"Formula 1 : Drive to Survive" ซีรีส์เจาะลึก F1 ที่จะทำให้คุณรู้ว่า "เร็วอย่างเดียวไม่พอ"
คุณคิดว่า การใช้ชีวิตในกีฬาที่เรียกได้ว่า เร็ว และ อันตรายที่สุด มันยากลำบากแค่ไหน?
ผลงานที่ต้องสร้าง, การแข่งขันทั้งกับคนอื่น หรือแม้แต่เพื่อนร่วมทีม พวกเดียวกัน, ความกดดันจากผู้คนรายล้อม, อุปสรรคทางการเงิน และความเสี่ยงที่อาจจบชีวิตของตัวเองได้ทุกเมื่อ... นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอใน Formula 1 หรือ รถสูตรหนึ่ง
และนี่คือซีรี่ส์จาก Netflix ที่จะทำให้คุณรู้ซึ้งถึงสัจธรรมแห่งโลกความเร็ว ที่แค่เร็วอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอให้คุณอยู่รอดในวงการนี้ กับ "Formula 1: Drive to Survive"
หมายเหตุ : บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรี่ส์ หากผู้อ่านยังไม่ได้รับชมมาก่อน และต้องการความตื่นเต้นทางเนื้อเรื่องเต็มที่ เราแนะนำให้ผู้อ่านชมซีรี่ส์ก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านบทความนี้อีกที
เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว
"Formula 1 คือกีฬาประเภททีม" นี่คือสิ่งที่เป็นจริงเสมอ เพราะแม้จะมีการเก็บคะแนนสะสมประเภทนักขับ เพื่อหาตำแหน่งแชมป์โลก อันเป็นไฮไลท์ของการแข่งขันเสมอมา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า แต่ละทีม จะต้องมีนักขับ 2 คน ที่ต้องช่วยประสานงานกันเพื่อเก็บคะแนนสะสมประเภททีมเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละทีมใน F1 ยังประกอบด้วยผู้คนมากมาย หลายร้อย หรืออาจจะถึงหลักพันคน ตามแต่ขนาดของทีมนั้นๆ ... ซึ่งความผิดพลาดของทีมงานเบื้องหลัง อาจส่งผลถึงความสำเร็จในการแข่งขันที่หลุดลอยไป
หนึ่งในตัวอย่างของเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว มีให้เห็นตั้งแต่ที่ออสเตรเลีย สนามแรกของการแข่งขันฤดูกาล 2018 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ซีซั่นแรกของซีรี่ส์นี้ตามเกาะติดแบบเจาะลึก เมื่อความผิดพลาดของทีมพิท ที่ยิงปืนขันน็อตล้อไม่แน่น ทำให้รถของทีม ฮาส ที่กำลังทำผลงานได้ดี มีลุ้นขึ้นโพเดียม 3 อันดับสูงสุดในสนามเป็นครั้งแรก ต้องออกจากการแข่งขัน และที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าคือ ทั้ง 2 คันแข่งไม่จบด้วยสาเหตุเดียวกัน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อารมณ์ของ กุนเธอร์ สไตเนอร์ (Guenther Steiner) หัวหน้าทีม ฮาส ที่ต้องดูแลภาพรวมทั้งหมด และบุคลากรของทีมทุกคนในแต่ละสนาม พุ่งพล่านถึงขีดสุด ถึงขนาดสบถคำหยาบคายอย่างต่อเนื่อง แต่ที่สุดแล้ว เขาในฐานะนายใหญ่ ก็ต้องทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลาง ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องไม่ทำลายขวัญกำลังใจของบุคลากรในทีมที่สูญเสียไปให้มากกว่านี้ เพื่อที่ทุกคนจะพร้อมกลับมาสู้ต่อในสนามถัดไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักแข่งแล้ว แม้จะอยู่ในทีมเดียวกัน แต่สำนึกแห่งความเป็นคู่แข่งนั้น แต่ละคนก็ล้วนมีอยู่ในตัวตลอดเวลา และสิ่งเล็กน้อยนี้ ทำให้เหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่มีใครคาดคิด
หนึ่งในนั้น คือการแข่งกันสร้างผลงานของสองนักขับทีม เร้ด บูล เรซซิ่ง อย่าง แดเนี่ยล ริคคาร์โด้ (Daniel Ricciardo) กับ แม็กซ์ เวอร์สตัพเพ่น (Max Verstappen) ที่ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่า ตัวเองคือเบอร์ 1 ของทีม ... จิตใต้สำนึกนี้ กลับกลายเป็นเหตุให้ทั้งคู่ลืมคำว่าเพื่อนร่วมทีมไปชั่วขณะ นำมาซึ่งการ "ชนกันเอง" ต้องออกจากการแข่งขันทั้งคู่ในการแข่งขันที่อาเซอร์ไบจาน
ไม่ต้องสงสัย ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก และอีกฝ่ายผิด ทว่าสัญญะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทีมทั้งในเหตุการณ์นี้และก่อนๆ หน้า ทำให้ ริคคาร์โด้ มองว่า เร้ด บูล ให้ความสำคัญกับ แม็กซ์ ที่อายุน้อยกว่า แต่ทีมกลับลงทุนให้มากกว่าเพื่อปั้นเขาให้เป็น "ว่าที่แชมป์โลก" ทั้งที่เขาเองก็มีดีพอที่จะเป็นแชมป์โลกได้เช่นกัน
และด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ ริคคาร์โด้ ตัดสินใจช่วงกลางฤดูกาล 2018 ด้วยการไม่ต่อสัญญากับ เร้ด บูล และย้ายไปร่วมทีม เรโนลต์ ในฤดูกาล 2019 ที่ซึ่งเขาจะได้เป็นเบอร์ 1 ไม่เป็นสองรองใคร ... นั่นคือ "Butterfly Effect" ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการย้ายสังกัด หานักแข่งใหม่ของทีมต่างๆ แบบเยอะแยะมากมายหลังจากนั้นจนกระทั่งสิ้นสุดฤดูกาล 2018 เลยทีเดียว
ปลาใหญ่กับปลาเล็ก
แม้ F1 จะมีถึง 10 ทีมที่เข้าแข่งขัน แต่หากจะพูดว่า การแข่งขันของทั้ง 10 ทีมเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน ก็คงจะไม่ใช่
ทั้งนี้ก็เนื่องจาก แต่ละทีมต่างมีงบประมาณที่ไม่เท่ากัน ทีมยักษ์ใหญ่เงินหนาอย่าง เมอร์เซเดส, เฟอร์รารี่ และ เร้ด บูล ต่างมีงบประมาณให้ทุ่มทุนปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าสำหรับทีมอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วพวกเขามีงบประมาณให้ใช้สอยราว 100 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
ประเด็นก็คือ งบประมาณที่ทุ่มไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะแปรผันตรงกับผลงานในสนาม ยิ่งกล้าทุ่มเยอะ โอกาสที่ทีมนั้นจะชนะการแข่งขัน หรือสร้างผลงานดีก็มีมากตามไปด้วย ซึ่งผลงาน ก็ส่งผลต่อเนื่องถึงเงินรางวัล ยิ่งผลงานแย่ ส่วนแบ่งเงินรางวัลก็น้อยตาม จนเป็นเหตุให้หลายทีมถึงกับล้มละลายมาแล้วในอดีต
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีม วิลเลี่ยมส์ อดีตยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถสูตรหนึ่ง ที่กลายเป็นยักษ์หลับในปัจจุบัน ซึ่ง แคลร์ วิลเลี่ยมส์ (Claire Williams) รองหัวหน้าทีม ลูกสาวของ เซอร์ แฟรงค์ วิลเลี่ยมส์ (Sir Frank Williams) หัวหน้าทีม ต้องพิสูจน์ตัวเองและทำงานอย่างหนัก เพื่อได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์เจ้าต่างๆ แม้จะเกิดเหตุไม่คาดฝัน จนทำให้ วิลเลี่ยมส์ ต้องสูญเสียบ่อเงินบ่อทองไป แต่ที่สุดแล้ว แคลร์ ผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่มีชื่ออยู่ในระดับแนวหน้าของวงการ F1 ก็ยังรักษาทีมที่เป็นสมบัติพ่อเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม ทีมที่ถูกมองว่าเป็นปลาใหญ่ในวงการ ก็สามารถกลายเป็นปลาเล็กในแง่มุมอื่นๆ ได้เช่นกัน และสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับทีม เร้ด บูล ที่แม้จะเป็นหนึ่งใน "บิ๊กทรี" แห่ง F1 แต่กลับกลายเป็นปลาตัวที่เล็กที่สุดในหมู่ดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาเลือกที่จะไม่สร้างเครื่องยนต์เพื่อใช้แข่งขันเอง และใช้การซื้อเครื่องจากค่ายต่างๆ มาติดตั้งในรถที่พวกเขาพัฒนามาขึ้นแทน
ซึ่งแม้ เร้ด บูล จะมี เรโนลต์ เป็นพาร์ทเนอร์คู่บุญอย่างยาวนานกว่า 10 ปี รวมถึงประสบความสำเร็จร่วมกัน กับการคว้าแชมป์โลกทั้งในประเภทนักขับและทีม 4 ปีซ้อนระหว่างปี 2010-13 แต่ปัญหาในระยะหลัง ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และความทนทานของผู้ผลิตเครื่องยนต์จากประเทศฝรั่งเศส ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายร้าวฉาน เมื่อ คริสเตียน ฮอร์เนอร์ (Christian Horner) หัวหน้าทีม เร้ด บูล มองว่าพวกเขาจ่ายเงินแพงราวกับซื้อตั๋วเครื่องบินเฟิร์สคลาสในการซื้อเครื่องยนต์ แต่กลับได้สินค้าคุณภาพต่ำราวกับที่นั่งชั้นประหยัด แถมยังไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากอีกฝ่ายได้ ขณะที่ ซีริล อาบิตบูล (Cyril Abiteboul) หัวหน้าทีม เรโนลต์ ที่ดูแลเรื่องการสนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับทีมลูกค้าด้วย ก็ไม่พอใจกับคำวิจารณ์ดังกล่าวอย่างยิ่ง
"อยู่ไปก็ไลฟ์บอย"... นี่คือคำพูดที่ใช้บรรยายถึงจุดจบของความร้าวฉานระหว่าง เร้ด บูล กับ เรโนลต์ ได้ดีที่สุด เพราะที่สุดแล้ว เร้ด บูล ก็ตัดสินใจแยกทาง เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ของ ฮอนด้า จากญี่ปุ่นในฤดูกาล 2019 ทั้งๆ ที่ในขณะนั้น ฮอนด้า ดูจะมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ และความทนทานมากกว่า เรโนลต์ ด้วยซ้ำ แต่ เร้ด บูล มั่นใจว่า พวกเขาสามารถร่วมมือกับ ฮอนด้า ในการสร้างเครื่องยนต์ที่เข้ากับรถของพวกเขาได้
แต่คำว่า "ขิงก็รา ข่าก็แรง" ก็สามารถใช้ได้กับกรณีนี้เช่นกัน เพราะเมื่อ เรโนลต์ เสียลูกค้าอย่าง เร้ด บูล ไป พวกเขาก็แก้เผ็ดด้วยการดึง แดเนี่ยล ริคคาร์โด้ ไปเป็นนักขับของทีมแทน ... ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่า การตัดสินใจของพวกเขาถูกต้อง แต่ผลงานในฤดูกาล 2019 จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
เร็วอย่างเดียวไม่พอ
สำหรับการเป็นนักแข่งรถ "ความเร็ว" คือสิ่งแรกๆ ที่ทุกคนมักจะนึกถึงในการประเมินความสามารถ แต่เรื่องราวในวงการ F1 คือบทพิสูจน์ชั้นยอดว่า การมีแค่สิ่งนี้อย่างเดียวก็อาจไม่พอ
เพราะนอกจาก F1 จะมีที่นั่งในสนามแข่งเพียงพอสำหรับ 20 คนเท่านั้นแล้ว ... สำหรับทีมเล็กๆ ที่มีงบประมาณจำกัด "สปอนเซอร์ส่วนตัวของนักแข่ง" เปรียบได้ดั่งโอเอซิสท่ามกลามทะเลทรายอันแห้งแล้ง ที่จะต่ออายุพวกเขาให้อยู่รอดในสังเวียนที่มีการแข่งขันอันรุนแรงได้ ขอแค่เพียงเขาคนนั้น ทำผลงานให้มีคะแนนสะสมสักหน่อย เท่านี้ก็เพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งนักขับไว้ได้แล้ว แต่ถึงกระนั้น ทีมเองก็ต้องมีพัฒนาการให้นายทุนผู้อยู่เบื้องหลังนักแข่งมั่นใจที่จะลงทุนต่อไปด้วย
นั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทีม วิลเลียมส์ ในฤดูกาล 2018 เมื่อ แคลร์ วิลเลี่ยมส์ พยายามใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ในการขับเคลื่อนทีมและพัฒนารถ เพื่อให้ ลอว์เรนซ์ สโตรล (Lawrence Stroll) นายทุนชาวแคนาดา และเป็นคุณพ่อของ แลนซ์ สโตรล (Lance Stroll) หนึ่งในนักแข่งของทีม พอใจที่จะสนับสนุนทีมต่อไป
ทว่าในขณะที่การใช้งบประมาณกลับไม่ให้ดอกผลอย่างที่หวัง ก็มีสถานการณ์ทับซ้อนขึ้นมา เมื่อ ฟอร์ซ อินเดีย อีกหนึ่งทีมใน F1 ประสบกับปัญหาการเงินอย่างหนัก จากการที่ วีเจย์ มาลญา (Vijay Mallya) หัวหน้าทีมและนายทุนคนสำคัญ ต้องสู้กับคดีความทางการเงินในประเทศอินเดีย บ้านเกิดของเขา จนนำมาซึ่งการถูกควบคุมกิจการทีมฟอร์ซอินเดีย
ลอว์เรนซ์ สโตรล เล็งเห็นถึงโอกาสนี้ จึงเป็นหัวหอกสำคัญในการซื้อทีม ฟอร์ซ อินเดีย และเปลี่ยนชื่อเป็น เรซซิ่ง พอยท์ ... เหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากจะนำมาซึ่งปัญหาของทีม วิลเลี่ยมส์ แล้ว ยังนำมาซึ่งเรื่องราววุ่นวายในรั้ว เรซซิ่ง พอยท์ ด้วย เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า อย่างไรเสีย ลอว์เรนซ์ สโตรล ก็ต้องเอาลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตัวเองมาเป็นนักขับของทีมที่ตัวเองเป็นเจ้าของไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำให้ที่นั่งของนักแข่งในทีมเหลือเพียงโควต้าเดียวให้ เซอร์จิโอ 'เชโก้' เปเรซ (Sergio 'Checo' Perez) กับ เอสเตบัน โอคอน (Esteban Ocon) ที่มักจะงัดกันเองในการแข่งขันอยู่สม่ำเสมอต้องแย่งกัน
แต่ขณะที่ โอคอน คือนักแข่งดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีศักยภาพในการขึ้นมาเป็นนักแข่งชั้นแนวหน้า ทว่านอกจาก เปเรซ จะมีฝีมือและประสบการณ์ที่เหนือกว่าแล้ว เขายังมีอีกแต้มต่อสำคัญ นั่นคือนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง คาร์ลอส สลิม (Carlos Slim) มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นชาวเม็กซิโกเช่นเดียวกับ เชโก้ ... ฝีมือและเงินทุนที่สามารถช่วยเหลือทีมได้ ทำให้ เชโก้ ได้รับเลือกให้อยู่กับทีม เรซซิ่ง พอยท์ ต่อ ส่วน โอคอน ต้องตกงาน
แต่ถึงเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำทีม ประสบการณ์ รวมถึงศักยภาพของนักแข่งในการก้าวขึ้นมาสู่ระดับแนวหน้า ก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ถูกนำมาพิจารณาในการเลือกตัวนักขับ และด้วยสิ่งนั้น เราจึงได้เห็น ชาร์ลส์ เลอแคลร์ (Charles Leclerc) ได้เลื่อนขั้นจากการเป็นนักขับของทีม อัลฟ่า โรเมโอ ในฤดูกาล 2018 สู่ทีม เฟอร์รารี่ ในฤดูกาล 2019 สวนทางกับ คิมี่ ไรค์โคเน่น (Kimi Raikkonen) ส่วนอีกที่นั่งของทีม อัลฟ่า โรเมโอ พวกเขาเลือกซื้ออนาคต ด้วยการดึง อันโตนิโอ จิโอวินาซซี่ (Antonio Giovinazzi) อีกหนึ่งนักแข่งดาวรุ่งเข้าทีม
และนั่นทำให้ มาร์คุส อีริกส์สัน (Marcus Ericsson) นักแข่งของทีม อัลฟ่า โรเมโอ ต้องตกงานหลังจบฤดูกาล 2018 เนื่องจากทีมมองว่า เขาคงไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีไปกว่าที่เป็นอยู่ได้อีกแล้ว
ทางเลือกสู่ทางรอดของ F1
นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวในซีรี่ส์ Formula 1: Drive to Survive ที่สะท้อนเรื่องราวการทำทุกวิถีทาง เพื่อให้อยู่รอดในสมรภูมิการแข่งขันสุดเดือด
ทว่าบางที ซีรี่ส์เรื่องนี้ อาจเป็นการสะท้อนถึงการอยู่รอดของตัวการแข่งขัน F1 เองด้วยเช่นกัน...
เพราะในรอบหลายปีหลังที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสน่ห์ของศึกรถสูตรหนึ่ง ดูจะลดน้อยถอยลงไป จากการแข่งขันระหว่างทีมต่างๆ ที่ไม่สูสี ตามความห่างชั้นระหว่างทีมใหญ่กับทีมเล็ก ยิ่งนโยบายของ เบอร์นี่ เอ็คเคิลสโตน (Bernie Ecclestone) อดีตผู้บริหารสูงสุดของการแข่งขัน ที่ต้องการให้ F1 เป็น "สินค้าพรีเมี่ยม" กลับทำให้วงการรถสูตรหนึ่งดูเข้าถึงผู้ชมยากขึ้นไปอีก จนความนิยมในหมู่แฟนของการแข่งขัน F1 ถูก โมโตจีพี มอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลก ค่อยๆ แซงขึ้นหน้าไป
แต่พลันแสงสว่างก็มาถึง เมื่อ เอ็คเคิ่ลสโตน ตัดสินใจขายกิจการ F1 ให้กับ ลิเบอร์ตี้ มีเดีย กลุ่มธุรกิจสื่อรายใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงต้นปี 2017
สิ่งที่ เชส แครี่ย์ (Chase Carey) ประธานและ CEO ของการแข่งขันคนปัจจุบันทำเป็นอย่างแรก ก็คือการทำให้ F1 นั้น "แมส" ขึ้น ... ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ซีรี่ส์ Formula 1: Drive to Survive บน Netflix คือหนึ่งในความพยายามเหล่านั้น ซึ่งก็ดูจะประสบความสำเร็จอย่างดีเสียด้วย
เพราะเพียงแค่ 28 วันหลังการออกฉายซีซั่นแรก ในวันที่ 8 มีนาคม 2019 ซีรี่ส์นี้ก็มีผู้ชมเฉพาะในสหราชอาณาจักรอย่างเดียวถึง 1 ล้านครัวเรือน รวมถึงมีผู้ชมในประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี้ ได้กลายเป็นการสร้างฐานแฟนคลับ F1 ที่ได้ผลอย่างยิ่ง
"หลายคนที่เจอกับผมทั้งในและนอกสนามแข่ง ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เดิมทีพวกเขาไม่ใช่แฟน F1 แต่ตอนนี้เป็นแล้ว ก็เพราะซีรี่ส์นั่นเอง" แมตต์ โรเบิร์ตส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสากลของ F1 เปิดเผย พร้อมเสริมด้วยว่า "ด้วยการแข่งขันอีสปอร์ต และซีรี่ส์บน Netflix ทำให้กลุ่มผู้ชม F1 ที่ขยายตัวเร็วที่สุด คือกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 35 ปี"
แม้กระทั่งนักแข่งเองก็รู้สึกเช่นกัน โดย แดเนี่ยล ริคคาร์โด้ เผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า "ผมรู้สึกอย่างมากๆ เลยนะว่า Drive to Survive ทำให้ความนิยมของ F1 สูงขึ้น เพราะแต่ก่อนไม่ค่อยมีใครรู้ว่าผมเป็นนักแข่ง F1 แต่ตอนนี้ หลายคนทักทายผมแล้วบอกว่า 'เราเห็นคุณใน Netflix ด้วย ... ซีรี่ส์ Drive to Survive เจ๋งมากเลย'"
ในมุมมองของริคคาร์โด้ การนำเสนอเรื่องราวของกีฬาแค่การแข่งขันเพียวๆ ไม่ช่วยอะไรกับกีฬามากนัก เพราะหากกีฬานั้นดูแล้วไม่สนุก ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ... ซึ่งดูเหมือนว่าทางฝ่ายจัดการแข่งขัน F1 เองก็คิดเช่นเดียวกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ซีรี่ส์ Formula 1: Drive to Survive คือหนึ่งในวิธีการนำเสนอว่า F1 ไม่ได้มีแค่เรื่องของการแข่งขัน แต่ยังมีเรื่องราวดราม่า, การหักเหลี่ยมเฉือนคม, การบอกเล่าถึงความพยายาม และแน่นอน ความสนุก
ซึ่งเสียงตอบรับที่ดี และการมีซีซั่น 2 ต่อยอดเรื่องราวในฤดูกาล 2019 คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า การนำเอาเรื่องราวของ F1 มาถ่ายทอดด้วยมุมมองที่แตกต่างสู่สายตาผู้ชมผ่านทาง Netflix คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง
เพราะ Formula 1: Drive to Survive ไม่ได้เพียงสะท้อนการทุ่มสุดตัวเพื่อให้อยู่รอดในสมรภูมิทั้งกับเหล่านักแข่งและทีมแข่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการสู้เพื่อให้อยู่รอดของ F1 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริง
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ