น้ำตาลูกผู้ชายของ "พีท แซมพราส" ในแมตช์ประวัติศาสตร์เพื่อโค้ช "กัลลี่"
พีท แซมพราส คือนักเทนนิสชายทีดีที่สุดคนหนึ่งในยุคของเขา เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเขาเป็นเพอร์เฟ็คชั่นนิสต์ผู้ไม่เคยอ่อนข้อให้ความผิดพลาดใดๆ แม้แต่ครั้งเดียว
นั่นคือหนึ่งเหตุผลที่เมื่อบวกกับนิสัยส่วนตัว จึงทำให้เขาเปลี่ยนโค้ชไปถึง 8 คนตลอดอาชีพนักหวด และนี่คือจำนวนที่มากไม่ใช่เล่น
จริงๆแล้วมันไม่ควรจะเยอะขนาดนั้น และควรจะจบในคนเดียว นั่นคือโค้ชที่แซมพราสเรียกว่าเพื่อนแท้ของชีวิต.. ถ้าหากมันไม่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งคู่ต้องแยกกันกลางทางเสียก่อน
ติดตามเรื่องราวน้ำตาลูกผู้ชายครั้งแรกซึ่งโลกได้เห็นจากแซมพราส ที่มันเกิดขึ้นจากโค้ชคนที่ 3 ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างตำนาน "โคตรนักเทนนิส" ให้กับเขาได้ที่นี่
เด็กเก่ง
ทุกคนรู้ดีว่าปลายทางของ พีท แซมพราส ยอดนักเทนนิสชาวอเมริกันนั้นยอดเยี่ยมขนาดไหน สถิติต่างๆในการสะสมแชมป์แกรนด์แสลมของ แซมพราส บ่งบอกได้ว่าในวันที่เขาดีที่สุดเขาสามารถเอาชนะใครก็ได้บนโลกนี้.. และแน่นอน กว่าที่ปลายทางจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เขาต้องผ่านจุดที่เรียกว่า "กำแพงที่มองไม่เห็น" มาก่อน
ย้อนกลับไป ตั้งแต่ที่ แซมพราส ยังเด็ก เรื่องมันคับคล้ายคับคลากับอัจฉริยะด้านต่างๆของโลกคนอื่นๆ เพราะเขาหาสิ่งที่ตัวเองเก่งและชอบเจอตั้งแต่ยังเด็ก.. เด็กคนอื่นๆอาจจะลองไปเรื่อยๆ ใช้เวลาหาตัวเองไปกับการเล่นยิงปืน, เล่นรถบังคับ, เล่นวิดีโอเกม บ้างก็อ่านหนังสือ อะไรก็ว่ากันไป แต่เส้นทางของแซมพราสไม่เคยเฉไฉ นับตั้งแต่จับไม้เทนนิสครั้งแรกตอน 3 ขวบ และเริ่มตีลูกเทนนิสให้เด้งชนกับผนัง ชีวิตของเขาก็พุ่งทะยานโดยไม่ออกนอกเส้นทางเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ช่วง 7 ขวบ ถือว่าเป็นจุดยืนยันตัวเองครั้งสำคัญ เพราะครอบครัวแซมพราสต้องย้ายจากเมืองหลวง กรุงวอชิงตัน ดีซี ไปยังแคลิฟอร์เนีย รัฐใหญ่ที่อากาศอบอุ่นแห่งนี้ และการเล่นเทนนิสของแซมพราสก็ดีขึ้นเป็นกอง เขามีอากาศดีๆให้ได้ออกกำลังกายทั้งวัน และว่ากันว่าในช่วง 7 ขวบนั้น ไม่มีวันไหนที่แซมพราสไม่ออกไปเล่นเทนนิสที่คอร์ตใกล้บ้าน และตอนนั้นจากการเล่นเพราะความชอบแบบเด็กๆ กลายเป็นการเล่นเทนนิสเพราะความทะเยอทะยานมากขึ้น
แซมพราสไม่ใช่แค่ขยันเล่นเท่านั้น แต่เขายังขยันศึกษาหาข้อมูลผ่านการดูเกมถ่ายทอดสดทุกครั้งที่มีโอกาส ไอดอลของเขาคือ ร็อด เลเวอร์ (Rod Laver) แซมพราสอยากจะเก่งให้ได้อย่างเลเวอร์ จึงเอาจริงถึงขั้นขอพ่อและแม่ไปเข้าเรียนอคาเดมีเทนนิสที่ชื่อว่า แจ็ค คราเมอร์ คลับ
ที่ แจ็ค คราเมอร์ คลับ นั้นเอง แซมพราสได้พบโค้ชคนแรกในชีวิตของเขา ได้แก่ โรเบิร์ต แลนส์ดอร์ป ซึ่งเป็นครูฝึกประจำอยู่ที่นั่น และตัวของแลนส์ดอร์ปได้เห็นจุดแข็งของแซมพราสที่เริ่มจับไม้ตั้งแต่ 3 ขวบ นั่นคือเทคนิคและการควบคุมลูก จนเขาได้สั่งให้แซมพราสหันมาใช้วิธีการเล่นแบบเน้นโฟร์แฮนด์ (ตีลูกด้วยหน้ามือ) ซึ่งจะเป็นท่าที่รีดศักยภาพของเขาออกมาได้ดีที่สุด
ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โฟร์แฮนด์ของแซมพราสที่ฝึกตั้งแต่เด็ก แถมใส่เทคนิคเพิ่มเป็นพิเศษตั้งแต่อายุยังไม่ทันพ้นวัยเด็กชาย ก็กลายเป็นโฟร์แฮนด์ที่เฉียบขาดที่สุดในโลกในเวลาต่อมา หากพูดให้เห็นภาพคือ แซมพราสสามารถควบคุมลูกเทนนิสให้ตกตรงไหนก็ได้ตามใจสั่ง เทคนิคของเขามีหลายแบบตั้งแต่โฟร์แฮนด์แบบฉีกสุดมุม, ตกท้ายคอร์ด หรืออัดเต็มแรงด้วยเทคนิคที่แม่นเป๊ะ สิ่งเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นมาจากอคาเดมีแรกในชีวิตนั่นเอง
วกกลับมาที่อดีตอีกครั้ง การใส่เทคนิคโฟร์แฮนด์กับเด็กอายุ 15 ปี ถือว่าเพียงพอแล้วที่น่าจะทำให้เอาชนะเด็กรุ่นๆเดียวกัน แต่แซมพราสก็คือแซมพราส เขาไม่เคยคิดหยุด หลังออกจากอคาเดมี เขาเปลี่ยนโค้ชใหม่เป็น ดร.ปีเตอร์ ฟิสเชอร์ คุณหมอที่เป็นนักเทนนิสในปี 1989
หมอฟิสเชอร์มอบสิ่งใหม่ที่แซมพราสไม่ได้จากอคาเดมี.. เพราะแซมพราสฝึกแต่โฟร์แฮนด์จนลืมไปว่าการตีแบ็คแฮนด์ (ตีลูกด้วยหลังมือ) ของเขาคือจุดอ่อน การตีแบ็คแฮนด์ของแซมพราสในเวลานั้นยังใช้การตีแบบจับไม้ 2 มือ และเทคนิคก็ยังไม่เชี่ยวชาญมากสำหรับการเล่นแบบมืออาชีพ ทำได้แค่ตีประคอง หวังแต้มยาก และการมาของคุณหมอฟิสเชอร์ ทำให้แซมพราสได้เทคนิคการตีแบ็คแฮนด์แบบซิงเกิลแฮนด์ (จับไม้มือเดียว) ซึ่งเมื่อฝึกจนได้ที่ บวกกับมีเทคนิคโฟร์แฮนด์ที่แน่นอนอยู่แล้ว.. ก็ได้เวลาที่เขาจะได้ออกจากโลกของจูเนียร์เข้าไปแข่งระดับมืออาชีพ
การแข่งขันระดับปีศาจ
พีท แซมพราส ฝึกกับหมอฟิสเชอร์จนได้วิชามาหมดไส้หมดพุง.. อันที่จริงไม่ถึงกับต้องหมดทุกกระบวนท่า ตัวเขาก็เก่งกล้าเกินกว่าจะอยู่แค่ระดับเยาวชนแล้ว เพราะในที่สุดเขาก็เทิร์นโปรเป็นนักเทนนิสอาชีพตั้งแต่ปี 1988 ณ เวลานั้นเขาอายุแค่ 16 ปี เท่านั้น
การปรากฎตัวของแซมพราสสร้างเสียงฮือฮาอยู่พักใหญ่ในฐานะดาวรุ่งที่น่าจับตามอง แต่ปัญหาก็คือเมื่อขึ้นสู่ระดับอาชีพที่เป็นการแข่งขันซึ่งรวมเหล่าปีศาจมากมายไว้ด้วยกัน เทคนิคและวิชาแบบที่เคยเรียนมาในระดับจูเนียร์มันไม่เพียงพอ เขาจึงเปลี่ยนโค้ชครั้งที่ 3 เอาหมอฟิสเชอร์ออกและใช้ โจ แบรนดี มารับงานนี้แทน
เป็นอีกครั้งที่การตัดสินใจเปลี่ยนโค้ชของแซมพราสถูก ราวกับเขารู้ว่าโค้ชคนนี้ไม่มีอะไรจะสอนเขาได้มากกว่าที่มีอีกแล้ว เขาก็พร้อมจะหักหาญน้ำใจปลดออกเพื่อหาสิ่งทีดีกว่า และการที่แบรนดีเข้ามาก็ทำให้แซมพราสเก่งขึ้นไปอีกระดับ แม้จะไม่มีข้อมูลเปิดเผยว่าแซมพราสได้อะไรใหม่จากแบรนดี แต่ที่แน่ๆ การเข้ามาของแบรนดีทำให้แซมพราสสามารถสู้กับนักเทนนิสแถวหน้าของโลกได้แบบไม่ต้องกลัวใคร
ปี 1990 ถือเป็นปีที่พีกที่สุดนับตั้งแต่เขาเทิร์นโปร แซมพราสลงเล่นในรายการยูเอส โอเพ่น และพิสูจน์ตัวเองด้วยการคว่ำทั้ง จอห์น แม็คเอนโร ในรอบ 4 คนสุดท้าย ก่อนจะปิดฉากนัดชิงชนะเลิศกับ อังเดร อากัสซี ที่เป็นมืออันดับ 4 ของโลกในเวลานั้น ชัยชนะดังกล่าวทำให้แซมพราสคว้าแกรนด์แสลมแรกของตัวเอง และทำสถิตินักเทนนิสอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์แกรนด์แสลม.. ที่สำคัญไปกว่านั้น เขาได้ส่งสัญญาณไปให้นักแข่งรุ่นพี่ทุกคนรู้ว่า "คลื่นลูกใหม่กำลังมา" จงเตรียมรับมือให้ได้ โดยเฉพาะกับอากัสซีที่ถือว่าเป็นคู่อริในสนามของแซมพราสนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
"การเป็นผู้ตามนั้นง่ายกว่าเป็นผู้นำเยอะ" ใครบางคนบอกเอาไว้อย่างนั้น และเป็นอีกครั้งที่แซมพราสรู้สึกกังวลว่าตัวเองยังไม่แกร่งพอ แกรนด์แสลมแรกของเขาอาจจะเกิดขึ้นเพราะคู่แข่งยังประมาทเด็กวัยรุ่นอย่างเขา แต่ที่เหลือหลังจากนี้ล่ะ? หากทุกคนศึกษาและเตรียมข้อมูลในการเจอกับเขาก่อนแข้งจะเกิดอะไรขึ้น? เขาอาจจะไม่สามารถกลับมาป้องกันแชมป์อีกเลยก็ได้หากว่าไม่พยายามยกระดับตัวเองขึ้นไป.. สิ่งแรกที่เขาคิดและเหมือนทุกครั้งคือการปลดโค้ชออก
ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ใช่นักเทนนิสที่มีความสัมพันธ์กับโค้ชในระดับแน่นแฟ้นนัก แซมพราสเป็นคนที่มีบุคลิกนิ่งสงบ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์มากมายนัก ว่ากันว่ายากจะมีใครเข้าไปถึงก้นบึ้งจิตใจของเขาได้ และก่อนหน้านี้ไม่มีโค้ชคนใดที่เขาไปอยู่ในใจเขาได้เลย ซึ่งบางครั้งคนที่เก่งมากๆ ก็จะหลงลืมอะไรที่ใกล้ตัวไป และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้แซมพราสเปลี่ยนโค้ชเป็นว่าเล่น โดยสนแค่ว่าทำให้ตัวเองเก่งกาจขึ้นเท่านั้น
การปลดแบรนดีออกจากตำแหน่งคือการตัดสินใจครั้งใหญ่? ใครจะเป็นคนโค้ชชิ่งให้กับเขาได้ดีกว่านี้อีก?.. สุดท้ายคำตอบของแซมพราสมาตกอยู่ที่อดีตนักเทนนิสที่ชื่อว่า ทิม กัลลิกสัน.. ชายผู้เป็นคนที่อยู่กันคนละขั้วกับแซมพราสโดยปริยาย
ใครๆก็รักทิม
ทิม กัลลิกสัน เป็นอดีตนักเทนนิสในปลายยุค 70's ถึง 80's หากเปรียบว่าแซมพราสเป็นคนที่เก็บตัวและเข้าถึงยาก ทิม กัลลิกสัน ก็คือคนที่เข้าได้กับทุกคน เป็นศูนย์กลางของปาร์ตี้ นักเทนนิสรุ่นเดียวกัน มีแต่คนบอกว่า "ใครๆก็รักทิมกันทั้งนั้น"
"ใครๆก็รักกัลลี่ (กัลลิกสัน) กันทั้งนั้นแหละ เขาเป็นคนที่ทำให้คุณชอบเขาได้ไม่ยากเลย" อังเดร อากัสซี กล่าวถึง ทิม กัลลิกสัน นอกจากนี้ยังมี จิม คูเรียร์ ที่บอกว่า "ถ้าจะถามผมว่ามีนักเทนนิสคนไหนที่ผมชื่นชอบมากที่สุดตลอดชีวิตของผม เชื่อเถอะว่าผมจะตอบว่ากัลลี่ ไม่ว่าใครก็รักกัลลี่กันทั้งนั้นแหละ" ทุกเสียงคอนเฟิร์ม กัลลี่เจ๋งแน่ แต่จะเข้ากับแซมพราสผู้เย็นชาได้หรือเปล่า ต้องลุ้นกันอีกที
เรื่องความเก่งของทั้งคู่ไม่ต้องพูดถึง แซมพราสคือเด็กอัจฉริยะ ขณะที่กัลลี่เองก็คว้าแชมป์สมัยเป็นนักกีฬาเองไม่น้อย (แชมป์เดี่ยว 4 รายการ แชมป์คู่ 15 รายการ) ทว่าปีแรกที่ทั้งคู่มาเจอกัน มันกลายเป็นเหมือนกับพลังงาน บวก กับ บวก ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นลบ เพราะปี 1992 แซมพราสไปไม่ถึงฝันแม้แต่รายการเดียว เขาไม่ได้แชมป์ระดับแกรนด์สแลมเลย ส่วนใหญ่มักจะแพ้รอบรองหรือไม่ก็รอบชิง อาจจะเป็นไปได้ว่า "เคมีของคนเล่นและโค้ชไม่ตรงกัน" แต่สุดท้าย แซมพราสยอมกลืนเลือดกับ 1 ปีที่ว่างเปล่าและให้โอกาสโค้ชอย่างกัลลี่ใหม่
เมื่ออยู่ด้วยกันมานานพอ บางครั้งคนที่ไม่คิดจะสนิทด้วยอาจจะกลายเป็นหนึ่งคนที่ให้เรารู้สึกเป็นตัวเองมากที่สุดก็ได้.. ปีที่ 2 ของแซมพราสกับกัลลี่ก็ประมาณนั้น การเป็นคนเฟรนด์ลี่ของเขา กับระยะเวลาที่นานมากพอ สุดท้ายเขาก็เปิดใจแซมพราสได้สำเร็จ จากนี้ไป ทิมจะไม่ใช่แค่โค้ช แต่กลายเป็นเพื่อนในชีวิตจริงของแซมพราส ทั้งคู่ใช้เวลาทำกิจกรรมนอกสนามด้วยกันหลายอย่าง อาทิ การเล่นไพ่ การออกไปกินข้าวด้วยกัน ซึ่งในอดีตไม่เคยมีใครได้รับความสัมพันธ์กับแซมพราสเลยในบรรดาโค้ชคนเก่าๆ
ไม่ว่าผลงานในสนามของเขาจะแย่จนมีการปลดโค้ชอย่างไรก็ตาม มิตรภาพจะไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่แซมพราสกล้ายืนยันด้วยตนเอง
"กัลลี่เป็นมากกว่าโค้ชไปซะแล้ว เขากลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผม และกลายเป็นแค่ไม่กี่คนที่ผมกล้าบอกความลับหลายสิ่งที่ผมไม่เคยบอกให้ใครรู้แม้แต่คนเดียว" แซมพราสว่าถึงโค้ชของเขา
1 ปีแห่งการไว้ใจและยอมกลืนเลือด แลกกลับมาด้วยความยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครหยุดอยู่ ในปี 1993 กัลลี่และแซมพราสร่วมมือกันสร้างปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ด้วยการคว้าแชมป์วิมเบิลดัน, ยูเอส โอเพ่น และสุดท้าย พีท แซมพราส กลายเป็นมือ 1 ของโลกในบั้นปลาย
หากถามว่านอกจากความสนิทสนมแล้ว ทิมให้กับอะไรกับแซมพราสในแง่เทคนิคบ้าง? แม้ไม่มีใครบอก แต่อย่างน้อยสถิติต่างๆก็ยืนยันได้ ในปี 1993 นั้นเอง แซมพราสกลายเป็นนักเทนนิสคนแรกที่เล่นในรายการของ ATP ทัวร์ และสามารถเสิร์ฟเอซได้เกิน 1,000 ครั้ง.. ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
เห็นได้ชัดว่าเทคนิคการเสิร์ฟถูกใส่เข้ามาในแห่งมิตรภาพ และเมื่อรวมกับโฟร์แฮนด์และแบ็คแฮนด์ที่มีเป็นทุนเดิม จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่แซมพราสจะติดปีกในยุคที่มีโค้ชเป็นเพื่อนซี้อย่าง ทิม คนนี้
"มันเป็นเรื่องที่ดีที่เราได้ใช้เวลาเล่นไพ่ ตีกอล์ฟ และอะไรต่อมิอะไร เราไม่กลัวที่จะตะคอกใส่กันเมื่ออยู่ในเกมการแข่งขัน แต่เราไม่เคยมีปัญหาใดๆกันเลยแม้แต่น้อย รู้ตัวอีกทีตัวเราก็ติดกันไปซะแล้ว คือผมจะอธิบายยังไงดีล่ะ เวลาเราอยู่ด้วยกันแล้วมันเหมือนความรู้สึกของแต่ละคนแย่ลง แค่นี้ผมว่ามันก็สุดยอดแล้วนะ" พีท แซมพราส ว่าไว้เช่นนั้น
โลกช่างโหดร้าย..
หลังจากเดินหน้าขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก แซมพราสก็คว้ารางวัลแกรนด์แสลมได้อีก 4 รายการภายในเวลา 2 ปี โดยแบ่งเป็น วิมเบิลดัน 2 ครั้ง, ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น 1 ครั้ง และ ยูเอส โอเพ่น อีก 1 ครั้ง
เห็นได้ชัดว่าการจับมือร่วมงานกันครั้ง แซมพราสและทิมออกมาอย่างน่าประทับใจ ทว่าในเกมออสเตรเลี่ยน โอเพ่น ในปี 1995 ทิมบอกกับแซมพราสว่าเขาไม่น่าจะได้อยู่ดูเกมรอบที่สาม เพราะรู้สึกเวียนหัวเหมือนโลกหมุน และร่างกายเริ่มหมดแรง ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยพลาดเกมของแซมพราสแม้สักวินาที
ทิมเดินทางไปยังโรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเขา ผลออกมาคืออาการหนักหนาจนโรงพยาบาลท้องถิ่นในออสเตรเลียต้องส่งตัวเขากลับบ้านที่สหรัฐอเมริกาเพื่อตรวจอย่างละเอียด และนั่นหมายความว่าเขาจะไม่ได้ทำหน้าที่โค้ชของ พีท แซมพราส ในทัวร์นาเมนต์นี้
"ผมต้องออกจากออสเตรเลี่ยน โอเพ่น ด้วยปัญหาของสุขภาพ ผมไม่มีทางเลือกจริงๆ แต่ผมต้องกลับมาดูแลร่างกายตัวเองให้ดี เพราะถ้าผมไม่แข็งแรง ผมจะสามารถช่วยให้เขา (แซมพราส) เก่งกาจขึ้นได้ยังไง" ทิม กัลลิกสัน เปิดใจผ่าน ATP
การวินิจฉัยออกมา และเป็นข่าวร้าย ทิม กัลลิกสัน หรือ กัลลี่ ถูกตรวจพบมะเร็งในสมอง นี่คือเรื่องใหญ่ เขารีบส่งข่าวให้แซมพราสรู้ว่าเขาจะไม่ได้กลับไปที่ออสเตรเลียอีก.. ขณะที่ พีท แซมพราส เดินทางมาถึงรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยการเจอกับ จิม คูเรียร์ เขาต้องการชนะอีกแค่ 3 แมตช์เท่านั้นก็จะสามารถป้องกันแชมป์ได้เป็นครั้งแรก
สภาพจิตใจมีผลแค่ไหน? มีคำพูดที่บอกว่า "จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว" มันหมายถึงเมื่อคนเราอยู่ในสภาวะที่ "ใจไม่เอา" บางครั้งแค่ลุกออกจากที่นอนง่ายๆก็ยังทำไม่ได้ และ พีท แซมพราส กำลังประสบปัญหานั้นในช่วงเวลาสำคัญที่สุด.. เขาเป็นห่วงเพื่อนซี้ที่กำลังจะเข้าผ่าตัดจนไม่อาจคุมความรู้สึกตัวเองอยู่ แม้ปกติแล้วเขาจะเป็นมืออาชีพที่เก็บซ่อนความรู้สึกไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมมาโดยตลอด
แซมพราสตีเสียแล้วเสียอีก ขณะที่ จิม คูเรียร์ ก็ท็อปฟอร์มเอาเข้าพอดีอีกต่างหาก แซมพราสยิ่งเล่นก็ยิ่งเละเทะ โดนนำไปถึง 2 เซ็ต อาการของเขาออกชัดเจนมาก หลายจังหวะแซมพราสต้องเป่าปาก, เงยหน้ามองฟ้า และพึมพำอะไรสักอย่าง มันเป็นของแปลกที่เขาไม่เคยแสดงให้เห็นที่ไหน
"เอาหน่อยที่รัก กลับสู่เกมซะที" เดไลนี่ มัลคาฮี แฟนของแซมพราส (ณ ตอนนั้น) ที่นั่งอยู่เก้าอี้แถวหน้าพยายามตะโกนบอกให้เขากลับสู่เกมให้ได้ แต่อาการของพีทยังไม่ดีขึ้น ขณะที่คู่แข่งอย่างคูเรียร์ ที่ดูก็รู้ว่าถ้าตีต่อไปเขาชนะแซมพราสได้แบบง่ายๆแน่นอน ยังรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง
"พีท คุณโอเคหรือเปล่าเนี่ย? ถ้าวันนี้ไม่ไหว พรุ่งนี้เราค่อยมาแข่งกันก็ได้" คูเรียร์แสดงสปิริตเมื่อรู้ว่าแซมพราสอยู่ในสภาพหมดทางสู้ ไม่ใช่เพราะฝีมือ แต่เพราะปัจจัยภายนอกที่รุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้..
แซมพราสถามตัวเองซ้ำๆว่าเขามาทำอะไรอยู่ที่นี่ เพื่อนรักของเขากำลังอยู่ระหว่างความเป็นและความตาย ทุกอย่างพาให้เขาคิดไปไกล ถ้ากัลลี่ตายล่ะจะทำอย่างไร? แต่ก่อนที่อะไรจะกระเจิดกระเจิงไปกว่านี้ เสียงของแฟนคนหนึ่งที่ตะโกนมาก็ทำให้เขาพบว่าตัวเองควรต้องทำอะไรต่อไป
"ทำเพื่อโค้ชของคุณสิโว้ยแซมพราส!" เสียงดังมาแต่ไกล นั่นคือคำพูดที่ปลุกแชมป์เก่าให้ตื่นขึ้น สกอร์ที่ตามหลังไม่ใช่ปัญหา หากเขาโฟกัสกับเกมได้เต็ม 100%.. ตอนนี้จาก 0% มันกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพีทแสดงออกด้วยการกลับมาเป็นคนเดิมอีกครั้ง
"ผมบอกตัวเองว่าเราจะต้องออกไปและเล่นให้ดี เพราะนี่คือสิ่งที่ทิมอยากจะเห็นที่สุด ถ้าผมแพ้ เขาจะต้องรู้สึกผิดไปตลอดแน่ๆ เขามันเป็นพวกหัวแข็งแบบนั้นแหละ" แซมพราสเล่าถึงเบื้องหลังการคัมแบ็คที่มาพร้อมกับน้ำตาลูกผู้ชายที่ไม่มีใครในโลกคนใดเคยเห็น.. นอกเสียจากครอบครัว
ฟอร์มเก่งเริ่มกลับมาจนเต็ม 100% เขาตามมาตีเสมอเป็น 2-2 เซ็ต ก่อนที่จะกลับมาเอาชนะ 3-2 เซ็ต ในการแข่งขันที่ยาวนาน 5 ชั่วโมงด้วยสกอร์ 6-7 (4-7), 6-7 (3-7), 6-3, 6-4, 6-3 เขาเอาชนะได้ ไม่ใช่แค่ชนะเกมหรือชนะคูเรียร์ แต่มันคือการชนะใจตัวเอง และชนะเพื่อโค้ชที่รักและเคารพที่สุด
"มันน่าตื่นเต้นที่พีทยังกลับเข้าสู่เกมได้ในสภาพที่จิตใจพังทลาย แต่ละแต้มเขาร้องไห้ให้เราได้เห็นน้ำตาลูกผู้ชาย แต่แปลกที่น้ำตายิ่งไหล เขากลับยิ่งควบคุมเกมได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น เรากำลังได้เห็นเขาเข้าสู่โหมดดิ้นรนสุดชีวิต และถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ของพีท คุณจะสังเกตเห็นแววตาแห่งความมุ่งมั่นที่กลับมาประทับร่างเขาได้อย่างทันเวลา.. 20 วินาทีหลังจากร้องไห้ แฟนเทนนิสทั่วโลกจึงได้เห็นการตีช็อตที่ผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลกเท่านั้นที่จะตีได้" นักเขียนและแฟนเทนนิสของเว็บไซต์ tennisdork.com บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นทั้งหมดได้อย่างหมดจดได้ใจความ
การเข้ามาและจากไปของ ทิม กัลลิกสัน
เรื่องราวหลังจากนั้น ทุกคนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น.. แซมพราสเข้าชิงและมันเหมือนกับการ์ตูนสักเรื่องที่พระเอกได้รีดทุกอย่างที่ตัวเองมีออกมาใช้จนหมดเกลี้ยงแล้ว เขาทำได้ดีที่สุดแค่นั้น เพราะในรอบชิงชนะเลิศ เขาต้องเจอกระดูกชิ้นโตอย่าง อังเดร อากัสซี ผู้ไม่เคยอ่อนข้อให้ใคร.. ลำพังช่วงที่แซมพราสพีกสุดๆ ยังมีโอกาสแพ้-ชนะ 50-50 ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อากัสซีแสดงความเป็นมืออาชีพด้วยการ "ใส่เต็มทุกเม็ด" และเอาชนะไปได้ 3-1 เซ็ต.. แซมพราสพลาดป้องกันแชมป์ แต่ไม่เป็นไร ตอนนี้ขอแค่ได้กลับไปดูใจเพื่อนรักก็พอแล้ว
เมื่อทิมรู้ว่าแซมพราสจะมาเยี่ยม เขากำชับน้องชายฝาแฝดของเขา ทอม กัลลิกสัน อย่างดีว่า ห้ามบอกให้แซมพราสรู้เด็ดขาดว่ากำลังจะตาย.. แต่นี่ไม่ใช่ละคร ความรู้สึกจริงๆ ปิดกันไม่ได้
แซมพราสมานั่งข้างเตียงและถามว่าทิมจะออกจากโรงพยาบาลเมื่อไหร่ แฝดกัลลิกสัน ได้แต่อึกอักพูดไม่ออก และสุดท้ายพวกเขาก็ใช้น้ำตาบอกความจริงแทน.. แซมพราสรู้ทันทีว่านี่คือสัญญาณร้ายยิ่งกว่าการเสียแชมป์ให้อากัสซีเป็นล้านๆเท่า
1 ปีจากการเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล ทิม กัลลิกสัน ก็พ่ายแพ้ให้กับโรคร้าย เขาเสียชีวิตไปในปี 1996 ในพิธิฝังศพของเขา แซมพราสมาในชุดสูทสีดำ สีหน้าของเขาพร้อมที่จะร้องไห้ตลอดเวลาในช่วงพิธีการแบกโลงมายังสุสาน.. หนนี้เขาเก็บอารมณ์เก่งขึ้น แต่ถึงแม้ทุกคนจะไม่ได้เห็นน้ำตาของเขา แต่ใครๆก็รู้ว่าหลังจากที่เขาเดินหันหลังและขึ้นรถกลับบ้านไปหลังพิธีจบ.. พีท แซมพราส อาจจะต้องร้องไห้หนักที่สุดเท่าที่เขาเคยร้องมาในชีวิต
ความสุข ต่อให้มากแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะจากไปตามกาลเวลา และความเศร้าก็เช่นกัน ไม่มีใครเศร้ากับเรื่องเดิมไปตลอดชีวิตจนไม่อาจก้าวเดินต่อไปได้.. พีท แซมพราส เปลี่ยนโค้ชคนใหม่และเริ่มชีวิตนักเทนนิสมือ 1 ของโลกอีกครั้ง และทุกคนรู้ดีกว่าเขาเก่งกาจแค่ไหน ต่อให้วันที่ไร้ทิมอยู่ข้างสนาม
แซมพราสไม่เคยบอกว่าทิมเปลี่ยนอะไรเขาบ้าง.. อาจจะด้วยคาแร็คเตอร์ของเขาที่ไม่สนิทใจกับใครเขาก็จะไม่เล่าเรื่องส่วนตัว แต่โลกนี้ไม่มีความลับ หลังจากทิมเสียชีวิตไป.. ทอมก็ได้เล่าถึงเกียรติประวัติของพี่ชายของเขาที่เขาภาคภูมิใจอย่างที่สุด กับการเป็นส่วนหนึ่งของนักเทนนิสที่เก่งที่สุดในโลก
"ก่อนเจอกับทิมนั้น พีทเป็นคนที่มีอารมณ์ร่วมสูงมาก หากเขาตีพลาดแค่ทีเดียว เขาจะหัวเสียจนพารวนไปหมด ตอนนั้นทิมก็เขามาและบอกว่า 'พีท ทำไมนายไม่ถอดเสื้อสีขาวตัวนั้นออกซะ? และใส่เสื้อสีฟ้าที่นายเตรียมมาเถอะ'.. นายต้องเรียนรู้ในความผิดพลาดของตัวเองให้ได้เพื่อที่จะชนะคู่ต่อสู้ และจำไว้ซะด้วย ไม่มีใครเล่นเก่งเป็นพระเจ้าได้ทุกๆวันหรอก" ทอมเล่าเรื่องที่พี่ชายของเขาเปลี่ยนทัศนคติของแซมพราส ก่อนขยายความส่วนประกอบอื่นๆอีกว่า
"พีทอาจจะตีแบ็คแฮนด์ดี แต่เขาตีแบ็คแฮนด์รีเทิร์น (ตีโต้ลูกเสิร์ฟด้วยแบ็คแฮนด์) ได้แย่กว่าที่ใครๆรู้ ส่วนทิมน่ะเหรอ? เขาเล่นลูกนี้โคตรเก่งเลย.. ผมรู้เพราะผมเล่นเทนนิสกับเขาทุกวัน ผมไม่เคยคิดจะเสิร์ฟจี้ให้เขาต้องใช้แบ็คแฮนด์เลยด้วยซ้ำ (เพราะยังไงก็รับได้) เขาสอนเทคนิคนั้นให้กับพีท เขาสอนให้พีทในวัยหนุ่มรู้ว่า บล็อคที่ดีเป็นยังไง, การชิป, การยืนตำแหน่ง และการรับลูกเสิร์ฟที่ดีควรเป็นแบบไหน"
ทอมอาจจะอวยพี่ชายเกินจริงไปก็ได้ แต่สถิติไม่เคยโกหกใคร นับตั้งแต่ปี 1993 ที่แซมพราสสนิทกับทิม เขาลงแข่งขันในรายการวิมเบิลดัน แกรนด์สแลมบนคอร์ตหญ้าทั้งหมด 55 แมตช์ และชนะถึง 54 แมตช์ คว้าแชมป์ถึง 7 จากช่วง 8 ปีดังกล่าว (1993-2000).. แค่นี้น่าจะมากพอที่ทำให้เรารู้ว่ามันคือเรื่องจริงหรือไม่?
สิ่งต่างๆที่ทิมมอบให้คือส่งอิทธิพลให้กับแซมพราสไปตลอดอาชีพนักเทนนิสของเขา หากคุณถามว่าใครคือโค้ชที่ดีที่สุดในบรรดาโค้ชทั้งหมด 8 คนที่เขาเคยจ้าง หรือจะถามว่าใครคือเพื่อนสนิทที่สุดของเขา.. 2 คำถามนี้คุณจะได้คำตอบเดียวกัน นั่นคือ กัลลี่ ผู้เป็นที่รักของทุกคนนั่นเอง
"ทิมทำในสิ่งที่มหัศจรรย์ เขาเปลี่ยนทั้งเกมและทัศนคติของผมไปเลย บางครั้งผมรู้สึกว่าผมรู้สึกว่าตัวเองมือตกไม่เก่งอย่างเก่าจนฟุ้งซ่าน เขาก็แค่บอกผมว่า ไอ้หนูเอ็งมันโคตรอัจฉริยะแล้ว คิดบวกเข้าไว้สิวะ.. คือคำพูดคำสอนของเขาทำให้ผมกลายเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มองโลกในแง่ลบเกินไป"
"เขาเกลียดคำแก้ตัวของผมที่สุด เขามักจะบอกเสมอว่า ไม่ต้องพูดอะไรทั้งนั้น เพราะผมรู้ดีว่าผมทำอะไรลงไป.. เขาที่เหมือนกับอ่านใจอ่านสถานการณ์ออก เขารู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนควรเงียบ"
"เห็นอย่างนี้ ผมเป็นคนที่เกลียดเรื่องข้อมูลและตัวเลขมากเลย และเมื่อมาเจอทิม เขาไม่ต้องอัดสถิติอะไรเวิ่นเว้อ เขาจะบอกสิ่งที่ผมต้องทำมา 2-3 ข้อ สรุปมาง่ายๆ จากนั้นผมก็มีหน้าที่แค่ลงไปตีให้ชนะบนคอร์ตเท่านั้นเอง" พีท แซมพราส เขียนลงในชีวประวัติของตัวเองในปี 2008
พีท แซมพราส เก่งแค่ไหน? คำถามนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าสงสัย และหากจะถามว่า ทิม กัลลิกสัน ควรได้รับเครดิตบ้างไหมในการสร้างนักเทนนิสที่ดีที่สุดแห่งยุคอย่างแซมพราสขึ้นมา? เราชื่อว่าทั้งหมดที่คุณอ่านมาคือคำตอบที่ดีที่สุด
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ