กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ : เมื่อความวุ่นวายทำให้พวกเขากลายเป็นมหาอำนาจเอเชีย

กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ : เมื่อความวุ่นวายทำให้พวกเขากลายเป็นมหาอำนาจเอเชีย

กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ : เมื่อความวุ่นวายทำให้พวกเขากลายเป็นมหาอำนาจเอเชีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ กลายเป็นชื่อที่คุ้นหูแฟนบอลชาวไทยมากขึ้น จากผลงานอันยอดเยี่ยมในเวที เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ที่สโมสรจากไทย ต้องก่ายหน้าผากทุกครั้ง หากต้องโคจรมาพบกับพวกเขา

แน่นอนว่า พวกเขาไม่ได้เก่งแค่ในระดับเอเชียเท่านั้น หลังเคยไปไกลถึงอันดับ 4 ของศึกฟุตบอลสโมสรโลกได้ถึง 2 ครั้ง แถมผลงานในประเทศก็ไร้เทียมทาน ด้วยการเป็นทีมที่คว้าแชมป์ไชนีส ซูเปอร์ลีก ได้มากครั้งที่สุดถึง 8 สมัย โดยเป็นการคว้าแชมป์ 7 ปีติดต่อกัน  

อย่างไรก็ดี พวกเขาอาจจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ หากไม่เกิดความวุ่นวายในวันนั้น ...

สโมสรแห่งเมืองกว่างโจว 

แม้ว่าลีกฟุตบอลจีนจะถือกำเนิดขึ้นมากว่า 60 ปี หลังก่อตั้งในปี 1954 แต่สโมสรส่วนใหญ่ในยุคเริ่มแรก ล้วนเป็นทีมที่มีหน่วยงานของรัฐอย่างกองทัพ สถาบันกีฬา หรือคณะกรรมการวัฒนธรรมและกีฬาท้องถิ่นเป็นเจ้าของ 


Photo : Guangzhou Evergrande F.C (广州恒大足球俱乐部)

เช่นเดียวกับ กว่างโจว เอฟซี บรรพบุรุษของ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1954 โดยองค์กรกีฬาของเมืองกว่างโจว โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในลีกแห่งชาติจีน ที่เรียกกันว่า National Football Conference

อย่างไรก็ดี ในช่วงตั้งไข่ กว่างโจว กลับไม่ได้มีผลงานที่น่าจดจำนัก พวกเขาต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการร่วงตกชั้นตั้งแต่ปีแรกที่ลงเล่นในลีก เจอกับปัญหาทางการเงินที่ทำให้ทีมล้มละลาย หรือแม้กระทั่งหายหน้าหายตาไปจากลีกเลยก็มี

แม้พวกเขาสามารถกลับมาได้อีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1980 หลังลีกเกิดการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ที่อนุญาตให้สโมสรที่มีบริษัทเป็นเจ้าของ สามารถเข้าร่วมลงแข่งขันในลีกได้ แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ต้องเผชิญชะตากรรมขึ้นๆ ลงๆ เมื่อทีมต้องเลื่อนชั้น ตกชั้น สลับกันไปแบบนี้แทบทุกปี 

อย่างไรก็ดี ในปี 1984 กว่างโจว เริ่มมาตั้งตัวได้ เมื่อ กว่างโจว ฟาร์มาซูติคอล บริษัทยาท้องถิ่นของเมือง ตัดสินใจเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมอย่างเต็มตัว ด้วยการให้เงินอุดหนุนที่สูงถึง 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6.24 ล้านบาท) และทำให้พวกเขาเป็นทีมในลีกจีนทีมแรกที่มีสปอนเซอร์สนับสนุนทีม 

งบประมาณที่ได้มา ทำให้ทีมมั่นคงขึ้น หลังจากกลับเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุดในปี 1985 กว่างโจว ก็สามารถรักษาสถานะทีมในลีกบนได้ถึง 4 ปีติดต่อกัน แม้จะหล่นชั้นไปในปี 1989 แต่ก็สามารถเลื่อนชั้นกลับมาได้ทันทีในปีต่อมา แถมในปี 1992 ยังไปได้ไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ของลีก 

อนาคตของกว่างโจว ดูจะสดใสยิ่งขึ้น เมื่อกลุ่มอพอลโล ได้เข้ามาเทคโอเวอร์ทีม ในปี 1993 และทำให้พวกเขากลายเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพทีมแรกของจีนที่มีเจ้าของอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 


Photo : www.stadiumguide.com

นอกจากนี้ พวกเขายังได้แต่งตั้ง จู้ ซุยอัน อดีตนักเตะสโมสรขึ้นมาเป็นกุนซือของทีม โดยมี ฮู จีจุน แข้งท้องถิ่นเป็นตัวนำทีม ที่กอดคอกันทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมจนคว้าตำแหน่งรองแชมป์ลีกได้อีกครั้งในปี 1994 โดย จีจุน ยังคว้าดาวซัลโวของลีกได้อีกด้วย 

แต่เหมือนสัจธรรมของชีวิตมีขึ้นก็ต้องมีลง พวกเขาได้มีโอกาสลิ้มรสชาติของลีกสูงสุดได้ไม่กี่ฤดูกาล ก็มีอันต้องร่วงหล่นชั้นอีกครั้งในปี 1998 และครั้งนี้ต้องถือว่าทรุดหนัก เมื่อต้องเล่นอยู่ในลีกรองอยู่ถึง 9 ปี แถมบางปีเกือบตกชั้นลงไปเล่นในลีกระดับ 3 ด้วยซ้ำ 

พวกเขาเพิ่งจะกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง หลังการเข้ามาของ กว่างโจว ฟาร์มาร์ซูติคอล บริษัทคู่บุญในอดีต ที่เขามาเทคโอเวอร์ทีมอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2006 และเพียงปีเดียว พวกเขาก็เลื่อนชั้นกลับไปเล่นในลีกสูงสุดได้สำเร็จ หลังคว้าแชมป์ ไชน่า ลีกวัน ในปี 2007 

แต่ความสุขก็อยู่กับพวกเขาได้ไม่นาน ...

คดีสุดอื้อฉาว 

แม้ผลงานบนลีกสูงสุดของ กว่างโจว จีพีซี ชื่อใหม่ที่ได้มาจากบริษัทแม่ อาจจะไม่ได้เลิศเลอเฟอร์เฟค แต่พวกเขาก็เอาตัวรอดในลีกสูงสุดได้ไม่ยาก หลังจบในอันดับ 7 ของตารางในฤดูกาลแรกที่กลับขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี 


Photo : www.lifeofguangzhou.com

ปีที่สอง กว่างโจว ก็ยังพอคงเอาตัวรอดได้อยู่ แม้ผลงานจะค่อนข้างแย่กว่าปีก่อน หลังจบในอันดับ 9 ของตารางจากทั้งหมด 16 ทีม โดยมีแต้มห่างจากโซนหล่นชั้นเพียงแค่ 5 แต้ม แต่ก็ยังรอดพ้นจากการหล่นชั้ย

ทว่า สุดท้ายฝันร้ายก็มาเยือนพวกเขาจนได้ 

ปลายปี 2009 เหมือนฟ้าผ่ากลางสโมสร เมื่อกระทรวงความมั่นคงของจีน ออกมาเปิดเผยว่า หยาง ซู อดีตรองประธานสมาคมฟุตบอลเมืองกว่างโจว และผู้จัดการทั่วไปของ กว่างโจว ฟาร์มาซูติคอล ในตอนนั้น ถูกจับกุมหลังมีส่วนพัวพันในคดีล็อคผลการแข่งขัน  

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นปี 2006 สมัยที่กว่างโจวยังเล่นในลีกรองของจีน ในเกมพบกับ ชานซี ลู่หู พวกเขาเป็นฝ่ายเอาชนะคู่แข่งไปได้ 5-1 มันดูเหมือนไม่มีอะไร เพราะสุดท้ายในฤดูกาลนั้น พวกเขาจบในอันดับ 3 ของตารางและพลาดสิทธิ์เลื่อนชั้น 

ทว่า พอสืบลงไปกลับเจอความไม่ชอบมาพากลในเกมนี้ เมื่อตำรวจพบว่า หยาง ซู ผู้จัดการทั่วไป กว่างโจว ในตอนนั้น ได้จ่ายเงิน 200,000 หยวน (ราว 9 แสนบาท) ให้กับ หวัง ป๋อ ผู้จัดการทั่วไปของ ชานซี เพื่อให้ทีมเขายอมแพ้ในเกมนี้ 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ อู่ เสี่ยวตง และ เซีย บิน รองประธานสโมสรของกว่างโจว ต่างรู้เห็นในเรื่องนี้ แถม หวัง ป๋อ ยังไปเล่นพนันออนไลน์กับเว็บไซต์ต่างประเทศเพื่อทายผลเกมของตัวเอง ก่อนที่สุดท้ายผลการแข่งขันจะออกมาแบบที่พวกเขาต้องการ

จากผลดังกล่าวทำให้รองประธานสโมสรกว่างโจว ถูกตัดสินจำคุกร่วมกับ หวัง ป๋อ และ ติง เจ้อ ผู้จัดการทั่วไปและผู้ช่วยผู้จัดการทีมของ ชานซี รวมไปถึง หยาง ซู ผู้จัดการทั่วไปของกว่างโจว ในขณะที่สโมสรถูกปรับตกชั้น และถูกบังคับให้ขายทอดตลาด   

“ความซื่อตรงทำให้เราทุกข์ทรมานที่สุด” หยาง ซู กล่าวในวันที่โดนจับกุม

“มันมีกฎลับในวงการฟุตบอลจีนมานาน ผมคิดว่าเพราะทุกคนทำแบบนี้ (ติดสินบนและล็อคผล) เราจะทุกข์ทรมานอย่างหนักกับความซื่อสัตย์ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ด้วย”  

“ผมรู้ว่ามันผิด แต่ผมคิดว่าเราน่าจะรอดจากการถูกจับ”


Photo : www.90a.cc

อันที่จริงปัญหาการล็อคผลฟุตบอลและการพนันในจีน รวมไปถึงการติดสินบน เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงการฟุตบอลจีนซบเซาในช่วงทศวรรษที่ 2000 ทำให้แม้ว่า Jia League ลีกอาชีพของจีนจะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1994 หรือหลัง เจลีก ลีกอาชีพของญี่ปุ่นเพียงแค่ปีเดียว แต่วงการฟุตบอลกลับไม่พัฒนาไปได้เท่าที่ควร 

“พ่อแม่มักติดสินบนโค้ช เพื่อให้ (ลูกของพวกเขา) ได้เข้าไปอยู่ในทีม ทีมติดสินบนกรรมการเพื่อชัยชนะ” โรแวน ไซมอนส์ ผู้เขียนเรื่อง Bamboo Goalposts: One man's quest to teach the People's Republic of China to love football กล่าวกับ CNN 

“ฟุตบอลแทบจะไม่ได้รับความนิยมเลยในช่วง 10 ปีที่มีปัญหาเรื่องล็อคผล” แมดส์ เดวิดเซน อดีตโค้ชของ บรอนด์บี ซึ่งทำงานที่จีนมาตั้งแต่ปี 2012 ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมงานสตาฟฟ์โค้ชของ สเวน โกรัน อีริคส์สัน กล่าวกับ Goal 

นอกจากนี้ มันยังไม่ใช่ครั้งแรกที่ กว่างโจว ต้องพัวพันกับเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 1999 เหวิน จุ้นหวู อดีตนักเตะของทีมที่มีดีกรีเยาวชนทีมชาติจีน ถูกจับได้ว่าเขาและนักเตะอีกสามคน รวมไปถึงโค้ช มีส่วนสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มการพนันจนถูกไล่ออกมาจากสโมสรมาแล้ว 

นั่นทำให้คดีอื้อฉาวในครั้งนี้ กลายเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ของกว่างโจว พวกเขากลายเป็นทีมที่มีตราบาป ถูกปรับตกชั้น แถมยังไร้อนาคตเพราะถูกบังคับให้ขายทีม หลายคนอาจจะคิดว่าอาจจะถึงจุดของพวกเขาแล้ว 

แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก กว่างโจวก็ได้พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เศรษฐีมาโปรด 

จากคดีสุดอื้อฉาว ทำให้กว่างโจว ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่สุดขีด เพราะไม่เพียงแต่ต้องตกมาเล่นในลีกรอง พวกเขายังจำเป็นต้องขายนักเตะตัวหลักหลายคนออกจากทีม รวมไปถึง ซู เหลียง และ ไป เล่ย ที่ ย้ายไปร่วมทีม ปักกิ่ง กั๋วะอัน และ เทียนจิน เทดา ด้วยค่าตัว 2.8 ล้านหยวน (12 ล้านบาท) และ 1.7 ล้านหยวน (7.65 ล้านบาท) ตามลำดับ 


Photo : www.foottheball.com

แต่ก่อนเปิดฤดูกาลแค่เดือนเศษ ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นกับพวกเขาเมื่อมีกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งยื่นซื้อสโมสรด้วยราคา 100 ล้านหยวน (450 ล้านบาท) และกลุ่มทุนกลุ่มนั้นก็มีชื่อว่า เอเวอร์แกรนด์ เรียล เอสเตท บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของจีน 

เอเวอร์แกรนด์ ไม่ใช่แค่บริษัทร่ำรวยธรรมดา พวกเขาเป็นถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของจีน แถม ซู เจียหยิน เจ้าของบริษัทเป็นถึงมหาเศรษฐีที่รวยเป็นอันดับ 11 ของจีนในตอนนั้น ด้วยรายได้กว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7 แสนล้าบาท) ต่อปี 

หลังเข้ามาเทคโอเวอร์ กลุ่มเอเวอร์แกรนด์ ได้เริ่มต้นปฏิวัติสโมสรครั้งใหญ่ พวกเขานำเงินที่มีมาใช้ในทางที่ถูกต้อง ด้วยการทุ่มกว้านซื้อนักเตะฝีเท้าดีดีกรีทีมชาติจากทั่วประเทศมาร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็น เกา หลิน ที่ย้ายมาจาก เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว ด้วยค่าตัว 2 ล้านหยวน (9 ล้านบาท) หรือ เจิ้ง จื่อ อดีตกัปตันทีมชาติจีนมาจาก กลาสโกว์ เซลติก ในช่วงหน้าร้อน 

นอกจากนี้ พวกเขายังทำเซอร์ไพรส์ ด้วยการทุ่มเงิน 3.5 ล้านดอลลาร์ (78 ล้านบาท) ดึงตัว มูริกี กองหน้าชาวบราซิลของ แอตเลติโก มิเนโร มาร่วมทีม ที่ทำให้เขากลายเป็นนักเตะค่าตัวแพงที่สุดของจีนในตอนนั้นอีกด้วย 

“การเมืองมีอิทธิพลอย่างมากต่อการลงทุนกับฟุตบอลในจึน แต่เอเวอร์แกรนด์ค่อนข้างต่างออกไป” คริสโตเฟอร์ แอตกิน ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลจีนของ ESPN กล่าวกับ Finalcial Times 

“จากมุมมองทางธุรกิจ เราเข้าใจว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เติบโตไปตลอด  แต่พวกเขาก็ใช้ฟุตบอลช่วยโปรโมตแบรนด์ของพวกเขา ด้วยการแตกสาขาออกไปในธุรกิจอื่น อย่างเช่นน้ำดื่มหรือน้ำมันปรุงอาหาร” 

ผลจากการลงทุนตอบแทนพวกเขาอย่างทันควัน เมื่อทีมผงาดคว้าแชมป์ ไชนา ลีกวัน ได้ในปี 2010  โดยมีแต้มห่างจากอันดับ 3 ซึ่งเป็นโซนที่ไม่ได้เลื่อนชั้นถึง 17 คะแนน และกลับขึ้นมาเล่นใน ไชนีส ซูเปอร์ลีก ได้สำเร็จ

แต่พวกเขายังไม่หยุดเพียงแค่นั้น กว่างโจว ยังคงดำเนินนโยบายทุ่มเงินกว้านนักเตะฝีเท้าดีจากทั่วประเทศและทั่วโลกมาร่วมทีม และเริ่มจ่ายหนักขึ้นเพื่อดึงนักเตะระดับบิ๊กเนมเข้ามา ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมอื่นเลียนแบบในเวลาต่อมา 


Photo : www.zimbio.com

ไม่ว่าจะเป็น ลูคัส บาร์ริออส กองหน้าทีมชาติปารากวัย (8.5 ล้านยูโร หรือราว 294 ล้านบาท), อเลสซานโดร ดิอามันติ (6.9 ล้านยูโร หรือ 238 ล้านบาท) และ อัลแบร์โต จิลาร์ดิโน (5 ล้านยูโร หรือ 173 ล้านบาท) สองกองหน้าทีมชาติอิตาลี, โรบินโญ่ (ฟรี) และ เปาลินโญ่ (14 ล้านยูโร หรือ 484 ล้านบาท) สองแข้งทีมชาติบราซิล หรือแม้แต่ แจ็คสัน มาร์ติเนซ (42 ล้านยูโร หรือ 1,450 ล้านบาท) ดาวยิงทีมชาติโคลอมเบียก็ต่างเคยมาเล่นให้กับพวกเขา 

และไม่เพียงแค่นักเตะเท่านั้น กว่างโจว ยังทุ่มงบไม่อั้นในการหาโค้ชดังมาขับเคลื่อนทีม ที่ทำให้พวกเขาได้ตัว สองกุนซือดีกรีแชมป์โลกอย่าง มาร์เซโล่ ลิปปี้ อดีตกุนซือทีมชาติอิตาลี ที่มีค่าเหนื่อยสูงถึง 10 ล้านยูโรต่อปี (346 ล้านบาท) และ หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ อดีตกุนซือทีมชาติบราซิล มาคุมทัพ


Photo : wildeastfootball.net

“พวกเขาได้เปลี่ยนวิธีคิดในฟุตบอลจีน ที่จากเดิมการล็อคผลและการพนันคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ มาเป็นชัยชนะคือสิ่งสำคัญมากกว่า” แอตกินส์ กล่าวต่อ 

“พวกเขาทำได้สำเร็จด้วยการใช้เงินมหาศาลดึงนักเตะที่ดีที่สุดจากในจีนและทั่วโลกมาอยู่กับทีม” 

และมันก็ทำให้ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ แปรสภาพจากทีมที่เคยตกชั้นจากคดีอื้อฉาวมาเป็นมหาอำนาจแห่งฟุตบอลจีน พวกเขาคว้าแชมป์ ไชนีส ซูเปอร์ลีก ได้ทันทีตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่เลื่อนชั้นกลับมา ก่อนจะคว้าแชมป์รายการนี้ได้ถึง 7 สมัยติดต่อกัน กลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำได้ โดยปัจจุบัน พวกเขาคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 8 จาก 9 ฤดูกาลหลังสุด พลาดแค่ปีเดียวในปี 2018 ให้กับ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี เท่านั้น 

ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยกฐานะเป็นยอดทีมแห่งเอเชีย ที่แทบไม่มีใครอยากเจอใน เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก และสามารถก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ถึง 2 ครั้งในฤดูกาล 2013 และ 2015 แถมยังไปไกลได้ถึงอันดับ 4 ถึงสองครั้งในฟุตบอลสโมสรโลกในปีเดียวกัน


Photo : bolaskor.com

“โมเดลของเอเวอร์แกรนด์ คล้ายกับ เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่พวกเขาคว้าแชมป์อย่างง่ายดายเพราะพวกเขาลงทุนกับมัน” ตง เจี้ยง เฉิง บรรณาธิการ World Soccer Magazine ภาคภาษาจีน กล่าวกับ CNN 

“พวกเขาเป็นทีมที่แข็งแกร่ง และมีนักเตะต่างชาติมากมาย พวกเขาเป็นทีมที่ดีเพราะกล้าที่จะทุ่มเงิน” 

พวกเขาเพิ่งจะขายหุ้นส่วนหนึ่งให้กับ Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ซ ชื่อดังของจีน ที่ทำให้สโมสรเปลี่ยนชื่อมาเป็น กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ เถาเป่า และกลายเป็นสโมสรแรกของเอเชียที่ได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 

จริงอยู่การใช้เงินมหาศาลในการสร้างทีม อาจจะดูเป็นทางลัดที่ช่วย กว่างโจว ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาไม่ได้ใช้เงินไปกับเรื่องนี้เท่านั้น

รากฐานแห่งฟุตบอลจีน 

แม้ว่ากว่างโจว จะใช้เงินไปหลายร้อยล้านหยวน ไปกับการทุ่มซื้อนักเตะระดับบิ๊กเนม รวมไปถึงโค้ชชื่อดัง แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ควักเงินถึง 2 พันล้านหยวน (9 พันล้านบาท) ไปกับการสร้างโรงเรียนสอนฟุตบอลที่ชื่อว่า “เอเวอร์แกรนด์  อินเตอร์เนชั่นแนล ฟุตบอล สคูล”  


Photo : footyroom.co

มันคือโรงเรียนสอนฟุตบอลที่เปิดทำการตั้งแต่ปี 2012 ในพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร ซึ่งประกอบไปด้วย รวมไปถึงสนามหญ้า 80 สนามพร้อมใช้งาน สำหรับนักเรียน 2,300 คน ที่ทำให้มันกลายเป็นอคาเดมีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการบันทึกของกินเนสบุ๊ค 

“กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ มีโรงเรียนที่มีเด็ก 2,000 คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและซ้อมฟุตบอล 6 วันต่อสัปดาห์” เดวิดเซน อธิบายกับ Goal 

“โรงเรียนแห่งนี้ร่วมมือกับ เรอัล มาดริด มันเป็นสถานที่ที่น่าทึ่งด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่ดีที่สุดที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน โค้ช เรอัล มาดริด 14 คนใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นและคิดค้นหลักสูตร ถ้ามีเด็ก 2,000 คน ฝึกฟุตบอล 6 วันต่อสัปดาห์ ต้องมีใครสักคนที่มีฝีเท้าใช้ได้บ้าง” 


Photo : .ytsports.cn

ภายใน เอเวอร์แกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟุตบอล สคูล ยังมีอาคารเรียน หอพัก สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส โรงอาหาร ห้องสมุด และห้องคอมพิวเตอร์อย่างครบครัน ที่ทำให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่โดยไม่จำเป็นต้องออกไปไหน 

“ขนาดของศูนย์ฝึกมันเหลือเชื่อมาก ไม่มีใครเคยพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้” มิเกล อังเคล อดีตผู้รักษาประตู เรอัล มาดริด ที่มีลูกชายเป็นโค้ชให้ศูนย์ฝึกแห่งนี้กล่าวกับ Financial Times 

สิ่งนี้คือความตั้งใจของ ซู เจียหยิน เจ้าของเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อ กว่างโจว เขาหวังว่าโรงเรียนแห่งนี้ จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนักเตะฝีเท้าดีที่จะขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับกว่างโจว และทีมชาติจีนต่อไปในอนาคต 


Photo : www.independent.co.uk

“กลยุทธ์ในระยะยาวของเราคือใช้นักเตะดาวรุ่งเพื่อเปลี่ยนเอเวอร์แกรนด์ ไปเป็นทีมที่มีแต่นักเตะในประเทศภายใน 8-10 ปี และสร้างดาวดังในจีน เอเชีย และระดับโลก” ซู กล่าวในวันเปิดทำการโรงเรียนเมื่อปี 2012 

“ความมุ่งมั่นของซูกลายเป็นฮีโร่ของคนจีนทั้งประเทศ เขารู้ว่ามันต้องมีนักเตะพรสวรรค์ฝีเท้าดีอยู่มากมาย” หลิว เจียงหนาน อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนกล่าวเสริมกับ Financial Times 


Photo : www.90min.com

มันคือวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเจ้าของทีมคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ใช้เงินซื้อความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังกล้าทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อวางรากฐานให้แก่ทีม ที่ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับในฐานะทีมอันดับ 1 ของเอเชียในระยะเวลาไม่กี่ปี 

และเมื่อมองย้อนกลับไป เหตุการณ์สุดอื้อฉาวในวันนั้น อาจจะเป็นความโชคดีในความโชคร้ายของพวกเขาก็เป็นได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook