ทำไม "ทิม เคฮิลล์" ถึงเป็นจอมโหม่งในพรีเมียร์ลีก ทั้งที่สูงแค่ 1.78 เมตร?

ทำไม "ทิม เคฮิลล์" ถึงเป็นจอมโหม่งในพรีเมียร์ลีก ทั้งที่สูงแค่ 1.78 เมตร?

ทำไม "ทิม เคฮิลล์" ถึงเป็นจอมโหม่งในพรีเมียร์ลีก ทั้งที่สูงแค่ 1.78 เมตร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผู้คนคิดว่าผมตัวเล็กเกินไป หรือไม่เร็วพอ ไม่แข็งแกร่งพอ แต่ผมรู้สึกว่าผมสามารถเล่นตรงไหนก็ได้” ทิม เคฮิลล์ กล่าวกับ Sydney Morning Herald

พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ถือเป็นหนึ่งในลีกที่โหดหินลีกหนึ่งของยุโรป จากจังหวะการเล่นที่รวดเร็ว และเต็มไปด้วยพละกำลัง ท่ามกลางนักเตะที่สูงใหญ่ ที่ทำให้นักเตะร่างเล็กหลายคน โดยเฉพาะแข้งจากทวีปเอเชีย ต่างไปไม่รอดในลีกแห่งนี้ 

แต่มีนักเตะคนหนึ่ง ที่มีส่วนสูงไม่ถึง 180 เซนติเมตร กลับสามารถยืนหยัดได้ในพรีเมียร์ลีก และไม่เพียงแค่เอาตัวรอดเท่านั้น แต่ขึ้นมาเป็นแถวหน้าของลีกแดนผู้ดี โดยเฉพาะลูกโหม่ง ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าของเขา

 

ชายคนนั้นมีชื่อว่า ทิม เคฮิลล์ อดีตกองกลางชาวออสเตรเลียของเอฟเวอร์ตัน ที่สามารถสร้างปรากฎการณ์ จนเป็นหนึ่งในตำนานของพรีเมียร์ลีก 

เขาทำได้อย่างไร ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

กล้าและบ้าบิ่น

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ เคฮิลล์ สามารถต่อกรกับเหล่าผู้เล่นร่างยักษ์ในพรีเมียร์ลีก คือความบ้าดีเดือด และดูเหมือนว่ามันจะเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น ที่เขาขออนุญาตพ่อกับแม่มาอังกฤษ เพื่อเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี 

 1

เคฮิลล์ มีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับแดนผู้ดี เขาเกิดในครอบครัวที่พ่อเป็นชาวอังกฤษเชื้อสายไอริช ส่วนแม่เป็นชาวซามัว ทำให้แม้จะเติบโตในครอบครัวที่มีแต่คนเล่นรักบี้ แต่กีฬาที่เขาชื่นชอบกลับเป็นฟุตบอล กีฬาประจำชาติของอังฤษมากกว่า 

ทำให้ในวันที่เขาเอ่ยปากขอครอบครัว ไปเติมเต็มความฝันในดินแดนที่อยู่ห่างกันหลายพันกิโลเมตร เขาจึงไม่ถูกปฏิเสธ ในทางกลับกัน พวกเขาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับความฝันของลูกชาย 

“ผมรู้สึกกระหายตลอดเวลา เพราะครอบครัวของผมเสียสละอะไรมากมายเพื่อให้ผมมีโอกาส” เคฮิลล์ อธิบายกับ Sydney Morning Herald

“มันเป็นเรื่องยากสำหรับผมในการมาอังกฤษ พ่อแม่ของผมต้องกู้เงินเพื่อให้ผมได้มาทดสอบฝีเท้าที่นี่ ผมแน่ใจว่าหลังจากนั้นผมต้องตอบแทนพวกเขา พวกเขาจะไม่ต้องทำงานอีกเลยในวันที่ผมได้สัญญาฉบับแรก” 

หลังจากตระเวนไปทดสอบฝีเท้า ในที่สุด มิลล์วอลล์ ที่อยู่ในลีกดิวิชั่น 2 (ลีกวัน ในปัจจุบัน) หรือลีกระดับ 3 ของอังกฤษ ก็สนใจในตัวเขา และดึงตัวมาร่วมทีมในฤดูกาล 1997-98 ในวันที่เขาเซ็นสัญญาฉบับแรก เขาได้รับค่าเหนื่อยเพียงแค่ 250 ปอนด์ต่อสัปดาห์เท่านั้น (ราว 9,860 บาท) 

 2

แต่นั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลีกอังกฤษได้รู้จักกับชื่อของ “ทิม เคฮิลล์” เพียงแค่ปีที่ 2 ที่อังกฤษ เขาก็เบียดแย่งตำแหน่งตัวจริงของ มิลล์วอลล์ มาครองได้สำเร็จ และยิงไปถึง 6 ประตูจาก 36 นัด แต่โชคร้ายที่ยังไม่ดีพอที่จะทำให้ทีมจบในตำแหน่งเพลย์ออฟเลื่อนชั้น 

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น เคฮิลล์ ก็กลายเป็นนักเตะที่น่าจับตามองของลีกรอง ด้วยวัยเพียง 20 ปีเขากลายเป็นจอมถล่มตาข่ายของทีมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซัด 12 ประตูในฤดูกาล 1999-2000 หรือยิงอีก 9 ประตูในฤดูกาลต่อมา ที่ช่วยให้มิลล์วอลล์ คว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 พร้อมเลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 

ถึงจะเปลี่ยนดิวิชั่น แต่ความร้อนแรงของ เคฮิลล์ ก็ไม่เปลี่ยน เขายังเฉิดฉายในดิวิชั่น 1 ด้วยการซัดไปถึง 28 ประตูตลอด 3 ฤดูกาลกับมิลล์วอลล์ และช่วยให้ทีมเข้าถึงรอบเพลย์ออฟเลื่อนชั้นถึง 2 ครั้งในปี 2000 และ 2002 

 3

นอกจากนี้ เขายังพา มิลล์วอลล์ เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในฟุตบอลเอฟเอคัพ ในปี 2004 โดยเขาเป็นผู้ยิงประตูชัยล้มยักษ์ ซันเดอร์แลนด์ ที่อยู่ในพรีเมียร์ลีก ในรอบรองชนะเลิศ แต่น่าเสียดายที่ไม่ถึงฝัน หลังพ่ายต่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 3-0 ในรอบชิงดำ

“ผมเดาว่าผู้คนรู้จักว่า ทิม เคฮิลล์ ที่แท้จริงเป็นอย่างไรจากตรงนั้น การยิงประตูชัยในเกมพบซันเดอร์แลนด์ (ในรอบรองชนะเลิศ) ทำให้คนภาคภูมิใจในนักเตะออสเตรเลียที่มาจากลีกที่ต่ำกว่าที่พาทีมเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศ มันคือหนึ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม” เคฮิลล์กล่าวกับ Sydney Morning Herald

ผลงานดังกล่าวทำให้เขาเนื้อหอม และได้รับความสนใจจากหลายทีมในอังกฤษ รวมไปถึง คริสตัล พาเลซ แต่ดีลล่มในนาทีสุดท้าย และกลายเป็น เอฟเวอร์ตัน ที่หยิบชิ้นปลามันไปครอง  

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พรีเมียร์ลีกรู้จักเขา

จอมโหม่งโลกตะลึง 

เคฮิลล์ ย้ายมาร่วมทีมเอฟเวอร์ตัน ด้วยค่าตัวเพียง 1.5 ล้านปอนด์ ในฤดูกาล 2004-05 สวนทางกับ เวย์น รูนีย์ กองหน้าดาวรุ่ง ที่เพิ่งขายให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดด้วยค่าตัว 25.6 ล้านปอนด์ แต่เขากลับทำผลงานได้อย่างคุ้มค่าทุกปอนด์ ทุกเพนนี 

 4

เพราะแค่เพียงนัดที่ 2 ที่ลงสนาม เขาก็ประเดิมประตูให้กับ เอฟเวอร์ตัน ด้วยการสอดตัวเข้ามาโหม่งลูกเปิดของ โทนี ฮิบเบิร์ต ผ่านมือ เดวิด เจมส์ ผู้รักษาประตูของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เข้าไป และเป็นประตูชัยช่วยให้ทีมเก็บ 3 คะแนนแรกของฤดูกาล 

จากนั้นเขาก็สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นดาวยิงของเอฟเวอร์ตัน ด้วยการยิงไปถึง 11 ประตูจาก 33 นัด และกลายเป็นดาวซัลโวสูงสุดของสโมสรในปีนั้น จนได้รับการโหวตให้เป็นนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของทีม หลังพา “ท็อฟฟี่สีน้ำเงิน” จบในอันดับ 4 ของตาราง ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่เคยทำได้นับตั้งแต่ปี 1988 

และนั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของเคฮิลล์ เมื่อเขากลายเป็นนักเตะที่ขาดไม่ได้ของ เอฟเวอร์ตัน ตลอด 8 ฤดูกาลในพรีเมียร์ลีก เขายิงไปถึง 56 ประตูจาก 226 นัดในลีก โดย 18 ประตูคือประตูตัดสินที่ทำให้ทีมคว้าชัย 

สถิติดังกล่าวเทียบเท่ากับนักเตะชื่อดังของพรีเมียร์ลีกอย่าง ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ (นิวคาสเซิล), สแตน คอลลีมอร์ (ลิเวอร์พูล และ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์) หรือ ดิเอโก คอสตา (เชลซี) ซึ่งล้วนแต่เป็นนักเตะในตำแหน่งกองหน้าทั้งสิ้น

 5

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่า เคฮิลล์ จะถูกโฉลกกับ เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้แมตช์ เมื่อเขากลายเป็นนักเตะเอฟเวอร์ตัน ที่ยิงประตูลิเวอร์พูลได้มากที่สุด ในยุคหลังสงครามโลก หลังพังตาข่ายหงส์แดงไปได้ถึง 5 ประตูในการพบกัน 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงจะเป็นวิธีการทำประตูของเขา แม้จะไม่ได้มีรูปร่างสูงใหญ่ แต่เขากลับโดดเด่นในลูกกลางอากาศ ลูกโหม่งของเขา กลายเป็นอาวุธเด็ดของเอฟเวอร์ตัน 22 ประตูจาก 56 ลูกที่ เคฮิลล์ ทำได้ในพรีเมียร์ลีกล้วนมาจากลูกโหม่ง หรือเฉลี่ย 0.09 ประตูต่อเกม

“ผมโหม่งบอลเหมือนกับการเตะบอลของคนอื่น” เคฮิลล์ เคยกล่าวเอาไว้ 

สถิติดังกล่าวยังทำให้เขากลายเป็นนักเตะที่โหม่งบอลดีเป็นอันดับต้นๆ ของพรีเมียร์ลีก ตามหลัง อลัน เชียเรอร์ และ ดไวท์ ยอร์ค ที่มีสถิติ 0.10 ประตูต่อเกม ในขณะสถิติที่ดีที่สุดเป็นของ ดิออน ดับลิน ด้วยอัตรา 0.14 ประตูต่อเกม  

เขายังมีสถิติเป็นรอง ปีเตอร์ เคราช์ กองหน้าร่างโย่งที่มีส่วนสูง 201 เซนติเมตร แค่เพียงนิดเดียว (เคราช์มีสถิติลูกโหม่ง 0.11 ประตูต่อนัด) และรั้งอยู่ในอันดับ 6 ของผู้เล่นที่โหม่งประตูได้มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก โดยเป็นผู้เล่นตำแหน่งกองกลางที่มีอันดับสูงสุด

เขาทำได้อย่างไร ทั้งที่มีส่วนสูงเพียงแค่ 178 เซนติเมตร

เวลาและพื้นที่ 

“ผมไม่ใช่คนที่เร็วที่สุด ผมไม่ใช่คนที่ยิงบอลได้แรงนอกกรอบเขตโทษ แต่ผมเล่นโดยใช้ความแข็งแกร่งของผม” เคฮิลล์กล่าวกับ Sky Sports

 6

เคฮิลล์ อาจจะไม่ใช่นักเตะที่มีร่างกายที่สูงใหญ่เมื่อเทียบกับนักเตะหลายคนในพรีเมียร์ลีก แต่ความแข็งแกร่งของเขาก็ไม่เป็นสองรองใคร พิสูจน์ได้จากกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ที่ต้นขา รวมไปถึงที่หน้าอกเวลาที่เขาถอดเสื้อ 

สิ่งนี้ทำให้เขาสามารถต่อกรนักเตะร่างยักษ์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงข้ามคืน แต่เกิดจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยิมที่ทำให้เขากลายเป็นนักเตะที่สปริงข้อเท้าได้ดีคนหนึ่งของลีก

 7

“เพื่อกระโดดให้สูงกว่าคู่แข่ง คุณต้องมีกำลังขาที่มหาศาล” เคฮิลล์ อธิบายกับ FourFourTwo 

“สิ่งนี้สามารถสร้างได้ในยิม เพราะการมีพลังจากร่างกายส่วนล่าง จะช่วยเพิ่มการกระโดดในอากาศ โดยเน้นไปที่การออกำลังกายแบบพลัยโอเมติก และ Dynamic Exercises อย่างเช่น ลันจ์ หรือ สควอต” 

“เมื่อคุณต้องทะยานเบียดกับคู่แข่ง คุณต้องมีร่างกายส่วนบนที่แข็งแรงเพื่อยื้อยุดและทำให้บอลเป็นของเรา” 

อย่างไรก็ดี ร่างกายที่แข็งแกร่งไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ เคฮิลล์ กลายเป็นเจ้าเวหา แต่การเคลื่อนที่ของร่างกาย และเทคนิคการโหม่ง ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นนักเตะอันตรายคนหนึ่งของลีก 

“เขาสูงเพียง 5 ฟุต 10 นิ้ว และค่อนข้างบาง แต่เขาไม่ปล่อยให้คู่แข่งได้โมเมนตัมจากน้ำหนักที่ได้เปรียบ ดังนั้นเขาจึงเอาชนะพวกเขาได้ด้วยความบอบบาง” จอห์น ดอยล์ อดีตนักเตะทีมชาติออสเตรเลีย ที่เคยเป็นโค้ชให้ เคฮิลล์ ในบ้านเกิดกล่าวกับ Sydney Morning Herald

“การวิ่งจังหวะแรกของเขามักจะเป็นการวิ่งหลอก เขาจะวิ่งไปเสาไกลเป็นปกติ และเริ่มเช็คหลังจากนั้น โดยมองเหนือไหล่คู่แข่งขึ้นไป  และบางครั้งเขาก็จะเช็คถึง 3 ครั้ง” 

“หลังจากนั้น มันจะเป็นการกระโดดเหมือนออกจากกระบอกสูบ นั่นหมายความว่าเขาจะกระโดดด้วยจังหวะที่เฉียงขึ้นเล็กน้อยจากกองหลัง คุณจะชนกับคู่แข่ง และในช่วงเวลาเดียวกัน ร่างกายของคู่แข่งจะช่วยยกตัวคุณให้สูงขึ้นเล็กน้อยในอากาศ”

“มันยังรวมไปถึงการขยับของแขนที่เรียกว่า ‘Tanking’ ซึ่งหมายความว่ามันจะมาพร้อมกำลังเสริม ในจังหวะที่ถูกกระแทก มันไม่ใช่การโกง เป็นเรื่องปกติ มันมาจากวิทยาศาสตร์ของการเคลื่อนไหว มันคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำหนัก” 

 8

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการอยู่ถูกที่ถูกเวลา เคฮิลล์ เป็นหนึ่งในนักเตะที่หาพื้นที่ได้เก่งที่สุดคนหนึ่งของพรีเมียร์ลีก หลายประตูที่เกิดขึ้นจากหัวของเขาจึงไม่ได้มาจากการเบียดเอาชนะคู่แข่ง แต่เป็นการสอดเข้ามาโหม่งระหว่างช่องว่างของแนวรับคู่แข่ง 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประตูนัดแรกในสีเสื้อของเอฟเวอร์ตันที่พบกับ แมนฯ ซิตี้ เมื่อปี 2004 ที่เขาแทรกตัวไปอยู่ระหว่างกลางของ ริชาร์ด ดันน์ และ แดนนี มิลส์ ก่อนจะโหม่งเข้าไป

“ทุกสัปดาห์ ผมมักเจอคนที่สูงกว่าผมเสมอ และเพื่อเอาชนะเขา ผมต้องวิ่งเข้าไปในกรอบเขตโทษในเวลาที่เหมาะเจาะ” เคฮิลล์กล่าวต่อ  

“ผมจะดูคนที่ครองบอลอยู่ ตอบสนองการส่งของเขา ติดตามเส้นทางของมัน และเข้าไปให้ถึงเพื่อให้เกิดการประสานงานที่สมบูรณ์ อย่าเพียงแค่โหม่งมัน ต้องไปเจอมัน ถ้าคุณกระโดดก่อนคู่แข่ง คุณจะอยู่ในอากาศและมีเวลาคิดว่าคุณจะโหม่งไปทางไหน”

สิ่งเหล่านี้ทำให้ เคฮิลล์ สามารถเอาชนะอุปสรรคทางร่างกาย และเฉิดฉายในลีกแดนผู้ดี แต่มันไม่ใช่แค่นั้น

เลือดนักสู้ 

สภาพร่างกายและเทคนิค อาจจะเป็นสิ่งสำคัญในการเอาตัวรอดในพรีเมียร์ลีก แต่สำหรับ เคฮิลล์ มันสมองก็เป็นสิ่งจำเป็นในการเอาชนะคู่แข่งในแต่ละนัด ทุกการกระทำในสนามจึงผ่านการคิดวิเคราะห์ และทำการบ้านมาเป็นอย่างดี 

 9

“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือจังหวะการวิ่ง และการวิ่งเข้าไปเบียดกองหลังที่อ่อนกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ ที่ถอยต่ำลงมาป้องกัน” เคฮิลล์เผยเคล็ดลับกับ Sky Sports 

“ก่อนเกมทุกเกม การวิเคราะห์ของผมจะสำคัญมาก ผมต้องรู้ว่าใครคือเซ็นเตอร์แบ็คที่อ่อนที่สุด และสามารถเบียดไหล่ซ้ายได้ดีกว่าไหล่ขวา เช่นถ้าผมต้องเจอกับ แอชลีย์ โคล ตรงแบ็คซ้าย และ บรานิสลาฟ อิวาโนวิช ทางแบ็คขวา ผมจะเลือก แอชลีย์ โคล” 

“คุณต้องรู้รายละเอียดตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในเกมทุกอย่าง จากนั้นมันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสามารถใช้เครื่องมือของคุณได้อย่างทรงพลัง”  

เช่นเดียวกับ การจำลองการทำประตูผ่านจินตนาการ ซึ่งจะช่วยในการเตรียมตัวก่อนเกิดสถานการณ์จริงในสนาม โดยสิ่งเหล่านี้ ถือสิ่งที่นักฟุตบอลอาชีพนิยมทำกันอย่างแพร่หลาย 

“สำหรับนักกีฬาส่วนใหญ่ การใช้เวลาก่อนเกมไปกับจินตนาการว่าตรงไหนที่คุณจะทำประตู หรือวิธีไหนที่จะทำประตูเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเป็นกรอบ 18 หลาเป็นหลุมเป็นบ่อและสภาพแย่ ผมแน่ใจว่าบอลส่วนใหญ่จะอยู่กลางอากาศ” เคฮิลล์อธิบายต่อ 

“ผมมักจินตนาการการทำประตูอยู่เสมอ จินตนาการไปถึงกองหลังที่ผมต้องเจอ และตอนที่คุณเริ่มเหนื่อย” 

10

อย่างไรก็ดี คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ เคฮิลล์ สามารถยืนหยัดในลีกที่โหดหินอย่างพรีเมียร์ลีก คือหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ เขาเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง และไม่ยอมอ่อนโอนให้กับอุปสรรค ที่พิสูจน์ได้จากการบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นนักเตะอาชีพตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี

“เด็กคนนี้มีความกระตือรือร้นมาก เขาเหลือเชื่อมาก และนับวันยิ่งเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นแบบสุดๆ” ดอยล์ ที่เคยเป็นโค้ชให้เคฮิลล์ ตั้งแต่สมัยเด็กกล่าว 

“เวลาที่บอกอะไรบางอย่างกับเขา มันเหมือนกับเขากำลังจดลงในหัว เขาใส่ใจกับมัน ไม่ว่าคุณจะขอร้องให้เขาทำอะไร เขาก็จะทำ เขาเชื่อในตัวผม และดูเหมือนจะมากกว่าเด็กคนอื่นที่ทำอะไรเหมือนกัน”

สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ เคฮิลล์ กลายเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ เช่นเดียวกับในการแข่งขัน เขาไม่เคยเกรงกลัวในการเข้าหาบอล ไม่ว่าจะต้องปะทะกับคู่แข่งที่มีรูปร่างสูงแค่ไหน หากเพื่อให้ได้บอล เขาก็พร้อมที่จะแลก 

“ผมไม่เคยกลัวเมื่อต้องเข้าหาบอล ในความคิดของผม มันจะมีคนเดียวที่เป็นผู้ชนะ คุณต้องพร้อมเอาหัวของคุณไปหาความเจ็บปวด ทำมันและ 9 จาก 10 ครั้งคุณจะเป็นผู้ชนะในการดวล” เคฮิลล์ กล่าวกับ FourFourTwo 

“ผมเข้าหาบอลเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำ เชื่อในทักษะของคุณและพยายามทำให้บอลพ้นจากการเข้าถึงของผู้รักษาประตู”

11

และรักบี้ หนึ่งในกีฬาในวัยเด็กของเขา ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้ เคฮิลล์ กลายเป็นนักสู้ แม้ว่าด้วยลักษณะร่างกายจะทำให้เขาไม่ได้เอาดีในกีฬาชนิดนี้ก็ตาม 

“แน่นอนว่าผมไม่สามารถเป็นผู้เล่นรักบี้ได้ด้วยร่างกายที่หนักเพียง 75 กิโลกรัม แม่ของผมมาจากซามัวซึ่งมีวัฒนธรรมรักบี้ที่เข้มข้น มีทั้งลีกและสหพันธ์ ญาติของผมเล่นใน NRL (ลีกรักบี้ออสเตรเลีย)” เคฮิลล์ กล่าวกับ Sky Sports 

“ผมเคยเล่นกับพวกเขา ผมกล้ามากที่ไปเล่นกับพวกเขา ผมพยายามวิ่งฝ่ากำแพงหิน แต่ผมมักจะเป็นเด็กที่ร้องไห้ในตอนท้าย ดังนั้นผมจึงเปลี่ยนกีฬาเล่น” 
 
“รักบี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอบรมสั่งสอนผม ผมได้เรียนรู้ลักษณะเฉพาะของมัน รู้จักกับการเคารพ การถ่อมตัว และสิ่งต่างๆ นอกสนาม ผมมักจับมือคู่แข่งทุกครั้งหลังจากจบการแข่งขัน” 

ปัจจุบัน เคฮิลล์ ประกาศแขวนสตั๊ดไปเมื่อต้นปี 2019 โดยทิ้งเกียรติยศและสถิติไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นกองกลางที่โหม่งประตูได้มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก การเป็นนักเตะเอฟเวอร์ตัน ที่ยิงประตูลิเวอร์พูลได้มากที่สุดในยุคหลังสงคราม รวมไปถึงการเป็นนักเตะเอฟเวอร์ตันคนแรกนับตั้งแต่ปี 1988 ที่มีชื่อติดโผ บัลลง ดอร์ 

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เกิดจากความมุ่งมั่น และความพยายามของ เคฮิลล์ ที่จะเอาชนะขีดจำกัดทางร่างกาย จนสามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองและสโมสร

12

“ผมอยากจะมีคุณค่าสำหรับสโมสรหรือลีกอยู่เสมอ ผมอยากเป็นทูตหรือตัวแทนที่ทิ้งมรดกเอาไว้” เคฮิลล์กล่าวกับ ESPN 

นี่คือสิ่งที่เขาปรารถนามาตั้งแต่ต้น และตอนนี้เขาก็ได้รับมัน ในฐานะ “จอมโหม่ง” แห่งพรีเมียร์ลีก ที่แม้แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีกองกลางคนไหนที่ทำได้อย่างเขาอีกเลย 

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ทำไม "ทิม เคฮิลล์" ถึงเป็นจอมโหม่งในพรีเมียร์ลีก ทั้งที่สูงแค่ 1.78 เมตร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook