การพังครั้งประวัติศาสตร์ : COVID-19 เล่นงานโลกฟุตบอลหนักหน่วงขนาดไหนกันแน่?
"กระทบกันถ้วนหน้า" คงเป็นคำสั้นๆ ที่ใช้อธิบายสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ "COVID-19" ได้ตรงที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือมียศถาบรรดาศักดิ์ จะยากจนข้นแค้นหรือรวยล้นฟ้า ต่างก็ประสบปัญหาอันมีที่มาจากไวรัสดังกล่าวด้วยกันทั้งสิ้น
หลายคนป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล บางคนอาการหนักเกินความสามารถของทีมแพทย์ในการรักษาจนเสียชีวิต และด้วยความที่ไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้อย่างง่ายดาย โลกทั้งใบจึงเกือบเหมือนหยุดหมุน เพราะหนึ่งในวิธีการที่ช่วยชะลอ และลดการแพร่ระบาดได้ดีที่สุด คือต้องรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ทำให้บรรยากาศตามที่ต่างๆ ซึ่งเคยคึกคัก กลับซบเซาอย่างน่าใจหาย
วงการฟุตบอลเอง ก็หนีสถานการณ์ชวนอึดอัดนี้ไปไม่พ้น เพราะ COVID-19 ทำให้วงการลูกหนังทั้งตกอยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง และชวนให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปพร้อมกัน แต่ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อโลกฟุตบอลอย่างไรบ้าง?
โลกลูกหนังหยุดหมุน
สิ่งแรกที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด คงหนีไม่พ้นความคึกคักบนโลกลูกหนังที่หายไป เพราะจากปกติที่เรามีฟุตบอลให้ได้ชมกันชนิดที่เรียกได้ว่า "ทุกวัน" แต่เวลานี้ กลับแทบไม่มีศึกลูกกลมๆ ให้ได้ดู
พรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, บุนเดสลีกา, เซเรียอา, แชมเปียนส์ลีก, เจลีก, ไชนีส ซูเปอร์ลีก หรือแม้แต่ ไทยลีก ... ทุกการแข่งขันที่กล่าวมาต้องประกาศเลื่อนหรือหยุดพักทั้งหมด เนื่องจากความเสี่ยงในการที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มหากยังเดินหน้าแข่งขันต่อนั้นสูงเกินไป แม้แต่ลีกที่เคยตัดสินใจแข่งต่อ แบบปิดสนาม ไม่ให้แฟนบอลเข้าชม แต่ยังมีการถ่ายทอดสดผ่านหน้าจอ อย่าง บุนเดสลีกา หรือ เอลีก ที่สุดแล้วก็ต้องประกาศพักการแข่งขัน หลังสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งถึงตอนนี้ น่าจะมีเพียงแค่ลีกเดียวเท่านั้น ที่ยังคงเดินหน้าแข่งขันต่อไปแบบไม่สนโลก นั่นคือ "เบลารุส พรีเมียร์ลีก" ลีกสูงสุดของประเทศเบลารุส ที่แม้แต่ อเล็กซานเดอร์ เคล็บ อดีตยอดนักเตะของที่นั่นยังยอมรับว่า เพื่อนร่วมชาติของเขา ไม่แคร์กับไวรัสอะไรนั่นเลยแม้แต่นิด และยังคงเดินเข้าสนาม เชียร์ทีมรัก แช่งทีมชัง อย่างเต็มเหนี่ยวเช่นเดิม
ความเงียบงันไม่ได้จบแต่เพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่ฟุตบอลลีกรากหญ้า, การซ้อมของทีมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการจับกลุ่มเตะบอลในหมู่เพื่อน ก็ยังถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป ถึงกับมีคำสั่งปิดสนามกีฬา โรงยิมกันเลยทีเดียว และนั่นทำให้นักฟุตบอลแต่ละคน ถ้าไม่ฝึกซ้อมกันเองแบบส่วนตัวแล้ว ก็จะมีการทำแชลเลนจ์อะไรแปลกๆ ให้คนได้ทำตาม
แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาส สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นกระแสในช่วงฟุตบอลหยุดนิ่ง ก็คือ อีสปอร์ต อย่างเกมฟุตบอลต่างๆ ที่มีจำนวนผู้เล่น ผู้ชม สูงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ถึงขนาดที่ ลาลีกา ต้องจัดรายการพิเศษ ให้นักเตะของแต่ละสโมสรมาเป็นตัวแทนชิงความเป็นหนึ่งของลีกบนโลกเสมือนเลยทีเดียว
เม็ดเงินที่สูญหาย
โรคระบาดที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังลุกลามสู่ปัญหาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางเศรษฐกิจ จากการที่กิจการต่างๆ ไม่สามารถดำเนินได้อย่างที่ควรจะเป็น
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปัญหาเศรษฐกิจจาก COVID-19 นั้น ส่งผลถึงวงการฟุตบอลด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อโลกฟุตบอลหยุดนิ่ง เม็ดเงินที่เคยสะพัดก็หายไป จนการเงินฝืดเคืองตามไปด้วย
เพราะแค่การแข่งขันยังมีต่อไป แต่ปิดสนามไม่ให้แฟนบอลเข้าชม ทั้งลีกก็ต้องสูญเสียเงินจากบัตรเข้าชมถึงหลักร้อยล้านบาทเข้าให้แล้ว แต่ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดแย่ลงจนต้องพักการแข่งขัน ก็เท่ากับว่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดก็ถูกแช่แข็งตามไปด้วย
และถึงตอนนี้ หลายคนก็ตั้งคำถามแล้วว่า หากทุกอย่างยังไม่ดีขึ้น จนจำเป็นที่จะต้อง "ยุติการแข่งขัน" ปิดฉากฤดูกาลแค่เพียงเท่านี้ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะรุนแรงขนาดไหน สำนักข่าว DW ของเยอรมัน ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายหาก บุนเดสลีกา และ ลีกา 2 ต้องถูกตัดจบแล้ว พบว่า รายได้จากค่าบัตรเข้าชม, สปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่สูญเสียไป อาจสูงถึง 750 ล้านยูโร (ราว 26,880 ล้านบาท) ขณะที่ KPMG บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกวิเคราะห์ว่า หากต้องยกเลิกฤดูกาล มูลค่าความเสียหายของลีกฟุตบอลชั้นนำของยุโรป อาจมากถึง 4 พันล้านยูโร (143,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว
และการตัดจบซีซั่นที่ไม่มีใครอยากให้เกิดนั้น ถึงเวลานี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว เพราะทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ได้ประกาศให้ฤดูกาล 2019-20 ของการแข่งขันฟุตบอลในระดับกึ่งอาชีพ หรือนอกลีกของอังกฤษ ระดับ 3-6 เป็นโมฆะ เสมือนไม่เคยเกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อย แม้ลีกฟุตบอลอาชีพทั้ง 4 ระดับ และลีกกึ่งอาชีพระดับ 1-2 จะยังเดินหน้าต่อ ณ ตอนนี้ แต่ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า จะได้เดินหน้าจริงรึเปล่า
อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนในวงการฟุตบอล ก็ได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 แล้ว โดยหลายๆ สโมสร ก็ได้ประกาศจ่ายค่าเหนื่อยให้บุคลากรทุกคน ไม่ว่าคนที่มีสัญญาประจำ หรือเป็นสัญญาจ้างเฉพาะวันที่มีการแข่งขันตามเดิม หลายสโมสรเลือกที่จะหั่นค่าเหนื่อยของนักเตะและผู้บริหาร ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อนำเงินมาช่วยบุคลากรตัวเล็กตัวน้อยให้สู้ต่อไปได้
แม้กระทั่งในระดับลีก ที่ล่าสุด EFL องค์กรดูแลลีกล่างของประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ ลีกแชมเปียนชิพ ถึง ลีกทู ได้ตั้งกองทุนฉุกเฉินมูลค่า 50 ล้านปอนด์ เพื่อเสริมสภาพคล่องของทีมที่กำลังมีปัญหา และกำลังอยู่ในการหารือกับ พรีเมียร์ลีก เพื่อแบ่งเงินมาช่วยทีมระดับรากหญ้าอีกด้วย
ซึ่งเราเชื่อว่า จากนี้คงมีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในวงการฟุตบอลยังไปต่อได้ในช่วงเวลาแบบนี้ออกมาอีกอย่างแน่นอน
สัญญาคาราคาซัง
แม้ปัญหาทางการเงินน่าจะได้รับการคลี่คลายจากความร่วมมือร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย ทว่ายังมีหนึ่งปัญหาที่ดูจะยังไม่สามารถหาทางออกได้ง่ายๆ นั่นคือ ปัญหาเรื่องสัญญา
ตามปกติ สัญญาของนักเตะอาชีพ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปจะหมดลงในวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ฤดูกาลจบลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ทว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้แม้แต่นักกีฬาเองก็ยังติดเชื้อดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ทุกอย่างตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน
เพราะแม้สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า จะเน้นย้ำชาติสมาชิกว่า ขอให้จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกรายการต่างๆ ให้จบซีซั่นภายในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว แต่ถึงตอนนี้ แม้แต่พระเจ้าก็อาจจะไม่รู้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด จะดีขึ้นจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเมื่อใด
เรื่องดังกล่าว โยนาส เบเออร์-ฮอฟฟ์มันน์ เลขาธิการสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ หรือ ฟิฟโปร เผยว่า ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังพยายามเดินหน้าให้มีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเลื่อนวันที่สัญญาของนักเตะจะหมดอายุ จาก 30 มิถุนายน เป็นวันอื่นหลังจากที่ฟุตบอลของแต่ละลีกสามารถแข่งขันจนจบฤดูกาลได้ แต่ สเวน เดมูเลมีสเตอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทกฎหมายทางกีฬา Atfield มองว่า อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
"ในหลายๆ ประเทศ สัญญาของนักเตะก็คือสัญญาจ้างงาน และมันก็เป็นเรื่องที่กฎหมายของแต่ละชาติสามารถบังคับใช้ได้ เรายังไม่เห็นถึงความชัดเจนของการขยายสัญญาระยะสั้นผ่านข้อตกลงร่วมกัน ดังนั้นในความเห็นของผม นักเตะที่กำลังจะหมดสัญญา น่าจะไม่เลือกอยู่กับทีมเดิมต่อหลังจากวันที่ 30 มิถุนายนนี้ครับ"
เนื่องจากโดยธรรมชาติ นักเตะที่กำลังจะหมดสัญญา มีอำนาจในการต่อรองมากกว่าสโมสร หากทุกภาคส่วนในวงการลูกหนังไม่อาจหาทางออกได้ เราอาจจะได้เห็นความวุ่นวายปั่นป่วนในตลาดนักเตะไม่น้อยเลยทีเดียว
ตลาดนักเตะต้องปรับตัว
ปัญหานอกสนามจาก COVID-19 ไม่เพียงจะมีแต่เรื่องของสัญญาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของสิ่งที่ทุกคนรอคอยในช่วงปิดฤดูกาล นั่นคือ ตลาดซื้อขายนักเตะ อีกด้วย
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัญหาโรคระบาดนั้นได้ส่งผลต่อเรื่องเศรษฐกิจอย่างรุนแรง สโมสรต่างๆ ต้องเจอกับปัญหาด้านการเงินแบบที่พวกเขาไม่เคยพบมาก่อน และนั่นอาจทำให้ภาพรวมของตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์นี้เปลี่ยนไปจากเดิม
ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาซึ่งไม่เปิดเผยนามคนหนึ่งได้เปิดเผยกับ The Sun ว่า "อย่างที่เราทราบ ตลาดนักเตะช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้มันเฟ้อ นักเตะค่าตัว 100 ล้านยูโรมีให้เห็นดาษดื่น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าเราคงจะไม่ได้เห็นนักเตะค่าตัวแพงระยับในซัมเมอร์นี้ เพราะหากสโมสรยังใช้เงินแบบมหาศาล ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจคืนทุนจากการซื้อนักเตะรอบนี้ไม่ได้อีกเลยก็เป็นได้"
ขณะที่อีกหนึ่งเอเยนต์นักฟุตบอลที่ไม่ประสงค์ออกนาม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในตลาดนักเตะอังกฤษ กล่าวกับ AFP ว่า "เราคงจะได้เห็นการต่อรองราคาเพื่อให้ได้นักเตะของดีราคาย่อมเยาว์อย่างแน่นอน เพราะครั้งนี้ หลายสโมสรที่มีปัญหา น่าจะเร่ขายนักเตะที่สามารถเพิ่มเงินในบัญชีให้กับพวกเขาได้กันมากมายเลยล่ะ"
ถึงกระนั้น โจนาธาน บาร์เน็ตต์ เอเยนต์ฟุตบอลชื่อดังของวงการ เจ้าของบริษัท Stellar Group ที่มีนักเตะอย่าง แกเร็ธ เบล และ ซาอูล นิเกซ อยู่ในสังกัด กลับมองว่า เรื่องราวของนักเตะที่กำลังจะหมดสัญญา หรือตลาดซื้อขายนักเตะ น่าจะยังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องมาคิดกันในจังหวะนี้ เพราะยังมีเรื่องอีกที่สำคัญกว่า..
"สิ่งสำคัญประการแรกที่ต้องทำ คือต้องทำให้แน่ใจว่า ทุกคนในวงการฟุตบอลจะได้รับการช่วยเหลือให้อยู่รอดได้ ตอนนี้พวกเราเจอปัญหาเดียวกัน กับอะไรหลายๆ อย่างที่ยังไม่แน่นอน เราคงไม่คิดถึงเรื่องในฤดูร้อนหรือตลาดนักเตะเท่าไหร่นักหรอกในตอนนี้ เหตุผลคือ เรายังไม่รู้เลยว่า ปัญหาครั้งนี้มันจะรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ได้ขนาดไหน"
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ