ชื่อนี้มีที่มา : เหตุไฉนเกมชิงแชมป์ NFL ถึงเรียกว่า "ซูเปอร์โบวล์" ?
สำหรับแฟนอเมริกันเกมส์ คงไม่มีการแข่งขันนัดไหนสำคัญไปกว่า "ซูเปอร์โบวล์" (Super Bowl) การแข่งขันนัดสุดท้ายประจำฤดูกาลของศึกอเมริกันฟุตบอล NFL หรือ National Football League (ลีกฟุตบอลแห่งชาติ) ซึ่งปัจจุบันจัดในวันอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
ซูเปอร์โบวล์ ดำเนินมาถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 54 ตลอดห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวและตำนานให้เล่าขานมากมาย หนึ่งในนั้นคือตำนานของชื่อ ซูเปอร์โบวล์ ที่มีจุดกำเนิดสุดพิลึกจนน่าเหลือเชื่อ
Main Stand จะพาคุณย้อนไปดูเรื่องราวของชื่อซูเปอร์โบวล์ ว่าจุดเริ่มต้นของมันมาจากไหน? ใครเป็นคนตั้ง? แล้วชื่อของมันได้รับแรงบันดาลใจจากของเล่นเด็กจริงหรือไม่? ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่...
ต้นตำรับ โบวล์เกม
ย้อนกลับไปในปี 1902 หลายสิบปีก่อนที่โลกจะได้รู้จักซูเปอร์โบวล์ การแข่งขันที่ถูกขนานนามว่าเป็น "โบวล์เกม" ฉบับต้นตำรับได้ถือกำเนิดขึ้น ที่เมืองแพซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ในชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า โรสโบวล์ (Rose Bowl)
แรกเริ่มเดิมที โรส โบวล์ มีชื่อการแข่งขันว่า "เกมฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ตะวันออก-ตะวันตก" (Tournament East–West Football Game) เป็นการแข่งขันที่นำทีมแชมป์ในระดับมหาวิทยาลัยจากฝั่งตะวันออก และ ตะวันตก มาพบกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลโรส พาเหรด (Rose Parade) ที่จัดขึ้นทุกวันขึ้นปีใหม่ ในเมืองแพซาดีนา
สาเหตุที่เกมฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ตะวันออก-ตะวันตก เปลี่ยนชื่อกลายมาเป็น โรสโบวล์ เหมือนดั่งในปัจจุบัน มาจากการที่ผู้จัดการแข่งขันต้องการสนามกีฬาที่ทันสมัย และสามารถรองรับผู้ชมราวห้าหมื่นคนได้อย่างไร้ปัญหา การก่อสร้างสนามเพื่อรองรับเกมฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ตะวันออก-ตะวันตก โดยเฉพาะ จึงเริ่มต้นขึ้นในปี 1922
สนามดังกล่าวมีชื่อว่า โรสโบวล์ เนื่องจากมีการออกแบบสนามคล้ายคลึงกับสนามเยลโบวล์ (Yale Bowl) สนามกีฬาของมหาวิทยาลัยเยล ที่มีรูปทรงโค้งเป็นมุมกว้างลักษณะคล้ายชามขนาดใหญ่
สนามแห่งใหม่ของเกมฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ตะวันออก-ตะวันตก จึงขอยืมทั้งรูปทรงสนามและชื่อมาใช้ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อด้านหน้า แทนที่ด้วยคำว่าโรส เพื่อสื่อว่าสนามแห่งนี้คือสนามกีฬาที่จะถูกใช้งานในเทศกาลโรส พาเหรด
หลังการก่อสร้างสนามโรสโบวล์เสร็จสิ้น ได้มีการคิดชื่อใหม่ขึ้นมามากมายเพื่อทดแทนเกมฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ตะวันออก-ตะวันตก ที่ทั้งยาวและไม่น่าสนใจ โดยชื่อที่เสนอเข้ามา มีทั้ง "ทัวร์นาเมนต์แห่งสนามโรส" หรือ "ทัวร์นาเมนต์แห่งโรสโบวล์"
แต่สุดท้าย โรสโบวล์ คือชื่อที่ถูกคัดเลือกมาใช้งาน เมื่อการแข่งขันประจำปี 1923 มาถึง ผู้คนทั่วไปจึงได้รู้จักชื่อ โรสโบวล์ ในฐานะการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศของ โรส ฟุตบอล เกม และยังคงใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ความโด่งดังของการแข่งขัน โรสโบวล์ ส่งผลให้การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศของกีฬาอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย ต่างพากันเปลี่ยนมาใช้ชื่อการแข่งขันด้วยคำว่า “โบวล์” แทบทั้งหมด มีตั้งแต่ ออเรนจ์โบวล์ (Orange Bowl), ชูการ์โบวล์ (Sugar Bowl), ซันโบวล์ (Sun Bowl) หรือ ค็อตตอนโบวล์ (Cotton Bowl)
คำว่า โบวล์ ยังถูกใช้เรียกแทนเกมระหว่างคู่อริที่สำคัญในการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างเช่น เอ็กโบวล์ (Egg Bowl) ที่ใช้เรียกแทนการพบกันระหว่าง ทีมมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีสเตท บูลด็อกส์ กับ ทีมโอลมิส (มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี) เรเบลส์ หรือ ไอรอนโบวล์ (Iron Bowl) ที่ใช้เรียกแทนการพบกันระหว่าง ทีมมหาวิทยาลัยอลาบามา คริมสันไทด์ กับ ทีมมหาวิทยาลัยออเบิร์น ไทเกอร์ส
ด้วยเหตุนี้ ศัพท์คำว่า โบวล์ ในเชิงอเมริกันฟุตบอล จึงไม่ได้หมายความว่า สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายชามเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังถูกใช้เรียกแทนเกมการแข่งขันที่สำคัญประจำฤดูกาล โดย โรสโบวล์ ได้ถูกขนานนามในภายหลังว่า "The Granddaddy of Them All" หรือ "คุณปู่ของโบวล์เกมทั้งมวล"
ชายที่ชื่อ ลามาร์ ฮันท์
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลในระดับอาชีพอย่าง NFL พวกเขามีการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศเพื่อหาแชมป์ประจำฤดูกาล ตั้งแต่ปี 1933 โดยการแข่งขันดังกล่าวใช้ชื่อว่า "เกมชิงแชมป์ NFL" (NFL Championship Game)
เกมชิงแชมป์ NFL ดำเนินไปอย่างปกติ ในฐานะเกมอเมริกันฟุตบอลอาชีพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำฤดูกาล จนกระทั่งปี 1960 ได้มีชายคนหนึ่งทำสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ ซึ่งจะพลิกหน้าประวัติศาสตร์วงการอเมริกันฟุตบอลในเวลาต่อมา
ชายคนนั้นมีชื่อว่า ลามาร์ ฮันท์ (Lamar Hunt) นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงวัย 27 ปี ผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าน้ำมัน และอยากมีทีมอเมริกันฟุตบอลเป็นของตัวเอง
เขาเข้าเจรจากับลีกและอีกหลายทีม เพื่อพูดคุยหาความเป็นไปได้ที่จะก่อตั้งทีมอเมริกันฟุตบอลแห่งใหม่ ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส แต่ทุกข้อเสนอของเศรษฐีหนุ่มรายนี้ถูกปัดปฏิเสธทั้งหมด
เพื่อตอบโต้จากการถูกหมางเมินอย่างไม่ใยดี ฮันท์เริ่มจับกลุ่มกับนักธุรกิจอีกหลายราย ที่พลาดหวังในการเป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอลเหมือนกันกับเขา เพื่อตั้งลีกอเมริกันฟุตบอลของตัวเองขึ้นมา ในเดือนสิงหาคม ปี 1959 โดยใช้ชื่อว่า AFL หรือ American Football League (ลีกฟุตบอลแห่งอเมริกา)
บรรดาผู้ก่อตั้ง AFL ถูกขนานนามโดยสื่อมวลชนว่าเป็น "แก๊งของคนโง่" (The Foolish Club) ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นไปตามที่สื่อว่าไว้ เพราะหลังจาก AFL เปิดตัวได้ไม่นาน พวกเขาก็ต้องควบรวมกิจการกับ NFL ในปี 1966 เพื่อความอยู่รอด ปิดช่วงเวลาการแข่งขันของทั้งสองลีกอย่างรวดเร็ว
แต่ถึงการแข่งขันนอกสนามจะจบลง การแข่งขันในสนามของทั้งสองฝ่ายกลับเพิ่งเริ่มต้น เกมชิงแชมป์ประจำฤดูกาลจากที่เคยเป็นการชิงแชมป์ระหว่างทีมใน NFL ได้ถูกเปลี่ยนใหม่ให้เป็นการพบกันระหว่างทีมแชมป์ของ NFL และ AFL โดยการแข่งขันดังกล่าวใช้ชื่อว่า "เกมชิงแชมป์โลก AFL-NFL" (AFL–NFL World Championship Game)
กำเนิด ซูเปอร์โบวล์
ความจริงแล้ว ก่อนที่เกมนัดชิงชนะเลิศประจำฤดูกาลจะถูกขนานนามว่า เกมชิงแชมป์โลก AFL-NFL ได้มีการประชุมเพื่อเสนอชื่อของเกมชิงชนะเลิศมาแล้วหลายครั้ง
โดยมีการรับความเห็นจากผู้บริหารและเจ้าของทีมผู้เป็นสมาชิกของลีก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ลามาร์ ฮันท์ ที่ตอนนี้กลายเป็นเจ้าของทีม แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ (Kansas City Chiefs) หนึ่งในทีมที่จะเข้าร่วมแข่งขันเกมชิงแชมป์โลก AFL-NFL ครั้งที่หนึ่ง
"เดอะ บิ๊ก วัน" (The Big One), "โปรโบวล์" (Pro Bowl) หรือ "ฟุตบอลซีรีส์ชิงแชมป์โลก" (The World Series of Football) ชื่อแล้วชื่อเล่า ถูกโยนเข้าสู่การพิจารณา แต่ไม่มีชื่อไหนที่ถูกใจคณะกรรมการ จนกระทั่ง ลามาร์ ฮันท์ ยื่นจดหมายเสนอชื่อแก่กรรมาธิการ ด้วยคำว่า "ซูเปอร์โบวล์"
"ผมคิดว่าอย่างแรกที่เราต้องพิจารณา คือสถานที่จัดการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ นั่นคือคำเรียกของผมสำหรับเกมชิงแชมป์ของทั้งสองลีก" ฮันท์กล่าวกับหนังสือพิมพ์ในแคนซัส ซิตี้ อันเป็นครั้งแรกที่โลกได้ยินคำว่า ซูเปอร์โบวล์
หากถามว่าซูเปอร์โบวล์ มีที่มาอย่างไร? คำตอบที่ได้จากปากลามาร์ ฮันท์ ช่างน่าขบขัน ย้อนกลับไปในวันที่ฮันท์กำลังพักผ่อนกลับลูกชายและลูกสาวในวันหยุด
เขาได้เห็นลูกทั้งสองกำลังเล่นของเล่นที่เป็นบอลยางยืดเด๋งดึ๋งยอดฮิตชื่อว่า "ซูเปอร์บอล" อยู่ในขณะนั้น ไอเดียสุดบรรเจิดก็แล่นเข้ามาในหัวของฮันท์ทันที
ใช่แล้ว... ฮันท์นำชื่อของเล่น ซูเปอร์บอล มาเป็นแรงบันดาลใจด้วยการเปลี่ยนจากคำว่า บอล เป็น โบวล์ และส่งชื่อนี้ให้เข้ารับการพิจารณาจาก NFL ผลปรากฏคือไม่มีใครชอบใจนัก พวกเขาไม่ยอมรับชื่อนี้เนื่องจากมองว่ามันดู "ตลก" มากเกินไป
"ไม่มีใครชอบชื่อนี้นักหรอก มันเหมือนกับชื่อเล่นของอะไรสักอย่าง แถมมันยังเป็นการเลือกใช้คำที่แย่เอามากๆ เหมือนกับหาคำสักคำมาผสมกับคำว่าซูเปอร์ กลายเป็น ซูเปอร์นี่ ซูเปอร์นั่น" พีท โรเซลล์ (Pete Rozelle) คอมมิชชันเนอร์ NFL ในเวลานั้น กล่าวผ่านกับสื่อ
สวนทางกับ NFL สื่อมวลชนกลับเป็นฝั่งที่ชอบชื่อของ ลามาร์ ฮันท์ เอามาก สื่อหลายเจ้าใช้คำว่า ซูเปอร์โบวล์ ตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรก โดยมีการเรียกว่า "NFL-AFL ซูเปอร์โบวล์" (The First NFL-AFL Super Bowl) ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ และยังคงเรียกแบบนี้จนติดปากไปจนถึงการแข่งขันครั้งต่อมา
ในช่วงเวลานั้น สื่อบางเจ้านำการปฏิเสธใช้คำว่า ซูเปอร์โบวล์ ของ NFL มาล้อเล่นเป็นมุกตลกตามข่าว ว่าพวกเขาถูกบังคับให้เรียกเกมนี้ว่า เกมชิงแชมป์โลก AFL-NFL เท่านั้น ซึ่งไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่า สื่อนำคำว่า ซูเปอร์ มาผสมกับทุกคำ เพื่อล้อเลียนสิ่งที่ NFL เคยกล่าวเอาไว้
โดยมีการใช้คำว่า ซูเปอร์วีค, ซูเปอร์ซันเดย์, ซูเปอร์ทีมส์, ซูเปอร์เพลเยอร์ส เข้ามาแทนวันการแข่งขัน, ทีมแข่งขัน หรือ ตัวผู้เล่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมชิงแชมป์โลก AFL-NFL เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเกมดังกล่าว ถูกใส่คำว่า ซูเปอร์ ลงไป ตามความนิยมของคำว่า ซูเปอร์โบวล์ ที่ถูกเรียกกันจนติดปากมากขึ้นทุกวัน
ผลสุดท้าย NFL ไม่สามารถต้านกระแสมวลชนได้อีกต่อไป ในการแข่งขันเกมชิงแชมป์โลก AFL-NFL ครั้งที่สาม ประจำฤดูกาล 1968 ได้มีการเปลี่ยนชื่อรายการอย่างเป็นทางการว่า "ซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 3" (Super Bowl III)
และหลังจากนั้น ก็ยังคงยึดถือชื่อดังกล่าวโดยไม่เปลี่ยนแปลง ยาวนานมากว่า 50 ปี จนถึงปัจจุบัน
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ