แชมป์นี้มีที่มา : วงการมวยปล้ำหาแชมป์อย่างไร ในเมื่อผลการแข่งขันถูกกำหนดล่วงหน้า?
กีฬามวยปล้ำ คือกีฬาที่มีเอกลักษณ์แตกต่าง จากกีฬาทั่วไป คำจำกัดความในฐานะกีฬาเพื่อความบันเทิง หรือ Sport Entertainment (สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์) ทำให้ปัจจัยบางอย่างถูกสร้าง เพื่อให้มวยปล้ำ สามารถสร้างความบันเทิงในแบบฉบับของตัวเองได้ดีที่สุด
การมีบทบาท สคริปต์กำหนดผลแพ้ชนะ เป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญ ที่ใช้สร้างเนื้อเรื่อง สร้างความสนุกให้กับกีฬามวยปล้ำ และสิ่งที่เป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของการต่อสู้ระหว่างนักมวยปล้ำ คือ เข็มขัดแชมป์
แต่มวยปล้ำ มีการวางบทบาทให้นักมวยปล้ำเอาไว้ หมายความว่าแชมป์ทุกคน คือคนที่ถูกเลือกจากสมาคม และพวกเขารู้ล่วงหน้า ก่อนที่จะขึ้นสังเวียนแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการมอบแชมป์ ให้กับนักมวยปล้ำแต่ละคน จะถูกคิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลอะไร แต่ทุกอย่างล้วนมีเหตุมีผลในการกระทำ และถูกคิดมาอย่างดีกับการสร้างแชมเปียนสักคนในโลกมวยปล้ำ
Best for Business
วงการกีฬา การแข่งขันเพื่อคว้าตำแหน่งแชมป์ คือ แรงบันดาลใจที่ทำให้นักกีฬาแทบทุกคน ตั้งใจทำงาน ต่อสู้ฟันฝ่า อุปสรรคเพื่อไปถึงตำแหน่งแชมป์ และเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง มักจะมีคำกล่าวที่ว่า “ทีมหรือคนที่ดีที่สุด คือ ผู้ชนะ”
Photo : www.sickchirpse.com
ไม่เว้นแม้แต่กีฬามวยปล้ำ นักมวยปล้ำที่ดีที่สุด คือ คนที่จะได้เป็นแชมป์ แต่คำว่า “ดี” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง นักมวยปล้ำที่ปล้ำดีที่สุด หรือปล้ำเก่งมากที่สุดในความเป็นจริง ... เพราะนักมวยปล้ำที่ดี ที่จะได้เป็นแชมป์ คือนักมวยปล้ำ ที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับธุรกิจได้ดีที่สุด
“มวยปล้ำคือธุรกิจครับ พื้นฐานของวงการนี้คือธุรกิจ ดังนั้นสมาคมมวยปล้ำต้องการสร้างผลประโยชน์ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งแชมป์โลกเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับค่ายได้ในระยะยาว”
“ทุกสมาคมเป็นเหมือนกันหมด นักมวยปล้ำที่ได้แชมป์ คือนักมวยปล้ำที่ขายได้ คือนักมวยปล้ำที่ดีที่สุด สำหรับธุรกิจ เหมือนอย่างที่ ทริปเปิล เอช (Triple H) เคยบอกเอาไว้ เป็นแบบนั้นเลย” ปูมิ - ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายมวยปล้ำ SETUP Thailand Pro Wrestling ที่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับ WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับ 1 ของโลก กล่าวกับ Main Stand
“ขายได้” คือคำจัดความง่ายๆ ของคนที่เป็นแชมป์ ในวงการมวยปล้ำ นักมวยปล้ำคนไหน สามารถเรียกความนิยมของแฟนมวยปล้ำ จนทำให้สินค้าของตัวเองขายดิบขายดี เป็นนักมวยปล้ำตัวแม่เหล็ก ดึงดูดให้แฟนมวยปล้ำซื้อตั๋วเข้ามาชมมวยปล้ำ โอกาสการเป็นแชมป์โลกของนักมวยปล้ำ ก็อยู่เพียงแค่เอื้อม เพราะแฟนมวยปล้ำ ล้วนอยากเห็นนักมวยปล้ำคนโปรด ยืนชูเข็มขัดแชมป์ในฐานะผู้ชนะ หลังเสียงระฆังจบแมทช์ดังขึ้น
Photo : insidepulse.com
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ฮองค์ โฮแกน (Hulk Hogan) ในยุค 80’s ตอนปลาย ครั้งหนึ่ง เขาเคยครองแชมป์โลก WWE เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 4 ปี เพราะในเวลานั้น เขาคือนักมวยปล้ำที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด
ด้วยคาแรคเตอร์ อเมริกัน ฮีโร่ คอยต่อสู้กับนักมวยปล้ำ ที่รับบทบาทเป็นฝ่ายอธรรมต่างชาติ ท่ามกลางบรรยากาศยุคสงครามเย็น ทำให้โฮแกนมีแฟนคอยติดตามจำนวนมาก เพราะเขาสามารถเข้าถึงบทบาทที่ตัวเองได้รับ และเรียกแฟนให้มาเข้าชมโชว์ที่เขาเป็นคู่เอก ในฐานะแชมป์โลก ได้มากกว่า 90,000 คน จนหลายสื่อมวยปล้ำ ยกให้ชายคนนี้เป็นผู้เปิดยุคทองให้กับ WWE ที่สืบเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
นักมวยปล้ำชื่อดังแทบทุกคน ที่มีแฟนมวยปล้ำอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ดิ อันเดอร์เทคเกอร์ (The Undertaker), ชอว์น ไมเคิลส์ (Shawn Michaels), เดอะ ร็อค (The Rock), จอห์น ซีนา (John Cena) หรือ ซีเอ็ม พังค์ (CM Punk) ล้วนผ่านการสัมผัสแชมป์โลก มาแล้วทั้งสิ้น คนละหลายสมัย เพราะด้วยชื่อเสียงของนักมวยปล้ำแต่ละคน เป็นไปไม่ได้ ที่สมาคมมวยปล้ำ จะไม่มอบเข็มขัดแชมป์ ให้กับนักมวยปล้ำ ที่ขายสินค้าดีเป็นเทน้ำเทท่า แบบนักมวยปล้ำเหล่านี้
Photo : www.sportskeeda.com
หรือแม้แต่ โรมัน เรนจ์ส (Roman Reigns) ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำที่ฝีมือการปล้ำไม่ดีนัก จนทำให้มีแฟนมวยปล้ำจำนวนไม่น้อยต่อต้านเขา แต่กลับได้รับการผลักดันเป็นแชมป์โลกหลายสมัย
เพราะสินค้าของโรมัน เรนจ์ ติดอันดับสินค้าขายดีของทาง WWE อยู่เสมอ และในปี 2018 มีการเปิดเผยว่า สินค้าของเรนจ์ส ขายดีเป็นอันดับ 2 ของสมาคมเลยทีเดียว
บางครั้งตำแหน่งแชมป์ สามารถใช้เพื่อเปิดตลาดทางการค้าด้วยเช่นเดียวกัน ดังเช่นการที่ WWE มอบเข็มขัดแชมป์โลก ให้กับ เดอะ เกรท คาลี (The Great Khali) หรือ จินเดอร์ มาฮาล (Jinder Mahal) สองนักมวยปล้ำเชื้อสายอินเดีย เพื่อหวังเปิดตลาดมวยปล้ำในประเทศอินเดีย
ในทางกลับกัน สมาคมมวยปล้ำจากญี่ปุ่น ในหลายครั้งได้เลือกมอบตำแหน่งแชมป์ ให้กับนักมวยปล้ำจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะต้องใช้เข็มขัดแชมป์ ดึงดูดแฟนให้เข้ามาติดตามมวยปล้ำของสมาคม
หน้าตาของสมาคม
ไม่ได้หมายความว่า นักมวยปล้ำที่ขายของดีทุกคน จะได้เป็นแชมป์โลก ฟินน์ บาเลอร์ (Finn Balor) นักมวยปล้ำที่สินค้าขายดีเป็นอันดับ 3 ในปี 2018 ของ WWE ไม่ได้ถือเข็มขัดแชมป์โลก มาตั้งแต่ปี 2016
Photo : www.sportskeeda.com
รวมถึง บรอน สโตรวแมน (Braun Strowman) นักมวยปล้ำที่ขายสินค้าดี เป็นอันดับ 5 ในปี 2018 ไม่เคยถือเข็มขัดแชมป์เดี่ยวอย่างเป็นทางการแม้แต่เส้นเดียว นับตั้งแต่ปล้ำให้กับ WWE เพราะมีบางสิ่งที่ทาง WWE ต้องการนำเสนอออกไป และไม่มีอยู่ในตัวนักมวยปล้ำสองคนนี้
“ภาพลักษณ์มีผลต่อการผลักดันนักมวยปล้ำ ถ้าสมาคมต้องการให้ภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นแบบไหน ก็อาจจะเลือกผลักดัน นักมวยปล้ำในลักษณะนั้น”
“คนที่เป็นแชมป์ คือคนที่เป็นหน้าตาของสมาคม ผู้คนจะมองว่าสมาคมมวยปล้ำนี้เป็นแบบไหน ผ่านแชมป์ คนที่เป็นแชมป์ จะกลายเป็นภาพจำของสมาคม” ปูมิ กล่าว
ฟินน์ บาเลอร์ เป็นนักมวยปล้ำ ที่ขายฝีมือเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกัน WWE กลับเลือกผลักดัน เซธ โรลลินส์ (Seth Rollins) และ เอเจ สไตล์ส (AJ Styles) สองนักมวยปล้ำที่ขายฝีมือแบบเดียวกับบาเลอร์ และมียอดขายสินค้าที่ดีเช่นกัน เพราะนักมวยปล้ำทั้งสองตอบโจทย์ ในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดี ให้กับ WWE มากกว่า
Photo : www.thewrestlepost.com
หรือ บรอน สโตรวแมน ที่มาในสายนักมวยปล้ำจอมพลัง ทาง WWE มีตัวเลือกที่ดีกว่า อย่าง โรมัน เรนจ์ส และ บร็อค เลสเนอร์ ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าสโตรวแมน
“ผมยกตัวอย่างค่าย สตาร์ดอม (Stardom) ย้อนไปตอนปี 2015 เกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายจริง บนสังเวียนมวยปล้ำ ทำให้ภาพลักษณ์ของสมาคมดูแย่มาก”
“สุดท้ายค่ายต้องเลือกแชมป์ของสมาคม ให้เป็น ไคริ โฮโจ (Kairi Hojo : ปัจจุบันปล้ำอยู่กับ WWE ในชื่อ ไคริ เซน (Kairi Sane)) เพราะไคริ มีภาพลักษณ์ดี เป็นนักมวยปล้ำธรรมะ น่ารักสดใส” ปรัชญ์ภูมิ ให้ข้อมูลกับ Main Stand
หากมองย้อนดู นักมวยปล้ำที่เป็นแชมป์ระดับแนวหน้า ของสมาคม WWE หลายคนจะตอบโจทย์ภาพลักษณ์ ที่ทางสมาคม มีความต้องการนำเสนอในเวลานั้น
ไม่ว่าจะเป็น ฮองค์ โฮแกน กับมวยปล้ำในยุคสงครามเย็น, ชอว์น ไมเคิลส์ และ เบรท ฮาร์ท (Bret Hart) กับการเป็นแชมป์โลกที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในยุค 90’s, สโตน โคล สตีฟ ออสติน (Stone Cold Steve Austin) และ เดอะ ร็อค รวมถึง ทริปเปิล เอช กับยุคที่มวยปล้ำเต็มไปด้วยความรุนแรง หยาบคาย มาจนถึง จอห์น ซีนา กับยุคที่มวยปล้ำ เป็นกีฬาเพื่อเยาวชน
ผลตอบแทนของคนทำงานหนัก
“มวยปล้ำคือการแสดง” คนส่วนใหญ่เข้าใจเข้าใจกีฬาชนิดนี้ ด้วยนิยามคำนี้ ... ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเข้าใจแบบนั้น มวยปล้ำมีบทบาทให้นักมวยปล้ำต้องเล่นตาม แสดงท่าทางให้เข้ากับบทบาท มีบทพูดที่เตรียมไว้ ผลการแข่งขันที่กำหนดล่วงหน้า
Photo : wrestlingnews.co
แต่มวยปล้ำ ไม่ต่างกับกีฬาชนิดอื่น ยามนักมวยปล้ำต่อสู้กัน อาการบาดเจ็บที่พวกเขาได้รับคือของจริง เวลานักมวยปล้ำถูกจับฟาดกับพื้น พวกเขาเจ็บปวดจริงๆ นักมวยปล้ำหลายคนต่อสู้บนเวที ด้วยหัวใจ บางคนได้รับบาดเจ็บต้องพักยาวจากการปล้ำ หลายคนต้องเลิกปล้ำเพราะอาการบาดเจ็บ บางคนเสียชีวิตบนเวทีมวยปล้ำ ที่ถูกเรียกว่าการแสดงก็มีมาแล้ว
“บางคนอาจจะบอกว่า ‘คุณแค่แสดง คุณจะภูมิใจอะไร’ นักมวยปล้ำจะโดนอะไรแบบนี้บ่อยๆ แต่ผมมองว่า นักมวยปล้ำก็เหมือนดาราภาพยนตร์ครับ ทุกคนมีบทบาทที่จะต้องเล่นให้ดี” ปรัชญ์ภูมิ แสดงความคิดเห็นส่วนตัว
ไม่ว่าคุณจะมองกีฬามวยปล้ำว่าอย่างไร ความเป็นจริงคือนักมวยปล้ำทุกคนตั้งใจทำงาน เพื่อสร้างความสุขให้กับคนดู เหมือนกับนักกีฬาอาชีพอื่น ซึ่งสำหรับวงการมวยปล้ำ นักมวยปล้ำหลายคนทุ่มเททำงานหนัก แม้จะได้รับบทบาทเป็นตัวประกอบ หรือตัวตลก
ถือเป็นเรื่องสำคัญในวงการมวยปล้ำ ที่ต้องมีนักมวยปล้ำไว้สร้างเสียงฮาให้กับแฟนมวยปล้ำ หรือมีนักมวยปล้ำที่ได้รับบทบาทไม่เก่งนัก หรือ “จ็อบเบอร์” (Jobber) เพื่อสร้างความสมดุลให้กับบทบาทในโลกมวยปล้ำ ... นักมวยปล้ำหลายคน รับบทบาทเป็นนักมวยปล้ำแบบนี้ โดยไม่ปริปากบ่น เข็มขัดแชมป์โลกเป็นได้แค่ความฝัน หากมองถึงบทบาทที่ตัวเองได้รับ แต่นักมวยปล้ำจำนวนไม่น้อย ตั้งใจทำงานต่อไป เพื่อความสุขของแฟนมวยปล้ำ
“มวยปล้ำคือธุรกิจก็จริง แต่ว่าบางครั้งเข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ คือผลตอบแทนที่ดีที่สุดของนักมวยปล้ำ บางครั้งนักมวยปล้ำที่ทำงานหนัก ก็ได้ขึ้นมาเป็นแชมป์ เพื่อบอกว่ามวยปล้ำไม่ได้มองเรื่องธุรกิจ จนมองข้ามความพยายามของคน”
Photo : www.sportskeeda.com
เราจึงได้เห็นนักมวยปล้ำระดับกลาง อย่าง มาร์ค เฮนรี (Mark Henry) และ โคฟี คิงสตัน (Kofi Kingston) คว้าแชมป์โลก หลังจากปล้ำอยู่กับสมาคม WWE ยาวนานเกิน 10 ปี เพื่อเป็นของตอบแทนการทำงานของนักมวยปล้ำทั้งสอง ที่ทุ่มเททำงานหนักมาตลอด
หรือนักมวยปล้ำอย่าง เคน (Kane) ที่ได้แชมป์โลกครั้งแรกในปี 1998 หลังจากนั้นไม่เคยได้แชมป์โลกอีกเลย จนกระทั่งปี 2009 ทาง WWE ตัดสินใจมอบแชมป์โลกให้กับเคน เพื่อเป็นของรางวัลแก่การทำงานหนัก ของนักมวยปล้ำรายนี้
“บางสมาคมที่ญี่ปุ่น เขาจะไม่ชมนักมวยปล้ำเด็ดขาด แม้ทำงานหนัก เพราะกลัวนักมวยปล้ำจะได้ใจ แต่เมื่อถึงเวลา เขาจะเดินไปบอกว่า ‘คุณทำงานได้ดีมาก คุณจะได้เป็นแชมป์คนต่อไป’”
“ผมมองว่าเข็มขัดแชมป์ คือสิ่งที่บอกนักมวยปล้ำคนนั้นว่า การทำงานของเขาที่ผ่านมา มีความหมายมากแค่ไหน ต่อสมาคม” ปรัชญ์ภูมิกล่าว จากประสบการณ์ที่ตัวเขาเคยร่วมงานกับนักมวยปล้ำญี่ปุ่นหลายคน ตอนเป็นผู้จัดการของสมาคม Gatoh Move Thailand
สำหรับมวยปล้ำญี่ปุ่น สมาคม ดรากอน เกต (Dragon Gate) ดูเป็นตัวอย่างที่ดีไม่น้อย ... นารุกิ ดอย (Naruki Doi) คือนักมวยปล้ำ ที่คว้าเข็มขัดเส้นใหญ่ของสมาคม โอเพน เดอะ ดรีม เกต (Open the Dream Gate) ได้ครั้งแรกในปี 2008
แต่หลังจากนั้น เขาไม่เคยได้แตะเข็มขัดเส้นนี้อีกเลย เป็นเวลา 11 ปี จนกระทั่งในปี 2019 ที่เขาคว้าเข็มขัดเส้นนี้มาครองได้อีกครั้ง โดยเมื่อเจ้าตัวได้ถือเข็มขัดแชมป์ เขาถึงกับร้องไห้ออกมาบนเวที
Photo : www.voicesofwrestling.com
ทั้งที่ ดอย รู้ก่อนปล้ำแล้วว่า เขาจะต้องเป็นแชมป์หลังจบแมทช์นี้ แต่น้ำตาที่ไหลออกมา ไม่ได้มาจากความดีใจจากการเป็นแชมป์ แต่มาจากความดีใจที่เขารู้ว่า ตลอด 11 ปีที่เขาทำงานหนัก ทุกอย่างไม่ได้เสียเปล่าแต่อย่างใด
“เข็มขัดมวยปล้ำ คือสิ่งที่มีค่าที่สุดในวงการมวยปล้ำ เป็นสิ่งที่ทำให้นักมวยปล้ำ ตั้งใจแข่งขันกันทำงานอย่างหนัก เพื่อที่จะได้เข็มขัดแชมป์มาครอบครอง” ปูมิ สรุปถึงความหมายของเข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ
“ในความเป็นจริง คนที่เป็นแชมป์คือคนที่ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ต้องออกสื่อ ต้องพบปะกับแฟนๆ เป็นเหมือนกระบอกเสียงของสมาคม นักมวยปล้ำบางคน ไม่สามารถขึ้นมาเป็นแชมป์โลกได้ เพราะเขาไม่สามารถรับหน้าที่นอกสนาม ที่ต้องทำงานอย่างหนัก นอกจากการปล้ำมวยปล้ำ”
ถึงจะเป็นการแข่งขันที่มีการกำหนดผลการแข่งขันไว้ล่วงหน้า แต่เข็มขัดมวยปล้ำคือสิ่งที่มีความหมายต่อนักมวยปล้ำทุกคน เพราะพวกเขาต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งในและนอกสนาม พยายามสร้างแฟนคลับ ทำงานให้สมาคมเห็นคุณค่า เพื่อให้ได้สิ่งตอบแทนที่ดีกลับมา
มวยปล้ำมุมหนึ่งคือการแสดง แต่ความตั้งใจในการทำงาน ของนักมวยปล้ำทุกคนคือของจริง และแฟนมวยปล้ำ ล้วนต้องการเห็นนักมวยปล้ำที่ตัวเองชื่นชอบ ได้ถือเข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ ต่อให้มีการกำหนดผลการเเข่งขันเอาไว้ แต่ทุกครั้งที่นักมวยปล้ำคว้าเข็มขัดแชมป์ ชูเข็มขัดขึ้นเหนือศีรษะ ความดีใจหรือเสียใจของแฟนมวยปล้ำ คือความรู้สึกจริงกับแฟนมวยปล้ำทุกคน ที่ร่วมแสดงออกไปกับกีฬาชนิดนี้