ฝังรากลึกเป็น 100 ปี : เหตุใดบาสเกตบอลจึงเป็นกีฬายอดนิยมของประเทศจีน?

ฝังรากลึกเป็น 100 ปี : เหตุใดบาสเกตบอลจึงเป็นกีฬายอดนิยมของประเทศจีน?

ฝังรากลึกเป็น 100 ปี : เหตุใดบาสเกตบอลจึงเป็นกีฬายอดนิยมของประเทศจีน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจับคู่ กีฬาบาสเกตบอล เข้ากับประเทศใด สักประเทศหนึ่ง หลายคนอาจเลือกสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่บาสเกตบอล คือ หนึ่งในประเภทกีฬา ที่ถูกเรียกว่า อเมริกัน เกมส์

แต่บางคน อาจเลือกจับคู่กีฬายัดห่วง กับประเทศจีน เพราะบาสเกตบอลได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน นักบาสอย่าง เลบรอน เจมส์ คือนักกีฬาที่โด่งดังที่สุดในประเทศจีน ดังยิ่งกว่าเซเลบริตี้บางคนในประเทศเสียอีก

ขึ้นชื่อว่าคนจีน หากพวกเขารักสิ่งไหน พวกเขารักจริง และปัจจุบัน พวกเขารักกีฬาบาสเกตบอล จนกลายเป็นกีฬายอดนิยมของประเทศ

แต่กีฬาบาสเกตบอล ไม่ได้เพิ่งโด่งดังบนดินแดนมังกร เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่กีฬานี้ มีรากฐานยาวนานมากกว่า 100 ปี ในประเทศจีน

รากฐานที่ยาวนาน

จีน อาจไม่ใช่ชาติต้นกำเนิดของกีฬาประเภทนี้ แต่กีฬาบาสเกตบอล เดินทางจาก สหรัฐอเมริกา มาถึงเมืองจีนครั้งแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 เพียงแค่ 4 ปีหลังจากกีฬานี้เริ่มต้นเล่นในประเทศสหรัฐอเมริกา

ผู้เผยแพร่กีฬานี้ในประเทศจีน คือองค์กรศาสนาด้านการกุศล YMCA… เนื่องจากจุดเริ่มต้นของกีฬาบาส ในสหรัฐฯ เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซ็ตส์ ซึ่งที่นี่เป็นศูนย์กลางขององค์กร YMCA 


Photo : www.kcet.org

ด้วยเหตุนี้ กีฬาบาสเกตบอล จึงผูกพันกับ YMCA และองค์กรนี้ได้นำพากีฬานี้มาที่ประเทศจีน ผ่านสาขาที่เทียนจิน เมืองท่าชื่อดังของจีน

มองตามระยะเวลา ถือว่ากีฬาบาสเกตบอลหยั่งรากฐานในประเทศจีน ยาวนานไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา

แม้ชาวจีนในยุคนั้น จะต้องเจอปัญหาด้านอุปกรณ์ โดยเฉพาะลูกบาสที่จะนำมาใช้เล่น ว่ากันว่าในบางพื้นที่ ชาวจีน ได้นำลูกท้อมาเล่นแทนลูกบาส แสดงถึงความนิยมของกีฬานี้ได้เป็นอย่างดี

กีฬาบาสเกตบอลเติบโตอย่างรวดเร็ว จนได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในชนิดกีฬา ที่แข่งขันในกีฬาแห่งชาติของจีน ในปี 1910 ช่วยให้บาสเกตบอล เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

ขณะที่องค์กร YMCA ยังคงมีบทบาทสำคัญ กับการประชาสัมพันธ์กีฬาบาสเกตบอล ให้เป็นที่รู้จักของชาวจีน เนื่องจาก YMCA ต้องการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเมืองจีน บาสเกตบอลจึงกลายเป็นเครื่องมือ ที่ทำให้คนจีนเข้าถึงศาสนาได้มากขึ้น

ภายหลังการเปลี่ยนแปลง ระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ประชาธิปไตย ในปี 1912 ทำให้ประเทศจีนเปิดกว้าง กับวัฒนธรรมตะวันตก อย่างกีฬาบาสเกตบอลได้อย่างเปิดเผย 

ปี 1913 ประเทศจีน ได้ส่งนักกีฬาในนามทีมชาติจีน ออกไปแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลนอกประเทศ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์...ขณะเดียวกันบาสเกตบอล ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกีฬายอดฮิตของคนรุ่นใหม่ ในช่วงเวลานั้น

ข้อดีสำคัญของกีฬาบาสเกตบอล ที่ชนะใจชาวจีนจำนวนมาก เพราะกีฬายัดห่วง สามารถเล่นได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และคนหลายฐานะสามารถเล่นได้ แต่ที่นิยมเป็นพิเศษ คือในหมู่นักเรียนนอก จากสหรัฐอเมริกา ทำให้ต่อมา ประเทศจีนได้บรรจุบาสเกตบอล เป็นกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

ปี 1935 ได้มีการสำรวจทั่วประเทศจีน ถึงความเห็นของประชาชน กีฬาประเภทใดได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งบาสเกตบอล เข้าป้ายมาเป็นอันดับหนึ่งร่วมกับกีฬาปิงปอง

แรงสนับสนุนจากรัฐบาล  

กีฬาบาสเกตบอล เติบโตไปได้สวยภายใต้สังคมเสรีนิยม แต่แล้วในปี 1949 ประเทศจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อเกิดการปฏิวัตินำไปสู่การเปลี่ยนระบอบปกครอง จากประชาธิปไตย สู่คอมมิวนิสต์


Photo : www.kcet.org

ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับโลกเสรี ของสหรัฐอเมริกา ทำให้กีฬาบาสเกตบอล ดูเหมือนจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะในช่วงเวลานั้น โลกฝ่ายคอมมิวนิสต์ ปิดกั้นวัฒนธรรมแทบทุกด้าน จากโลกเสรีนิยม

อย่างไรก็ตาม เป็นโชคดีของกีฬาบาสเกตบอล เพราะผู้มีอำนาจและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสม์จำนวนมาก ชื่นชอบกีฬายัดห่วงเป็นการส่วนตัว พวกเขามองว่ากีฬาบาสเกตบอล สะท้อนถึงการทำงานหนัก ของชนชั้นแรงงาน และมองว่ากีฬาชนิดนี้ คือเครื่องมือฝึกระเบียบวินัยชั้นดี

บาสเกตบอล จึงได้รับไฟเขียว จากรัฐบาลจีน ให้มีที่ยืนต่อไปได้ในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้เยาวชนเล่นบาสเกตบอล เพราะพรรคคอมมิวนิสต์มองว่า การเล่นกีฬาเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตเป็นแรงงานในอนาคต 

กระนั้นรัฐบาลจีน มีทางเลือกอย่างจำกัดให้กับเยาวชนจีน นั่นคือพวกเขาต้องเลือกเล่นระหว่าง ปิงปอง กับ บาสเกตบอล...อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดนี้กลายเป็นเรื่องดีสำหรับกีฬายัดห่วง เพราะเยาวชนจำนวนมหาศาล ในประเทศจีน ได้สร้างความผูกพันกับกีฬานี้ตั้งแต่วัยเยาว์

บาสเกตบอล สามารถปรับตัวได้อย่างกลมกลืน กับรัฐบาลจีน ภายใต้สังคมคอมมิวนิสต์...ทีมบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการทีมแรกของจีน ก่อตั้งโดย กองทัพของประเทศจีน, ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เกี่ยวกับกีฬาของจีน เป็นเรื่องราวของบาสเกตบอล 

ในแง่หนึ่ง บาสเกตบอลกลายเป็นเครื่องมือ ที่รัฐบาลจีน ใช้ปลูกฝังและสร้างความเชื่อมั่น ในระบอบคอมมิวนิสต์… รัฐบาลจีนปลูกฝังให้คนจีนเชื่อว่า บาสเกตบอลไม่ใช่กีฬาของชาวต่างชาติ กีฬาของคนอเมริกัน กีฬาของพวกทุนนิยม แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใหม่ ภายใต้สังคมคอมมิวนิสต์ และประชาชนจีนให้การตอบรับกีฬานี้เป็นอย่างดี


Photo : xw.qq.com | yulenba

นอกจากนี้ กีฬาบาสเกตบอล ยังมีประโยชน์กับรัฐบาลจีน ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง กระชับความสัมพันธ์กับชาติต่างประเทศ ด้วยการส่งนักกีฬาบาสเกตบอล ไปแข่งขันกับนักบาสจากประเทศในยุโรปตะวันออก ที่ปกครองรัฐด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับจีน

เมื่อเข้ายุค 1970’s ที่จีนต้องการเปิดประเทศ กระชับความสัมพันธ์ กับประเทศโลกเสรี หลังจากใช้การฑูตผ่านกีฬาปิงปอง กระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จนเป็นผลสำเร็จ จีน จึงตามรอยความสำเร็จครั้งนั้น ด้วยการส่งนักกีฬาบาสเกตบอล เดินทางไปทั่วโลกเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการฑูต

อิทธิพลของ NBA และเหยา หมิง

แม้ว่ากีฬาบาสเกตบอลจะโด่งดังมากแค่ไหน ภายในประเทศจีน แต่ก่อนหน้านี้ความโด่งดังของบาสเกตบอล ไม่เคยเป็นเรื่องของกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่บาสเกตบอลถูกใช้เป็นเครื่องมือ แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและสังคมอยู่เสมอ


Photo : www.hotbak.net

บาสเกตบอล ต้องการเติบโตด้วยตัวเอง สร้างฐานแฟนที่หลงรักในกีฬานี้อย่างแท้จริง โดยปราศจากอิทธิพลขององค์กร และรัฐบาลในประเทศ…โชคเข้าข้าง ที่ยุค 80’s รัฐบาลจีนเปิดประตูการค้าเสรี วัฒนธรรมและสื่อต่างๆ สามารถเข้ามาขยายตลาดในแดนมังกร ทำให้ชาวจีนได้รู้จักกับลีก NBA ลีกบาสเกตบอลอันดับหนึ่งของโลก

แม้บาสเกตบอลจะโด่งดังแค่ไหน แต่ก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่เคยมีลีกอาชีพอย่างจริงจัง แต่เน้นสร้างกระแสในประเทศ ด้วยผลงานของนักกีฬาทีมชาติ เพราะช่วยประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดี ให้กับรัฐบาลจีนได้มากกว่า

NBA ที่กำลังจะทางตันกับการขยายตลาดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนิยมอเมริกันฟุตบอล และเบสบอลมากกว่า เห็นช่องทางสำคัญ ในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ คือการนำลีก NBA ไปฉายในประเทศจีน 

ปี 1987 คือปีแรกที่ NBA ถ่ายทอดในประเทศจีน โดยในปีแรก NBA อนุญาติให้ช่องโทรทัศน์จีน นำเทปการแข่งขัน ไปฉายฟรี ไม่เสียค่าลิขสิทธิ์เพื่อปลุกกระแสของลีก 

การเดินหมากของ NBA ไม่ผิดพลาด ชาวจีนตอบรับลีกบาสเกตบอล อันดับหนึ่งของโลกอย่างล้มหลาม การได้เห็นนักบาสระดับโลก ลงแข่งขันต่อเนื่องหลายเดือน ตอบโจทย์ความต้องการของชาวจีน 

เด็กชายชาวจีนจำนวนมาก สร้างความฝันอยากเป็นนักบาสเกตบอล หวังว่าสักวัน จะได้ไปเล่นในลีก NBA เหมือนกับนักบาสในดวงใจ ที่เขาเห็นผ่านหน้าจอโทรทัศน์

ในปี 1989 ช่องโทรทัศน์จีนทำสัญญาถ่ายทอดสด NBA ส่งตรงจากสหรัฐ ด้วยสัญญามูลค่ามหาศาล ซึ่งมีไม่กี่ประเทศ ที่จะซื้อสัญญาถ่ายทอดสดเต็มรูปแบบ จากกีฬาอเมริกันเกมส์ สะท้อนให้เห็นกระแสนิยมของกีฬาบาสเกตบอลได้เป็นอย่างดี


Photo : sports.sina.com.cn

แอลเอ เลคเกอร์ส, บอสตัน เซลติคส์ กลายเป็นทีมกีฬายอดนิยมประจำประเทศจีน...ขณะที่ชาวจีนก็ไม่ยอมแพ้ ตั้งลีกบาสเกตบอล CBA เป็นลีกบาสเกตบอลสูงสุดในประเทศ ขึ้นมาเป็นคู่แข่งของ NBA 

แต่เป้าหมายที่แท้จริงของ CBA ไม่ใช่การแย่งตลาดของ NBA แต่เป็นการพัฒนานักบาสจีน เพื่อส่งพวกเขาไปเล่นในลีก NBA ให้ได้

แม้จะมีนักกีฬาจีน เพียง 6 คนที่เคยไปเล่นที่ลีก NBA แต่ปริมาณ ไม่สำคัญเท่าคุณภาพ...เมื่อ 1 ในนั้นคือ เหยา หมิง นักบาสสูง 229 เซ็นติเมตร ผู้ถูกทีมฮุสตัน ร็อคเกตส์ ดราฟต์เข้าร่วมทีมเป็นคนแรกของการดราฟต์ ประจำปี 2002 

แค่การถูกเลือกเป็นคนแรก เหนือนักบาสทุกคน ในการดราฟต์ปี 2002 แค่นี้ก็มากพอที่จะปลุกชาวจีน ทั้งประเทศ ให้หันมาสนใจกีฬาบาสเกตบอลได้อย่างง่ายดาย


Photo : www.china.org.cn

นอกจากนี้ ผลงานของเหยา หมิง ถือว่าคุ้มค่ากับตำแหน่งดราฟต์อันดับ 1...เขาติดทีมออล-สตาร์ ของ NBA 8 ครั้ง, ติดทีมยอดเยี่ยมของผู้เล่นหน้าใหม่ ในปี 2003 นอกจากนี้ยังสร้างชื่อในฐานะนักบาสจีน ด้วยการพาทีมชาติจีน คว้าแชมป์บาสเกตบอล ชิงแชมป์เอเชีย ถึง 3 สมัย

แม้ว่า เหยา หมิง ไม่เคยชนะแชมป์ NBA แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาแม้แต่น้อย เพราะความสำเร็จที่เหยา หมิง ทำไว้ในลีก NBA ได้สร้างยุคทอง ของกระแสบาสเกตบอลในประเทศจีน 

ชาวจีนติดตามเชียร์เหยา หมิง กันทั้งประเทศ ชายร่างยักษ์กลายเป็นฮีโร่ของคนทั้งประเทศ และเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนชาวจีน ที่รักในกีฬาบาสอย่างไม่มีสิ้นสุด

ทุกวันนี้ สื่อหลายสำนัก ยกให้บาสเกตบอลเป็นกีฬาอันดับหนึ่ง ในประเทศจีน...มีการสำรวจว่า ปัจจุบันมีชาวจีนมากกว่า 300 ล้านคนเล่นกีฬาบาสเกตบอล, 800 ล้านคนชมการแข่งขัน NBA แบบถ่ายทอดสด, 150 ล้านคน ติดตามลีก NBA ผ่านทางโซเชียลมีเดีย และมีคนมากกว่า 400 ล้านคน ที่ติดตามการแข่งขัน, คลิปไฮไลต์, ข่าวสารต่างๆ ที่ NBA เผยแพร่ในเว่ยป๋อ แพล็ตฟอร์มโซเชียลอันดับหนึ่งของจีน


Photo : www.npr.org

ปัจจุบัน NBA มีหน่วยงานตั้งอยู่ในประเทศจีน เพื่อขยายฐานแฟนคลับ สร้างมูลค่าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทีมบาสเกตบอลหลายทีม ตั้งใจเจาะตลาดจีน เพื่อโกยเงินหยวน พานักกีฬาไปเยือนดินแดนมังกร สร้างฐานแฟนคลับ, หรือสร้างคอนเทนต์สำหรับชาวจีนโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกัน ภายในประเทศจีน ลีก CBA ได้รับความนิยมไม่แพ้ NBA ที่มีทีม 20 ทีมกระจายอยู่ทั่วประเทศ ร่วมลงแข่งขัน และพาศิษย์เก่าลีก NBA มาโชว์ลีลาในลีกนี้ หลายต่อหลายคน

“สำหรับชาวจีน ไม่มีอะไรมาแทนที่บาสเกตบอลได้” ชาวจีนรายหนึ่งกล่าวคำนี้เอาไว้...หากดูการเติบโตของกีฬายัดห่วง บนแผ่นดินมังกร ที่ยาวนานกว่าร้อยปี วิวัฒนาการความนิยม ที่ค่อยๆเติบโตขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นกีฬาที่มีมูลค่า มากกว่าพันล้านดอลลาร์ 

บาสเกตบอลคู่ควรแล้ว กับการถูกเรียกว่าเป็นกีฬายอดนิยมของชาวจีน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook