ศักดิ์ศรีที่จับต้องได้ : ตำนานมอเตอร์ไซค์ที่ทำให้วงการดาการ์ แรลลี่ ยุค 80's สั่นสะเทือน

ศักดิ์ศรีที่จับต้องได้ : ตำนานมอเตอร์ไซค์ที่ทำให้วงการดาการ์ แรลลี่ ยุค 80's สั่นสะเทือน

ศักดิ์ศรีที่จับต้องได้ : ตำนานมอเตอร์ไซค์ที่ทำให้วงการดาการ์ แรลลี่ ยุค 80's สั่นสะเทือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกการแข่งขัน ล้วนมีการสร้างตำนานอยู่เสมอ ...

และหลายครั้งหลายหน ตำนานไม่เพียงถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังถูกถ่ายทอดและต่อยอด สู่สิ่งที่คนธรรมดาอย่างเราๆ ก็จับต้องได้

ในวงการความเร็วก็เช่นกัน เมื่อรถที่เราๆ สามารถซื้อหามาขับขี่ได้นั้น อาจมีน้อยคนที่ทราบว่า นี่คือมรดกที่สืบทอดมาจากรถแข่งที่สร้างตำนาน คว้าชัยชนะได้ในการแข่งขันแรลลี่ที่หฤโหดที่สุดในโลก ... "ดาการ์ แรลลี่"

ศึกศักดิ์ศรีของผู้ผลิตรถ

จากตำนานการเอาชีวิตรอดกลับมาจากที่หลงทางระหว่างการแข่งขันกลางทะเลทรายของ เทียร์รี่ ซาบีน ในปี 1977 ได้กลายมาเป็นการแข่งขันแรลลี่ที่ใช้เส้นทางยาวและทรหดที่สุดในโลก ... ดาการ์ แรลลี่ หรือชื่อเมื่อแรกเริ่มคือ ปารีส-ดาการ์ ที่เริ่มต้นจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สู่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล

เส้นทางการแข่งขันที่ต้องเจอทั้งถนน, ลูกรัง, แม่น้ำ หรือแม้กระทั่งทะเลทราย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือการแข่งขันที่ไม่ได้วัดความสามารถและความอึดกันที่ตัวผู้เข้าแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงรถที่ใช้ทำการแข่งขันอีกด้วย

และกฎของรถที่สามารถใช้แข่งขันรายการนี้ได้นั้นก็ง่ายๆ ... "ตราบใดที่เป็นรถซึ่งสามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย จะเอาอะไรมาแข่งก็ได้" ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นรถมากมายหลายประเภทเข้าสู่สมรภูมินี้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, รถบรรทุก แม้กระทั่ง รถจักรยานยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์ 

ยิ่งเมื่อสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA รวมถึงสหพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ หรือ FIM ประกาศรับรองการแข่งขันนี้อย่างเป็นทางการในปี 1980 ก็ยิ่งทำให้ความนิยมของ ดาการ์ แรลลี่ เพิ่มเป็นทวีคูณ จำนวนผู้เข้าแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี และหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญนั้นคือ บริษัทผู้ผลิตรถ ที่ลงทุนจ้างนักแข่งมืออาชีพ รวมถึงพัฒนา ดัดแปลงรถที่ตัวเองมีขายในท้องตลาด ให้เหมาะสมกับสภาพสนาม

เพราะหากรถของพวกเขาสามารถตะลุยผ่านเส้นทางสุดหฤโหดจนเข้าเส้นชัย หรือแม้กระทั่งชนะการแข่งขันได้ เหล่าคนรักรถก็สามารถมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าเส้นทางจะยากสักเพียงไหน รถของพวกเขาก็สามารถผ่านความหฤโหดนั้นได้อย่างแน่นอน

สยายปีกนก

ฮอนด้า หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชั้นนำของโลกจากประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน พวกเขาเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างชื่อของตัวเอง จึงตัดสินใจดึงตัว ซีริล เนวู (Cyril Neveu) ยอดนักบิดชาวฝรั่งเศส เจ้าของแชมป์ ดาการ์ แรลลี่ ปี 1979 และ 1980 มาร่วมทีม เช่นเดียวกับการนำรถจักรยานยนต์รุ่น XR500 ที่ออกวางขายในท้องตลาด มาทำการปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้พร้อมสำหรับภารกิจสุดหฤโหด

และการเสี่ยงของพวกเขาก็บรรลุผล เนวูคว้าแชมป์ในการแข่งขันปี 1982 ซึ่งใช้เส้นทาง ปารีส-แอลเจียร์-ดาการ์ ได้สำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกของค่ายปีกนก ที่สามารถปักธงชัยได้ในการแข่งขันที่โหดหินที่สุดในโลก

ทว่าหากการเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว การรักษาแชมป์ยิ่งยากกว่า เพราะอย่างที่ได้กล่าวไป ความสำเร็จจากการแข่งขัน สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ ผู้ผลิตรถค่ายต่างๆ จึงหันมาเอาจริงกับการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันประเภทรถจักรยานยนต์ เพราะเมื่อผู้ผลิตค่ายใดสามารถคว้าชัยชนะมาได้ ยอดขายรถจักรยานยนต์ของพวกเขาก็จะพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างทวีปยุโรป

และการพลาดความสำเร็จอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น ทำให้ฮอนด้าตัดสินใจ ที่จะสร้างรถซึ่งมีเป้าหมายเพื่อ "ชนะการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่" โดยเฉพาะ

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ฮอนด้าจึงตัดสินใจในเดือนตุลาคม 1984 ให้ HRC (Honda Racing Corporation) ทีมพัฒนารถสำหรับการแข่งขันของพวกเขา ค้นหาคาแรคเตอร์ของรถที่จะสามารถชนะการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ แล้วสร้างมันออกมาให้ได้

สิ่งที่ค้นพบคือ ดาการ์ แรลลี่ เป็นการแข่งขันในสภาพสุดหฤโหด ที่ต้องใช้รถซึ่งมีคาแรคเตอร์เฉพาะ ต่างกับการแข่งขันในสนาม (Road Racing), โมโตครอส หรือไต่เขา (Trials) ... รถที่สามารถชนะการแข่งได้ จะต้องมีขนาดกะทัดรัด, เบา, บำรุงรักษาง่าย, ควบคุมง่ายในช่วงความเร็วต่ำ แต่ก็ต้องมั่นคงในช่วงความเร็วสูง ส่วนเครื่องยนต์นั้น นอกจากจะต้องประหยัดน้ำมันแล้ว ยังต้องมีกำลังพอที่จะแซงหน้าคู่แข่ง แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือต้องทนทรหดพอที่จะเข้าเส้นชัยให้ได้ ไม่ว่าเส้นทางตรงหน้าจะยากเย็นสักเพียงไหน

และผลลัพธ์ของการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา ก็ก่อให้เกิดรถแข่งสำหรับลุย ดาการ์ แรลลี่ คันแรกของฮอนด้า ในรหัส NXR750

NXR750 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ ปี 1986 ที่ยังคงใช้เส้นทาง ปารีส-แอลเจียร์-ดาการ์ ซึ่ง ซีริล เนวู สามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ แถม จิลส์ ลาเลย์ (Gilles Lalay) เพื่อนร่วมทีมและเพื่อนร่วมชาติยังคว้าอันดับ 2 มาครองได้อีกด้วย

ในปีต่อๆ มา NXR750 ถูกปรับปรุงตามคำขอของนักแข่ง ไม่ว่าจะเป็นการใส่ระบบท่อไอเสียที่เงียบลงกว่าเดิม, ติดตั้งดิสก์เบรกที่ล้อหลัง เช่นเดียวกับล้อหน้า เพื่อการควบคุมรถที่ดีขึ้น รวมถึงปรับปรุงสิ่งละอันพันละน้อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักแข่ง ซึ่งค่ายปีกนกก็ยังคงเดินหน้ากวาดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งในปี 1987 ที่ เนวู คว้าแชมป์ได้อีกสมัย และ อีดิ ออริโอลี่ (Edi Orioli) นักซิ่งชาวอิตาลี คว้าอันดับ 2 ต่อด้วยปี 1988 ที่ ออริโอลี่ คว้าแชมป์มาครอง ส่วน ลาเลย์ เข้าป้ายที่ 3 ก่อนที่ ลาเลย์ จะขอคว้าแชมป์บ้างในปี 1989 ซึ่งในปีดังกล่าว มีการเปลี่ยนเส้นทางเป็น ปารีส-ตูนิส-ดาการ์ โดยมี มาร์ก โมราเลส นักซิ่งชาวสเปน จบอันดับ 3

เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเปลี่ยนเส้นทางการแข่งขันมาผ่านประเทศใด หรือต้องเจอกับเส้นทางสุดหฤโหดขนาดไหน รถจักรยานยนต์ของฮอนด้าก็พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาผ่านได้ทุกด่านอย่างแท้จริง

 

ตำนานที่จับต้องได้จริง

แม้จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันมากเพียงใด แต่คงน่าเสียดาย หากผู้คนที่หลงรักในความเร็วทั่วโลกไม่มีโอกาสได้สัมผัสมัน

และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ความสำเร็จในการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ นั้น ส่งอิทธิพลของผู้บริโภค ในความต้องการรถจักรยานยนต์รูปแบบ "Racer Replica" หรือรถขายจริง ที่ไม่เพียงจะถอดแบบจากรถแข่งเท่านั้น แต่ยังคงมี DNA ของรถแข่งอย่างครบถ้วน แบบคาดไม่ถึง

"ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้รถฮอนด้าจะครองตลาดในยุโรปก็จริง แต่พวกเราก็ตั้งเป้าหมายใหม่ในการบุกตลาดรถจักรยานยนต์แบบ แอดเวนเจอร์ ทัวริ่ง ที่เริ่มได้รับความนิยมแบบสุดๆ ในยุโรป" โทโมโนริ โมงิ (Tomonori Mogi) หัวหน้าทีมออกแบบของฮอนด้าเผย

"ช่วงเวลาดังกล่าว ฮอนด้ามี Transalp รถจักรยานยนต์ดูอัลสปอร์ตที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ซึ่งภาพลักษณ์ของรุ่นนี้คือ 'รถจักรยานยนต์ที่สามารถขี่ลัดเลาะเทือกเขาแอลป์ สู่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน' แต่ดีลเลอร์ในทวีปยุโรปบอกกับเราว่า ลูกค้าต้องการรถที่สะท้อนความทรงพลังมากกว่านี้ อย่างเช่น การขี่จากชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตะลุยผ่านทะเลทรายซาฮาร่า"

"นั่นคือช่วงเวลาเดียวกับที่ฮอนด้ากำลังส่งรถตระกูล NXR คว้าชัยแบบถล่มทลายไร้เทียมทานใน ปารีส-ดาการ์ พอดี และมันชัดเจนเลยว่า เราต้องทำรถที่สะท้อนตัวตนของ NXR ออกมาให้คนทั่วไปได้สัมผัส"

ผลลัพธ์ก็คือ "Africa Twin" รถจักรยานยนต์ดูอัลสปอร์ต ที่วิ่งบนถนนก็ยอด วิ่งบนเส้นทางวิบากก็เยี่ยม โดย Twin นอกจากจะสะท้อนถึงความเอนกประสงค์ ที่ลุยได้ทั้งเส้นทางออนโรดและออฟโรดแล้ว ยังสื่อถึงเครื่องยนต์ 2 สูบที่ติดตั้งในรถรุ่นนี้อีกด้วย ส่วน Africa นั้นก็ไม่ต้องสื่อให้มากความ เพราะนี่คือรถที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณของทวีปแอฟริกา ดินแดนแห่งศึก ดาการ์ แรลลี่ อย่างแท้จริง

ไม่เพียงแต่จะออกมาเฉิดฉายบนท้องถนนเท่านั้น เพราะ Africa Twin ยังออกมาอาละวาดในการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ ด้วยเช่นกัน แถมยังสามารถสร้างชื่อได้เช่นเดียวกันต้นตระกูลอย่าง NXR750 เมื่อ Africa Twin คว้าแชมป์ในรุ่นรถโรงงาน หรือ Stock Class ปี 1989 เส้นทาง ปารีส-ตูนิส-ดาการ์ และปี 1990 เส้นทาง ปารีส-ตริโปลี-ดาการ์

กาลเวลาล่วงเลยไป หลายสิ่งหลายอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ Africa Twin ที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงในหลายๆ ด้าน ทั้งการมีรุ่นเกียร์ออโตเมติกแบบคลัทช์คู่ หรือ DCT ให้เลือกใช้ควบคู่กับเกียร์ธรรมดา, ระบบเบรก ABS รวมถึงระบบแทร็กชั่นคอนโทรล

การเพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้เข้าไป ทำให้ Africa Twin ไม่เพียงแต่จะเป็นรถจักรยานยนต์ที่สามารถไปได้ทั้งบนท้องถนนและทางวิบากเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์มากน้อยขนาดไหน ก็สามารถจับรถคันนี้ออกไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะในตัวเมือง หรือชนบทได้อย่างสบายๆ ถือเป็นรถจักรยานยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ว่าเรื่องงานเรื่องเที่ยวก็สามารถทำให้เป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างแท้จริง

หนึ่งในบทพิสูจน์ของเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นในสารคดี "Riding Morocco: Chasing the Dakar" ของ National Geographic ที่นำเอา คริสตอฟ บาร์ริเอร์-วาร์ยู (Christophe Barriere-Varju) อดีตนักแข่ง ดาการ์ แรลลี่ 4 สมัย ชาวฝรั่งเศส และนางแบบสาวชาวออสเตรเลีย ลอรา ซอสตัน (Laura Csortan) ที่ไม่เคยมีประสบการณ์กับรถจักรยานยนต์แบบออฟโรดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ขี่ Africa Twin ตะลุยไปตามเส้นทางของประเทศโมร็อกโก ที่เคยใช้จัดการแข่งขัน ดาการ์ แรลลี่ ในอดีต 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคตรงหน้า แต่ทั้งคู่และ Africa Twin ก็สามารถฝ่าไปได้อย่างไม่มีปัญหา โดย บาร์ริเอร์-วาร์ยู ถึงกับยอมรับว่า "ไม่ว่าใครก็สามารถขี่ Africa Twin ได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการขี่ออกทริปด้วยความเร็วไม่สูงมาก (Cruising) หรือขี่ด้วยความเร็วสูงก็ตาม"

และถึงแม้ Africa Twin จะเบนเส้นทางสู่การเป็นรถที่ขายตามท้องตลาดแบบเต็มตัวแล้วก็ตาม แต่ ดาการ์ แรลลี่ ยังคงเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของฮอนด้าเสมอ เมื่อในปี 2020 ริคกี้ บราเบค นักแข่งชาวอเมริกัน สามารถนำชัยมาสู่ค่ายปีกนกได้อีกครั้ง กับการนำ CRF450 Rally คว้าแชมป์ ดาการ์ แรลลี่ ซึ่งเปลี่ยนเส้นทางสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง กับเส้นทาง เจดดาห์-ริยาด-กิดดิยา ได้สำเร็จ

ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ Africa Twin ไม่เป็นเพียงแค่รถที่ได้รับการถ่ายทอดจิตวิญญาณจากรถจักรยานยนต์ที่ชนะการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังได้ถ่ายทอด DNA สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันว่า จิตวิญญาณแห่ง ดาการ์ แรลลี่ นั้นยังคงอยู่กับ ฮอนด้า เสมอมา และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook