนเซอร์ และส่วนแบ่งรายได้จากเจลีก การที่ยอดแฟนบอลตกต่ำ จึงส่งผลต่อสภาพคล่องของพวกเขาไม่น้อย
แม้ว่าการที่ทีมชาติญี่ปุ่น คว้าตั๋วผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 1998 รอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส และการเพิ่มระบบเลื่อนชั้นตกชั้นเข้ามา ที่ทำให้ทุกทีมลงเล่นอย่างจริงจังทุกเกม จะทำให้ยอดผู้ชมกระเตื้องขึ้นในปี 1998 แต่ก็สายไปแล้วสำหรับบางทีม
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ส่งผลกระทบต่อสปอนเซอร์หลักของหลายทีม จริงอยู่ว่าแม้เจลีก จะพยายามสลายความเป็นองค์กรไปจากทีมแล้ว แต่มีสโมสรจำนวนไม่น้อย ที่ต้องพึ่งเงินสนับสนุนเกินกว่าครึ่ง จากบริษัทที่เคยเป็นเจ้าของทีมสมัยเป็นทีมสมัครเล่น
และต้นปี 1999 ฟองสบู่ลูกแรกก็แตกโพละ เมื่อ โยโกฮามา ฟลูเกลส์ จำเป็นต้องยุบไปรวมทีม กับ มารินอส และเปลี่ยนชื่อเป็น โยโกฮามา เอฟ มารินอส หลัง ซาโต โคเงียว หนึ่งในสปอนเซอร์หลักของสโมสรประสบปัญหาทางการเงิน จนต้องถอนตัวไป
Photo : matome.naver.jp
ในขณะที่ ออล นิปปอน แอร์เวย์ส (ANA) สายการบินอันดับ 1 ของญี่ปุ่น อีกหนึ่งสปอนเซอร์หลัก ก็แบกรับภาระไว้ไม่ไหว และต้องไปจับมือกับ นิสสัน สปอนเซอร์ของ มารินอส ที่มีปัญหาทางการเงินเช่นกัน
แม้ฝ่ายบริหารตัดสินใจรวมทีมเป็นหนึ่งเดียว แต่สำหรับแฟนบอลกลับไม่เป็นเช่นนั้น แฟนบอลของ ฟลูเกลส์ เดิม ปฏิเสธที่จะตามไปเชียร์ เอฟ มารินอส ที่ทีมของพวกเขาไปรวมอยู่ด้วย และตัดสินใจรวมกันก่อตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่ ชื่อ โยโกฮามา เอฟซี ในปีเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้น โยโกฮามา เอฟซี ยังเป็นสโมสรแรกในญี่ปุ่นที่ใช้ระบบ โซซิโอ (Socio) ซึ่งแฟนบอลที่เป็นสมาชิกสโมสร จะมีสิทธิ์ในการโหวตประเด็นสำคัญต่างๆ อย่างการเลือกตั้งประธานสโมสร แบบเดียวกับ เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลนา อีกด้วย
เช่นเดียวกับ เวอร์ดี คาวาซากิ อดีตแชมป์เจลีก 2 สมัย ก็ถูก โยมิอุริ บริษัทสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ถอนตัวจากการเป็นสปอนเซอร์หลัก ที่ทำให้พวกเขาต้องสูญงบไปกว่า 2 พันล้านเยนต่อปี (556 ล้านบาท) และส่งผลให้ เวอร์ดี ต้องย้ายฐานจากเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานางาวะ ไปกรุงโตเกียวในอีก 2 ปีต่อมา
“แรงกระเพื่อมจากภาวะถดถอยในยุคเฮเซ ได้เริ่มรู้สึกได้จากสปอนเซอร์ของบางสโมสร นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ โยโกฮามา ฟลูเกลส์ จะเป็นต้องไปยุบรวมทีมกับ มารินอส อีกสโมสรหนึ่งที่มีฐานอยู่ในเมืองโยโกฮามาช่วงต้นปี 1999” จอห์น ฮอร์น กล่าวในงานวิจัย The J.League, Japanese Society and Association Football
เจลีกรู้ดีว่าภาวะฟองสบู่ หากมีลูกที่หนึ่ง ลูกที่สอง ลูกที่สามสี่ย่อมต้องตามมาอย่างแน่นอน ก่อนที่สโมสรจะล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา พวกเขาจึงพยายามหาทางแก้ปัญหา
คืนท้องถิ่น
การถอนตัวของสปอนเซอร์หลัก ที่ทำให้ฟลูเกลส์ถึงขั้นยุบทีม ทำให้ทีมอื่นต้องขวัญผวา และเกรงว่าจะเกิดกับตัวเอง แต่ที่จริงเจลีก รับรู้ปัญหานี้ และพยายามป้องกันมาโดยตลอด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อสปอนเซอร์เป็นชื่อทีม เนื่องจากไม่อยากให้มีอิทธิพลมากเกินไป
Photo : www.japantimes.co.jp
แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยาก เพราะในช่วงเริ่มแรกสโมสรในเจลีก จำเป็นต้องพึ่งเงินสนับสนุนเกินครึ่งของรายได้หลัก จากอดีตเจ้าของทีมเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น อุราวะ เรดส์ และ คาชิมา อันท์เลอร์ส ที่ต่างได้รับการสนับสนุนจาก มิตซูบิชิ และ ซูมิโตโม อยู่ราว 100 ล้านเยนต่อปี (30 ล้านบาท)
ยิ่งไปกว่านั้น การนักเตะระดับโลก พาเหรดกันมาค้าแข้งในเจลีก บวกกับความบูมในเจลีกช่วงแรก ที่ทำให้สปอนเซอร์พยายามอัดฉีดเงินเพื่อทำให้ทีมของตัวเองแข็งแกร่งทัดเทียมกับคู่แข่ง แต่มันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งหายนะ
“เงินเดือนเฉลี่ยต่อปีของนักเตะต่างชาติในเจลีก เพิ่มขึ้นจาก 317,000 ดอลลาร์ฯ (1993) (ราว 9.5 ล้านบาท) กลายเป็น 631,200 ดอลลาร์ (ราว 19 ล้านบาท) ในปี 1994 และ 834,500 ดอลลาร์ฯ (25 ล้านบาท) ในปี 1997” โวล์ฟแรม แมนเซนเรเตอร์ อธิบายในบทความ Japanese football and world sports raising the global game in a local setting
“เทียบให้เห็นภาพ นักเตะญี่ปุ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพียง 227,000 ดอลลาร์ฯ (6.8 ล้านบาท)เท่านั้น”
“ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เงินเดือนผู้เล่นมีจำนวนเป็นครึ่งหนึ่งของรายจ่ายทั้งหมด และเป็นภาระที่หนักที่สุดในบัญชีของสโมสร”
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาจะมีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจมาเกือบ 10 ปี แต่ไม่มีสโมสรไหนที่สามารถบริหารตัวเองได้อย่างยั่งยืน ในปี 1998 มีทีมในเจลีก 9 ทีมจาก 16 ทีมที่ประสบปัญหาภาวะขาดทุน ในขณะที่อีก 5 ทีมเท่าทุน เพียงเพราะบริษัทแม่จ่ายเงินอัดฉีดในส่วนที่ขาดทุน ซึ่งหมายความว่า มีแค่ 2 ทีมเท่านั้นที่สามารถบริหารผลประกอบการจนมีกำไร ยืนหยัดได้ด้วยตนเอง
ด้วยภาวะที่อันตรายเช่นนี้ ทำให้ในปี 1998 เจลีกได้ออกกฎเพดานค่าเหนื่อย ในการจำกัดรายจ่ายของแต่ละทีม ซึ่งภายในกฎระบุว่าแต่ละทีมจะมีนักเตะที่มีค่าเหนื่อยมากกว่า 4.8 ล้านเยนต่อปี ได้ทีมละไม่เกิน 25 คน
ในขณะเดียวกัน เจลีกยังได้เปลี่ยนกฎโควต้าผู้เล่นต่างชาติ จากเดิมที่แต่ละทีมสามารถส่งลงสนามได้ไม่เกิน 3 คน กลายเป็นทุกทีม สามารถมีนักเตะต่างชาติในทีมได้เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นแต่ละทีมมีนักเตะต่างชาติได้ไม่จำกัด แต่สามารถลงสนามได้ไม่เกิน 5 คน ส่วนชาติที่เป็นพันธมิตรกับเจลีกอย่าง ไทย, เวียดนาม, เมียนมาร์, กัมพูชา, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และกาตาร์ ไม่ถูกนับเป็นนักเตะต่างชาติ)
Photo : J.League(เจลีก-ลีกฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศญี่ปุ่น)
“จากกฎดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายรายปีเฉลี่ยต่อทีมของเจลีก ลดลงจาก 1.75 พันล้านเยน (487 ล้านบาท) ในปี 1996 เหลือ 1.15 พันล้านเยน (320 ล้านบาท) ในปี 1999” แมนเซนเรเตอร์ ระบุ
นอกจากนี้ เจลีกยังได้กระตุ้นให้แต่ละทีม พยายามดึงสปอนเซอร์ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ภายใต้แนวคิดท้องถิ่นนิยม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้ทีมต้องทรุดหนัก หากสปอนเซอร์หลักถอนตัวออกไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับหลายทีม
อันที่จริงโมเดลดังกล่าว บางทีมก็ได้ทำมาตั้งแต่เริ่มแรก หนึ่งในนั้นคือ ชิมิสุ เอสพัลส์ ทีมที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ล่าสุด ในยุคก่อตั้งเจลีก พวกเขามี ชิสุโอกะ ทีวี ที่มีบริษัทแม่คือ ฟูจิ ทีวี ยักษ์ใหญ่วงการโทรทัศน์ญี่ปุ่น เป็นสปอนเซอร์หลัก
แม้ว่าจะมี ฟูจิ ทีวี อยู่ข้างบน แต่ ชิสุโอกะ ทีวี กลับถือหุ้นในสโมสรเพียงแค่ 18 เปอร์เซ็นต์ และเมืองชิมิสุ ถือหุ้นอีก 2.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 56.1 เปอร์เซ็นต์ เป็นของบริษัทและองค์กรท้องถิ่น หลากหลายองค์กร ในขณะที่อีก 23.6 เปอร์เซ็นต์มาจาก นักลงทุน 2,400 รายที่จ่ายเงินอย่างน้อย 100,000 เยน สนับสนุนทีม
ทว่าหลัง ฟลูเกลส์ ล้มละลาย หลายทีมก็ปรับตัวมาใช้ระบบอย่างจริงจัง เพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ เบลล์มาเร ฮิรัตสึกะ อดีตต้นสังกัดของ ฮิเดโตชิ นาคาตะ นักเตะในตำนานของญี่ปุ่น ที่แต่เดิม ฟุจิตะ บริษัทก่อสร้างที่มีฐานที่มั่นในโตเกียว เป็นผู้ถือหุ้นหลักอยู่ 69.88 เปอร์เซ็นต์ และอัดฉีดเงินให้ทีมอยู่ราว 500 ล้านเยนต่อปี
ทว่าหลังจากทีมตกชั้นลงไปเล่นในเจ 2 ในปี 2000 เจ้าของทีมได้เปลี่ยนมือจากฟูจิตะ ไปเป็นกลุ่มชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ บริษัท โชนัน เบลล์มาเร ที่ประกอบไปด้วย รัฐบาลเมืองฮิรัตสึกะ และบริษัทท้องถิ่นอีกกว่า 320 บริษัท พร้อมเปลี่ยนชื่อทีมเป็น โชนัน เบลล์มาเร
Photo : 湘南ベルマーレ 【公式】
“คำสำคัญของรูปแบบการร่วมมือกันในชุมชนของเจลีก ประกอบไปด้วย บ้านเกิด (hometown) ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาศัยอยู่ หรือเป็นภาษาพูดก็คือ เมืองของเรา (our town) และการยึดมั่นในพื้นที่ของเรา (regional adherence) ซึ่งมีความหมายง่ายๆ ว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในพื้นที่บ้านเกิด” แมนเซนเรเตอร์ และ ฮอร์น กล่าวในงานวิจัย Football in the community: global culture, local needs and diversity in Japan
“แต่ในปี 1996 เมื่อเจลีกได้สูญเสียพลังที่เคยมีในยุคแรกบางส่วนไป พันธสัญญาต่อสาธารณะจึงได้ถูกย้ำเตือนอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในบ้านเกิด ด้วยการอธิบายในแผน 100 ปี ที่อ้างถึงประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปีของสโมสรฟุตบอลยุโรป และเป้าหมายระยะยาวของโครงการฟุตบอลที่ทันสมัยในญี่ปุ่น”
ผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี ลีกญี่ปุ่นก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ก่อนจะสามารถตั้งตัวได้อย่างมั่นคงหลังยุค 2000 ที่ทำให้พวกเขาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถไปไกลถึงแชมป์เอเชีย 5 สมัย รวมไปถึงรองแชมป์สโมสรโลกอีก 1 สมัย
Photo : www.straitstimes.com
ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เติบโตไปพร้อมกับ “แผน 100 ปี” ที่นอกจากตั้งเป้าว่าญี่ปุ่นจะคว้าแชมป์โลกภายในปี 2050 แล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างสโมสรฟุตบอลอาชีพให้ครบ 100 สโมสรในปี 2092 หรือครบ 100 ฤดูกาลเจลีกอีกด้วย
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ปัจจัยหนึ่งที่เกื้อหนุนให้พวกเขาทำได้คือด้านวัฒนธรรมเฉพาะตัว รวมไปถึงความรู้สึกในด้านท้องถิ่นนิยม ที่ทำให้สปอนเซอร์ท้องถิ่น และคนในชุมชน พร้อมใจกันสนับสนุนให้ทีมไปต่อได้
ทว่าในขณะเดียวกัน สิ่งที่พวกเขาทำล้วนผ่านการวางแผน วิเคราะห์ และใช้ประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา ไปพร้อมกับการวางรากฐานที่ทำให้แต่ละทีมสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง จนทำให้เจลีกกลายเป็นหนึ่งในลีกสุดแกร่งของเอเชีย
ราวกับว่าอยากให้เคสที่เกิดขึ้นกับ ฟลูเกลส์ กลายเป็นเคสสุดท้ายในประวัติศาสตร์ของพวกเขา