เสียงจากนักกีฬาไทย… โตเกียว เกมส์ เลื่อนไปเป็นปี 2021 ดีแค่ไหน?
หลังจากที่ทุกฝ่ายพยายามประคับประคองสถานการณ์ เพื่อให้มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก โตเกียว เกมส์” สามารถจัดได้ตามกำหนดเดิมปี 2020
ในที่สุด วันที่ 24 มีนาคม คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจร่วมกันเลื่อนการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ 2020 ออกไปอีก 1 ปี เป็นภายในไม่เกินฤดูร้อนปี 2021
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการจัดมหกรรมกีฬา โอลิมปิก เกมส์ รอบ 124 ปีที่การแข่งขันถูกเลื่อนออกไป หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีการยกเลิกจัด 3 ครั้ง เนื่องจากภาวะสงครามโลก ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
แน่นอนว่า เหล่าบรรดานักกีฬาสากลทีมชาติจากทุกประเทศ ที่ต่างทุ่มเทฝึกซ้อมกัน อย่างหนักหนา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนได้ตั๋วไปลุยโอลิมปิกในครั้งนี้ ต่างมีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน
นั่นคือ ไม่อยากให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลกระทบไปถึงมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ที่พวกเขาเฝ้ารอคอย
แต่ในเมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ Main Stand ได้รวบรวมความเห็นจาก ตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทย หลากหลายประเภท ที่ต่างคว้าโควต้าไปลุยโอลิมปิก เกมส์ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และมุมมองของพวกเขาและเธอต่อ โอลิมปิก เกมส์ ที่จะเลื่อนเวลาออกไปอีก 1 ปี
เสียใจแต่เข้าใจ
มหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมส์ ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 4 ปี ซึ่งแต่ละครั้ง จะมีรูปแบบ ประเภทกีฬา โควต้าที่แตกต่างกันออกไป นั่นจึงทำให้การได้เข้าร่วมโอลิมปิก เปรียบเสมือนฝันของนักกีฬาหลายๆ คนจากทั่วทุกมุมโลก
Photo : www.cnbc.com
เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถไปยืนจุดนั้นได้ พวกเขาและเธอ จึงต้องทุ่มเทฝึกซ้อมกันเป็นแรมปี พยายามทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด ในทุกๆ สนามการคัดเลือก และทุกๆ สนามแข่งขัน เพื่อเก็บคะแนนสะสม หรือทำให้ตัวเองมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การพิจารณา ที่จะได้เข้าร่วม โอลิมปิก เกมส์
ดังนั้น คงไม่ต้องอธิบายเลยว่า นักกีฬาตัวแทนทีมชาติ ที่อุตส่าห์ผ่าด่านจนตีตั๋วไปลุย โอลิมปิก เกมส์ 2020 จะมีความรู้สึกอย่างไร ? เมื่อทราบข่าวว่าการแข่งขันครั้งนี้จะถูกเลื่อนออกไปอีก 1 ปี
“หลังจากทราบข่าวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม บีซรู้สึกเสียใจ แต่ก็ต้องทำใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บีซ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับโลกเราอย่างแน่นอน”
บีซ - จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย ประเภทถนนหญิง วัย 32 ปี เปิดเผยถึงความรู้สึกหลังทราบข่าวว่ามีการเลื่อนการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ออกไปอีก 1 ปี
Photo : Jutatip Maneephan
เธอเป็นนักกีฬาไทยคนแรกๆ ที่ได้การันตีว่าได้ร่วมการแข่งขัน โตเกียว เกมส์ 2020 เนื่องจากมีคะแนนสะสมและอันดับโลกผ่านเกณฑ์การพิจารณา ทว่า 5 เดือนต่อมาหลังจากทราบข่าวดี เธอต้องพบกับข่าวร้าย ที่ทำให้เธอเสียใจ แต่ก็เข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับ ศิริพร แก้วดวงงาม นักกีฬาวินด์เซิร์ฟ ทีมชาติไทย ประเภทอาร์เอสเอ็กซ์ หญิง วัย 25 ปี เธอกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “สำหรับตัวดาวเอง ก็รู้สึกเสียใจ แต่ต้องเตรียมใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น การเลื่อนการแข่งขันออกไปในปีหน้า ก็ยังดีกว่าเจ้าภาพ (ประเทศญี่ปุ่น) ยกเลิการแข่งขันไปเลย เรายังมีโอกาสได้แข่งเหมือนเดิม”
ส่วนในรายของ ธันยพร พฤกษภร นักกีฬายิงปืนหญิง ทีมชาติไทย วัย 30 ปี เธอเผยว่า ตนเองรู้สึกเคว้งคว้างและเหงา เมื่อได้ทราบข่าวว่า โอลิมปิก เกมส์ ถูกเลื่อนออกไป แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นี่จึงเป็นทางออกที่สุดแล้ว สำหรับทุกฝ่าย
มองในแง่ดี
“สำหรับผม ผมมองว่ามันเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ฝึกซ้อมกันมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปเผชิญศึกใหญ่ (โอลิมปิก เกมส์) ผมขอเป็นกำลังใจให้พี่ๆ น้องๆ นักกีฬาทุกท่าน อย่าท้อและอย่าเพิ่งสิ้นหวังนะครับ เราต้องทำตัวให้พร้อม สู้กับสถานการณ์โรคระบาด ขอให้ทุกคนปลอดภัย และผ่านมันไปด้วยกัน”
Photo : Korntawat 'nk
กรธวัช สำราญ นักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทย ประเภททีมอีเวนติ้ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ได้สิทธิ์ไปลุย โตเกียว 2020 เปิดใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเขามองว่ามันเป็นโอกาสดี ในการได้เตรียมตัวมากขึ้น เพื่อสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุด สมกับที่ได้โควต้าลุยโอลิมปิก เกมส์
เช่นเดียวกับ จุฑาธิป มณีพันธุ์ ที่คิดว่า การเลื่อนเวลาออกไปอีก 1 ปี ทำให้นักกีฬาทุกคนได้มีเวลาเตรียมความพร้อมที่นานกว่าเดิม แม้ช่วงที่ไวรัส โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด จะทำให้นักกีฬาไม่สามารถฝึกซ้อมได้ตามปกติ แต่บางอย่างก็ยังสามารถทำได้ เช่น การเล่นบอดี้เวต, ออกกำลังกายในบ้าน เป็นต้น
ขณะที่ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี กำปั้นมวยสากลสมัครเล่น ทีมชาติไทย วัย 35 ปี ที่ตีตั๋วผ่านเข้าไปลุยโอลิมปิก เกมส์ เป็นสมัยที่ 3 และเป็นครั้งสุดท้ายของเจ้าตัวในนามทีมชาติไทย ยังมองในแง่บวก เพราะหากยังฝืนจัดในปีนี้ คงสร้างความกังวลให้กับนักกีฬามากกว่า
Photo : Chatchai-decha Butdee
“ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้นักกีฬา ไม่ต้องกังวลเรื่องโรคระบาด คนที่มาชมกีฬา ก็จะได้รับความปลอดภัยด้วย”
“หากคิดในทางที่ดี มันทำให้นักกีฬามีเวลาเตรียมตัวเพิ่มไปอีก 1 ปี โอลิมปิกเลื่อนก็ดีกว่ายกเลิก ครั้งนี้เป็นโอลิมปิก เกมส์ ครั้งสุดท้ายของผมแล้ว ผมก็อยากประสบความสำเร็จ ได้เหรียญกลับมา” ฉัตร์ชัยเดชา กล่าว
เปลวไฟแห่งความหวัง
“ไม่มีการตัดสินใจที่รุนแรงเกินไป เมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัย, สุขภาพและความรับผิดชอบ”
“เพราะตอนนี้ โลกกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติสุขภาพและเศรษฐกิจ ในฐานะนักกีฬา เราต้องการ การเตรียมพร้อมที่เหมาะสม เพื่อที่จะแสดงผลงานออกมาให้ได้ในระดับสูงสุด”
“เราทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ ไม่เพียงเพื่อตัวเราเอง แต่ต้องรับผิดชอบต่อผู้อื่นด้วย เราต้องอยู่บ้าน IOC ได้แนะให้ทุกฝ่าย ‘กระตุ้นให้นักกีฬาเตรียมความพร้อมอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้’ ซึ่งดูจะสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในตอนนี้”
“ไม่ต้องพูดถึงการที่จะนำผู้คนนับพันนับหมื่นมารวมตัวในสถานที่เดียวกัน ในสถานการณ์ที่ไวรัสมีโอกาสแพร่ระบาดได้สูง ตอนนี้ไม่สามารถควบคุมได้ แม้การแข่งขันจะมีในอีก 4 เดือนข้างหน้า มันก็ยังมีความเสี่ยงสูง”
“ถึงเวลานี้ ฉันหวังว่าจะมีการตัดสินใจที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบเกิดขึ้น”
Photo : Sutiya Jiewchaloemmit สุธิยา จิวเฉลิมมิตร
ข้อความจาก สุธิยา จิวเฉลิมมิตร นักกีฬายิงปืนหญิง ทีมชาติไทย วัย 30 ปี ที่โพสต์ลงแฟนเพจส่วนตัว ได้พูดแทนความรู้สึกที่เธอมี โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย สุขภาพ และความรับผิดชอบ ซึ่งเธอก็หวังจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ในโอลิมปิก เกมส์ ปีหน้า
ในช่วงเวลาที่ดูมืนมนของโลก จากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจ “โอลิมปิก เกมส์” จึงไม่ใช่แค่การจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกเพียงอย่างเดียว
แต่ยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความหวัง และแสงสว่าง ที่ผู้คนทั่วโลก เฝ้ารอวันที่จะได้ออกมาแสดงพลังกัน เมื่อวิกฤตินี้ผ่านพ้นไป และทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ
เหมือนดั่งท่อนหนึ่งในแถลงการณ์ของ โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่กล่าวไว้ว่า “THE OLYMPIC FLAME CAN BECOME THE LIGHT AT THE END OF THIS DARK TUNNEL - เปลวเพลิงของโอลิมปิก จะเป็นแสงสว่าง ที่ปลายทางของอุโมงค์อันมืดมิดนี้”