วาเลรี่ โลบานอฟสกี : พระเจ้าแห่งยูเครนผู้ใช้ฟุตบอลสมัยใหม่ ... ใน 50 ปีที่แล้ว
ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ... นี่คือคำปลอบใจที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ อย่างเช่นในสถานการณ์ที่แทบหมดหวัง ไม่มีโอกาสที่จะสู้กับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าได้
แม้คำๆ นี้ดูเหมือนจะเป็นการปลอบใจไปส่งๆ แต่ความจริงแล้วมันส่งผลไม่น้อย ทุกวิกฤติล้วนมีโอกาสซ่อนอยู่ ทุกทางตันจะมีช่องทางเล็กๆ ที่ทำให้ผ่านพ้นไปได้ อย่างเช่นเรื่องราวในโลกฟุตบอลต่อไปนี้
นี่คือเรื่องราวของ ดินาโม เคียฟ ในช่วงยุค 90's ทีมที่ไม่มีนักเตะระดับที่คนดูบอลโดยทั่วไปรู้จักเลยแม้แต่คนเดียว แต่ต้องต่อกรกับทีมที่ดีที่สุดในยุโรป ณ เวลานั้นอย่าง เรอัล มาดริด
ภายใต้นักเตะที่จำกัดจำเขี่ย ตำนาน ดินาโม เคียฟ จึงถูกเขียนขึ้นภายใต้การทำงานของ วาเลรี่ โลบานอฟสกี กุนซือผู้ได้ฉายาว่า "The Scientist" หรือนักวิทยาศาตร์
ติดตามการปลุกปั้นทีมๆ หนึ่งที่ผ่านช่วงเวลาจากยุคสงครามกลางเมืองและคอมมิวนิสต์ สู่ 1 ในวีรกรรมตลอดกาลของ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้ที่นี่ ...
โลบานอฟสกี้ คือใคร?
วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ คือนักฟุตบอลชาวโซเวียตที่เติบโตขึ้นมาในยุคที่ปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ สภาพสังคม, เศรษฐกิจ ถือว่าเข้าขั้นแร้นแค้น เพราะในช่วงทศวรรษ 1920's ก่อนที่เขาจะลืมตาดูโลก โจเซฟ สตาลิน เข้ามาเป็นผู้นำของประเทศ และออกกฏหมายบังคับให้รวบรวมทรัพยากรเพื่อนำมาใช้ในการอุตสาหกรรมแบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากต้องเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม (โลกครั้งที่ 2)
Photo : commons.wikimedia.org
ซึ่งการปกครองของ สตาลิน ทำให้อีกทศวรรษต่อมาหรือในปี 1939 ซึ่งเป็นปีที่ โลบานอฟสกี้ ลืมตาดูโลกนั้นเป็นช่วงที่โซเวียตกำลังแร้นแค้นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มต้นในปีเกิดของเจ้าตัว และต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างหนักหลังสงครามจบในอีก 6 ปีถัดมา
สิ่งที่จะบอกคือ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากมีไม่กี่อาชีพหรอกที่สามารถจะมีหน้ามีตาในสังคม มีเงินใช้มากกว่าคนปกติ และหนึ่งในนั้นคืออาชีพนักฟุตบอล โดยตัวของ โลบานอฟสกี้ นั้นแม้จะมีพ่อเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก และมีแม่เป็นแม่บ้าน แต่เจ้าตัวกลับเป็นคนที่มีความหลักแหลมยิ่งกว่าใครๆ ในโรงเรียน
เขากลายเป็นเด็กที่เรียนเก่งระดับต้นๆ โดยได้เหรียญเงินในหมวดนักเรียนดีเด่น ขณะที่เรื่องของฟุตบอล โลบานอฟสกี้ ก็สร้างความอัศจรรย์ใจ เพราะหลังจากเรียนจบระดับ ม.ปลาย เขาก็กลายเป็นนักเตะอาชีพให้กับ ดินาโม เคียฟ ทันที ตอนที่อายุ 18 ปี
Photo : kpi.ua
หากจะพูดถึงประสบการณ์ในฟุตบอลอาชีพ เขาได้ลงเล่นไปทั้ง 253 เกมและยิงไป 71 ประตูกับ 3 สโมสร แต่ที่ โลบานอฟสกี้ โดดเด่นและมีชื่อเสียง คือเขาเป็นนักกีฬาที่เป็นหัวสมัยใหม่ ไม่เคยหยุดที่จะมองหาความแตกต่างที่ทำให้ตัวเองเก่งกว่าคนอื่นๆ ได้
โลบานอฟสกี้ เด่นในเรื่องการคิดอะไรใหม่ๆ มากกว่า มีข้อมูลจากหลายๆ เว็บไซต์อ้างอิงตรงกันว่า โลบานอฟสกี้ คือนักเตะคนแรกที่ใช้ลูกยิง "บานาน่า ช็อต" (ปั่นไซด์) หรือการ วอลเล่ย์แบบใบไม้ร่วง ซึ่งอ้างกันว่าเขาเป็นคนคิดค้นมันขึ้นมา
ครั้งหนึ่งในปี 1961 โลบานอฟสกี้ รู้สึกไม่สบายใจ แม้จะเพิ่งพาทีมคว้าแชมป์ลีกไปหมาดๆ เพราะเขาเชื่อว่าที่ได้แชมป์ไม่ใช่เพราะทีมๆ นี้คือทีมที่เพอร์เฟ็กต์ แต่เป็นเพราะการแข่งขันมันต่ำต่างหาก
งานดังกล่าวเกิดขึ้นในสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งเมือง เคียฟ เมื่อทีมไปฉลองชัยที่นัดและมีคนชมว่า โลบานอฟสกี้ นั้นสุดยอดมาก เขาได้แต่ส่ายหัวและปฎิเสธมัน รวมถึงบอกถึงความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เป็นว่า
Photo : www.fcdynamo.kiev.ua
"ใช่ เราคว้าแชมป์ลีกแล้วยังไงต่อ เราเล่นห่วยอยู่บ่อยๆ แต่เราก็ชนะอยู่เรื่อย นั่นหมายความว่าลีกนี้มันอ่อนมาก ผมลำบากใจที่จะรับคำชมจากคุณนะ เพราะมันไร้เหตุผลสิ้นดีเลย" โลบานอฟสกี้ ตอบกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งเว็บไซต์ Sportskeeda นำมาเปิดเผยในเวลาต่อมา
"ความฝันจริงๆ มันไม่ใช่แบบนี้ ผมขอถามคุณกลับในฐานะที่คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์นะ อะไรคือความสำเร็จที่แท้จริงของคุณ? จบปริญญาเอกเหรอ, ทำวิทยานิพนธ์เหรอ ... ผมว่าไม่ใช่หรอก นักวิทยาศาสตร๋ที่แท้จริงฝันที่จะพัฒนาและค้นพบบางสิ่งที่มันสามารถเปลี่ยนโลกของเราได้ต่างหากล่ะ"
Photo : izvestia.kharkov.ua
จะจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่นอน เขาเป็นนักเตะที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในสหภาพโซเวียต และกับการเล่นให้กับทีม ดินาโม เคียฟ จนถึงขั้นมีแสตมป์เป็นรูปของตัวเอง โดยคอมเมนต์ที่มีถึง โลบานอฟสกี้ ส่วนใหญ่จะมักพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า เขาคือ เฟอร์เฟ็คชั่นนิสต์ หรือผู้เสพติดความไร้ที่ติอยู่เสมอ
หากจะให้พูดถึงตอนเป็นนักเตะ แฟนบอลยุคปัจจุบันหลายๆ คนคงไม่เห็นภาพนัก เพราะเวลามันผ่านมานานเกินไปกว่า 70 ปีแล้ว แต่ไม่ต้องห่วง มันมีสิ่งที่ยืนยันให้ชัดเจนยิ่งกว่านั้นเสียอีก นั่นก็คือช่วงที่เขาประกาศแขวนสตั๊ดในวัย 29 ปี และหันมาทำงานโค้ชฟุตบอลนั่นเอง
เพอร์เฟ็คชั่นนิสต์ตัวพ่อ
ความสุดยอดของ โลบานอฟสกี้ ประจักษ์กับสายตาแฟนฟุตบอลทั่วยุโรป เมื่อเขาตัดสินใจรับงานคุม ดินาโม เคียฟ ในปี 1974 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เคียฟ สามารถคว้ารางวัลระดับเมเจอร์ได้มากกว่า 10 รายการ โดยเฉพาะแชมป์ในประเทศที่มีติดไม้ติดมือทุกๆ ปี
Photo : zik.ua
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านก็คงสงสัยว่า "แล้วมันแปลกตรงไหน?" ในเมื่อเขามีทีมที่ดีที่สุดในประเทศ และการผูกขาดแชมป์ในลีกฟุตบอลที่มีการแข่งขันต่ำ ก็ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้แม้ในปัจจุบัน ตัวอย่างง่ายๆ คือ กลาสโกว์ เซลติก ที่คว้าแชมป์ลีกสก็อตแลนด์มากจนขี้เกียจยกนิ้วมือนับ
แต่ความสุดของ โลบานอฟสกี้ คือเรื่องของการถามหาความเป็น "หนึ่งเดียวบนโลก" นั่นคือการคิดค้นปรัชญาฟุตบอลของตัวเองขึ้นมา และสามารถสร้างนักเตะชุดที่สามารถปฎิบัติตามคำสั่งของเขาได้อย่างตรงเป๊ะทุกข้อ
โลบานอฟสกี้ ไม่ได้มองแค่เรื่องในสนามเท่านั้น เขาให้ความสำคัญกับ "ดาต้า" หรือข้อมูลเป็นอย่างมาก และเรื่องแบบนี้เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ถือว่าเป็นเรื่องใหม่และซับซ้อนเกินกว่าบุคลากรฟุตบอลจะเข้าใจ ตัวของ โลบานอฟสกี้ ถึงกับต้องไปจ้างนักจดสถิติของสถาบันวิทยาศาสตร์กายภาพที่ชื่อว่า อนาโตลี่ เซเลนตอฟ เข้ามาทำงานเป็นหนึ่งในทีมสตาฟฟ์เลยทีเดียว
สิ่งที่ เซเลนตอฟ มอบให้กับ โลบานอฟสกี้ คือ "ฟุตบอลสมัยใหม่" 2 ข้อหลักๆ ที่ทั้งสองคนพยายามหาจุดอ่อนจนพบก็คือ หนึ่งเมื่อได้บอลแล้วห้ามคิดนาน เพราะการช้าเพียงเสี้ยววินาทีหมายถึงการเสียโอกาส และเพื่อนร่วมทีมเสียตำแหน่งในเวลาเดียวกัน
และ สอง คือ ผู้เล่นที่ไม่มีบอลอยู่กับตัวต้องรู้ว่าพวกเขาจะวิ่งไปอยู่ตรงไหน เพื่อรอรับบอลได้ง่ายที่สุด นักเตะของ ดินาโม เคียฟ จะต้องจำวิธีการเซ็ตเกมแต่ละแบบของทีมให้ได้ขึ้นใจ โดยทั้ง 2 ข้อนี้ถูกเขียนลงในหนังสือที่ชื่อว่า 1994 Against the Enemy โดยฝีมือของนักเขียนที่ชื่อ ไซม่อน คูเปอร์
นี่คือความแตกต่างที่จากการเป็นแชมป์ลีกผูกขาดของประเทศอื่นๆ ซึ่งการให้ความสำคัญของ "ดาต้า" สำหรับ โลบานอฟสกี้ ถือว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่กลายเป็นตำนานของ ดินาโม เคียฟ ในยุค 70-80's โดยแท้จริง
ฟุตบอลไม่เคยหยุดอยู่กับที่
หลังจากเขาพา เคียฟ คว้าแชมป์เป็นว่าเล่นตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น โลบานอฟสกี้ ก็เริ่มเบนเส้นทางไปคุมทีมชาติ ไม่ว่าจะ สหภาพโซเวียต, ยูเออี หรือ คูเวต (แต่ก็มีรีเทิร์นกลับมาคุม ดินาโม เคียฟ ช่วงปี 1984-90) และไปที่ไหนก็มีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่กล่าวถึงเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เขาจึงได้กลับมาช่วย ดินาโม เคียฟ อีกครั้ง
Photo : keithlyons.me
ในปี 1991 ยูเครน ประกาศแยกตัวจากการเป็นชาติในสหภาพโซเวียต และการที่ทีมอย่าง เคียฟ ถูกดีดออกมาจากลีก โซเวียต และต้องมาเล่นในลีกยูเครน โลบานอฟสกี้ จึงกลับมาอีกครั้งในปี 1997 หลังจากที่ ณ เวลานั้น เคียฟ พลาดแชมป์ลีกไป 1 สมัยในปี 1992 ซึ่งสำหรับทีมที่เคยเป็นเบอร์ 1 มาตลอด นั่นคือเรื่องใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย
โลบานอฟสกี้ มาในแบบเดิม นั่นคือนักฟุตบอลทุกคนจะต้องทำงานภายใต้กฎระเบียบของเขาอย่างเคร่งครัด เพื่อการกลับมาเป็นเบอร์ 1 ของลีก และต่อกรกับทีมระดับยุโรปในศึกแชมเปี้ยนส์ลีกให้ได้
เรื่องดาต้า ตัวเลขข้อมูล และสถิติ ยังคงอยู่ในลิสต์ต้องที่ต้องทำของ โลบานอฟสกี้ อยู่เสมอ แต่การคัมแบ็คสู่ ดินาโม เคียฟ ครั้งที่ 3 หนนี้ ฟุตบอลได้เปลี่ยนไปในอีกทิศทางหนึ่ง นักเตะหลายคนมีความสามารถไม่หนีกันมาก แต่สิ่งสำคัญคือสภาพร่างกายของนักเตะที่เป็นข้อแตกตางที่สามารถชี้ผลแพ้ชนะกันได้เลย
อังเดร เชฟเชนโก้ ดาวยิงระดับตำนานสโมสรของ ดินาโม เคียฟ เล่าว่าก่อนที่ โลบานอสฟกี้ จะเข้ามาทำทีม ตัวของ เชฟเชนโก้ นั้นยิงประตูได้ถึง 24 ลูกในปี 1997 แต่เมื่อ โค้ชโลบา มาถึง เขาสั่งให้ เชฟเชนโก้ ดูแลตัวเอง และรักษาความฟิตให้เป็นอยู่เพื่อเล่นในฟุตบอลสมัยใหม่ให้ได้ยาวนานขึ้น
Photo : www.sportskeeda.com
เชว่า เล่าต่อว่าครั้งหนึ่งตัวเขาตอนอายุ 20 ปี กำลังแช่น้ำในสระว่ายน้ำพร้อมกับสาวๆ แถมดูดบุหรี่อีกวันละ 30-40 มวนตามสไตล์วัยรุ่นแถบนั้น เมื่อ โลบานอฟสกี้ รู้ข่าวก็ขับรถจาก เคียฟ ที่อยู่ห่างไปอีก 10 ไมล์ เข้ามาคุยแกมบังคับเขาให้ เชว่า เข้าใจว่าทำไมเขาจึงควรเลิกในสิ่งที่ทำอยู่
สุดท้าย เชฟเชนโก้ โดนบังคับให้ดื่มน้ำผสมก้นบุหรี่ทั้งหมด จนเขารู้สึกทรมานมากที่สุดในชีวิต และหลังจากนั้นว่า เชฟเชนโก้ ก็เลิกบุหรี่เด็ดขาดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และแน่นอนเขากลายเป็น 1 ในกองหน้าที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมี
Photo : rof355
โลบานอฟสกี้ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นจากที่เดิมที่ต้องการให้นักเตะคิดเร็วทำเร็ว และวิ่งตัวเปล่าให้ฉลาด กลายเป็นว่าเมื่อฟุตบอลเข้าสู่ปลายยุค 90's เรื่องพละกำลังคือสิ่งสำคัญที่เขาบังคับให้นักเตะในทีมต้องมี
"สิ่งสำคัญของการสร้างฟุตบอลคุณภาพคือ เมื่อนักเตะอยู่ในสนาม พวกเขาต้องรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรยามไม่มีบอลอยู่กับตัว ถ้าจะบอกว่าใครคือนักเตะที่ยอดเยี่ยม เราจะบอกเสมอว่าพรสวรรค์มีค่าแค่ 1% ที่เหลือคือคุณต้องทำงานให้หนักจนรากเลือด" โลบานอฟสกี้ กล่าว
โลบานอฟสกี้ จะให้นักเตะซ้อมหนักมาก นอกจากนี้เขายังมาก่อนกาล ด้วยการให้นักเตะในทีม ดินาโม เคียฟ ยุคนั้นกินอาหารตามหลักโภชนาการ โดยมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาควบคุมอย่างใกล้ชิด มีการตรวจวัดความแข็งแกร่งของร่างอยู่เสมอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางร่างกายของนักเตะแต่ละคน ... ซึ่งยอมรับตามตรงว่าในปี 1997 นั้น เรื่องแบบนี้กับฟุตบอลมีให้เห็นน้อยมาก
และเกมที่เป็นสิ่งยืนยันคือเกมระหว่าง ดินาโม เคียฟ พบกับ เรอัล มาดริด ในศึกแชมเปี้ยนส์ลีกรอบ 8 ทีมสุดท้าย ฤดูกาล 1998-99 ที่ถือว่าเป็นเกมประวัติศาสตร์ของสโมสร เพราะสไตล์ "โททัล ฟุตบอล" ที่นักเตะมีความเข้าใจในแท็คติกสูง และมีเรี่ยวแรงในการไล่บดไล่บี้กับแข้งระดับสตาร์ของ เรอัล มาดริด ตลอดทั้ง 2 เกมได้อย่างไร้ที่ติ และสุดท้าย ดินาโม เคียฟ บุกยันเสมอ มาดริด ได้ที่ เบอร์นาเบว 1-1 ก่อนมาเช็คบิลในบ้านตัวเองด้วยสกอร์ 2-0 แบบสบาย
Photo : www.dailymail.co.uk
ชัยชนะในเกมๆ นั้นทำให้ โลบานอฟสกี้ มาถึงความฝันที่แท้จริงของตัวเองเสียที นั่นคือการพิสูจน์ว่า ดินาโม เคียฟ ไม่ใช่ทีมที่เก่งแต่ตบเด็กๆ ในประเทศ แต่สามารถรับมือกับทีมทีมดีที่สุดในโลกได้ แม้ว่าคุณภาพนักเตะจะเป็นรอง แต่ก็ทดแทนด้วยการไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาของทั้งตัวกุนซือและนักเตะทุกๆ คนในทีมนั่นเอง
แม้ปลายทางของ ดินาโม เคียฟ ในปีนั้นจะพ่ายให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ในรอบ 4 ทีมสุดท้าย แต่ต้องยอมรับว่าพวกเขามาไกลเกินกว่าจะเสียใจ เพราะไม่เคยมีทีมจากยูเครน หรือ รัสเซีย ทำได้แบบนี้มาก่อนนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายเป็นต้นมา
Photo : www.segodnya.ua
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ คือบุคลากรระดับตำนานของวงการฟุตบอลยูเครนอย่างแท้จริง เขาคือมาตรฐานที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าหากเอาจริงในการวางแผน และทำงานหนักมากพอสำหรับการแข่งขัน ทุกๆ ทีมสามารถจะเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันให้ดีขึ้นได้
จากแพ้มากก็กลายเป็นแพ้น้อย จากแพ้แบบเฉียดฉิวก็กลายเป็นมีลุ้นยันเสมอ และจากพอในในการแบ่งแต้มก็จะนำไปสู้การคว้าชัยชนะได้ในท้ายที่สุด และนี่คือเรื่องราวความสุดยอดตลอดชีวิตของ วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ ผู้ล่วงลับ ... แม้ตัวจะจากไป แต่เรื่องของเขาจะถูกชาวยูเครนเล่าต่อไปแบบไม่รู้จบ