ชีวิตเปลี่ยนร่าง : "ครูตอง" ชนนภัทร วิรัชชัย หลังแบกน้ำหนักสู้มากว่า 3 ปี
เชื่อว่าหลายคนที่ติดตาม “ครูตอง” ชนนภัทร วิรัชชัย คงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้านร่างกายของเขา หลังจากที่ลดน้ำหนักจากรุ่นไลต์เวต (77.1 กิโลกรัม) ลงมาแข่งในรุ่นเฟเธอร์เวต (70.3 กก.) เมื่อต้องเผชิญหน้ากับนักสู้ชาวฟิลิปปินส์ “The Rock” โฮโนริโอ บานาริโอ ในศึก ONE: KING OF THE JUNGLE เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ครูตอง ถือเป็นนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานรุ่นบุกเบิกของประเทศไทย และแข่งขันใน วัน แชมเปียนชิพ มาตั้งแต่ช่วงเปิดตัวแรกๆ เป็นระยะเวลาเกือบ 9 ปี โดยลงแข่งในรุ่นเฟเธอร์เวตมาก่อน และต้องยอมรับว่าเขาสร้างผลงานได้ดีที่สุดตอนที่อยู่ในรุ่นน้ำหนักนี้
อย่างไรก็ตามช่วง 3 ปีหลัง ครูตอง ขยับไปสู้ในรุ่นที่ใหญ่ขึ้นอย่างรุ่นไลต์เวต ซึ่งทำให้เขาพบปัญหา และตระหนักว่าเขาควรถึงเวลาที่ต้องลดน้ำหนักลงมาสักที
“ลุก อดัมส์ หนึ่งในโค้ชที่ทำงานอยู่ที่บางกอกไฟต์แล็ป พยายามชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ผมลดน้ำหนักลงมา และผมคิดว่ามันสมเหตุสมผลดี”
“ผมเคยคิดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ผมสู้กับ ชินยะ อาโอกิ (กรกฎาคม 2561) แต่เขามีทักษะการต่อสู้ที่พิเศษ จะมีคนไทยสักกี่คนที่มีโอกาสเจอระดับอย่างเขา ผมเลยคิดว่า โอเค งั้นสู้ในรุ่นนี้ต่อไป จากนั้นผมก็เจอกับ อามาร์ซานา โซกูคู (กุมภาพันธ์ 2562) ซึ่งเขาแข็งแกร่งมาก”
ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า แม้ในตอนชั่งน้ำหนัก นักกีฬาจะมีน้ำหนักเท่ากันก็จริง แต่นั่นคือน้ำหนักที่ผ่านการลดลงมาแล้ว เมื่อขึ้นไปอยู่บนสังเวียนแข่งขันจริงๆ ส่วนใหญ่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นหลังการทานอาหารและเติมพลังงานกลับเข้าไป บางคนอาจจะ 2-3 กิโลกรัม บางคนก็ขยายเป็นลูกโป่งขึ้นไปถึง 5-6 กิโลกรัมก็มี
ดังนั้นการที่ ครูตอง ขยับขึ้นไปสู้ในรุ่นไลต์เวตด้วยน้ำหนัก 77.1 กิโลกรัมโดยที่ไม่ต้องลด เพราะเป็นน้ำหนักปกติ (Walking Weight) อยู่แล้ว นั่นหมายความว่าเขาก็จะต้องแบกน้ำหนักคู่แข่งขันที่ใหญ่กว่าอย่างแน่นอน
“เวลามีคนถามผมว่าทำไมผมถึงยอมลดน้ำหนักลงมา ผมก็ชี้ไปที่ ทิโมเฟย์ นาสติวคิน เพื่อนของผมที่ซ้อมด้วยกันที่ ไทเกอร์ มวยไทย เขาแข่งในรุ่นไลต์เวตเหมือนกัน แล้วเทียบตัวเขากับตัวผมสิ หมอนั่นตัวอย่างใหญ่ พอเห็นแบบนั้นเป็นอันว่าทุกคนเข้าใจ รู้เรื่อง!”
สำหรับแผนการลดน้ำหนักของ ครูตอง เพื่อให้ทันการแข่งขันดังกล่าวที่สิงคโปร์ ไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่จากทฤษฎีที่พวกเราก็รู้ๆ กันอยู่ ทั้งหมดมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหารการกิน และการออกกำลังกาย ซึ่งในระยะเวลาเดือนครึ่ง ครูตอง สามารถลดน้ำหนักลงมาได้ถึง 8 กิโลกรัม
“มันต้องใช้วินัยมากพอสมควรในการลดน้ำหนัก โดยต้องควบคุมอุปนิสัยการกิน ซึ่งจริงๆ แล้วสำหรับตัวผมการไดเอตครั้งนี้ค่อนข้างที่จะรีแลกซ์กว่าตอนที่อยู่ในรุ่นเฟเธอร์เวตช่วงแรกๆ ซะอีก”
“ตอนผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมพยายามกินผักให้มากขึ้น และกินอาหารมังสวิรัติเป็นบางครั้ง อย่างเช่นสัปดาห์ละครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่ามันทำให้ผมรู้สึกเหมือนไม่มีแรง”
“พอผมไปซ้อมที่่ภูเก็ต (ที่ไทเกอร์ มวยไทย) นอกจากฝึกซ้อมแล้ว ผมไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน ดังนั้นผมจึงผ่อนเรื่องการกินลงได้ โดยผมจะกินอาหารไทย เนื้อ ผัก และคาร์โบไฮเดรตชนิดดี”
“จากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ผมรู้ว่ามันก็แค่การเอาแคลลอรีเข้าและเอาแคลอรี่ออก ผมซ้อมวันสองครั้ง และให้ความสำคัญกับมื้อเย็น โดยเน้นที่เนื้อสัตว์ ผัก และข้าวนิดหน่อย โดยไม่กินมากเกินไป”
สำหรับ ครูตอง ซึ่งเป็นนักกีฬาเขาจำเป็นต้องทานอาหารเพื่อให้ร่างกายมีพลังงานสำหรับการฝึกซ้อมและออกกำลังกาย ซึ่งต้องทำเป็นประจำ การรับประทานอาหารจึงมากกว่าคนปกติที่ทำงานออฟฟิสและใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งอยู่กับที่ จึงต้องมีวินัยในการรับประทานอาหารมากขึ้น และลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายออกกำลังกายเพื่อขับพลังงานส่วนเกินออกไป อันจะทำให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างได้ผล
นอกจากนี้ ครูตอง ก็ยังเสริมโปรแกรมสุดเข้มงวดกับโค้ช “สตีฟ ไปป์” ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น
“เรามีการใช้เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจเข้ามาในการฝึกครับ ทำให้เข้าใจความสามารถของร่างกายตัวเองมากขึ้น เราไม่ออกแรงน้อยจนโกง หรือไม่ออกแรงมากไปจนหมดเกลี้ยง เราจะเริ่มจำได้ว่าฟอร์มที่ดีของเราจะรู้สึกประมาณไหน”
โดยรวมแล้ว ครูตอง พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ น้ำหนักที่ลดลงทำให้เขารู้สึกตัวเบาและคล่องแคล่วขึ้น แม้พลังอาวุธจะลดน้อยลงไปเมื่อเทียบกับตอนอยู่ในรุ่นไลต์เวต แต่ด้วยข้อดีหลายประการทำให้เขาตัดสินใจที่จะยืนอยู่ในรุ่นนี้ต่อไป
ความพ่ายแพ้แบบเส้นยาแดงผ่าแปดในไฟต์ที่ผ่านมา ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่น้ำหนักที่ลดลงอย่างเดียว ครูตอง รู้ว่าสิ่งจำเป็นประการต่อมาคือการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแแกร่งให้เพิ่มขึ้น
“ผมชอบความรู้สึกของร่างกายเวลาที่อยู่ในรุ่นเฟเธอร์เวต ผมสามารถควบคุมร่างกาย และการคาร์ดิโอของตัวเองได้ดีขึ้น ผมคิดว่ามันจะมีประโยชน์มากกว่าหากผมอยู่ในรุ่นเฟเธอร์เวตต่อไป”
“นอกจากเรื่องการซ้อมและการแข่งขัน เรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันหลายอย่างของผมก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเวลาที่เราน้ำหนักเยอะ ท่าทางและการจัดตำแหน่งร่างกายมันก็ไม่เหมือนเดิม แต่เมื่อเราอยู่ในน้ำหนักตัวที่เหมาะสม มันทำให้ผมรู้สึกดี และถ่ายรูปออกมาดูดีขึ้นด้วย!”
เมื่อพูดถึงเรื่อง “ถ่ายรูป” มันก็จริงอย่างที่ ครูตอง ว่านั่นล่ะ…หล่อขึ้นกว่าเดิมเป็นกองเลย!!!