จุดกำเนิด "เอคิเด็น" เทศกาลวิ่งผลัดใหญ่ญี่ปุ่นสู่วัฒนธรรมป๊อปและรองเท้ารุ่นใหม่ไนกี้

จุดกำเนิด "เอคิเด็น" เทศกาลวิ่งผลัดใหญ่ญี่ปุ่นสู่วัฒนธรรมป๊อปและรองเท้ารุ่นใหม่ไนกี้

จุดกำเนิด "เอคิเด็น" เทศกาลวิ่งผลัดใหญ่ญี่ปุ่นสู่วัฒนธรรมป๊อปและรองเท้ารุ่นใหม่ไนกี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วางจำหน่ายทั่วโลกอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา สำหรับ Nike Ekiden Zoom Pack ซีรีส์รองเท้ารุ่นล่าสุดของไนกี้ ที่เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

รองเท้ารุ่นดังกล่าวเป็นการนำรองเท้าวิ่งตระกูล Nike Zoom 5 รุ่น ที่มีคุณสมบัติเบา และคงทน เหมาะกับการวิ่งระยะไกล มาดัดแปลง เปลี่ยนสีใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “เอคิเด็น” เทศกาลวิ่งผลัดมาราธอนครั้งใหญ่ของชาวอาทิตย์อุทัย 

รายการนี้มีความสำคัญอย่างไร? ทำไม Nike ถึงกับออกรุ่นพิเศษให้? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

การแข่งวิ่งอายุกว่า 100 ปี 

“เอคิเด็น” อาจจะไม่ใช่การแข่งขันวิ่งระยะไกลที่คุ้นหูสำหรับชาวไทย เทียบเท่ากับ “ลอนดอน มาราธอน”, “บอสตัน มาราธอน” หรือ “โตเกียว มาราธอน” แต่สำหรับคนญี่ปุ่น มันคือรายการวิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขา และมีอายุยาวนานมากว่า 100 ปี 


Photo : pop-japan.com

จุดกำเนิดความยิ่งใหญ่ของมัน อาจต้องย้อนกลับไปถึงปี 1912 เมื่อ ชิโสะ คานาคุริ นักวิ่งมาราธอนญี่ปุ่น ได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 5 ที่ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในตอนนั้นเขาได้เป็นตัวแทนของชาวอาทิตย์อุทัย เนื่องจากทำลายสถิติสถิติโลกมาราธอนด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 32 นาที กับอีก 45 วินาที 

แม้ว่าตัวเขาจะตั้งเป้าถึงเหรียญทอง แต่เวทีระดับโลกกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากความเหนื่อยล้าที่ต้องใช้เวลาเดินทางยาวนานกว่า 18 วันจากญี่ปุ่นถึงสวีเดน อีกทั้งยังมีปัญหาท้องไส้กับอาหารท้องถิ่น บวกกับอุณหภูมิที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้ คานาคุริ หมดสติอยู่กลางทาง ก่อนจะถูกช่วยโดยเกษตรกรท้องถิ่น และแน่นอนว่าไม่ผ่านการตัดตัวเข้าไปถึงรอบชิงเหรียญ

โอลิมปิกครั้งนั้น ทำให้ คานาคุริ รู้ดีว่าญี่ปุ่นยังห่างชั้นกับระดับโลกมากแค่ไหน จริงอยู่แม้ว่าเขาจะพบกับอุปสรรคมากมาย แต่สำหรับวิถีซามูไร มันไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้าง เขาพยายามคิดหาวิธีที่ช่วยพัฒนานักวิ่งญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งขึ้น 

จนกระทั่งในปี 1917 ในวาระฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งโตเกียวเป็นเมืองหลวง ได้มีจัดการแข่งขันวิ่งผลัดระยะไกลขึ้น ซึ่งเป็นเส้นทางจาก โตเกียว ไป เกียวโต ระยะทางรวมทั้งสิ้น 507 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งทั้งหมด 3 วัน แบ่งเป็น 23 สเตจ และใช้สายสะพายหรือ ทาสุกิ (Tasuki) แทนไม้ผลัด โดยหนังสือพิมพ์โยมิอุริ สปอนเซอร์จัดการแข่งขันในตอนนั้นได้ตั้งชื่อมันว่า “เอคิเด็น” 

อันที่จริงคำว่า เอคิเด็น เป็นการเอาคันจิสองตัวมารวมกัน นั่นคือคำว่า สถานี (eki) และ ส่งต่อ (den) โดยมีที่มาจากเส้นทางของการแข่งขันในครั้งนี้ ที่เป็นทางสายโทไคโด ทางสายโบราณที่เชื่อมระหว่าง เกียวโต และ เอโดะ (โตเกียว) ซึ่งตามรายทางจะมีสถานีเพื่อหยุดพักหรือเปลี่ยนม้าสำหรับคนส่งสารในอดีต


Photo : www.thevintagenews.com

แน่นอนว่า คานาคุริ ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแข่งขันเอคิเด็นในครั้งนั้น ด้วยประสบการณ์ในโอลิมปิก เขาก็คิดออกว่าการแข่งวิ่งระยะไกลนี่แหละที่จะสามารถช่วยพัฒนานักวิ่งญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ ได้ ทำให้อีก 3 ปีต่อมา เขาได้จัดการแข่งขัน ฮาโคเน เอคิเด็น ขึ้น

มันเป็นการวิ่งผลัดระยะไกลของนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่จัดขึ้นในวันที่ 2-3 มกราคม โดยมีเส้นทางจาก โตเกียว ไป ฮาโคเน เมืองพักตากอากาศที่ตั้งอยู่ในจังหวัดคานางาวะ ซึ่งมีระยะทางไป 107.5 กิโลเมตร และกลับ 109.6 กิโลเมตร รวม 217.1 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่ง 2 วัน แบ่งเป็นวันละ 5 สเตจ ไปกลับรวม 10 สเตจ และใช้นักวิ่งทั้งหมดทีมละ 10 คน 

ก่อนที่มันจะเป็นหนึ่งในการแข่งขันวิ่งระยะไกลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น 

 

รายการสุดโหดหิน

แม้ว่าการแข่งขัน ฮาโคเน เอคิเด็น ครั้งแรกในปี 1920 จะมีทีมจากมหาวิทยาลัยฝั่งคันโต (ตะวันออกของญี่ปุ่น) เข้าร่วมเพียง 4 สถาบัน แต่หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี มันก็กลายเป็นมหกรรมกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ 


Photo : imgur.com

หลังจากเอคิเด็นครั้งแรกถือกำเนิดในปี 1917 การแข่งขันเอคิเด็น ก็เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่น และเริ่มมีการแข่งขันลักษณะนี้มากมาย ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ไปจนถึงระดับบริษัท แต่ ฮาโคเน เอคิเด็น ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

ด้วยการแข่งขันที่จัดขึ้นในช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาวที่คนไม่อยากออกไปไหน เพราะอากาศหนาว ทำให้มันกลายเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงสำหรับผู้ชมในช่วงนั้น และมีเรตติ้งที่สูงมากเป็นประจำทุกปี 

บวกกับเงื่อนไขที่ค่อนข้างยาก ซึ่งแต่ละปีจะมีเพียง 20 มหาวิทยาลัยที่ได้เข้าร่วม (ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยอยู่ราว 780 มหาวิทยาลัย) โดยเลือกจาก 10 ทีมที่ทำอันดับได้ดีที่สุดจากปีก่อน และอีก 9 ทีมจากรอบคัดเลือก ส่วนอีกทีมเป็นทีมรวมดารานักวิ่งที่ทำเวลาดีที่สุดจากสถาบันไม่ผ่านเข้ารอบ 

ทำให้ ฮาโคเน เอคิเด็น เป็นการแข่งขันที่นักวิ่งหลายคนอยากมาร่วมวิ่งให้ได้สักครั้งในชีวิต เปรียบได้เหมือน “โคชิเอ็งของนักวิ่ง” เลยทีเดียว 

“ผู้คนจะเอาแต่ถามถึงฮาโคเน อิทธิพลของมัน (การแข่งขัน) เทียบกับอันอื่นไม่ได้เลย” เรียวเฮอิ ซาคางุจิ นักวิ่งจากมหาวิทยาลัยโทไคกล่าวกับ Japan Times 

“แม้จะมีการแข่งขันที่อิสุโมะ และทั่วประเทศ แต่ถึงคุณจะแพ้ที่นั่น ถ้าชนะที่ฮาโคเน มันชดเชยได้หมด” 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเอคิเด็นจะเป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชม แต่ในมุมนักวิ่งมันคือความท้าทายที่โหดหินไม่น้อย โดยเฉพาะ ฮาโคเน เอคิเด็น ที่ต้องวิ่งท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเหน็บในเดือนมกราคม แถมมีบางช่วงต้องขึ้นและลงเขา

ยิ่งกว่านั้นในอดีต มันยังเป็นการแข่งวิ่งที่ไม่มีน้ำแจกระหว่างทาง หรือแม้แต่ปัจจุบัน ก็มีการแจกน้ำเพียงครั้งเดียวระหว่างเส้นทางในแต่ละสถานี ซึ่งเป็นช่วงระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จากทั้งหมดราว 20 กิโลเมตร ต่างจากมาราธอน ที่มีน้ำแจกทุกๆ 5 กิโลเมตร 


Photo : ichiharaac.blog.fc2.com

“มันก็แค่ 20 กิโลเมตร พวกเขาไม่ต้องการน้ำหรอก” โทชิฮิโกะ เซโกะ นักวิ่งมาราธอนในตำนานของญี่ปุ่น ที่เคยคว้าแชมป์ บอสตัน มาราธอน 2 สมัย และเคยเป็นโค้ชให้ทีมเอคิเด็นของบริษัทกล่าวกับ LA Times

เรื่องดังกล่าวทำให้นักวิ่งหลายคนต้องป่วยเป็นไข้ระหว่างการแข่งขัน หรือบางคนถึงกับเป็นลมล้มพับด้วยภาวะขาดน้ำ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมแพ้ เนื่องจากมันยังมีกฎสุดโหดตามมาอีกว่า หากนักวิ่งคนใดวิ่งไม่ไหว หรือวิ่งได้ไม่ครบช่วงของตัวเอง พวกเขาจะโดนปรับแพ้ทั้งทีมโดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งยังถูกตัดสิทธิ์สำหรับการแข่งขันในปีต่อไปอีกด้วย 

นั่นจึงทำให้แต่ละปี บ่อยครั้งที่มักจะมีภาพนักวิ่งล้มพับเมื่อถึงเส้นชัย กระเสือกกระสน หรือถึงขั้นคลานเพื่อส่งมอบสายสะพายให้กับนักวิ่งคนต่อไป 

ทั้งที่เป็นกีฬาสุดโหดขนาดนี้ แต่เหตุใดมันถึงได้รับความนิยม? 

 

คุณค่าของความเป็นญี่ปุ่น 

“มันเป็นความหมายของชีวิตด้วยตัวมันเอง” เคนจิ อาซาอิ คนงานวัย 58 ปีของบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวกับ LA Times 

“แม้ว่าคุณจะชนะในช่วงของคุณ แต่มันก็ไม่มีความหมาย คุณต้องทำงานเป็นทีมและเชื่อใจคนอื่น คุณต้องส่งบางอย่าง (ทาสุกิ) ให้คนอื่นเพื่อเข้าถึงเส้นชัย” 

“มันเป็นความลึกซึ้ง ฉันได้เห็นความยอดเยี่ยมของพลังของมนุษย์และความปรารถนาผ่านเอคิเด็น” โยโกะ ภรรยาของเขากล่าวเสริม 


Photo : www.sponichi.co.jp

ด้วยความที่ เอคิเด็น เป็นการแข่งขันที่เน้นการทำงานเป็นทีม เพราะถึงแม้ว่าทีมจะมีนักวิ่งที่เก่งกาจ หรือยอดเยี่ยมเพียงใด มันก็ไม่สามารถการันตีชัยชนะได้ ทำให้มันเป็นกีฬาที่ตอบโจทย์คุณค่าของชาวญี่ปุ่น 

พวกเขาถือเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับความสามัคคี ซึ่ง เอคิเด็น ก็มีสิ่งนี้อย่างเต็มเปี่ยม ที่ทำให้มันกลายเป็นกีฬาที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบ และคอยติดตามชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์นับล้านคนเป็นประจำทุกปี 

“มันเป็นกีฬาที่ชอบได้ง่าย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้คนถึงหลงรักกีฬานี้” แฟนเอคิเด็นวัยกลางคนกล่าวกับ NHK 

“มันเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความสามัคคี ที่เป็นจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น” 

ในขณะเดียวกัน มันยังเป็นการแข่งขันที่ต้องอาศัยจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพราะในระหว่างการแข่งขัน หากนักวิ่งวิ่งไม่ไหว หรือแข่งไม่จบเพียงแค่คนเดียว ก็จะทำให้ทีมแพ้ แถมยังถูกตัดสิทธิ์ในปีต่อไป 

ดังนั้น ทาสุกิ ที่นักวิ่งกำลังคล้องคอ จึงไม่ใช่แค่สายสะพายธรรมดา แต่คือความหวังของคนรุ่นก่อน และความกดดันของความสำเร็จในอดีตที่ต้องแบกเอาไว้ ที่ทำให้นักวิ่งหลายคนยอมเสียสละตัวเอง วิ่งจนสุดแรง หรือแม้ได้รับบาดเจ็บก็จะไม่ยอมแพ้ เพื่อส่งต่อให้กับคนต่อไป 


Photo : sei.co.jp

“เพราะว่าสถาบันของผมมีประเพณีที่ยาวนานและแฟนมากมาย รวมไปถึงศิษย์เก่ากำลังเชียร์เรา ผมถึงรู้สึกถึงความสำคัญของทาสุกิ” มาโคโตะ ยานาบะ นักวิ่งจากมหาวิทยาลัยวาเซดะกล่าวกับ LA Times 

“ดังนั้น ผมจึงไม่หยุดวิ่ง แม้ว่าผมจะตาย” 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ในรายการ Princess Ekiden ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับบริษัทที่ เรอิ อิอิดะ นักวิ่งสาวจากทีมอิวาทานิ ต้องคลานเข่าเป็นระยะทางกว่า 200 เมตร เพื่อส่งสายสะพายให้กับเพื่อนร่วมทีม หลังเธอได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าอย่างหนักจนวิ่งไม่ไหว 

ฝ่ายจัดการแข่งขันยืนยันว่าพยายามจะหยุดเธอ แต่ตอนที่ได้รับรายงานเธออยู่ใกล้เส้นชัยแล้ว อีกทั้งตัวเธอเองก็ปฏิเสธที่จะยอมแพ้ โดยเพียงแค่ถามว่าอีกกี่เมตรถึงจะถึง ทำให้พวกเขายอมให้เธอไปถึงเส้นชัยด้วยสภาพนั้น 

อิอิดะถูกนำส่งโรงพยาบาลทันที ก่อนที่หมอจะวินิจฉัยว่าต้องพักรักษาตัวถึง 4 เดือน แต่เธอก็ยืนยันว่านี่คือการตัดสินใจของเธอเอง และขอโทษเพื่อนร่วมทีมทำผลงานได้ไม่ดี 

“น้ำหนักของสายสะพายนั้นหนักมากๆ” อัตสึชิ มิยาชิตะ นักธุรกิจวัย 30 ปีที่ไปชมการแข่งขันถึงฮาโคเนเป็นประจำทุกปีตั้งแต่เด็กๆ กล่าวกับ New York Times 

“มันเชื่อมโยงนักวิ่งที่เคยวิ่งมาก่อนไว้ด้วยกัน การแข่งขันจึงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง”

นอกจากนี้ ด้วยความที่ เอคิเด็น เป็นการแข่งขันที่รวมจิตวิญญาณของซามูไรไว้ด้วยกัน บวกกับความรู้สึกถึงความพยายามอย่างหนักตั้งแต่การฝึกซ้อมและการลงแข่ง จึงทำให้มันกลายเป็นการแข่งขันที่ได้รับการยกย่องสำหรับชาวญี่ปุ่น 

“ชาวญี่ปุ่นบ่มเพาะปรัชญาของศิลปะการต่อสู้ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากแนวคิดแบบเซ็นของซามูไร มันส่งไปถึงกีฬาต่างประเทศที่ถูกนำเข้ามา ปรัชญาที่เน้นการฝึกฝนไม่รู้จบ การอุทิศตัว การพัฒนาจิตวิญญาณ การเชื่อฟังคำสั่ง และการเสียสละประโยชน์ส่วนตน” โรเบิร์ต ไวต์ติง ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาของญี่ปุ่นกล่าวกับ LA Times 

“ความคิดได้ถูกสอนในบทเรียนสำคัญทั้งหมด ว่าชีวิตไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ” 

อย่างไรก็ดี แม้ส่วนใหญ่จะชื่นชม แต่บางครั้งมันก็ทำลายชีวิตนักวิ่งไม่รู้ตัว 

 

ด้านมืดของเอคิเด็น

แม้ว่า เอคิเด็น จะเป็นกีฬาที่เป็นเหมือนบททดสอบความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจ ที่นักวิ่งหลายคนภาคภูมิใจที่เคยร่วมลงแข่งในเวทีแห่งนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นฝันร้ายสำหรับคนที่วิ่งไม่จบ


Photo : www.yomiuri.co.jp

นักกีฬาที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ จนทำให้ทีมแพ้ หลายคนถูกการแข่งขันหลอกหลอนไปชั่วชีวิต บางทีพวกเขาอยากจะลืม แต่ความผิดพลาดเหล่านี้ยังถูกรายการทีวีขุดขึ้นมาเล่าซ้ำเพื่อเรียกกระแส ซึ่งมันโหดร้ายเกินกว่าหลายคนจะรับไหว 

ทาคาชิ ซูซูกิ คือหนึ่งในนั้น เขาเป็นนักวิ่งและร่วมลงแข่งในปี 1974 น่าเศร้าที่เขาล้มลงไม่กี่เมตรก่อนจบการแข่งขัน เขาพยายามเสือกตัวขึ้นมาวิ่งต่อ แต่ด้วยความเหนื่อยอ่อน ทำให้เขาเป็นลมก่อนถึงเส้นชัยแค่นิดเดียว 

“เป็นเพราะผม สายสะพายของ มหาวิทยาลัย อาโอยามะ กัคคุอิน จึงต้องเสื่อมเสีย” เขาย้อนความหลังในหนังสือ Enjoy Hakone Ekiden 10 Times More 

“มันเกิดขึ้นมากว่า 20 ปี แต่ 150 เมตรนั้นยังคงอยู่ในตัวผม” 

เช่นเดียวกับ ยูจิ นาคามูระ ที่ถูกโค้ชบังคับให้ถอนตัวในการแข่งขันในปี 1996 เนื่องจากวิ่งไม่ไหว เขายอมรับว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยคิดฆ่าตัวตาย เพื่อให้พ้นจากความรู้สึกผิดนี้ 

“ผมรู้สึกเศร้ามาก ผมรู้สึกเสียใจและช็อค เพราะว่าผมทำในสิ่งที่ผมไม่สามารถชดใช้ได้” นาคามูระระบายกับ LA Times 

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนญี่ปุ่น เพราะความกดดันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของพวกเขา ในอดีต โคอิจิ สึบุรายะ นักวิ่งมาราธอน ต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณชน หลังทำได้เพียงเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 1964

ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมา เขาจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลังได้รับบาดเจ็บที่หลัง ซึ่งอาจทำให้ทำผลงานได้ไม่ดีเท่าเดิมในโอลิมปิก 1968 โดยทิ้งจดหมายลาตาย ขอโทษที่ทำให้คนทั้งประเทศผิดหวัง 

โทชิฮิโกะ เซโกะ ที่เคยเป็นโค้ชเอคิเด็น มหาวิทยาลัยวาเซดะ กล่าวว่าความกดดันนี้ยิ่งรุนแรง หากนักวิ่งคนนั้นโดดเด่นเป็นพิเศษ เขาต้องแบกศักดิ์ศรีของสถาบัน และยิ่งมีคนตะโกนว่า “พยายามเข้า” (กัมบาเระ) ยิ่งทำให้เขาคนนั้นต้องพยายามยิ่งขึ้นไปอีก 

และเมื่อเขาทำผิดพลาด สิ่งนั้นจะฝังลึกลงในจิตใจ และกลายเป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตนักวิ่งของพวกเขาไปตลอด แม้กระทั่งจบการศึกษาออกไปทำงานแล้วก็ตาม 

“ผมยังคงเศร้า ผมแค่ลืมมันไม่ได้” ทาคาชิ อิโต ที่วิ่งไม่จบเพราะเป็นไข้เมื่อปี 2001 กล่าวกับ LA Times 


Photo : www.city.okazaki.lg.jp

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะถูกวิจารณ์อย่างหนัก สำหรับความโหดของ เอคิเด็น แต่ มันก็ยังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายสำหรับคนญี่ปุ่น และมีคนเฝ้ารอชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์เป็นประจำทุกปี 

“เพราะความกดดันมหาศาลแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มันน่าสนใจ นักศึกษามากมายอยากจะทลายความกดดันและประสบความสำเร็จ” นาคามูระ ที่ปัจจุบันกลับไปทำสวนที่บ้านเกิดกล่าว 

 

สู่วัฒนธรรมป๊อป

ความนิยมของ เอคิเด็น ทำให้มันถูกนำไปเขียนเป็นนิยายในชื่อ Run with the Wind ที่ตีพิมพ์ในปี 2006 เป็นเรื่องราวของ คาเครุ อดีตนักวิ่งระดับมัธยมฝีเท้าดี ที่ถูกชักชวนจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยฟอร์มทีมเพื่อเข้าแข่งขัน ฮาโคเน เอคิเด็น 


Photo : whatsnewonnetflix.com

ความสำเร็จนิยายเรื่องนี้ทำให้มันถูกนำไปเขียนเป็นมังงะ ในปี 2007 และสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงในปี 2009 และล่าสุดเพิ่งจะถูกสร้างเป็นอนิเมะความยาว 23 และออนแอร์จบไปเมื่อเดือนมีนาคม 2019 

นอกจากนี้ ความยิ่งใหญ่ของการแข่งขันรายการนี้ยังการันตีได้จากการที่ Nike ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดัง ออกรองเท้าซีรีส์พิเศษในชื่อ Nike Ekiden Zoom Pack โดยเปิดตัวครั้งแรกในช่วงปลายปี 2018 เพื่อรับกับการแข่งขันในปี 2019 กับลายขาวแดง อันมีที่มาจากธงชาติ “ฮิโนะมารุ” ของญี่ปุ่น โดยในตอนนั้นมี 5 รุ่น ประกอบด้วย Nike Zoom Vaporfly 4% Flyknit, Nike Zoom Fly SP, Nike Zoom Fly Flyknit, Nike Air Zoom Pegasus 35 และ Nike Air Zoom Speed Rival 6


Photo : bunshun.jp

และช่วงส่งท้ายปี 2019 สู่ปี 2020 Nike ก็ได้ออกรุ่นพิเศษเพื่อเอคิเด็นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยออกมาทั้งสิ้น 5 รุ่นเช่นกัน ประกอบด้วย Nike ZoomX Vaporfly NEXT% รองเท้าวิ่งตัวท็อป ทายาทของ Zoom Vaporfly 4% Flyknit รองเท้าวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุดในโลก (อย่างเป็นทางการ), Nike Zoom Fly 3 อีกหนึ่งรองเท้าวิ่งเน้นทำความเร็ว, Nike Zoom Pegaus Turbo 2 ที่ใช้เพื่อซ้อมทำความเร็ว, Nike Air Zoom Pegasus 36 อีกหนึ่งรองเท้าสำหรับการฝึกซ้อมที่เน้นความนุ่มสบาย และ Nike Zoom Rival Fly 2 ซึ่งเป็นอีกรุ่นที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับการฝึกซ้อม


Photo : www.tavtrilhos.com

ทั้ง 5 รุ่นมาในโทนสีฟ้าอมเขียวแซมส้ม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถไฟความเร็วสูง “ชินคันเซ็น” ของญี่ปุ่น โดยพื้นในของแทบทุกรุ่น จะมีโลโก้สื่อถึงทะเลสาบอาชิ กับภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งตั้งอยู่ในฮาโคเน แถมในรุ่น Zoom Fly 3 ยังมีการใส่ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับ ฮาโคเน เอคิเด็น ประกอบด้วย 10 คือ ผู้เข้าร่วมแข่งขันทีมละ 10 คน, 217.1 คือ ระยะทางรวมของการแข่งขัน หน่วยเป็นกิโลเมตร และ 1.2-3 2020 คือ วันที่จัดงานแข่งขันประจำปี 2020 ส่วนรุ่น ZoomX Vaporfly NEXT% ที่เป็นตัวท็อป จะแตกต่างกว่าตัวอื่นๆ เพราะนอกจากพื้นในที่ไม่เหมือนกันแล้ว รองเท้ายังมาในแบบ “ข้างละสี” อีกด้วย 


Photo : @HighP_LowJ

นิยาย, ภาพยนตร์, มังงะ, อนิเมะ หรือแม้แต่รองเท้า สะท้อนให้เห็นเสน่ห์และอิทธิพลของ เอคิเด็น ที่แม้ว่ามุมหนึ่งอาจจะดูโหดร้าย แต่ในอีกมุมหนึ่งมันคือความท้าทายตนเอง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงสอนให้เห็นคุณค่าของความพยายาม และการอุทิศตัวเพื่อคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการอยู่ร่วมกันของชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้พวกเขาเป็นพวกเขาอย่างทุกวันนี้ 

“ผมรู้สึกถึงแรงกระตุ้นเมื่อคนหนุ่มสาวพยายามอย่างหนักเพื่อส่งสายสะพายให้นักวิ่งคนต่อไป” โคจิ นารุมิ พนักงานบริษัทวัย 48 ปีที่ได้ชมเอคิเด็นครั้งแรกที่คาวาซากิ กล่าวกับ New York Times 

“มันเหมือนกับสมาชิกในครอบครัวกำลังช่วยเหลือกัน ผมคิดว่านี่คือเหตุผลที่ผู้คนชอบเอคิเด็น ไม่ใช่เฉพาะว่านักวิ่งเหล่านั้นมาจากมหาวิทยาลัยที่คุณเคยเรียนมาหรือชื่นชอบหรอก”  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook