"ไทสัน ฟิวรี่" ทำอย่างไรให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น.. แต่ความไวเท่าเดิม?

"ไทสัน ฟิวรี่" ทำอย่างไรให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น.. แต่ความไวเท่าเดิม?

"ไทสัน ฟิวรี่" ทำอย่างไรให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น.. แต่ความไวเท่าเดิม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มวยสากลรุ่นเฮฟวี่เวต คือมวยรุ่นที่ใหญ่ที่สุดและไม่จำกัดน้ำหนักตัว ขอแค่คุณหนักมากกว่า 200 ปอนด์ หรือ 91 กิโลกรัมขึ้นไป ประตูสู่รุ่นยักษ์ก็พร้อมจะต้อนรับทุกคน

ดังนั้นจุดขายของมวยรุ่นนี้จะแตกต่างออกไปจากมวยรุ่นอื่นๆ ด้วยความที่นักมวยนั้นมีน้ำหนักตัวเยอะ จึงยากที่จะโดดเด่นในเรื่องของความเร็ว แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือมีความหนักเข้ามาทดแทน และนั่นคือสิ่งที่นักชกรุ่นนี้กว่า 90% เป็น.. "ไม่เร็ว แต่โดนเป็นร่วง"

 

อย่างไรก็ตาม หากใครได้ติดตามไฟท์ระหว่าง ไทสัน ฟิวรี่ กับ ดีออนเต้ ไวลเดอร์ ที่ฝ่ายแรกเป็นผู้ชนะน็อคและคว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตมาครองได้สำเร็จ ในไฟต์นั้นจะพบว่า ไทสัน ฟิวรี่ ได้ทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือเขาเพิ่มน้ำหนักจากไฟต์ก่อนๆ แต่สิ่งที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะไม่ใช่แค่ความหนักหน่วง แต่คือความเร็วที่ควบคู่ไปด้วย 

แฟนๆหมัดมวยที่ติดตามฟิวรี่ ถึงกับบอกว่า ตอนนี้เขาไวยิ่งกว่าที่เคยเป็นเสียอีก.. ตัวใหญ่ขึ้น แต่ก็เร็วขึ้นตาม ดูเป็นอะไรที่ย้อนแย้งมาก และเจ้าของฉายา "ยิปซี คิง" คนนี้ทำมันได้อย่างไร? 

ติดตามได้ที่นี่

ไฟต์ที่ทั้งโลกเห็น

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นคือสิ่งที่ทำให้ทั้งโลกสงสัย ในความเร็วที่ไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักของไทสัน ฟิวรี่ คือไฟต์ชิงแชมป์โลกของ WBC กับไวลเดอร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสิ่งที่ทำให้ผู้คนสงสัยก็เพราะว่ามันมีการเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพชัดๆ เพราะคู่นี้เคยเจอกันมาแล้วเมื่อเดือนธันวาคมปี 2018 

 1

ณ เวลานั้น ไทสัน ฟิวรี่ หนัก 256 ปอนด์ครึ่ง หรือราว 116 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักชั่งก่อนขึ้นชก 1 คืน และถือว่าใหญ่กว่า ไวลเดอร์ ที่หนักแค่ 212 ปอนด์ครึ่ง หรือราว 96 กิโลกรัม อยู่มากโข แถมสิ่งที่เกิดขึ้นในไฟต์แรกที่พบกันนั้นก็เป็นไปอย่างที่ทุกคนรู้ดี ฟิวรี่หนักแต่งุ่มง่าม ส่วนไวลเดอร์รวดเร็วและคล่องกว่าเยอะ 

ถ้า ไทสัน ฟิวรี่ ไม่มีลูกบ้าที่รอดพ้นจากการโดนนับ 10 ถึง 2 ครั้งในยกที่ 9 กับ 12 ก็คงเสร็จอีกฝ่ายไปแล้ว ซึ่งลูกบ้าที่เป็นจุดขายของฟิวรี่ทำให้เขาลุกขึ้นมาและสู้ต่อได้ แถมยังตั้งหลักชกกลับมายืนคุมจังหวะได้ดี จนสามารถยืนได้ครบ 12 ยก แถมยันเสมอกับไวลเดอร์ได้อีกต่างหาก 

แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นในวันนั้นคือ หากจะให้สู้ด้วยความเร็ว ฟิวรี่ไม่มีทางที่จะสู้ไวลเดอร์ ยอดนักชกชาวอเมริกันได้แน่ เว้นเสียแต่ว่าเขาจะไปลดน้ำหนักให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ไวขึ้นเท่านั้น.. และต่อให้ลดจริง ก็ใช่ว่าจะเร็วสูสีเท่ากับไวลเดอร์ได้ง่ายๆ เพราะหลังจากจบไฟต์ดังกล่าว ไวลเดอร์เองก็บอกว่าเขาคาใจสุดๆกับผลการตัดสินครั้งนี้ ที่คะแนนออกมาเสียงแตก กรรมการ 3 คนให้คะแนนครบ 3 หน้า อย่างไรก็ตาม เขาทิ้งท้ายว่า ไฟต์ดังกล่าวเขาต่อยได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่เคยทำได้ 

นั่นหมายความว่า หากไวลเดอร์ไปถึงขีดสุดตามที่เขาคุยไว้ได้จริง เขาก็น่าจะปิดประตูแพ้ฟิวรี่แบบสบายๆ.. ซึ่งในอีกเกือบ 2 ปีหลังจากนั้น เวลาซึ่งไวลเดอร์บอกว่าเขาฟิตที่สุดก็มาถึง.. และเราจะได้รู้กันว่าฟิวรี่จะเอาชนะไวลเดอร์ที่ถือเข็มขัดแชมป์โลกอยู่ได้อย่างไร?

ก่อนชิงแชมป์โลก 

สิ่งที่หลายคนมองข้ามไปจากไฟต์นั้นมีอีกมาก พวกเขาบอกว่าฟิวรี่ควรจะเป็นฝ่ายแพ้ แถมยังเป็นมวยที่มีแค่ลูกบ้าเท่านั้น เมื่อเทียบกับยอดมวยคนบ้านเดียวกัน แถมยังครองเข็มขัดแชมป์โลก 3 สถาบันหลัก WBA, IBF, WBO อย่าง แอนโธนี่ โจชัว.. ฟิวรี่ก็ยังถือว่าเป็นรองอยู่หลายก้าว

 2

แต่ความจริงคือ ก่อนที่ฟิวรี่จะขึ้นชกกับไวลเดอร์ในปี 2019 ณ เวลานั้น ฟิวรี่เพิ่งกลับมาชกอาชีพได้เพียงแค่ 3 ไฟต์เท่านั้น ซึ่งช่วงเวลาที่เขาหายไป คือช่วงเวลาที่เขา "ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า" เครียดถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย จนทำให้เขาปล่อยเนื้อปล่อยตัวไปเป็นปีๆ 

ในปี 2018 มีการเปิดเผยรูปถ่ายของฟิวรี่ที่เคยมีน้ำหนักมากถึง 378 ปอนด์ หรือถ้าจะนึกภาพให้ง่ายๆหน่อยก็คือ เขามีน้ำหนักตัวประมาณ 177 กิโลกรัมเลยทีเดียว 

การลดน้ำหนักเกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ โดยการควบคุมของเทรนเนอร์ที่ชื่อว่า เบน เดวิสัน ที่เอาทั้งนักโภชนาการและนักกายภาพบำบัดมาควบคุมน้ำหนักของฟิวรี่ จนสุดท้ายเขาสามารถลดน้ำหนักได้ราว 100 ปอนด์ (ราวๆ 60 กิโลกรัม) ภายใน 1 ปีเท่านั้น

การลดน้ำหนักลงอย่างฮวบฮาบ แถมยังไม่เจนเวทีเพราะโรคซึมเศร้าที่เกาะกินจนทำให้เขาไม่ได้ขึ้นเวทีนาน เป็นสิ่งหลายคนมองข้ามไป ทุกคนคิดว่าการที่เขากลับมาได้และฟิตร่างกายได้ขนาดนี้ก็สุดยอดแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าฟิวรี่มีไพ่ตายซ่อนอยู่อีก 

 3

"สำหรับ ไทสัน ฟิวรี่ ที่จะไปยังจุดที่อยู่ในระดับแชมป์โลก การเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพยังคงไม่เพียงพอ แต่เขายังต้องเสริมเรื่องสภาพจิตใจไปด้วย สิ่งที่คุณเห็นจากร่างกายของเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น" เดวิสัน เทรนเนอร์ของฟิวรี่กล่าว 

สิ่งที่เดวิสันพยายามบอกคือ ฟิวรี่ยังไม่ทันได้ทำความรู้จักกับสภาพร่างกายและสภาพจิตใจตัวเองได้ดีนัก เพราะมีช่วงเวลาให้เขาปรับตัวน้อย ดังนั้น สิ่งที่จะได้เห็นต่อจากการโดนไวลเดอร์สอยจนเสียไป 2 นับต่างหากที่คือของจริง

ยักษ์สายสปีด 

น้ำหนักที่ลดลงของไทสัน ฟิวรี่ คือสิ่งที่ทุกคนอย่างจะเห็น เพราะหากเขาเร็วขึ้นก็จะเป็นนักชกที่สมบูรณ์แบบมากจากหน่วยก้านที่ได้เปรียบ แถมแขนของเขาก็มีความยาวกว่านักมวยคนอื่นๆในรุ่น ดังนั้น เรื่องวงนอกก็ไม่ต้องบอกใคร เพราะมันคือทีเด็ดของฟิวรี่อยู่แล้ว แต่หากเขาน้ำหนักลดลงกว่านี้ เขาจะปล่อยหมัดแย็บได้เร็วขึ้นอีก ซึ่งนั่นน่าจะทำให้เขาอันตรายขึ้นอีกเป็นกอง

 4

แต่มันผิดคาด ไทสัน ฟิวรี่ ไม่ได้พยายามลดน้ำหนักลงเลยจากไฟต์กับไวลเดอร์ในปี 2018 น้ำหนักของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่สังเกตุได้คือฟิวรี่ไม่ใช่นักชกที่มีมัดกล้ามสวยงามหากเทียบกับนักมวยฟิตๆคนอื่นๆ ดังนั้น ทำไมเขาถึงไม่ยอมลดน้ำหนักล่ะ? 

เรื่องของเรื่อง ส่วนหนึ่งคือการปลดเดวิสัน โค้ชคู่ใจออกไปด้วย และจ้างเทรนเนอร์ที่ชื่อว่า ชูการ์ฮิลล์ สจ็วร์ต เข้ามาทำหน้าที่แทน.. ฟิวรี่ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมากมายนัก เพียงแต่บอกว่าแท็คติกของเดวิสันไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เขาอยากได้ในเวลานี้

"ผมกำลังมองหาชัยชนะแบบน็อคเอาต์ ผมไม่ได้หวังจะขึ้นชกและเจอการตัดสินแย่ๆอีกครั้ง (หมายถึงการต่อยจนครบยกแต่ผลออกมาเสมอกัน) ผมรู้ว่าการต่อยที่อเมริกาอาจจะทำให้การตัดสินไม่เอื้อสำหรับผมเท่าไหร่" ฟิวรี่กล่าวเนื่องจากเขาต้องชกไฟต์รีแมตช์กับไวลเดอร์ที่เอ็มจีเอ็ม แกรนด์ อารีน่า นครลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (ซึ่งไฟต์แรกก็ชกที่อเมริกาเช่นกัน แต่เป็นที่สเตเปิ้ลส์ เซนเตอร์ มหานครลอสแอนเจลิส)

"ผมเลยต้องจ้าง ชูการ์ฮิลล์ ขึ้นมา ถ้าผมไม่ต้องการชนะแบบน็อคเอาต์ ผมก็คงเก็บ เบน เดวิสัน ไว้ข้างกายเหมือนเดิมแล้วล่ะ" 

 5

แม้ฟิวรี่จะไม่ได้บอกว่าทำไมแท็คติกของเดวิสันจะไม่สามารถทำให้เขาชนะน็อคอย่างที่อยากจะได้ และไม่ได้บอกว่าทำไมชูการ์ฮิลล์จะทำให้เขาน็อคเอาต์ไวลเดอร์ได้.. แต่สิ่งที่ตอบได้มากกว่าคำพูด ก็คือน้ำหนักตัวของเขานั่นเอง

2 ปีก่อนกับไวลเดอร์นั้น ฟิวรี่เกือบจะแพ้ และเขาขึ้นชกด้วยน้ำหนัก 256 ปอนด์ครึ่ง แต่สำหรับไฟต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ที่ผ่านมา ชูการ์ฮิลล์ให้ฟิวรี่ทำน้ำหนักขึ้นมาเกือบ 20 ปอนด์ หรือราว 7-8 กิโลกรัม รวมเป็นน้ำหนัก 273 ปอนด์ หรือเกือบ 124 กิโลกรัมก่อนขึ้นชก

สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้น้ำหนักตัวที่มากขึ้น จากการแพ้เรื่องความเร็วในไฟต์แรกคืออะไรกันแน่?

เร็วในแบบของคนตัวโต 

เคล็ดลับของฟิวรี่ นอกจากจะมีเทรนเนอร์ที่ตรงกับความต้องการและความสามารถของตัวเองแล้ว เขาต้องเลือกคู่ซ้อมที่สามารถทำให้เขาขัดเกลาความสามารถที่มีให้ดีขึ้นกว่าเดิม และคู่ซ้อมของฟิวรี่คือ จาเร็ด แอนเดอร์สัน นักมวยชาวอเมริกันวัย 20 ปี เจ้าของฉายา "บิ๊ก เบบี้" ที่เคยชกอาชีพแค่ 3 ครั้ง แต่ก็ชนะทั้งหมดด้วยการชนะน็อคเอาต์อีกด้วย 

 6

สิ่งที่ฟิวรี่เห็นในตัวของจาเร็ด แอนเดอร์สัน คือความที่ยังหนุ่มยังแน่น และส่วนสูงรูปร่างไม่ต่างกับไวลเดอร์ แถมด้วยความที่ยังเป็นมวยเด็ก สิ่งหนึ่งที่การันตีได้เลยคือ แอนเดอร์สันนั้นเร็วแน่นอน 

"ถ้าฟิวรี่จะคว่ำผมได้ คือเขาต้องมีสปีดและเทคนิคในคราวเดียวกัน นั่นคือจุดสำคัญที่สุด (ของการฝึกซ้อมของทั้งคู่) ผมตัวเล็กกว่าเขา ผมมีความเร็วมากกว่าเขา และเขารู้ดีกว่าถ้าเขาอยากจะชกไวลเดอร์ได้ เขาต้องชกผมให้ได้ก่อน" บิ๊ก เบบี้ กล่าวกับ Independent

สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเข้าใจก่อนคือ แอนเดอร์สันไม่ใช่นักมวยที่เก่งที่สุด แต่ความสามารถของเขาตอบโจทย์กับสิ่งที่ฟิวรี่ต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของความเร็ว ที่สามารถโยกไปปล่อยหมัดใส่หน้าฟิวรี่ได้ทุกนาที พูดง่ายๆก็คือ แอนเดอร์สันคือไวลเดอร์ที่ย่อส่วนลงมานั่นเอง 

"ผมเป็นนักมวยสไตล์ที่ลื่นเหมือนปลาไหล รวดเร็ว และต่อยกลับแบบเน้นที่ความคม ผมไม่ได้ตัวใหญ่ที่สุดหรือแข็งแกร่งที่สุดหรอก แต่ผมจะไปอยู่ข้างหน้าและปล่อยหมัดใส่หน้าของเขาได้ตลอดเวลา" แอนเดอร์สันขยายความต่อ 

การได้ชกกับแอนเดอร์สันเป็นเวลานาน ก็เหมือนการขัดเกลาความสามารถของฟิวรี่ขึ้นทุกวัน เขาพยายามเอาความแข็งแกร่ง และพลังหมัดจากน้ำหนักตัวที่พยายามเพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในการน็อคเอาต์ และเขาฝึกซ้อมกับแอนเดอร์สันจนทำให้ตัวเองมั่นใจว่า หมัดที่ฝึกมาให้หนักขึ้นจะสามารถไล่ไวลเดอร์ได้ทันการณ์นั่นเอง

ต่อยแบบมีแผน 

สิ่งที่ซ้อมมาและการเพิ่มน้ำหนักเพื่อเพิ่มพลังหมัด เป็นสิ่งที่ฟิวรี่ได้ใช้ทั้งหมดในการชกกับไวลเดอร์ ซึ่งหากใครได้ดูไฟต์ดังกล่าว สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นคือฟิวรี่พูดจริงที่บอกว่าเขาต้องการชนะน็อคเท่านั้น เพื่อกันปัญหาเรื่องการนับคะแนน เพราะฟิวรี่เป็นฝ่ายเดินใส่ไวลเดอร์ตั้งแต่ยกแรก 

 7

สิ่งที่สุดยอดคือความเร็วของเขาในวันนั้น แม้ไม่ได้เร็วระดับเดียวกับตำนานอย่าง ไมค์ ไทสัน แต่มันเร็วในแบบที่เพียงพอต่อความต้องการของฟิวรี่ เพราะสิ่งที่ไม่ว่าใครก็เห็นตรงกันคือ ฟิวรี่มาไฟต์นี้ด้วยความมุ่งมั่นและแบบแผนที่ชัดเจนมาก ทั้งการเพิ่มน้ำหนักเพื่อมาเดินชนเดินแลก​ ไม่เล่น ไม่รอจังหวะ ที่สำคัญคือเขามั่นใจในตัวเองสูงมากตามสไตล์คนบ้าบิ่น จนกระทั่งไล่อัดไล่ทุบจนไวลเดอร์ถูกกรรมการนับไป 2 ครั้ง และแกว่งจนไปไม่ถูก 

ไม่ต้องรอให้ครบยก ไม่ต้องรอให้โดนนับ 10 อีกต่อไป เพราะในยกที่ 7 มาร์ค บรีแลนด์ เทรนเนอร์ของไวล์เดอร์ ที่เคยเป็นนักมวยชื่อดัง เห็นสภาพของลูกศิษย์ตัวเองแล้วก็พบว่าปล่อยไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ไวลเดอร์ไม่รอดแน่ จนสุดท้าย บรีแลนด์ก็โยนผ้าขาว และส่งผลให้ไทสัน ฟิวรี่ เป็นแชมป์โลกไปในท้ายที่สุด

 8

การพ่ายแพ้ครั้งนี้ แม้แต่ไวลเดอร์เองยังยอมรับว่า ไม่ใช่เพราะฟิวรี่ที่เร็วกกว่าเขาจนเขาไม่สามารถต่อยโดน แต่ปัญหาจริงๆคือตัวของไวลเดอร์เองต่างหากที่เร็วไม่พอ จนโดนฟิวรี่ที่อัพเกรดความเร็วและความหนักหน่วงมาอย่างสมดุล ต่อยยับจนเสียทรงและต้านไม่ไหว แม้หลังจากไฟต์จบเขาจะอ้างว่าเป็นเพราะสวมคอสตูมหนักกว่า 40 ปอนด์ หรือราว 18 กิโลกรัม ก่อนขึ้นชก จนทำให้ขาล้าและฟุตเวิร์กไม่ดีเท่าเดิมก็ตาม 

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเร็วที่เพิ่มขึ้นภายใต้น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน คือความเห็นจาก แฟรงค์ วอร์เรน โปรโมเตอร์ของฟิวรี่ ซึ่งบอกว่าสิ่งที่ไวลเดอร์จะเอาชนะฟิวรี่ได้มีหนทางเดียว คือต้องไปเพิ่มความเร็วให้มากว่าที่มี เพื่อหนีฟิวรี่ให้ได้

"หนทางเดียวคือ ไวลเดอร์ต้องไปเพิ่มความเร็ว เขาเป็นคนที่มีพลังอยู่แล้ว เรารู้ดีว่าเขาสามารถต่อยได้น่ากลัวขนาดไหน เขาต้องมุดเข้ามาอยู่ในวงในและหลบหลีกหมัดแย็บของฟิวรี่ให้ได้ ซึ่งถ้าจะทำได้นั้นก็ต้องเร็วจริงๆ ทั้งเร็วทั้งคมเลยล่ะ" วอร์เรนกล่าว 

 9

สุดท้ายแล้ว แม้มวยจะเป็นกีฬาที่ใช้กำลังห้ำหั่นกันเป็นหลัก แต่กลยุทธ์และการเตรียมตัวก่อนขึ้นชกก็คือสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ฟิวรี่รู้ว่าเขาต้องทำอะไรบ้างก่อนชกกับไวลเดอร์.. อยากต่อยหนักขึ้น เขาก็ไปเพิ่มน้ำหนักภายใต้การดูแลเกี่ยวกับร่างกาย อยากได้ความเร็วเพิ่มขึ้น เขาก็หาคู่ซ้อมที่รวดเร็วและฝึกหนักจนร่างกายจดจำความเร็วนั้นได้ 

หากไม่นับตรง DNA ของการเป็นมนุษย์ที่บ้าคลั่งชอบทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย และร่างกายที่ได้เปรียบทั้งความใหญ่และช่วงที่ยาวกว่า เราสามารถบอกได้ว่ากลยุทธ์และการเตรียมตัวของฟิวรี่ คือเบื้องหลังการเป็นแชมป์โลกของเขาอย่างแท้จริง

"รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" สุภาษิตนี้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังจริงเสมอ.. ช่างคลาสสิกเสียจริงๆ 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "ไทสัน ฟิวรี่" ทำอย่างไรให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น.. แต่ความไวเท่าเดิม?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook