ฝ่ามรสุมบูลลี่! ชีวิตสุดอาภัพของ "3 นักสู้ไทย" ที่เคยถูกรังแกเมื่อวัยเด็ก

ฝ่ามรสุมบูลลี่! ชีวิตสุดอาภัพของ "3 นักสู้ไทย" ที่เคยถูกรังแกเมื่อวัยเด็ก

ฝ่ามรสุมบูลลี่! ชีวิตสุดอาภัพของ "3 นักสู้ไทย" ที่เคยถูกรังแกเมื่อวัยเด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าอาจมีหลายคนที่ช่วงวัยเด็กเคยมีประสบการณ์ถูกรังแกจากเพื่อนหรือรุ่นพี่ในโรงเรียน หรือเด็กที่อาศัยบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เพียงเพราะความสนุกสนาน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการอบรมเลี้ยงดูในทางที่ไม่ถูกไม่ควรก็ตาม

แม้แต่นักสู้ของ วัน แชมเปียนชิพ ทั้ง 3 คนนี้ ที่เก่งถึงระดับเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในเวทีระดับโลก สมัยละอ่อนพวกเขาก็เคยตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ และนั่นกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาฝึกศิลปะการต่อสู้ ก่อนผันตัวเองมาเป็นนักกีฬาเต็มตัวอย่างทุกวันนี้

ริกะ อิชิเกะ
นักสู้สาวลูกครึ่งเลือดบูชิโด

1

เห็นน่ารักแบบนี้ ใครเลยจะคิดว่าชีวิตในวัยเด็กของเธอนั้นโดนกลั่นแกล้งเป็นประจำ สำหรับ "Tiny Doll" ริกะ อิชิเกะ ที่ความแตกต่างทางสายเลือด กับการเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น หน้าตาคิกขุ ทำให้เธอกลายเป็นจุดเด่น เป็นตัวแทนของนักเรียนในการทำกิจกรรมต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง กระทั่งตกเป็นเป้าหมายของรุ่นพี่ที่ไม่พอใจในความโดดเด่นเป็นพิเศษ ถึงขั้นลงไม้ลงมือกลั่นแกล้งเธอในรั้วโรงเรียน

"ช่วงวัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่ ริกะ โดนกลั่นแกล้งบ่อยที่สุดแล้ว เพราะด้วยความที่เราเป็นลูกครึ่ง รุ่นพี่ก็จะชอบล้อเลียนชื่อเราบ้าง แรกๆ แค่พูดหยอกเรา ซึ่งมันก็ยังพอโอเค แต่หลังๆ เริ่มมีการถึงเนื้อถึงตัว หนักสุดจำได้ว่าเคยโดนผลักจากด้านหลัง ก่อนจะดึงผม"

เมื่อบ่อยครั้งเข้า ริกะ ก็เริ่มทนไม่ไหว จึงตัดสินใจฝึกฝนและเรียนรู้วิชาการต่อสู้ตั้งแต่วัย 9 ขวบ ทั้งเทควันโด, ไอคิโด และ คาราเต้

2

"แรกๆ ก็เรียนเพื่อหวังจะใช้ป้องกันตัวเท่านั้น แต่พอวันเวลาผ่านไป ริกะ เริ่มหลงใหลในศิลปะการต่อสู้ จึงหมั่นฝึกซ้อมและพัฒนาตนเอง ซึ่งผลพลอยได้คือมันช่วยยกระดับจิตใจของเรา ทำให้เรามีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น และแทนที่เราจะใช้วิชาการต่อสู้ไปทำให้คนอื่นเจ็บ เราเลือกที่จะหลบหลีก และนำวิชาที่เรามีไปใช้บนสังเวียนแข่งขัน ซึ่งมีเกียรติและศักดิ์ศรีดีกว่าค่ะ"

ปัจจุบัน ริกะ เป็นนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) รุ่นอะตอมเวต โดยสร้างผลงานยอดเยี่ยมบนสังเวียน วัน แชมเปียนชิพ หลายครั้ง ทั้งยังปลุกกระแสความน่าสนใจให้กีฬานี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นอีกด้วย

แสตมป์ แฟร์เท็กซ์
ผู้สร้างประวัติศาสตร์มวยหญิง

3

วงการมวยหญิงที่ซบเซาในประเทศไทย กลายเป็นที่จับตามอง เมื่อ "แสตมป์ แฟร์เท็กซ์" ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง และตามด้วยมวยไทย สองประเภทกีฬาในเวลาใกล้เคียงกัน และปัจจุบันเธอยังคงครองเข็มขัดแชมป์โลกทั้งสองเส้นนี้อยู่  ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีนักมวยหญิงคนไหนในประวัติศาสตร์สร้างสถิตินี้มาก่อน

แต่กว่าที่เธอจะเดินทางมาไกลถึงปลายทางของคำว่าแชมป์โลก เธอต้องเผชิญหน้ากับศัตรูในวัยเด็กมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล เพราะด้วยความที่เธอตัวเล็กกว่าคนอื่นๆ จึงทำให้เธอตกเป็นเป้าหมายของการถูกรังแก

"ช่วงอนุบาลประมาณ 4-5 ขวบ แสตมป์จะโดนแกล้งที่โรงเรียนบ่อยมาก เพราะด้วยความที่เราเป็นคนตัวเล็ก เพื่อนๆ จึงชอบมาแกล้ง ทั้งหยิก ทั้งผลัก เป็นประจำ เราทำอะไรเขาไม่ได้เลย เพราะเขาตัวใหญ่กว่าเราเยอะ นานๆเข้า เราก็เริ่มรู้สึกทนไม่ไหว ประกอบกับที่บ้านพ่อมีค่ายมวย แสตมป์จึงตัดสินใจฝึกมวยตั้งแต่ตอนนั้น"

4

"ทีแรกทางบ้านก็ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นเป็นผู้หญิง เขากลัวเราเจ็บ แต่พอเขาเห็นความมุ่งมั่นในการซ้อม และตัวเราก็อยากต่อย พ่อแม่ก็เลยให้กำลังใจและสนับสนุนเราค่ะ"

ปัจจุบัน แสตมป์ครองแชมป์โลก ONE สองประเภทกีฬา และกำลังไล่ล่าเข็มขัดแชมป์โลกเส้นที่สามในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) โดยเธอมีโปรแกรมขึ้นป้องกันแชมป์โลกในกติกาคิกบ็อกซิ่งกับอดีตคู่ปรับเก่า "เจเน็ต ทอดด์" ในศึก ONE: KING OF THE JUNGLE วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์

พงษ์ศิริ มิตรสาธิต
หนุ่มกะเหรี่ยงตัวเล็ก

5

หนุ่มกะเหรี่ยงจากอมก๋อย เจ้าของฉายา "นักฆ่าหน้าเปื้อนยิ้ม" พงษ์ศิริ มิตรสาธิต ที่ช่วงชีวิตในวัยเด็กไม่ค่อยมีเรื่องให้น่าจดจำสักเท่าไหร่ เขาไม่ได้เรียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราว เพราะฐานะทางบ้านยากจน ต้องทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียนจนจบ กศน.ชั้น ม.6 ทำให้เขาไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กผู้ชายทั่วไป แต่นั่นก็ยังทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มเด็กอันธพาลที่จ้องจะรังแกเพราะตัวเขาเล็ก เหมือนกับชื่อเล่นว่า "เจ้าเปี๊ยก"

"ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนตัวเล็ก เล็กสุดในชั้นเรียนเลยก็ว่าได้ ทำให้ผมถูกรังแกอยู่บ่อยๆ บางคนก็เดินมาผลัก บางคนก็เดินมาตบหัวผม ทุบที่ไหล่ผมก็มี ผมรู้สึกโกรธพวกเขานะ แต่จะเอาแรงที่ไหนไปต่อสู้กับเขา"

เปี๊ยกเริ่มฝึกมวยไทยเมื่อวัย 13 ปี โดยทีแรกก็หวังจะใช้ป้องกันตัวจากความรุนแรงที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ แต่ภายหลังกีฬามวยไทยกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้ช่วยเหลือครอบครัว แต่พ่อแม่กลับไม่สนับสนุนให้เขาชกมวย จนเขาต้องแอบไปซ้อมและขึ้นชกจนกระทั่งเริ่มมีชื่อเสียง เขาจึงตัดสินใจที่บอกความลับนี้กับพ่อแม่เพื่อเดินตามความฝันอย่างที่เขาต้องการ

6

ปัจจุบัน พงษ์ศิริผันตัวมาเป็นนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) โดยใช้พื้นฐานมวยไทยที่สั่งสมมาเกือบ 90 ไฟต์ พัฒนาร่วมกับการต่อสู้แขนงอื่นๆ จนทำให้เขาก้าวสู่เวทีระดับโลก พร้อมเก็บชัยชนะในกีฬาประเภทนี้ได้ถึง 10 ครั้งจากการแข่งขันทั้งหมด 14 ไฟต์

โดยเขากำลังจะมีไฟต์ที่ 15 ในวันที่ 31 มกราคมนี้ ในศึก ONE: FIRE & FURY ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ฝ่ามรสุมบูลลี่! ชีวิตสุดอาภัพของ "3 นักสู้ไทย" ที่เคยถูกรังแกเมื่อวัยเด็ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook