"ฮังการี" ชาติที่ฟุตบอลเคยยิ่งใหญ่ในยุคคอมมิวนิสต์ และล่มสลายในยุคประชาธิปไตย
ในยุค 1940-70 ทีมที่ครองความยิ่งใหญ่ในโลกลูกหนังมีชื่อว่า ฮังการี พวกเขาคือ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัย รองแชมป์โลก 2 สมัย และครั้งหนึ่งก็เคยบุกมาถล่มทีมชาติอังกฤษ ต้นตำหรับลูกหนังถึงเวมบลีย์อย่างไม่ไว้หน้า 6-3 จนกลายเป็นหนึ่งในเกมที่ถูกเรียกว่า “แมตช์แห่งศตวรรษ”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพวกเขาเป็นแค่ทีมธรรมดาของยุโรป และไม่ได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์อย่างฟุตบอลโลก มากว่า 30 ปี
เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
Mighty Magyars
ฮังการี ถือเป็นหนึ่งในทีมที่มีประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่ยาวนาน แม้ว่าในอดีตพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของ “อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี” แต่ทีมฟุตบอลก็เป็นเอกเทศมาตั้งแต่ต้น และก่อตั้งสมาคมฟุตบอลฮังการีมาตั้งแต่ปี 1901
Photo : switchimageproject.blogspot.com
ในช่วงแรก ฮังการี อาจจะไม่ได้มีผลงานที่ไม่ได้เด่นชัดมาก และเป็นเพียงไม้ประดับในทัวร์นาเมนต์ แต่ในฟุตบอลโลก 1938 ที่ฝรั่งเศส พวกเขาก็เริ่มกลายเป็นที่รู้จัก หลังสร้างปรากฎการณ์ ผ่านเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศอย่างเหลือเชื่อ แม้ต้องพ่ายอิตาลีในนัดชิงดำ และได้เพียงตำแหน่ง รองแชมป์โลกไปอย่างน่าเสียดาย
หลังจากนั้นการแข่งขันฟุตบอลต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว อันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1950 ชื่อเสียงของ ฮังการี ขจรขจายไปทั่ว หลัง “โกลเด้นทีม” ของพวกเขาเดินหน้าประกาศศักดาทั้งในยุโรปและทั่วโลก
ในปี 1952 ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ฮังการี ที่ไม่เคยผ่านได้ไกลกว่ารอบ 2 ในฟุตบอลโอลิมปิก ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยการไล่ถล่มคู่แข่งจนไปไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นการถล่มอิตาลี 3-0 อัดตุรกี 7-1 ถล่มสวีเดน 6-0 และเอาชนะยูโกสลาเวียในนัดชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญทองมาคล้องคอได้สำเร็จ
และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน “ไมท์ตี แมกยาร์ส” หรือ ฮังการีสุดมหัศจรรย์ ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่น่ากลัวที่สุดของยุโรปจากเกมรุกสุดโหด ในช่วงปี 1950-1955 ฮังการี ระเบิดตาข่ายคู่แข่ง 220 ประตูจาก 51 นัดหรือเฉลี่ยมากกว่า 4 ประตูต่อนัดเลยทีเดียว
หนึ่งในทีมที่เคยตกเป็นเหยื่อของขุนพลแม็กยาร์ในยุคนั้นคือทีมชาติอังกฤษ ในปี 1953 พวกเขาเปิดเวมบลีย์ ต้อนรับฮังการีด้วยสถิติไม่แพ้ใครในบ้านมา 90 ปี แต่กลับถูกผู้มาเยือนพังลงอย่างไม่เหลือชิ้นดี เมื่อเป็นฝ่ายบุกมาเอาชนะอย่างไม่ไว้หน้า 6 - 3 และทำให้เกมนี้ถูกเรียกขานว่า “เกมแห่งศตวรรรษ”
Photo : www.scoopnest.com
“แน่นอนผู้คนคิดว่าเราน่าจะชนะ แต่เราถูกสอนให้รู้จักกับบทเรียนสุดซึ้งในวันนั้น ผมไม่คิดว่าเราแย่นะ แต่เป็นเพราะพวกเขามหัศจรรย์มากกว่า ง่ายๆเลยพวกเขาคือทีมที่ดีที่สุดที่ผมเคยเห็นมา” แจ๊คกี ซีเวลล์ อดีตผู้เล่นทีมชาติอังกฤษ ที่อยู่ในเกมวันนั้นบอกกับ BBC เมื่อปี 2010
“การเคลื่อนที่ของพวกเขาเหลือเชื่อมาก พวกเขาแค่ผ่านบอลไปรอบๆตัวเรา พวกเขาเล่นเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ จ่ายแล้วไป เราอาจจะเห็นทุกคนเล่นแบบนี้ในปัจจุบัน แต่ไม่เคยมีใครทำในตอนนั้น ผมไม่เคยเห็นใครทำเลย”
และในปี 1954 กลายเป็นหนึ่งในปีที่ยอดเยี่ยมของพวกเขา เมื่อสามารถย้ำแค้นอังกฤษ ด้วยการเปิดบ้านไล่ถล่มไปอย่างขาดลอย 7-1 ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสิงโตคำราม ที่ยืนยาวมาจนถึงวันนี้
Photo : www.historytoday.com
ก่อนที่หลังจากนั้นเพียงแค่เดือนเดียว ฮังการี จะทำให้โลกต้องตะลึงอีกครั้ง ด้วยการทะลุผ่านเข้าถึงนัดชิงฟุตบอลโลก 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการเอาชนะ ทั้งบราซิล อุรุกวัย รวมไปถึงไล่ถล่ม เกาหลีใต้ 9-0 และเยอรมันตะวันตก 8-3 (ในรอบแรก)
แต่น่าเสียดายที่ในนัดชิง ทั้งที่เล่นได้ดีกว่า และออกนำไปก่อนถึง 2-0 แต่ ฮังการี กลับโดนเยอรมันยิงคืน 3 ประตูรวดพลิกคว้าแชมป์ไปได้ในที่สุด (ภายหลังมีการศึกษาว่าเหตุที่นักเตะเยอรมันวิ่งได้ไม่มีหมดในวันนั้นเพราะมีการฉีดแอมเฟตามีน หรือส่วนผสมของยาบ้าให้นักเตะเยอรมันก่อนเกม)
อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของพวกเขา?
สังคมนิยมฟุตบอล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทศวรรษที่ 50 ฮังการี สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นทีมที่น่ากลัวที่สุดของโลก พวกเขาเป็นเจ้าของสถิติไร้พ่ายยาวนานที่สุดในโลกในตอนนั้น ด้วยสถิติไร้พ่าย 31 เกมติดต่อกัน เป็นระยะเวลาถึง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 1950 จนถึง 3 กรกฎาคม 1954
Photo : @DFB_Team_EN
นอกจากนี้ พวกเขายังมีเปอร์เซนต์ชนะคู่แข่งที่สูงมาก โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1950 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1956 ฮังการีมีสถิติเอาชนะคู่แข่งถึง 42 นัด เสมอ 7 นัด และแพ้เพียงนัดเดียว (ต่อเยอรมันตะวันตก) โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 91 เปอร์เซนต์
และกุญแจความสำเร็จของฮังการี คือระบบ 3-2-2-3 ซึ่งถือเป็นระบบที่แปลกมากในตอนนั้น พวกเขา มีเฟเรนซ์ ปุสกัส จับคู่กับ ซานดอร์ คอคซิส ในแดนหน้าโดยมี นานดอร์ ฮิเดกคูตี ยืนเป็นหน้าต่ำ
ในขณะเดียวกัน ตำแหน่งอื่นสามารถต้องสามารถวิ่งหมุนเวียนทดแทนตำแหน่งอื่นได้หมด จนเชื่อกันว่าเป็นต้นตำหรับของ “โททัล ฟุตบอล” ระบบอันโด่งดังที่เคยสร้างชื่อให้ เนเธอร์แลนด์ ในฟุตบอลโลก 1974
“เวลาเราบุก ทุกคนก็บุก เวลาเรารับเราก็ทำเหมือนกัน เราคือต้นแบบของโททัล ฟุตบอล” ปุสกัส กัปตันทีมในยุคนั้นครั้งหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้
เบื้องหลังของแผนนี้คือ กุสตาฟ เซเบส กุนซือของฮังการี ที่คุมทีมมาตั้งแต่ปี 1949 เขาเป็นคนที่ฝักใฝ่ในความคิดสังคมนิยม เขามีความเชื่อว่าทุกคนในสังคมเท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับนักฟุตบอล เขาจึงให้น้ำหนักกับผู้เล่นทุกคนเท่ากัน และเชื่อว่าทุกคนต้องเล่นได้ทุกตำแหน่ง และอธิบายว่ามันคือ “สังคมนิยมฟุตบอล”
“เซเบส เป็นคนมุ่งมั่นในความคิดแบบสังคมนิยม คุณสามารถรู้สึกได้จากทุกคำที่เขาพูด เขาสร้างประเด็นทางการเมืองในทุกเกมหรือทัวร์นาเมนต์สำคัญ เขามักจะพูดว่าการต่อสู้ระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยมเกิดขึ้นได้ทุกที่ เช่นเดียวกับสนามฟุตบอล” ยูลา โกรซิค อดีตผู้รักษาประตูของฮังการีกล่าวกับ FIFA.com
Photo : alchetron.com
นอกจากตำแหน่งโค้ชทีมชาติ เซเบส ยังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกีฬาฮังการี ในรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาสามารถสร้างทีมได้อย่างเต็มที่ ฮังการี ในยุคนั้นจึงสร้างมาจากนักเตะจากสองทีมใหญ่ของประเทศคือ บูดาเปสต์ ฮอนเวด และ เรด แบนเนอร์ (ปัจจุบันคือ MTK บูดาเปสต์)
ฮังการี ภายใต้การคุมทัพของเซเบส จึงกลายเป็นทีมที่ทุกคนต้องขวัญผวา พวกเขามีแนวรุกที่น่ากลัว
พิสูจน์ได้จากสถิติการยิงประตูของคอคซิค และ ปุสกัส กองหน้าคู่ของพวกเขา ที่ยิงรวมกันไปถึง 160 ประตู (ปุสกัส 85 ประตู คอคซิส 75 ประตู) และได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมที่เก่งที่สุดในยุคนั้น
“พวกเขาคือทีมชาติที่เก่งที่สุดที่ผมเคยเล่นด้วย เป็นทีมที่มหัศจรรย์ที่ได้เห็น ด้วยแทคติกที่ไม่เคยเห็นมาก่อน” ทอม ฟินนีย์ ผู้เล่นทีมชาติอังกฤษที่เคยถูกฮังการีเล่นงานในเกมพ่ายคาบ้าน 3-6 กล่าวกับ FIFA.com
ในขณะที่ เซอร์ แสตนลีย์ แมตธิว ผู้เล่นอังกฤษที่อยู่ในเกมวันนั้นกล่าวในหนังสืออัตชีวิประวัติของตัวเองว่า “พวกเขาคือทีมที่ดีที่สุดที่ผมเคยเจอมา พวกเขาคือทีมที่ดีที่สุดตลอดกาล”
อย่างไรก็ดี ในปี 1956 สัญญาณไม่ดีของไมท์ตี แมกยาร์ส ก็เริ่มก่อตัวขึ้น
การลุกฮือของฮังการี
หลังพลาดโอกาสคว้าแชมป์โลกอย่างน่าเสียดายที่สวิตเซอร์แลนด์ 2 ปีหลังจากนั้น ฟุตบอลของฮังการี ก็ต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อในปี 1956 ได้เกิดการประท้วงไปทั่วกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี ต่อการครอบงำของสหภาพโซเวียต ที่เรียกว่า “การปฏิวัติฮังการี”
Photo : www.lonelyplanet.com
มันคือความไม่พอใจต่อโซเวียต ที่เข้ามายึดครองพวกเขาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ ฮังการีมีสถานะเป็นประเทศภายใต้เขตอิทธิพลของโซเวียต โดยจากผู้ประท้วงนับร้อย เพิ่มจำนวนเป็นพัน และเริ่มขยายลุกลามไปในเมืองอื่นๆ
ทว่าหนึ่งเดือนหลังความความวุ่นวาย โซเวียตได้ส่งกองทัพแดงเข้ามาปราบปรามกลุ่มกบฎอย่างโหดร้าย การใช้กำลังเข้าจัดการในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตนับ 3,000 คน หลายคนถูกจับคุมขัง ในขณะที่อีก 200,000 คนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
ชัยชนะของโซเวียตยังเป็นจุดเริ่มต้นการพังทลายของ “โกลเด้นทีม” เมื่อนักเตะดังอย่าง ปุสกัส, คอสซิค และ โซลตาน ซิบอร์ ลี้ภัยจากสงครามออกจากประเทศไป ทั้งสามคนไม่เคยได้กลับมาเล่นให้ทีมชาติฮังการีอีกเลยหลังจากนั้น โดย ปุสกัส ได้ย้ายไปเล่นให้ทีมชาติสเปน และได้ลงเล่นในฟุตบอลโลก 1962
Photo : www.marca.com
อย่างไรก็ดี นักเตะอีกหลายคนจากยุคเกรียงไกร ยังคงเล่นอยู่ในลีกของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โจเซฟ บอสซิค หรือ ฮิเดกคูตี และอยู่ในทีมชุดลุยฟุตบอลโลก 1958 แต่การขาดหายสามตัวหลักอย่าง ปุสกัส, คอสซิค และ ซิบอร์ ทำให้อดีตรองแชมป์โลก ต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบแรก
ดูเหมือนจะเป็นจุดจบ แต่เปล่าเลย นักเตะฮังการีสายเลือดใหม่ พลิกฟิ้นทีมชาติได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาก้าวไปถึงตำแหน่งเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 1960 ที่โรม ก่อนจะคว้าเหรียญทอง 2 ครั้งติดต่อกันในโอลิมปิก 1964 และ 1968 ที่โตเกียว และเม็กซิโก ซิตี้ตามลำดับ
Photo : @TMortimerFtbl
ฮังการี หลังยุค “โกลเด้นทีม” ยังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ แม้จะไปไม่ถึงแชมป์ แต่ก็ถือว่าไม่ได้ล้มเหลว หลังเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูโร 1964 และ 1972 และรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 1962 และ 1966
ในขณะที่ระดับของฟุตบอลลีก ก็ไม่ได้ตกลงเช่นกัน สโมสรจากฮังการี จำนวนไม่น้อยประกาศศักดา ด้วยการเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศ ในฟุตบอลสโมสรยุโรป เช่น MTK บูดาเปสต์ ที่คว้าตำแหน่งรองแชมป์ คัพวินเนอร์สคัพ ในปี 1964 หลังพ่ายต่อสปอร์ติง ลิสบอนในนัดชิง หรือ เฟเรนซ์วารอส ที่ทำได้ในถ้วยเดียวกันในปี 1975
พวกเขาได้สร้างผู้เล่นสายเลือดใหม่ที่มีฝีเท้ายอดเยี่ยมไม่แพ้กันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น คัลมาน เมสโซลี หรือ ฟลอเรียน อัลเบิร์ต โดยรายหลังเจ้าของฉายา “จักรพรรดิ” ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานของฮังการี หลังยิงประตูถล่มทลาย ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ จนคว้ารางวัล “บัลลงดอร์” มาแล้วในปี 1967
วงการฟุตบอลฮังการี ยังคงดำเนินต่อไปได้ดี และผ่านความยากลำบากหลังการปฏิวัติในปี 1956 แต่แล้ว พวกเขาก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้มันยากเกินจะรับไหว
การล่มสลายของโซเวียต
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อสหภาพโซเวียต หนึ่งในมหาอำนาจของโลกถึงคราวล่มสลาย และแตกออกเป็นประเทศต่างๆ 10 กว่าประเทศ ตัวอย่างเช่น รัสเซีย, จอร์เจีย, เอสโตเนีย, ยูเครน, และอุซเบกิสถาน
Photo : creativetimereports.org
จากผลดังกล่าวทำให้สถานะประเทศภายใต้เขตอิทธิพลโซเวียตของฮังการี หายไปอีกด้วย และส่งผลให้ ฮังการี สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบคอมมิวนิสต์ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม
หลังจากพ้นร่มเงาของโซเวียต ฮังการีก็มี นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และเจ้าหน้าที่เป็นของตัวเอง (โดยไม่ถูกครอบงำ) ทว่าในทางกลับกันพวกเขาจำเป็นต้องหางบประมาณมาบริหารประเทศ เช่นเดียวกับกีฬาที่ต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง
หลายฝ่ายเชื่อว่าฮังการี น่าจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ เหมือนที่เคยก้าวผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติในปี 1956 แต่ครั้งนี้พวกเขาคิดผิด
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าระบอบคอมมิวนิสต์สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลต่อฟุตบอลในฮังการี มันนำมาซึ่งความสำเร็จ (สู่ทีมชาติ)” กาบี โควัคส์ บรรณาธิการ HungarianFootball.com กล่าวกับ Outside The Boot
การขาดพี่ใหญ่อย่างโซเวียต ทำให้ฮังการี ต้องประสบปัญหาทางการเงิน พวกเขาไม่มีเงินทุนมากพอที่จะแบ่งไปสนับสนุนด้านกีฬา และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของฟุตบอลฮังการี
“หลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในฮังการี ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มชัดเจนขึ้น ภายใต้สถานการณ์นี้ ดูเหมือนว่าได้กลายเป็นกระบวนการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมฮังการี ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาและกีฬาถูกละเลย รัฐถอนเงินอุดหนุนส่วนหนึ่งกับมัน” ซูซานนา บูคตา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Eötvös Loránd กล่าวในงานวิจัยที่ชื่อว่า The nature of hungarIan sport associations after the change of the polItIcal system
นอกจากนี้ รูปแบบของบริษัทที่เปลี่ยนไป หลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ ยังส่งผลต่อสโมสรฟุตบอลในประเทศ ที่ทำให้หลายทีมขาดเงินสนับสนุน และส่งผลกระทบต่อสถานะของสโมสร
“ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสนับสนุนกีฬาผ่านสองช่องทาง คือ ทางตรงที่มาจากงบกลาง และทางอ้อมจากการที่รัฐไปเป็นเจ้าของบริษัท แต่หลังจากปี 1989 บริษัทเหล่านี้ก็ถูกแปรรูปไป” บุคตา อธิบายต่อ
“นั่นหมายความว่า สโมสรกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาก็หายไป หรือตกอยู่ในภาวะทางการเงินที่ยากลำบาก”
Photo : dailynewshungary.com
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลายทีมต้องประกาศล้มละลาย หรือถูกยุบ แม้จะมีทีมที่อยู่รอด แต่พวกเขาก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะรั้งนักเตะฝีเท้าดีเอาไว้ ทำให้หลายคนต้องย้ายไปค้าแข้งในลีกอื่นของยุโรปแบบไม่มีค่าตัว
ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อวงการฟุตบอลฮังการี การไม่มีนักเตะฝีเท้าดีทำให้ระดับของลีกพวกเขาตกต่ำลง และผู้ชมหายไปจากสนาม ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อทีมชาติฮังการี ที่ทำให้พวกเขาห่างไกลจากความสำเร็จนับตั้งแต่ตอนนั้น
รอการกลับมา
ฮังการีในวันนี้แทบจะไม่เหลือคราบความยิ่งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1950 พวกเขารั้งอยู่ในอันดับ 50 ของโลก และไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้อีกเลย นับตั้งแต่ปี 1986 หรือสมัยที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์
Photo : m4sport.hu
ใกล้เคียงที่สุดคงจะเป็นตอนฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 1998 หลังคว้าอันดับ 2 ของกลุ่ม แต่ในรอบเพลย์ออฟ พวกเขากลับโดนยูโกสลาเวีย ไล่ถล่มไปอย่างหมดรูป ด้วยสกอร์รวม 12-1 โดยเป็นการแพ้คาบ้านถึง 1-7 อีกด้วย
ในขณะที่ผลงานระดับสโมสร ก็ไม่ต่างกัน นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็น ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก สโมสรจากฮังการี เพิ่งจะมีโอกาสได้เข้ามาเล่นในรายการนี้เพียงแค่ 2 ครั้ง และไม่เคยไปได้ไกลกว่ารอบแบ่งกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ฮังการี ก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขากำลังพยายามที่จะฟื้นฟูฟุตบอลของตัวเองกลับมา และมันก็เริ่มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น
พวกเขามีนักเตะทีมชาติหลายคน กระจายตัวเล่นอยู่ในลีกดังของยุโรป ทั้งในอดีตอย่าง บาลาส ดูแซค ที่เคยเล่นให้พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ของเนเธอร์แลนด์ หรือ โซลตาน เกรา ที่เคยเล่นให้ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ในพรีเมียร์ลีก หรือ ปีเตอร์ กุลาสซี, อดัม ซาซาไล หรือ อดัม ซัลไล ที่ปัจจุบันเล่นอยู่ในบุนเดสลีกา
ในขณะที่ทีมเยาวชน ก็มีพัฒนาการขึ้น เมื่อทีมชาติฮังการีชุดอายุไม่เกิน 20 ปี สามารถไปไกลถึงอันดับ 3 ในฟุตบอลเยาวชนโลกเมื่อปี 2009 ในขณะที่ทีมชาติชุดใหญ่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลยูโร 2016 รอบสุดท้าย และเข้าไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังไม่เคยได้เล่นในรายการนี้มาตั้งแต่ปี 1972
Photo : hungarytoday.hu
ล่าสุด ฮังการี กำลังมีลุ้นผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลยูโร รอบสุดท้ายเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน หลังรั้งอยู่ในอันดับ 2 ของตาราง โดยมีแต้มตามหลังโครเอเชียจ่าฝูงแค่ 2 คะแนน และเหลือการแข่งขันอีกเพียงนัดเดียว
สิ่งนี้แสดงให้เห็นความพยายามที่จะกลับมาของฮังการี แม้มันอาจจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนสมัย “ไมท์ตี แม็กยาร์ส์” แต่มันคือการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจะไม่ยอมเป็นเพียงไม้ประดับอีกต่อไปแล้ว ซึ่งก็ต้องรอลุ้นว่าพวกเขาจะกลับมาได้แค่ไหนต่อจากนี้