อึนฮา : นักกีฬาอีสปอร์ตข้ามเพศ ที่อยากเห็นการแข่งขันเกมเปิดกว้างสำหรับทุกคน

อึนฮา : นักกีฬาอีสปอร์ตข้ามเพศ ที่อยากเห็นการแข่งขันเกมเปิดกว้างสำหรับทุกคน

อึนฮา : นักกีฬาอีสปอร์ตข้ามเพศ ที่อยากเห็นการแข่งขันเกมเปิดกว้างสำหรับทุกคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกในศตวรรษที่ 21 แนวคิดแบบเสรีนิยม เเผ่ขยายไปทั่วโลก ผู้คน ต่างแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี ในประเด็นต่างๆ อย่างไม่มีการปิดกั้นการตัดสิน ด้วยเรื่อง เชื้อชาติ, สีผิว, ศาสนา

รวมถึง เรียกร้องประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เพศทางเลือก (LGBT) หรือคนข้ามเพศ (Transgender) ที่ไม่ควรนำความแตกต่างทางเพศ มาตัดสินความสามารถ หรือโอกาสที่ควรได้รับ

สำหรับวงการกีฬาอีสปอร์ต ในประเทศไทย ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสตรีข้ามเพศ ปอย-นนทวัฒน์ ไพรดำ หรือ อึนฮา (Eunha) โปรเพลเยอร์จากเกม RoV เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬาอีสปอร์ต

เกมคือสิ่งที่เธอรัก และเธอมีความสุขทุกครั้ง ที่ได้เดินทางเข้าสู่โลกแห่งเกม ร่วมกับเพื่อนๆ 

แต่อีกหนึ่งสิ่งที่เธอมองเห็นในฐานะโปรเพลเยอร์ คือความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ยังคงอยู่ ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ในโลกของวงการอีสปอร์ต

เกมคือความสุข

“เราเริ่มเล่นเกมตั้งแต่เรียนอยู่ป.2 ตอนนั้นเกมมาริโอออกมาใหม่ เราอยากเล่นเลยไปบอกให้คุณแม่ซื้อให้หน่อย เป็นครั้งแรกที่เราได้ลองเริ่มเล่นเกม” อึนฮา เล่าจุดเริ่มต้นกับกิจกรรมโปรดของเธอ

“เรารู้สึกว่าการเล่นเกมสนุกมากสำหรับเรา เหมือนเป็นทางของเรา หลังจากนั้นเราเล่นเกมมาตลอด พอโตขึ้นมาหน่อย เราหันมาเล่น Final Fantasy (ไฟนอล แฟนตาซี) พอขึ้นมัธยม เราเปลี่ยนมาเล่น Dota 2 (โดต้า 2) คือเล่นเกมมาตลอด”

นอกจาก อึนฮา จะรู้ว่าตนเองหลงรักในการเล่นเกมตั้งแต่เด็ก ตัวของเธอได้รู้ว่า แม้เพศกำเนิดจะเป็นผู้ชาย แต่ใจของเธอคือผู้หญิง กระนั้นเธอไม่ได้มองว่าเพศสภาพ จะเป็นสิ่งที่เข้ามาขัดขวางความรักความชอบ ต่อการเล่นเกมของเธอ

“เราเคยคิดนะ ว่าตัวเราแปลกกว่าคนอื่นหรือเปล่า คนอื่นที่เป็นเหมือนเรา เขาชอบเล่นตุ๊กตา เล่นอะไรแบบนั้น แต่เรากลับชอบเล่นเกม เล่นจริงจังมาก กลับจากโรงเรียนทำการบ้านเสร็จ หรือเสาร์-อาทิตย์ เล่นแต่เกม”

“ช่วงมัธยม เราชอบไปเล่นเกมที่ร้าน จะไปกับเพื่อนผู้ชายหรือผู้หญิง เราไปได้หมด สำหรับเราการไปเล่นเกมกับเพื่อน ไปเล่นด้วยกัน คือความสนุกของเรา แต่ช่วงนั้นพอเล่นบ่อย ที่บ้านเริ่มตำหนิ เริ่มต่อว่าเราเหมือนกัน กลัวไปกระทบกับการเรียน”

“ตอนนั้นเราเหมือนไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร หรืออยากทำอะไร รู้แค่ว่าชอบเกม อยากเล่นเกม เล่นแล้วมีความสุข ยิ่งเล่น ยิ่งได้รู้จักเพื่อนใหม่”

“พอเข้ามหาวิทยาลัย เราได้มีโอกาสรวมทีมกับเพื่อนๆ ลงแข่งตามทัวร์นาเมนต์ Dota 2 ของผู้หญิง แต่ไม่ได้ถึงขั้นจริงจัง แค่เล่นขำๆกับเพื่อน มีทัวร์นาเมนต์ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ เราไปสมัครลงแข่งหมด”

ถึงจะไม่ได้เป็นโปรเพลเยอร์อาชีพ แต่อึนฮาสามารถคว้าเงินรางวัลจากการแข่งขันมาได้ จนทำให้ครอบครัวยอมรับการเล่นเกมของเธอ แต่ที่สำคัญกว่านั้น สำหรับตัวของอึนฮา คือการได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่รัก สังคมที่สร้างความสุขให้กับเธอ

“ตอนนั้นสนุกมาก เรารู้สึกว่าทุกคนคือเพื่อนกัน ไม่มีใครต้องมาแบ่งแยกว่าใครเป็นเพศอะไร เราสนุกกับการเล่นเกมมาก เป็นสิ่งที่เราทำ แล้วรู้สึกสบายใจมากที่สุด”

 

กำแพงของเพศ

แม้จะสนุกกับการเล่นมากแค่ไหน แต่อึนฮาไม่เคยมีความคิดจะหันมาเป็นโปรเพลเยอร์อาชีพแบบเต็มตัว จนกระทั่งการก้าวเข้ามาของเกมมือถือเกมหนึ่ง ที่ถูกเรียกว่า RoV

“ตอนนั้นเราว่าง เราคิดว่าโหลดมาเล่นหน่อยแล้วกัน เห็นว่าเกมมันเล่นไม่ได้ใช้เวลานาน น่าจะเล่นฆ่าเวลาได้ พอได้เล่น ยิ่งเล่นยิ่งสนุก เราเล่นมาเรื่อยๆ จนเขามีเปิดแข่ง RoV เราก็ไปสมัครแข่ง ช่วงแรกไม่มีของผู้หญิงเปิด เราก็ไปสมัครเล่นของผู้ชาย”

“ช่วงนั้นกระแส RoV กระแสกีฬาอีสปอร์ตดังขึ้นมาพอดี เราคิดว่าจะมาลองทางนี้อย่างจริงจัง (เป็นนักกีฬาอีสปอร์ต) เพราะสุดท้ายเราชอบเล่นเกม เราชอบเล่น RoV เราอยากอยู่กับมัน”

“พอมีลีกหญิงเปิด เราเปลี่ยนมาลงกับผู้หญิง มีผู้ใหญ่ใจดีที่ให้โอกาสเรา ได้ร่วมทีม ได้ลงแข่งขัน แต่ด้วยความที่เราเป็นแบบนี้ บางคนเขาก็ไม่ยอมรับในตัวเรา”

ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ผู้เล่นข้ามเพศ จะต้องเจอปัญหาเสียงต่อต้าน กับการลงเล่นกีฬา ด้วยเพศที่ไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด 

ถึงแม้จะมีความพยายามผลักดัน ทำลายกำแพงเรื่องเพศให้เปิดกว้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่ และสามารถพบได้ง่ายดาย ตามหน้าข่าวทางอินเทอร์เน็ต

“เราว่าวงการอีสปอร์ต ไม่ได้ต่างจากวงการกีฬาอื่น คนที่ไม่ยอมรับเราต้องมีอยู่แล้ว” อึนฮาเผยมุมมองของเธอ 

“ที่เสียใจคือปัญหาที่เราเจอ มันเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ให้เราลงแข่ง ไม่ยอมรับเรา บางคนมองว่าเราเป็นผู้ชาย ทำไมเรามาแข่งร่วมกับผู้หญิง บางคนมองว่าเราเป็นผู้ชาย เราจะได้เปรียบกว่าคนอื่น”

“เวลาไปแข่งต่างประเทศ เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ผู้เล่นด้วยกันเขาให้เกียรติเรา มองเราเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง หรือทางทีมงานผู้จัด เขาดูแลเราอย่างดี ประมาณว่าถ้าเจอใครมาต่อว่า ให้แจ้งทีมงานได้เลย เขาจะดูแล จัดการให้”

ปัญหาในการถูกบุลลี่ สำหรับคนที่เป็นเพศทางเลือก หรือคนข้ามเพศ กลายเป็นเรื่องที่อยู่คู่ชีวิตของคนเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหนีพ้น…

คำดูถูก คำล้อเลียน คำเสียดแทง ในด้านหนึ่งเหมือนมีดคมที่สร้างความเจ็บปวด ให้กับผู้คน แต่ในอีกทาง คือประสบการณ์ที่ทำให้ อึนฮา เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น 

“ช่วงแรกๆที่เจอ รู้สึกเซ็งนะ ไม่เข้าใจ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เราเลือกไม่ได้ตอนเกิด ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง”

“เมื่อเวลาผ่านไปเราเข้าใจนะ เราไม่มีทางรู้หรอกว่า คนอื่นเขาคิดแบบไหน มีความคิดอย่างไร สุดท้ายเราไปห้ามความคิดใครไม่ได้”

“เราไม่ได้จะไปโวยวาย หรือไปประกาศให้คนมายอมรับเรา คนแบบเรา แค่คิดว่าคนเราถ้าอยากทำอะไร ก็ควรจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ต้องมีกรอบอะไรมาปิดกั้น”

“สำหรับตัวเรา เรามองที่ความสุขดีกว่า เรามาเป็นโปรเพลเยอร์ เพราะอยากเล่นเกมกับเพื่อน อยากสนุก เราเล่นเกมเรามีความสุข มีเพื่อนๆ ผู้ใหญ่ ที่ให้โอกาส ให้กำลังเรา เข้าใจในตัวของเรา แค่นั้นพอแล้ว”

 

ผู้หญิงเพื่อผู้หญิง

การเป็นนักกีฬาอาชีพ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความสามารถ ในการแข่งขัน อึนฮาพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ ผ่านการร่วมงานในฐานะโปรเพลเยอร์ กับหลายต้นสังกัด… ปัจจุบันเธออยู่กับทีม 7Treasure ภายใต้การสนับสนุนของ Delta X สโมสรอีสปอร์ตน้องใหม่ไฟแรง

แม้ว่าอึนฮาจะได้รับการยอมรับ ในวงการอีสปอร์ตหญิง แต่กำแพงทางเพศ ยังคงเป็นปัญหาที่เธอต้องพบเจอ เพราะในวงการกีฬาอีสปอร์ตบ้านเรา ความสำคัญ ความสนใจ พุ่งไปที่ผู้เล่นผู้ชาย และการแข่งขันของผู้หญิง กลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม

“ตอนแรกที่ RoV เปิดทัวร์นาเมนต์แข่งขัน ผู้หญิงสนใจอยากเข้ามาเล่นเยอะมาก แต่เวลาผ่านไป ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันลดลง สปอนเซอร์ไม่เยอะเหมือนผู้ชาย จำนวนผู้เล่นค่อยๆลดลงเรื่อยๆ”

“พอผู้เล่นน้อย ความน่าสนใจก็น้อยลงตาม คนดูหายไป เพราะมีแต่ผู้เล่นเดิมๆแข่งกัน ความน่าตื่นเต้นลดลง การพัฒนาฝีมือของผู้เล่นลำบากขึ้น อย่างตัวเรา มีบางช่วงที่ไม่มีสปอนเซอร์ เข้ามาสนับสนุนเหมือนกัน”

“เรายอมรับว่า ความสามารถในการเล่น RoV ของผู้ชายกับผู้หญิง ในภาพรวมห่างกันมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไล่ตามทัน แต่เรามองว่าถ้ามีการแข่งขัน มีทัวร์นาเมนต์ ให้ผู้หญิงได้ลงแข่งขัน พัฒนาตัวเอง ผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นไปทีละขั้นเพื่อทัดเทียมผู้ชายได้”

“ทุกวันนี้ มีผู้เล่นโปรเพลเยอร์หญิง ที่เล่นในระดับโปรลีกร่วมกับผู้ชาย ดังนั้นไม่จริงที่ใครจะบอกว่า ผู้หญิงไม่มีทางเล่นเกมเก่งเท่าผู้ชาย เรามองว่าทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝน เราเชื่อว่าถ้ามีทัวร์นาเมนต์ให้ผู้หญิงได้มีโอกาส ฝึกตัวเองเท่ากับผู้ชาย ผู้หญิงสามารถเก่งเท่าผู้ชายได้”

“นอกจากที่เรามาเป็นโปรเพลเยอร์เพราะชอบเล่นเกม อีกหนึ่งเหตุผลคือเราอยากเป็นส่วนหนึ่ง ที่ผลักดันวงการอีสปอร์ตของผู้หญิง อยากให้เปิดกว้างมากกว่านี้ อยากลบคำสบประมาท ที่มีต่อผู้หญิงออกไป”

เกมคือชีวิตของผู้เล่นโปรเพลเยอร์อย่างอึนฮา เธอใช้เวลาหลายช่วงโมงต่อวัน ไปกับการเล่นเกม RoV ทั้งเพื่อการฝึกซ้อมพัฒนาฝีมือของเธอ หรือเล่นเพื่อความสนุกกับเพื่อนสาวของเธอ

ท้ายที่สุด แม้เธอจะต้องเจอกำแพงทางเพศที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะในฐานะผู้เล่นข้ามเพศ หรือผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ทุกครั้งที่เธอเข้าสู่โลกแห่งเกม สิ่งที่เธอได้รับคือความสุข และเธอไม่ได้ต้องการจะส่งต่อสิ่งใด มากไปกว่าความสุขจากการเล่นเกม

“เกมคือความสุขของเรานะ เรามาเล่นเกมเพราะเราต้องการความสุข เราเชื่อว่าคนอื่นคิดเหมือนกันกับเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือคนข้ามเพศ เขาเล่นเกม เพราะเกมทำให้เขามีความสุข”

“ถ้ามันเปิดกว้างขึ้น เราคิดว่าคงจะสนุกขึ้นนะ ทุกวันนี้มีคนแบบเรา มาลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ต่างๆมากขึ้น เราอยากให้ผู้หญิงมาเล่นเกม มาแข่งกันเยอะๆ มาเล่นกันเป็นอาชีพ มาช่วยกันให้มันโตขึ้น” อึนฮา กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook