คนป่วย COVID-19 เมื่อหายแล้วจะกลับมาออกกำลังกายได้เหมือนเดิมไหม?
การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของมวลมนุษย์ทั่วโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ผู้คนต่างให้ความสนใจ และติดตามข่าวสารของโรคอุบัติใหม่ ที่ระบาดได้อย่างง่ายดาย จนลุกลามไปสู่คนทุกมุมโลก
ข้อมูลหนึ่งที่หลายๆ คน คงพอรู้นั่นคือ “ไวรัส COVID-19” เมื่อเชื้อนี้ผ่านเข้าสู่ร่างกายไปจนถึง “ปอด” มันสามารถไปแพร่กระจาย จนทำลายเนื้อปอดบางส่วนได้
ถ้าเป็นเช่นนั้น มันจึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า “ผู้ติดเชื้อ COVID-19 หากได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ จะมีสมรรถภาพร่างกายดีพอที่จะกลับไปใช้แรง หรือออกกำลังกายได้เหมือนเดิมหรือไม่ ? ”
Main Stand เชิญ “หมอทิม” นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา และศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ปัจจุบันทำงานด้านฟุตบอล เป็นแพทย์ประจำสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC Medical Officer) อีกตำแหน่ง มาคลายข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องคน กีฬา การออกกำลังกาย และเชื้อ COVID-19
ไม่ใช่ทุกคนที่เสียเนื้อปอด
“ COVID-19 เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ในข้อมูลเชิงลึกอาจยังไม่ได้มีรายละเอียดมาก แต่หากนำเอาความรู้เดิมของโรคไข้หวัดใหญ่ และไวรัสโคโรน่าที่เคยมีการระบาด เช่นโรคซาร์ส มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลไวรัส COVID-19 จากประเทศจีน ก็พอเห็นภาพในระดับหนึ่ง”
“ไวรัสชนิดนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายเข้าสู่ร่างกาย มันจะชอบเข้าไปเกาะอยู่กับระบบทางเดินทางใจ โดยปกติเชื้อไวรัส COVID-19 หากอยู่ภายนอกร่างกาย เกาะตามสิ่งของ มันจะอยู่รอดได้ไม่นานนัก แต่เมื่อเข้ามาสู่ระบบทางเดินหายใจของคนได้ มันก็พยายามจะแบ่งตัว และเพิ่มจำนวนของมัน เพื่ออาศัยอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม”
หมอทิม ภคภณ อธิบายข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่าง COVID-19 ที่มันจะไปเข้าเกาะอาศัยอยู่ในระบบทางเดินหายใจ กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ ผู้ได้รับเชื้อ มีความเจ็บป่วย โดยมีอาการดังนี้
“ถ้าไวรัส COVID-19 เข้ามาสู่ทางเดินหายใจส่วนบน อย่าง จมูก และ คอ ร่างกายของเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยสู้รบ และต่อกรกับไวรัสตัวนี้ ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบ มีไข้ขึ้นมา อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก, เจ็บคอ และไอ”
“หากมันสามารถผ่านลงมาสู่ทางเดินหายใจที่ต่ำกว่าทางนั้น ก็มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าสู่ปอด ทำให้ ถุงลมในปอดเกิดการอักเสบ เนื้อเซลล์ปอดและถุงลมบางส่วนได้รับความเสียหาย จากการที่จะร่างกายพยายามจะสู้รบ ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก หายใจติดขัด เหนื่อยง่าย ดังนั้นถ้าเชื้อไวรัสเข้าถึงปอด ก็มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการป่วยเป็น โรคปอดอักเสบได้”
เนื่องจากเป็นโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างง่ายดาย ผู้คนจึงมีความวิตกกังวลกับไวรัสชนิดนี้ ยิ่งถ้ามันสามารถผ่านเข้าสู่ปอดได้ หลายคนก็คงกลัวว่า มันจะเข้าไปทำลายเนื้อปอด
เรื่องนี้ นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล ชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้คนน่าจะพอสบายใจได้ก็คือ ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทุกคน จะมีอาการปอดอักเสบ เพราะส่วนใหญ่กว่า 80 มักมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก
“จากข้อมูลทางการแพทย์ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ร้อยละ 80 จะมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีอาการ หรือมีการติดเชื้อแค่ในทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น จะมีอาการไข้ ไอ อ่อนแพลีย เป็นส่วนใหญ่ อาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัสพิเศษ ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่วนอีก 20 เปอร์เซนต์ที่เหลือ อาจจะมีอาการรุนแรง หรือปอดอักเสบร่วมด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคร่วม เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง”
“ความน่ากลัวของไวรัส COVID-19 ก็คือปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่จำเพาะ และถ้ามีการติดเชื้อที่ปอด มักรุนแรง และต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาตัวนานกว่า เชื้อปอดอักเสบที่พบทั่วๆไป หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนผู้เสียชีวิตนั้น อาจอยู่ราวๆ 5 เปอร์เซนต์”
ติดเชื้อแล้วจะกลับมาออกกำลังกายได้เหมือนเดิมไหม?
เท่ากับว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 ส่วนใหญ่ อาจไม่รับผลกระทบถึงขั้นเข้าสู่ปอด โดยเฉพาะคนที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะโรคอื่นๆแทรกซ้อน ก็สามารถหายเป็นปกติ กลับไปใช้ชีวิตได้ตามเดิม
ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ คงไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย แต่สำหรับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ไวรัสเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง จนเกิดอาการปอดอักเสบ เมื่อหายกลับมาแล้ว มันก็น่าสงสัยว่า พวกเขาจะยังสามารถกลับออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมหรือไม่?
“ในกลุ่มคนที่มีอาการปอดอักเสบ หรือถูกทำลายเนื้อปอดบางส่วน ร่างกายของมนุษย์ จะมีความพยายามไปซ่อมแซ่มส่วนนั้น อาจเกิดเป็นแผลเป็นในเนื้อปอด ทำให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยน อ็อกซิเจนของเลือด ไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์เหมือนเดิม”
“แต่เมื่อย้อนดูข้อมูลทางการแพทย์ มีหลักฐานรายงานว่า ในกลุ่มนักกีฬาไอรอนแมน (ไตรกีฬาประเภท 1 วัน ประกอบด้วย ว่ายน้ำ 3.86 กิโลเมตร, ปั่นจักรยาน 180.25 กิโลเมตร และวิ่ง 42.2 กิโลเมตร ที่ต้องจบภายใน 17 ชั่วโมง) นักกีฬาบางคนมีอาการปอดอักเสบ แต่สามารถแข่งขันไอรอน แมน ได้จนจบ”
“ดังนั้นกรณีนี้ต้องดูเป็นรายบุคคลไป บางคนปอดอาจไม่สมบูรณ์เหมือนคนปกติ แต่มีการรักษาฟื้นฟู และไต่ระดับการออกกำลังกาย จนสามารถปรับ และฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของปอดให้มีประสิทธิภาพได้”
นพ.ภคภณ ยกตัวอย่างของนักกีฬาที่มีอาการปอดอักเสบ แต่จบการแข่งขัน ไอรอน แมน ที่ถูกยกให้เป็น “ไตรกีฬาสุดโหด” ฉะนั้นข้อสันนิษฐานที่ว่า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่อาจได้รับความเสียหายจากปอด จะไม่สามารถกลับไปทำอะไรได้เหมือนเดิม ก็อาจไม่จริงเสมอไป ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล
ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่า คนที่มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือกลุ่มนักกีฬา จะมีโอกาสติดเชื้อได้ยากกว่าบุคคลทั่วไปและคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือไม่ ? เรื่องนี้ “หมอทิม” มองดังนี้
“ถ้าถามว่า คนที่ออกกำลังสม่ำเสมอและนักกีฬา มีโอกาสติดเชื้อยากว่าคนทั่วไปไหม ก็อาจไม่จริงเสมอไป เพราะคนที่แข็งแรง หากไปสัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด หรือไม่ได้ล้างมือ จนเชื้อผ่านเข้าสู่ร่างกาย ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อได้เช่นกัน เพียงแต่คนกลุ่มนี้ เมื่อป่วยแล้ว ก็จะอยู่ในกลุ่ม 80 เปอร์เซนต์เสียส่วนใหญ่ ทีมีอาการไม่รุนแรงมาก เพราะร่างกายมีภุมิคุ้มกันที่ดี”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เหล่านักกีฬาระดับโลกจำนวนไม่น้อย ตกเป็นข่าว ติดเชื้อ COVID-19 แม้แทบทั้งหมดจะสามารถหายกลับปกติได้ในระยะเวลาไม่นานนัก แต่ในทางการแพทย์ ต่างสนใจประเด็นที่ว่า เมื่อหายแล้ว นักกีฬาพวกนี้จะกลับมามีสมรรถนะร่างกาย เหมือนเดิมหรือไม่ ?
“จริงๆ ในฐานะแพทย์ที่ดูแลเกี่ยวกับนักกีฬา แอบตกใจนิดๆนะ เมื่อเห็นการรายงานข่าวนักกีฬาระดับโลก ติดเชื้อด้วย เพราะโดยปกติเราจะเคารพสิทธิผู้ป่วยในการดูแลรักษา โดยเฉพาะนักกีฬาที่อาจส่งผลเกี่ยวกับเรื่องสัญญา แต่เนื่องจากโรคนี้ค่อนข้างใหม่ ทำให้สามารถกระจายตัวไปได้กว้าง”
“ประเด็นนี้ คนวงการแพทย์ก็สนใจเหมือนกันว่า นักกีฬาที่ติดเชื้อ COVID-19 เมื่อหายแล้วจะกลับมาเล่นได้เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะตอนนี้มันก็ยังไม่มีกรณีตัวอย่าง เนื่องจากลีกกีฬาส่วนใหญ่หยุดพักแข่งขัน แต่สิ่งที่มั่นใจได้เลยก็คือ หากนักกีฬาที่ติดเชื้อ มีอาการไม่รุนแรง ไม่ถึงขั้นปอดอักเสบ ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อสมรรถภาพทางด้านร่างกาย เมื่อพวกเขาหายป่วย”
“ส่วนในรายของนักกีฬาที่มีอาการปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19 ก็คงต้องใช้เวลาเพื่อหาคำตอบที่แน่ชัด ในการศึกษาว่า พวกเขาจะสามารถรักษาประสิทธิภาพได้เหมือนเดิมหรือไม่” นพ.ภคภณ กล่าว
ภูมิคุ้มกันสร้างได้
“วิธีการดูแลตัวเอง ผมขออ้างอิงจากองค์กรอนามัยโลก ที่ทำร่วมกับ ฟีฟ่า ในการแนะแนวทางข้อปฏิบัติ 5 ข้อ ข้อแรก ล้างมือบ่อยๆ โดยแนะนำให้ล้างกับน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ก็ได้เช่นกัน ข้อ 2 ใช้ศอก ข้อพับ มาป้องปากเวลาไอและจาม เพื่อลดการกระจาย”
“ข้อ 3 พยายามเลี่ยงการใช้มือมาแตะบริเวณใบหน้า เพราะมันสามารถทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ข้อ 4 รักษาระยะห่างกับบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และข้อสุดท้ายหมั่นเช็คอาการตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่สบาย มีไข้ แนะนำให้อยู่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ หากมีอาการมากขึ้น ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจ”
จากการพูดคุยกับ หมอทิม ภคภณ ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักว่า เราทุกคนควรต้องหันมาใส่ใจในการดูแลร่างกายตัวเองมากขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แม้คนจำนวนมาก อาจต้องใช้ชีวิตและทำงานอยู่ภายในห้องพัก, บ้าน เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อและแพร่เชื้อ
แต่สิ่งที่ทุกคนไม่ควรละเลยและมองข้าม นั่นคือ การออกกำลังกาย, การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี พร้อมต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น
“สำหรับคนทั่วไป ผมแนะนำให้ทุกท่านหันมาออกกำลังกาย แม้ช่วงเวลานี้ หลายคนจะต้องอยู่ในบ้านเป็นหลัก หรือบางคนอาจไม่เคยออกกำลังกายเลย แต่อย่างน้อยการออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำงานบ้าน ยกของโน่นนี้ เดินขึ้นลงภายในบ้าน ก็ยังดีกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ กินและนอน ไม่ได้ขยับร่างกาย เพราะการออกกำลังกายสามารถจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย และลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดียิ่งขึ้น”
“ซึ่งตามคำแนะนำ เราควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ คิดเฉลี่ยวันละ 30 นาที ประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ สำหรับมือใหม่ อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ ไปก่อน ตามอัตราการเต้นของหัวใจ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับตัวเอง ที่สำคัญต้องอย่าหนักจนเกินไป”
“มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ ระบุว่า หากเราออกกำลังกายหนักเกินไป จะทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยได้มากขึ้นเหมือนกัน โดยในกลุ่มนักกีฬากึ่งสมัครเล่น หากฝึกซ้อมมากเกินปกติ แทนที่จะช่วยลดความเสี่ยง กลับกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้”
“สอดคล้องกับงานวิจัยที่เคยศึกษาว่า หลังจากการออกกำลังกาย ช่วงเวลาสั้นๆ 1-2 ชั่วโมง เป็นเวลาที่ภูมิคุ้มกันร่างกายดร็อปลงได้ แต่โดยสรุปแล้วก็แนะนำให้ทุกคนออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพียงแต่ต้องไม่หักโหมมากจนเกินไป”
“ส่วนคนที่ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 หากมีอาการไม่หนักมาก แค่มีน้ำมูก เจ็บคอ ก็สามารถเทรนนิ่งเบาๆ สั้นๆ สัก 10-20 นาทีก็ได้ แต่หากมีอาการเยอะๆ เช่น ไข้ ไอ หอบเหนื่อย ปวดเมื่อยตามตัว อันนี้ก็ควรเลี่ยงการออกกำลังกายไปก่อน เน้นไปที่การพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย”
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ