นัก (แสดง) มวยปล้ำ : เหตุผลที่ WWE สร้างพระเอกหนังฮอลลีวูดได้มากมาย?
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักมวยปล้ำชื่อดังจาก WWE อย่าง เดอะ ร็อค, จอห์น ซีนา และ บาติสตา ต่างหันหลังให้วงการมวยปล้ำ เดินหน้าสู่อาชีพใหม่ที่หารายได้มากกว่า และท้าทายกว่าหลายเท่า คือ การเล่นภาพยนตร์ในฮอลลีวูด
นักมวยปล้ำเหล่านั้นทำได้ดีในฮอลลีวูด ปูทางให้รุ่นน้องมากมายหันหน้าสู่วงการมายา จนเป็นเรื่องปกติ ทำให้หลายคนส่งใสว่าเหตุใดนักมวยปล้ำกล้ามโต ถึงได้มีความสามารถในการแสดงมากขนาดนี้
Main Stand พาคุณไปดูเหตุผลที่ทำให้นักมวยปล้ำจาก WWE สามารถประสบความสำเร็จที่ฮอลลีวูด ในฐานะนักแสดงที่มีคุณภาพ และได้รับความรักจากคนทั่วโลกอย่างทุกวันนี้
คาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำ
ดั่งที่หลายคนทราบ มวยปล้ำ คือกีฬาเพื่อความบันเทิง หน้าที่ของนักมวยปล้ำแต่ละคน ไม่แตกต่างจากนักแสดงในภาพยนตร์ ทุกคนมีบทบาทที่ตัวเองได้รับ (ศัพท์มวยปล้ำ คือ กิมมิค) แม้บทบาทดังกล่าวจะไม่ตรงกับลักษณะนิสัยจริงของนักมวยปล้ำ พวกเขามีหน้าที่ถ่ายทอดออกมาให้สมจริงที่สุด
กิมมิคส่งผลอย่างมากต่อชีวิตของนักมวยปล้ำ นอกจากออกไปหน้ากล้องเพื่อเล่นตามบทบาท นักมวยปล้ำยังต้องรักษาคาแรกเตอร์ของตัวเอง แม้อยู่นอกเวทีมวยปล้ำ เพื่อไม่ให้ใครจับได้ว่าทุกสิ่งที่แฟนมวยปล้ำเห็นบนเวทีคือเรื่องโกหก การกระทำแบบนี้เรียกว่า “เคย์เฟบ” (kayfabe)
Photo : www.sickchirpse.com
การรักษาเคย์เฟบเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 80’s การทำลายเคย์เฟบของนักมวยปล้ำ คือเรื่องที่ผู้ชมรับไม่ได้อย่างรุนแรง นักมวยปล้ำในยุค 80’s จึงมีภาพจำผ่านสื่อเพียงด้านเดียว กล่าวคือเห็นนักมวยปล้ำรายนี้เป็นอย่างไรบนเวที ผู้คนก็เชื่อว่านักมวยปล้ำรายนั้นมีนิสัยหรือคาแรกเตอร์แบบนั้นในชีวิตจริง
นักมวยปล้ำในยุค 80’s จึงแทบจะใช้ชีวิตแบบนักแสดงเกือบ 24 ชั่วโมง เมื่อความจริงในข้อนี้เข้าหูบรรดาโปรดิวเซอร์ และผู้กับกับในฮอลลีวูด ความสนใจดึงตัวนักมวยปล้ำสู่วงการมายาจึงถือกำเนิดขึ้นมา
นักมวยปล้ำคนแรกที่ได้โอกาสดังกล่าว คือ ฮัลค์ โฮแกน (Hulk Hogan) นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะหมายเลขหนึ่งในยุค 80’s ด้วยส่วนสูง 200 เซนติเมตร และมัดกล้ามขนาด 24 นิ้ว (ตามบทบาท) ฮัลค์ โฮแกนจึงเหมาะอย่างมากที่จะเข้ามารับบาทในภาพยนตร์เรื่อง Rocky III (1982)
Photo : insidepulse.com
ฮัลค์ โฮแกน ไม่ได้แสดงบทบาทที่ไกลตัวนักในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เขารับบทเป็น Thunderlips นักมวยปล้ำดีกรีแชมป์โลก ที่ต้องมาเป็นคู่แข่งของ ร็อคกี บัลบัว พระเอกของเรื่องที่รับบทโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone)
การแสดงเป็นนักมวยปล้ำของโฮแกน ในเรื่อง Rocky III คือเครื่องยืนยันว่านักมวยปล้ำสามารถทำการแสดงบนแผ่นฟิล์ม ได้ยอดเยี่ยมไม่แตกต่างจากบนเวที นักมวยปล้ำจึงเริ่มเดินเข้ามาสู่ฮอลลีวูด เมื่อพวกเขาได้รับบทบาท หรือคาแรกเตอร์ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่กระทำบนเวที
นักมวยปล้ำรายแรกที่พิสูจน์ตัวเองได้ว่า สามารถเป็นดารานำของภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลก คือ รอดดี ไพเปอร์ (Roddy Piper) นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมชื่อดังผู้ล่วงลับ เจ้าของฉายา “ราวดี” (Rowdy) อันเป็นคำแสลงถึงชาวสก็อตติชขี้เมาเลือดร้อน ซึ่งตรงกับคาแรกเตอร์บนเวทีของ รอดดี ไพเปอร์ ไม่ผิดเพี้ยน
Photo : insidepulse.com
ความสามารถในการพูดที่หาตัวจับได้ยาก บวกกับการแสดงเป็นชาวสก็อตแลนด์ตลอดเวลา (ไพเปอร์เป็นชาวแคนาดา) ช่วยให้ไพเปอร์รับบทพระเอกในเรื่อง They Live (1988) ภาพยนตร์คัลต์คลาสสิค ของ จอห์น คาร์เพนเตอร์ (John Carpenter) ด้วยบทบาทแรงงานข้างถนน ที่ค้นพบว่าโลกอยู่ภายใต้การปกครองของมนุษย์ต่างดาว
ไพเปอร์ในเรื่อง They Live อาจไม่ได้เป็นชาวสก็อตแลนด์ แต่เขายังต่อยอดจากคาแรกเตอร์บนเวทีมวยปล้ำ มาเป็นตัวละครในหนังเรื่องดังกล่าว ไพเปอร์เล่นเป็นชนชั้นล่างเลือดร้อน ที่พร้อมโค่นล้มมนุษย์ต่างดาวแบบถึงราก รวมถึงฝีปากเหนือใคร นำมาสู่ประโยคเด็ดอันเป็นที่จดจำ “I have come here to chew bubblegum and kick ass”
ร็อดดี ไพเปอร์ สร้างชื่อเสียงอย่างมากจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เขากลายเป็นนักมวยปล้ำที่มีผลงานแสดงนำเกือบ 20 เรื่อง น่าเสียดายที่ไพเปอร์ ไม่เคยรับบทบาทมากกว่าในหนังบู๊เกรดบี เนื่องจากภาพจำของเขาในฐานะนักมวยปล้ำ ที่ทำให้ผู้คนมองเห็นคาแรกเตอร์ของไพเปอร์ในด้านเดียว
ความสามารถของนักมวยปล้ำ
นักมวยปล้ำสมารถเข้าถึงบทบาทที่หลากหลายในการแสดง ภายหลังเหตุการณ์ มอนทรีออล สครูว์จ็อบ (montreal screwjob) เมื่อปี 1997 แฟนมวยปล้ำทั่วโลกรับรู้ว่ามวยปล้ำคือการแสดง และไม่มองนักมวยปล้ำตามคาแรกเตอร์บนเวทีอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ คาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำ จึงไม่ถูกนำมาพิจารณาในการคัดเลือกเพื่อรับบทภาพยนตร์ แต่คัดเลือกจากฝีมือในการแสดงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่คำนึงว่าบทบาทที่นักมวยปล้ำได้รับในหนัง จะตรงกับเรื่องราวบนเวทีหรือไม่
Photo : www.sportskeeda.com
นักมวยปล้ำชื่อดังมากมายจึงหลั่งไหลเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ไล่ตั้งแต่ เดอะร็อค หรือ ดเวย์น จอห์นสัน (“The Rock” Dwayne Johnson) จอห์น ซีนา (John Cena) และ บาติสตา (Batista) ทั้งหมดคือนักมวยปล้ำที่ผันตัวเข้าสู่ฮอลลีวูด และผ่านการแสดงหนังระดับบล็อคบัสเตอร์แล้วมากมาย
นักมวยปล้ำเหล่านี้มีดีกรีเป็นแชมป์โลกมวยปล้ำหลายสมัย และการจะก้าวสู่จุดสูงสุดของวงการไม่ใช่เรื่องง่าย เดอะร็อค, ซีนา และ บาติสต้า ต้องฝ่าฟันกับนักมวยปล้ำคู่แข่งนับร้อยชีวิต พวกเขาพัฒนาตัวเองในทุกด้าน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริหาร ถึงความสามารถในการครอบครองแชมป์โลก อันหมายถึง “หน้าตาของสมาคม”
นักมวยปล้ำทั้งสามมีศักยภาพครบทุกด้าน ไม่ต่างจากนักแสดงแอคชั่นเกรด A ทั้ง รูปลักษณ์ชายกล้ามโต, การสื่อสารผ่านหน้าจอทีวีต่อผู้ชมทางบ้าน, การเคลื่อนที่ระหว่างเข้าฉากบู๊ โดยเข้าใจมุมกล้องที่กำลังถ่ายทำ และ สามารถรับมือกับสื่อมวลชนที่เข้ามาได้เป็นอย่างดี
Photo : www.thewrestlepost.com
ความสามารถเหล่านี้มีอยู่ในตัวของนักมวยปล้ำระดับสูงของ WWE มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เมื่อเริ่มอิ่มตัวกับความสำเร็จในวงการมวยปล้ำ และสามารถรับบทบาทสำคัญในภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โรมัน เรนส์ (Roman Reigns) นักมวยปล้ำเชื้อสายซามัว หน้าตาของ WWE คนปัจจุบัน ที่รับบทบาทในเรื่อง ฮ็อบส์ แอนด์ ชอว์ (Hobbs & Shaw) ภาพยนตร์ทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปีที่ผ่านมา แม้จะไร้ประสบการณ์แสดงก่อนหน้านี้
มวยปล้ำคือการแสดง
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ผลักดันมวยปล้ำไปสู่งวงการบันเทิง คือรากฐานของ WWE ที่มองมวยปล้ำไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นธุรกิจที่ต้องการหารายได้จากทรัพยากรที่อยู่ในมือ เมื่อเห็นนักมวยปล้ำกำลังไปได้สวยในฮอลลีวูด WWE จึงเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาวงการภาพยนตร์เสียเอง ในทศวรรษ 2000’s
WWE Films หรือ WWE Studios คือธุรกิจย่อยของ WWE ในรูปแบบสตูดิโอภาพยนตร์ โดยมีวิธีการทำงานคือ เข้าไปร่วมมือกับนายทุนรายย่อย เช่น ค่าย Liongates และ Samuel Goldwyn Films เพื่อผลิตหนังป้อนเข้าไป โดยใช้นักมวยปล้ำเป็นตัวละครหลักของเรื่อง
ภาพยนตร์ที่ชาวไทยรู้จักกันดีอย่าง See No Evil, The Marine, The Condemned และ 12 Rounds คือภาพยนตร์ที่ WWE Studios เป็นผู้สร้าง โดยมีนักมวยปล้ำชื่อดังไม่ว่าจะเป็น จอห์น ซีนา, เคน (Kane) หรือ “สโตน โคลด์” สตีฟ ออสติน (Stone Cold Steve Austin) ร่วมแสดงในหนังดังกล่าวด้วยบทตัวละครนำ
Photo : wrestlingnews.co
WWE Studios ประสบความสำเร็จอย่างมากในธุรกิจภาพยนตร์ นับตั้งแต่ปี 2013-2017 พวกเขามีส่วนร่วมสร้างหนังไม่ต่ำกว่าปีละ 6 เรื่องต่อปี การสร้างภาพยนตร์จำนวนมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้นักมวยปล้ำระดับกลาง ที่ไม่ได้รับความสนใจจากสตูดิโอใหญ่ ได้มีโอกาสชิมลางในวงการภาพยนตร์
การพัฒนาทักษะการแสดงของนักมวยปล้ำเหล่านี้ ช่วยปูทางให้ WWE มีเนื้อหาเพื่อความบันเทิงในรูปแบบรายการทีวี แยกออกมาจากรายการมวยปล้ำปล้ำรายสัปดาห์ตามปกติ เช่นรายการ Total Divas หรือ Miz & Mrs. โดยรายการหลังสามารถทำยอดผู้ชมเฉลี่ยในซีซั่นแรก มากถึง 1 ล้านวิวต่อตอน
Photo : www.thewrestlepost.com
WWE ยังมีรายการพิเศษมากมายทางช่อง WWE Network ที่ได้รับความนิยมมากคือ Southpaw Regional Wrestling รายการที่นำเสนอเรื่องราวของค่ายมวยปล้ำปลอมในยุค 80’s โดยนำนักมวยปล้ำมารับบทบาทที่แตกต่าง เช่น จอห์น ซีนา ที่รับบทผู้ประกาศข่าว หรือ เอเจ สไตล์ ในบทบาทของมาลิบู อัล เจ้าของเต้นท์รถมือสอง ที่มาลงโฆษณากับค่าย Southpaw
การผันตัวเข้าสู่วงการบันเทิงของ WWE คือหนึ่งในแนวทางปฏิรูปมวยปล้ำสู่กีฬาเพื่อความบันเทิงอย่างเต็มตัว ส่งผลนักมวยปล้ำต้องเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จากนักกีฬา กลายเป็นนักแสดงที่สามารถมอบความบันเทิงให้กับแฟนคลับของ WWE ได้หลากหลายวิธี
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อนักมวยปล้ำเหล่านี้ จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสามารถ และปรับปรุงภาพลักษณ์ของนักมวยปล้ำใน WWE ให้ดีราวกับนักแสดง ส่งผลให้กำแพงที่ขวางกั้นนักมวยปล้ำจากวงการบันเทิง พังทลายลงในที่สุด