หนักกว่ามวย เจ็บเหมือนมวยปล้ำ : รักบี้ vs อเมริกันฟุตบอล กีฬาไหนเจ็บปวดหฤโหดกว่ากัน?

หนักกว่ามวย เจ็บเหมือนมวยปล้ำ : รักบี้ vs อเมริกันฟุตบอล กีฬาไหนเจ็บปวดหฤโหดกว่ากัน?

หนักกว่ามวย เจ็บเหมือนมวยปล้ำ : รักบี้ vs อเมริกันฟุตบอล กีฬาไหนเจ็บปวดหฤโหดกว่ากัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รักบี้ กับ อเมริกันฟุตบอล คือสองประเภทกีฬา ที่ถูกมองว่าเป็นฝาแฝดของกันและกัน ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์การเล่น รูปแบบวิธีการเล่น ที่ดูผิวเผินไม่ต่างกันมาก รวมทั้งมีประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นของกีฬา ในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญเป็นกีฬาสุดโหด ที่ชวนให้ผู้เล่นเจ็บตัวอยู่ร่ำไป

ไม่มีใครสงสัยในความโหดของทั้งสองกีฬา การปะทะที่รุนแรงหนักหน่วงมีให้เห็นอยู่ในทุกเกมการแข่งขัน กระนั้นสิ่งที่ผู้คนสงสัย คือสองกีฬานี้ กีฬาไหนโหดร้ายกับร่างกายมนุษย์มากกว่ากัน? และกีฬาทั้งสองประเภท สร้างความเจ็บปวดให้กับมนุษย์มากแค่ไหนกัน

กีฬาลูกผู้ชาย ต้องมีเจ็บกันบ้าง

เริ่มต้นกันที่รักบี้ กีฬาเก่าแก่ของประเทศอังกฤษ อันถูกขนานนามว่า “กีฬาของลูกผู้ชาย” ขึ้นชื่อว่ากีฬาที่พิสูจน์ความเป็นชาย จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยง ถึงการต่อสู้อย่างจริงจังในสนาม ปะทะอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อคว้าชัยชนะ


Photo : kyodonews.net

นิ้วหัก, หัวแตก, นักรักบี้เลือดอาบ กลายเป็นเรื่องปกติ...แต่อีกด้านหนึ่ง รักบี้คือภาพสะท้อนถึงการมีน้ำใจนักกีฬา ให้ความเคารพคู่ต่อสู้ ไม่ว่าจะเล่นกันหนักเพียงใด นักกีฬารักบี้จะไม่พยายามปะทะนอกเกม เพราะนั่นคือเรื่องที่รับไม่ได้

ว่ากันว่า อาการเจ็บตัวของนักรักบี้ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับนักมวยปล้ำอาชีพ นั่นคือ “รุนแรงแต่ไม่มีการป้องกัน” ด้วยธรรมชาติของกีฬารักบี้ ผู้เล่นไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะได้ การโดนรวบ โดนชน หลังกระแทกพื้น หรือล้มหน้าคะมำ มีอาการบาดเจ็บตามมา คือสิ่งที่นักกีฬารักบี้ต้องยอมทำใจรับสภาพ 

แต่นักกีฬารักบี้ พวกเขาถูกฝึกมาให้รู้จักการเซฟร่างกายของตัวเอง การปะทะอาจจะรุนแรงก็จริง แต่พวกเขาจะไม่พยายามฝืนในการเล่น เพื่อเสี่ยงเจ็บตัว มีวิธีการล้มลงกับพื้นที่ถูกฝึกกันมาเป็นอย่างดี รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการอัดหนัก หากเป็นไปได้

การเข้าปะทะ ส่วนใหญ่นักรักบี้อาชีพ จะเน้นไปที่การรวบขา เพื่อให้คู่ต่อสู้ล้ม มากกว่าที่จะพุ่งเข้าไปอัดกระแทกที่ลำตัวของคู่ต่อสู้ ซึ่งส่วนใหญ่การปะทะในรูปแบบนั้น จะเหมือนการรวบ มากกว่าอัดกระแทกเข้าไปตรงๆ

อีกทั้งความไหลลื่นของกีฬารักบี้ ทำให้นักกีฬาสามารถหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บได้ ผ่านการโยนลูกรักบี้กลับหลังให้ผู้เล่นคนอื่น หรือหากผู้เล่นสามารถฉีกวิ่งเพื่อทำระยะได้แล้ว พวกเขาสามารถวิ่งได้ในระยะยาว ไม่ต้องเสียงโดนการปะทะให้เจ็บตัวอยู่บ่อยๆ


Photo : metro.co.uk

ด้วยเหตุนี้ ทำให้อาการบาดเจ็บอันดับหนึ่งของกีฬาชนิดนี้คือ อาการปวดเมื่อยทางกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการปะทะของร่างกาย รวมไปถึงการใช้ร่างกายในการแข่งขัน ซึ่งหากรุนแรงขึ้นมาหน่อย ก็คือการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการบาดเจ็บประเภทนี้ ครองอัตราส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ ของอาการบาดเจ็บของนักกีฬารักบี้

ตามมาด้วยอาการจำพวกพวกข้อมือพลิก, ข้อเท้าพลิก, นิ้วหักหรือนิ้วซ้น ที่ 30 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยอาการข้อต่อเคลื่อน, กระดูกหักหรือแตก และบาดแผลที่ทำให้เกิดการเลือดไหลจากร่างกาย เช่น หัวแตกตามลำดับ

กระนั้นไม่ใช่ว่ารักบี้จะไม่มีโอกาสเสี่ยงอาการบาดเจ็บทางศีรษะ โดยเฉพาะอาการกระทบกระเทือนทางสมอง เพราะมีการสำรวจว่า ผู้เล่นรักบี้มีค่าความเสี่ยง ที่จะต้องพบเจอกับอาการกระทบกระเทือนทางสมอง อยู่ที่ 15 เปอร์เซนต์

นอกจากนี้ หากผู้เล่นรักบี้มีอาการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ 44 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นอาการกระทบการเทือนทางสมอง 

ดังนั้นแล้ว แม้ความรุนแรงของกีฬารักบี้ จะอยู่ในระดับที่ป้องกันได้ แต่นักกีฬาถือว่าอยู่ในอาชีพ ที่มีความเสี่ยงไม่น้อยเหมือนกัน

คนชนคน - สมองชนสมอง

บินข้ามจากประเทศอังกฤษ สู่สหรัฐอเมริกา กับกีฬาฟุตบอลยอดนิยมอย่างอเมริกันฟุตบอล ซึ่งความแตกต่างจากกีฬารักบี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านเครื่องแต่งกาย 


Photo : www.sport1.de

ในขณะที่รักบี้ไม่มีเครื่องป้องกันให้กับนักกีฬาอย่างชัดเจน นอกจากฟันยาง (หรือจะใส่หมวกกับเกราะแบบอ่อนป้องกันก็ได้ แต่ไม่ถือเป็นข้อบังคับ) อเมริกันฟุตบอลมีเครื่องแต่งกาย เปรียบเสมือนออกรบ ตั้งแต่หัวจรดเท้า

ทั้งหมวกกันน็อค, ชุดเกราะอย่างดีบริเวณลำตัว หน้าอก หัวไหล่ สะโพก ต้นขา รวมถึงไอเท็มยอดฮิต อย่างฟันยาง

หากเปรียบเทียบที่เครื่องป้องกันแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่ารักบี้คงเป็นกีฬาที่เจ็บตัวกว่าแน่นอน แต่แท้จริงแล้ว อเมริกันฟุตบอลต่างหาก คือกีฬาที่หนักหน่วงชวนเจ็บตัวมากกว่า และเป็นเหตุผล ที่ทำให้นักอเมริกันฟุตบอล ต้องใส่เสื้อเกราะอลังการงานสร้างแบบในปัจจุบัน

หนึ่งในอาการบาดเจ็บยอดฮิต ของนักอเมริกันฟุตบอล คือการกระทบกระเทือนทางสมอง หรือคอนคัสชั่น (Concussion) ซึ่งนักอเมริกันฟุตบอล มีความเสี่ยงจากอาการบาดเจ็บนี้ มากถึง 60 เปอร์เซนต์ และเป็นอาชีพนักกีฬาที่เสี่ยงกับอาการบาดเจ็บประเภทนี้มากที่สุด


Photo : www.cornnation.com

สำหรับอาการบาดเจ็บทางสมองของนักอเมริกันฟุตบอลส่วนใหญ่ จะเป็นอาการบาดเจ็บสะสม และแสดงผลหลังนักกีฬาเลิกเล่น โดยผู้เล่นอเมริกันฟุตบอล 41 เปอร์เซนต์ จะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องของความทรงจำระยะยาว อันเป็นผลมาจากอาการบาดเจ็บที่ได้รับ สมัยเป็นนักกีฬา

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งโรคที่นักอเมริกันฟุตบอลสุ่มเสี่ยงอย่างมากคือ โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง หรือ CTE (chronic traumatic encephalopathy) ซึ่งมีผลสำรวจว่า 86 เปอร์เซนต์ของนักกีฬาจาก NFL ลีกอเมริกันฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลก มีอาการเข้าข่ายโรคนี้

นอกจากนี้ อาการบาดเจ็บทางสมองของนักอเมริกาฟุตบอล ยังอาจนำไปสู่โรคพาร์คินสัน, โรคนอนไม่หลับ, ปวดหัวเรื้อรัง, ติดยาแก้ปวดหรือสารเสพติด เป็นต้น

หากเหมารวมอาการบาดเจ็บบริเวณสมองของนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลรวมกัน...99 เปอร์เซนต์ของนักกีฬาอาชีพนี้ ต้องได้รับบาดเจ็บเกี่ยวข้องบริเวณสมอง ไม่มากก็น้อย หรือถ้าพูดง่ายๆคงบอกได้ว่า การเป็นนักอเมริกันฟุตบอล มีของแถมเป็นอาการบาดเจ็บ บริเวณสมอง ก็คงไม่ผิดนัก

นอกจากอาการบาดเจ็บบริเวณสมองแล้ว นักอเมริกันฟุตบอล ยังต้องเผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ทั้งกล้ามเนื้อฉีก,แขนหัก ขาหัก, ข้อเท้าพลิก ไม่ต่างกับนักรักบี้แม้แต่น้อย

ซึ่งต้นตอทั้งหมดทั้งมวล ก็มาจากกฎของกีฬาอเมริกันฟุตบอล ที่ให้ความสำคัญกับการขยับหลา ที่ละ 10 หลา เพื่อให้ทีมได้บุกต่อ จึงทำให้ทุกๆการเคลื่อนที่ เพื่อพาบอลไปข้างหน้า มีความสำคัญอย่างมาก 

นักอเมริกันฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นทีมบุกและทีมรับ จึงต้องทุ่มเทร่างกายทำหน้าที่ของตัวเอง สำหรับทีมรับพวกเขาจำเป็นต้องอัดให้หนักเพื่อหยุดผู้เล่นทีมบุก 

ขณะที่ผู้เล่นทีมบุกก็มักจะฝืนตัวเอง พาบอลไปข้างหน้า หลายคนแม้โดนอัดอย่างแรง ก็ยังคงฝืนวิ่งต่อไป เพื่อไปโดนผู้เล่นทีมรับอัดอีกรอบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้นักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ มีค่าเฉลี่ยอายุน้อยกว่าที่ควร โดยนักอเมริกันฟุตบอล ในลีก NFL มีค่าเฉลี่ยการเล่นในลีกต่อบุคคล เพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น


Photo : www.npr.org

อีกทั้งในกีฬาอเมริกันฟุตบอลเอง ยังมีผู้เล่นหลายตำแหน่ง ที่มีหน้าที่แทบไม่ได้เล่นกับบอล แต่มีหน้าที่ไว้อัดคนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ดีเฟนด์ซีฟเอนด์ (Defensive End), ดีเฟนด์ซีฟ แทคเคิล (Defensive Tackle), ไลน์แบ็คเกอร์ (Linebacker) จากฝั่งผู้เล่นเกมรับ รวมไปถึงเหล่าออฟเฟนซีฟ ไลน์ (Offensive Line) จากฝั่งผู้เล่นเกมรุก

ด้วยระบบเกมการแข่งขัน ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ “คนชนคน” ทำให้นักอเมริกันฟุตบอล ต้องเผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อการปะทะยอดฮิต คือการพุ่งอัดคู่ต่อสู้ (ใครนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงท่าสเปียร์ ของกีฬามวยปล้ำ) 

เท่ากับว่านักอเมริกันฟุตบอล ต้องเอาศีรษะของตัวเอง เข้าไปเสี่ยง เพื่อเล่นงานคู่แข่ง ต่อให้ใส่หมวกกันน็อค เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ แต่ในระยะยาว การที่ศีรษะไล่ชนกับของแข็งชนิดอื่น ก็เหมือนกับการฆ่าตัวตายอย่างช้า ๆ นี่เอง

ไม่มีใครอยากเจ็บตัว

หากให้สรุปจากหลักฐาน ผ่านการวิจัย คงสรุปได้ว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างนักกีฬารักบี้ และนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล มีความแตกต่างที่ความเสี่ยงบริเวณสมอง ซึ่งนักอเมริกันฟุตบอลมีความเสี่ยง มากกว่านักรักบี้อยู่พอสมควร


Photo : www.cnbc.com

แต่ถึงรักบี้จะเป็นกีฬาที่เสี่ยงเจ็บตัวน้อยกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ใช่กีฬาที่ไม่เจ็บตัว อย่างที่บอกไปว่า อาการบาดเจ็บของนักกีฬารักบี้ ใกล้เคียงกับอาการบาดเจ็บของนักมวยปล้ำอาชีพ นั่นหมายความว่ากีฬานี้ มีความเสี่ยงทำให้คนเจ็บตัว เท่ากับกีฬาประเภทต่อสู้เลยทีเดียว...ขณะที่อเมริกันฟุตบอล ผู้เล่นกีฬานี้มีความเสี่ยงบาดเจ็บบริเวณหัว หรือสมอง มากกว่านักกีฬามวยสากลอาชีพเสียอีก

แน่นอนว่า เมื่อทั้งสองอาชีพ ต้องเอาร่างกายตัวเองไปเสี่ยง กับอาการบาดเจ็บขนาดนี้ ทำให้คำถามต่อมาคือ พวกเขาได้อะไรกลับมาบ้าง หากได้รับอาการบาดเจ็บอย่างหนัก ผ่านการเล่นกีฬา

สำหรับกีฬารักบี้ ไม่ได้เจอปัญหานี้มากนัก เนื่องจากความเสี่ยงของกีฬานี้ อยู่ในระดับที่พอรับได้ บวกกับวัฒนธรรมของการให้เกียรติ ความเป็นลูกผู้ชายในเกมกีฬา ทำให้การเลี่ยงถึงความรุนแรงโดยไม่จำเป็น ยังพอมีอยู่ การฟ้องร้องขึ้นศาล เรียกค่าเสียหาย จากอาการบาดเจ็บ จึงไม่ได้มีบ่อยนัก

ที่ประเทศอังกฤษ จะมีองค์กรการกุศล เพื่อให้นักกีฬารักบี้ เรียกร้องเงินชดเชย หากได้รับบาดเจ็บที่รุนแรงตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น แขนหัก, ขาหัก, นิ้วหัก, สะโพกหัก, เอ็นตามร่างกายฉีกขาด เป็นต้น

กระนั้น หากเป็นอาการบาดเจ็บบริเวณสมอง นักกีฬาหลายคน เลือกที่จะฟ้องศาล เพื่อเรียกค่าชดเชย ดังเช่นกรณีของ เลียม คัลเลน (Liam Cullen) นักรักบี้ชาวออสเตรเลีย ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณสมอง จนทำให้เขาต้องเลิกเล่น ได้ตัดสินใจฟ้องนักกีฬาที่ทำให้เขาบาดเจ็บ และสโมสรของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม เพื่อเรียกร้องเงินชดเชย จำนวน 1,400,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 29 ล้านบาทไทย)


Photo : www.thechronicle.com.au

สำหรับอเมริกันฟุตบอล ด้วยความรุนแรง ความเสี่ยงที่มากกว่ารักบี้ ทำให้การฟ้องร้อง เพื่อเอาเงินชดเชยจากอาการบาดเจ็บของผู้เล่น กลายเป็นเรื่องปกติของกีฬาชนิดนี้ โดยเฉพาะในลีก NFL ที่นักกีฬาฟ้องร้อง เรียกเงินชดเชยจากลีกเป็นประจำ

เคสจ่ายเงินชดเชยที่ใหญ่ที่สุด คือ NFL ตัดสินใจจ่ายเงิน 765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24,185 ล้านบาท) ให้แก่อดีตผู้เล่นของลีกจำนวน 18,000 คน เพื่อชดเชยอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นสมัยเป็นผู้เล่น

นอกจากนี้ผู้เล่นที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ จะได้รับเงินชดเชยเพิ่ม 5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 195 ล้านบาท), 4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 126 ล้านบาท) สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง และ 3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 95 ล้านบาท) สำหรับผู้มีอาการสมองเสื่อม

ถึงจะได้เงินชดเชยมากับอาการบาดเจ็บมากเพียงใด แต่ไม่มีนักกีฬาคนใด อยากเอาร่างกายตัวเอง ไปเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บ เพื่อเงินก้อนโต ทุกวันนี้ นักอเมริกันฟุตบอลหลายคน ยังคงต่อสู้เพื่อหาทางลดอาการบาดเจ็บให้กับตัวเอง

โดยเฉพาะเมื่อลีก NFL วางแผนที่จะเพิ่มเกมการแข่งขันมากขึ้นอีก 1 เกม ในฤดูกาลหน้า เพื่อเพิ่มเงินและมูลค่าของลีก ทำให้คำถามเรื่องการคำนึงถึงสุขภาพร่างกายของผู้เล่น ถูกตั้งคำถามขึ้นอีกครั้ง โดยเหล่านักกีฬาอเมริกันฟุตบอลเอง

อาการบาดเจ็บ กับเกมกีฬาคือเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บางครั้งเราต้องคำนึงถึงความสำคัญ ของสุขภาพร่างกายของผู้เล่น เพราะร่างกายของมนุษย์ หากเสื่อมสูญสลายลงไป ก็ไม่มีทางสร้างมันกลับขึ้นมาใหม่ ต่อให้มีเงินมากแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะนำสุขภาพร่างกาย ที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook