มาคุโนอุจิ อิปโป : ตัวแทนของนักมวยไฟท์เตอร์ ที่มักไปไม่สุดในโลกมวยยุคใหม่

มาคุโนอุจิ อิปโป : ตัวแทนของนักมวยไฟท์เตอร์ ที่มักไปไม่สุดในโลกมวยยุคใหม่

มาคุโนอุจิ อิปโป : ตัวแทนของนักมวยไฟท์เตอร์ ที่มักไปไม่สุดในโลกมวยยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก้าวแรกสู่สังเวียน คือยอดการ์ตูนมวยที่อยู่คู่วงการมานานเกิน 20 ปี เรื่องราวของ อิปโป นักชกตัวเล็กที่ต่อยเป็นแค่วิธีเดียวนั่นคือการเดินหน้าฆ่าไม่เลี้ยง จนว่าจะน็อคเอาต์ได้

 อย่างไรก็ตามทำไมทั้งๆ ที่เป็นพระเอก อิปโป จึงไปไม่ถึงแชมป์โลกเสียที? และเรื่องนี้สะท้อนอะไรบนโลกแห่งความเป็นจริงให้เราเห็นบ้าง?

มองโลกของมวยระดับแชมป์ผ่านพระเอกนักบู๊สู้ไม่ถอย ได้ที่นี่

อิปโป สไตล์ไหน? ทำไมต้องเป็นแบบนั้น? 

สไตล์ของนักมวยถูกแบ่งเป็น 2 แบบอย่างกว้างๆ คือ ไฟท์เตอร์ (Fighter) และ บ็อกเซอร์ (Boxer) จะอธิบายให้พอเข้าใจง่ายๆ พอสังเขปก็คือ ไฟท์เตอร์ คือนักมวยที่เน้นการชกวงใน พลังหมัดรุนแรง เน้นที่การใช้แฮนด์สปีด (ความเร็วของหมัด) มากกว่าฟุตเวิร์ก (การเคลื่อนไหวขณะชก) ขณะที่ บ็อกเซอร์ นั้นตรงกันข้ามอย่างชัดเจน เน้นการตั้งรับ ความเร็วในการดักชก เว้นระยะห่างจากคู่ชก และอาศัยการแย็บด้วยเทคนิคที่ดีกว่า      


Photo : anime.dmkt-sp.jp

สำหรับใครที่เป็นแฟนมังงะเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว คงจะไม่ต้องอธิบายกันเยอะว่า อิปโป นั้นคือนักมวยสไตล์ไหน เพราะตั้งแต่ที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นนักมวยสากล สิ่งที่คนได้เห็นจากเขาคนนี้คือ "ไม่เคยกลัวใคร" ในสไตล์เดินหน้าฆ่ามัน 

มวยสไตล์นี้ในภาษามวยเรียกว่ามวยสไตล์ ไฟท์เตอร์ มวยประเภทเดินหน้าชก เน้นคลุกวงใน โดนต่อยกลับไม่เป็นไร ทว่าสิ่งที่มวยสไตล์นี้สามารถแลกกลับมา คือการปล่อยหมัดเด็ดใส่คู่ชกได้ง่ายกว่า หากนักชกมีทั้งพลังหมัดและความเร็วที่อยู่ในระดับสูง

ทำไม มาคุโนอุจิ อิปโป จึงเป็นต้องเดินหน้าแลกขนาดนั้น มันมีเหตุผลหลายอย่าง เพราะตัวของ อิปโป นั้นตัวเล็ก สูงเพียง 164 เซนติเมตร ไม่ได้มีทักษะและเบสิคมวยที่ดีในระดับอัจฉริยะแต่อย่างใด นับตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง เขามีอายุอยู่ที่ 16-17 ปีโดยประมาณ และยังเป็นแค่เด็กหนุ่มที่ทำงานในเรือประมง รวมถึงถูกรังแกเป็นประจำอยู่เลย 

ตัวของ อิปโป ได้เริ่มมาฝึกมวยจริงจังเอาตอนที่ได้เจอกับ มาโมรุ ทากามูระ ที่เป็นคนช่วยสอนและฝึกฝนเขาให้เป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น จนกระทั่งเบนเข็มชีวิตจากการเป็นชาวประมงมาเป็นนักมวยในท้ายที่สุด


Photo : matomechihou.com

เรื่องย่อดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า อิปโป เป็นมวยช้ากว่านักมวยทั่วไปมาก นักชกอย่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์, ไมค์ ไทสัน, อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ หรือแม้แต่ แมนนี่ ปาเกียว ซึ่งทั้งหมดนี้คือนักชกระดับแชมป์โลก แต่ละคนเริ่มฝึกมวยตั้งแต่อายุต่ำกว่า 14 ปี ลงไปทั้งนั้น โดยเฉพาะในส่วนของ ฟลอยด์ หรือ โฮลีฟิลด์ นั้นเป็นแชมป์มวยระดับประเทศมาตั้งแต่เด็กเลยด้วยซ้ำไป 

ดังนั้น อิปโป จึงมีเทคนิคไม่มากเท่ากับนักชกทั้งหมดที่กล่าวมา หรือนักมวยระดับพรสวรรค์คนอื่นๆ จึงทำให้เขายากที่จะเป็นมวยบ็อกเซอร์ ที่ใช้การอ่านเกม, ฟุตเวิร์ก, วางแผน และ กลยุทธ์ เป็นหลักได้ 

อิปโป มีความหนักของหมัด ซึ่งเป็นผลที่มาจากการแบกหามสินค้าประมงหรืออุปกรณ์ต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก และนั่นทำให้เขาจำเป็นต้องเลือกสไตล์ที่เหมาะกับสิ่งที่ตนเองมีมากที่สุด เมื่อต่อยหนัก แถมตัวเล็ก ก็ต้องเข้าคลุกวงในให้ได้ ต่อยโดนก่อนก็สามารถส่งคู่ชกลงไปนอนนับ 10 ได้ก่อน เรื่องมันก็ง่ายๆ เช่นนี้เอง  

แม้ระหว่างแต่ละตอนที่เรื่องดำเนินไป อิปโป ก็มีการฝึกเทคนิคอื่นๆ เข้ามาให้ตัวเองมากขึ้น ทว่า "สไตล์" เป็นสิ่งที่เปลี่ยนกันยาก และดังคำกล่าวว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก" การอัดพื้นฐานตั้งแต่ยังเด็ก และมีเวทีจริงให้ขึ้นชก ย่อมทำให้เกิดการซึมซับที่ดีกว่าวัยเข้าใกล้อายุ 20 ปี ที่ต้องเริ่มต้นการต่อสู้แบบจริงจังด้วยตนเองแน่นอน 


Photo : mangakakalot.com

สาเหตุสำคัญที่สุดที่เราจะหาว่าทำไม อิปโป จึงต้องเป็นนักชกสไตล์ ไฟท์เตอร์ นั่นก็เพราะว่า "นี่คือการ์ตูน" และพระเอกการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นจะต้องมีความใจสู้, บ้าดีเดือด และ ไม่กลัวความพ่ายแพ้ ดังนั้น อิปโป จึงต้องรับบทนักมวยสไตล์ลุยแหลก เพื่อให้เรื่องดำเดินไปอย่างสนุกมีรสชาตินั่นเอง

คุณลองคิดภาพ อิปโป ตั้งการ์ด ใช้การหลบ และดักชกรอชนะคะแนนหลังต่อยครบยกทุกไฟต์สิว่ามันจะน่าเบื่อขนาดไหน? ดังนั้นเพราะมันคือการ์ตูน และพระเอกจำเป็นต้องสู้ นั่นคือเหตุผลที่อธิบายเรื่องสไตล์ของ มาคุโนอุจิ อิปโป ได้ดีที่สุด จบกันง่ายๆ แบบนี้ไม่ต้องหาเหตุผลใดต่อไปอีก

มวยไฟท์เตอร์ในโลกแห่งความจริง

มวยไฟท์เตอร์ นั้นถูกซอยแยกเป็นหลายแบบหลายสไตล์ แต่โดยรวมคือสไตล์เดินหน้าบ้าชกตามที่ได้อธิบายไป มวยสไตล์นี้ชกสนุกคนดูชอบ กลายเป็นมวยแม่เหล็กได้ง่ายๆ 


Photo : archive.4plebs.org

ส่วนในเรื่องนั้น อิปโป บอกว่าตัวของเขานั้นเอาสไตล์การชกมาจาก ไมค์ ไทสัน นักชกแชมป์โลกเฮฟวี่เวต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงเพราะเสียเปรียบเรื่องรูปร่าง ... ทั้ง ไทสัน และ อิปโป หรือแม้กระทั่ง แมนนี่ ปาเกียว เป็นมวยตัวเล็กหากเทียบกับรุ่นน้ำหนักของตัวเอง ดังนั้นการเข้าไปอยู่ในวงในจะช่วยลดปัญหาเรื่องการโดนคู่ต่อสู้ที่สูงกว่า ช่วงยาวกว่าปล่อยหมัดแย็บได้ดี และยังเป็นการกดดันคู่ชกได้ดีที่สุดด้วย 

อย่างไรก็ตาม มวยไฟท์เตอร์ มีข้อเสียเปรียบอยู่อย่างหนึ่ง เพราะถึงแม้พวกเขาจะเป็นมวยแบบที่คนดูชอบ แต่เมื่อคำนึงถึงความสำเร็จแล้ว ถ้านักชกไม่ได้เป็นมวยไฟท์เตอร์ที่เก่งมากพอ พวกเขาจะแพ้ทางให้กับนักชกสายบ็อกเซอร์ได้ง่ายๆ เนื่องจากการตั้งรับและดักชกมีความเสี่ยงน้อยกว่า การเดินลุยชกใส่คนอื่นแน่นอนอยู่แล้ว 

ไฟต์ที่ชี้ให้โลกเข้าใจถึงการชกแบบ ไฟท์เตอร์ vs บ็อกเซอร์ ได้ดีที่สุด คือไฟต์แห่งศตวรรษระหว่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ vs แมนนี่ ปาเกียว ในปี 2015 ที่ ฟลอยด์ เป็นฝ่ายชนะคะแนนในท้ายที่สุด


Photo : bleacherreport.com

ฟลอยด์ เป็นตัวแทนของมวยบ็อกเซอร์ ที่ใช้การถอยและดักชกตลอดทั้งไฟต์ จนแฟนมวยหลายคนไม่พอใจกับการไม่ยอมเดินเข้าหา ปล่อยให้ ปาเกียว เดินลุยแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งหากคะเนด้วยสายตา ปาเกียว คือคนที่พยายามออกหมัดมากกว่าแน่นอน เยอะเสียจนไม่น่าเป็นฝ่ายแพ้คะแนนได้ 

อย่างไรก็ตามสถิติหลังครบ 12 ยก กลับสวนทางกับสิ่งที่คนดูเห็น ฟลอยด์ ที่เป็นฝ่ายดักชก คือคนที่ออกหมัดได้มากกว่า เป็นจำนวนทั้งหมด 435 ครั้ง เข้าเป้า 148 ครั้ง แบ่งเป็นการแย็บ 267 ครั้ง เข้าเป้า 67 ครั้ง และ เพาเวอร์พันช์ 168 ครั้ง เข้าเป้า 81 ครั้ง

ขณะที่ ปาเกียว ตัวแทนของมวยไฟท์เตอร์ ปล่อยหมัดไป 429 ครั้ง เข้าเป้า 81 ครั้ง แบ่งเป็นการแย็บ 193 ครั้ง เข้าเป้า 18 ครั้ง เพาเวอร์พันช์ 236 ครั้ง เข้าเป้า 63 ครั้ง    

เห็นได้ชัดว่า แม้การออกหมัดทั้งหมดจะไล่เลี่ยห่างกันไม่ถึง 10 หมัด แต่ ฟลอยด์ ปล่อยหมัดในระดับได้น้ำได้เนื้อนับเป็นการเข้าเป้ามากกว่า โดยความแม่นยำอยู่ที่ 34% ทว่า ปาเกียว ที่ออกหมัดเยอะกลับมีความแม่นยำแค่ 19% เท่านั้น นอกจากนี้ ทีเด็ดของมวยบ็อกเซอร์อย่าง ฟลอยด์ ที่เน้นการแย็บนั้น ถือเป็นขุมทรัพย์สร้างคะแนนที่ทำให้เขาเอาชนะ ปาเกียว ได้มากที่สุดในบรรดาทุกหมัดด้วย  


Photo : www.independent.co.uk

สถิติทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ากรรมการในมวยระดับโลกนั้น ไม่นับจำนวนหมัดที่ออกทุกหมัด แต่วัดที่ความชัดเจนของหมัดมากกว่า นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไม ปาเกียว ออกหมัดมากมายตลอดทุกยก แต่เมื่อคะแนนออกมาจึงกลายเป็นการปล่อยหมัดของ ฟลอยด์ ที่มากกว่า

ซึ่งหากใครจะมองว่าเป็นธุรกิจและการล็อกผลก็สุดแล้วแต่ที่จะห้ามความคิดกันได้ และก็ไม่ผิดที่คุณจะคิดเช่นนั้น เพราะในยกที่ 12 ฟลอยด์ เป็นฝ่ายที่เริ่มตีกรรเชียงหนีปาเกียวแล้ว จึงทำให้ภาพมันออกมาดูเหมือนกับว่า ฟลอยด์ กลัวแพ้ ทว่าความจริงคือ ฟลอยด์ เอาชัวร์ตามสไตล์มวยบ็อกเซอร์ เมื่อรู้ว่าคะแนนรวมนำ เขาจึงเปลี่ยนมาชกแบบเพลย์เซฟนั่นเอง

อายุการใช้งาน 

หลายคนอาจจะบอกว่าที่ ปาเกียว ตัวแทนของมวยไฟท์เตอร์เป็นฝ่ายแพ้นั้น ก็เพราะว่าเขาอายุเยอะแล้ว แต่ความจริงที่หลายคนมองข้ามไปคือ ฟลอยด์ อายุมากกว่า ปาเกียว ถึงเกือบ 2 ปี (ฟลอยด์ เกิด 24 กุมภาพันธ์ 1977 ส่วน ปาเกียว เกิด 17 ธันวาคม 1978) ... และสิ่งนี้บอกถึงอายุการใช้งานของนักชกสองสไตล์ได้เป็นอย่างดี


Photo : hajime-no-ippo-manga-online.com

ด้วยความที่สไตล์การชกแบบ ไฟท์เตอร์ เป็นการชกแบบคลุกวงในนั้น เป็นสไตล์ที่เสี่ยงต่อการโดนชกเยอะ และเป็นสไตล์ที่เลี่ยงการโดนชกได้ยากมาก ตัวของ อิปโป เองกว่าจะชนะแต่ละไฟต์ได้ก็สภาพสะบักสะบอม บางไฟต์สภาพของเขาเละยิ่งกว่าคนที่แพ้เสียอีก ซึ่งการ "โดนต่อยสะสม" ยังไงก็ไม่ดีแน่ๆ  

จุดนี้ไม่ว่าในโลกความจริงหรือโลกแห่งการ์ตูนนั้นไม่ต่างกันเลย นักชก ไฟท์เตอร์ คือนักมวยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค "เอแอลเอส" หรือโรค "เซลล์ประสาทเสื่อม" เกิดจากการที่สมองและศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนตลอดเวลา ซี่งนักมวยดังๆ ที่เป็นโรคนี้ก็เป็นมวยไฟท์เตอร์เสียส่วนใหญ่ อาทิ สก็อตต์ เลอโดซ์ ที่ป่วยโรคนี้จนเสียชีวิตในวัย 62 ปี ขณะที่นักมวยชาวไทยก็มีตัวอย่าง อาทิ พเยาว์ พูลธรัตน์ และ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เป็นต้น

ไม่ใช่แค่โรคนี้โรคเดียวเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิค ประเทศเยอรมัน ได้ศึกษาสุขภาพของนักมวยในตั้งแต่ยุค 2000 's เป็นต้นมา และพบว่านักมวยอาชีพร้อยละ 20 มีความเสียหายด้านประสาทและจิตเวช โดยเฉพาะนักมวยประเภทที่เคยโดน "น็อคเอาต์" การเสียหายเกิดจากสมองถูกระทบกระเทือนอย่างเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่จะแสดงอาการในภายหลังอย่างการปวดหัว,หูเเว่ว และโรคหลงลืมซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับความจำ

จะเห็นได้ว่าอาการของโรคทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นมากในกลุ่มนักมวยที่ "โดนน็อค" นั่นหมายความว่า มวยไฟเตอร์ที่เดินเปิดหน้าเเลกย่อมมีความเสี่ยงกว่ามวยบ็อกเซอร์ที่เน้นการปัดป้อง,ตั้งรับ และหลบหลีกอยู่แล้ว ... เราจึงสามารถบอกได้ว่านักมวยสไตล์ไฟเตอร์คือสไตล์ที่ "น่าจะ" มีความเสี่ยงเกิดโรคเหล่านี้มากกว่าสไตล์ บ็อกเซอร์ นั่นเอง 

นอกจากโรค “เอแอลเอส” ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีโรค "ซีทีอี" หรือโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง ที่พบกันในหมู่ของนักมวยและกีฬาที่ใช้การเข้าปะทะอย่างอเมริกันฟุตบอล และยังรวมไปถึงโรคพาร์คินสัน ที่เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง ส่งผลให้การเกิดความผิดปกติและการเคลื่อนไหวและการพูด ซึ่งตัวอย่างของคนวงการมวยที่เป็นโรคดังกล่าวได้แก่ มูฮัมหมัด อาลี รวมไปถึงเทรนเนอร์คู่บุญของ แมนนี่ ปาเกียว อย่าง เฟร็ดดี้ โรช อีกด้วย โรคทั้งหมดนี้ล้วนมี การโดนชก, โดนน็อคเอาต์ เป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น 


Photo : www.deviantart.com

ตัวของ อิปโป เองนั้นก็ไม่ต่างกัน ในเรื่องก้าวแรกสู่สังเวียน เขาประกาศแขวนนวมก่อนที่เรื่องจะดำเนินไปถึงตอนจบด้วยซ้ำ (แม้ปัจจุบันเรื่องนี้จะยังไม่มีแววว่าจะจบ และอิปโปมีแววหวนกลับสู่สังเวียนอีกครั้งก็ตาม) แม้ว่าในเรื่องจะอธิบายถึงเหตุผลที่ อิปโป เริ่มอ่อนแอลง ว่าเกิดจากสภาพจิตใจเป็นหลัก แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า อิปโป สะสมอาการบาดเจ็บมากมายหลายไฟต์ โดนต่อยมาก็ไม่ใช่น้อยๆ ดังนั้นเรื่องสภาพร่างกายของเขาก็ต้องมีส่วนที่ทำให้เจ้าตัวประกาศเลิกชกมวยอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

เราคงต้องวกกลับมาที่ ฟลอยด์ กันอีกครั้ง เพราะเขาเป็นมวยสไตล์ บ็อกเซอร์ ที่สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด ทุกวันนี้ฟลอยด์ อายุเกินเลข 4 ไปแล้ว แต่ยังมีสภาพร่างกายที่ยอดเยี่ยม และรักษาสถิติไร้พ่ายได้จนจบ ที่สำคัญเขายังสามารถหาไฟต์ต่อยหาตังค์ได้ตลอด (ในกรณีที่เจ้าตัวอยากจะชก) ทั้งการชกกับ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ เมื่อปี 2017 รวมถึงมวยฉลองส่งท้ายปี 2018 ที่ไปชกกับ เทนชิน นาสึกาวะ ถึงญี่ปุ่น ก่อนจะน็อคนักชกเจ้าถิ่นได้ง่ายๆ และโกยเงินล้านกลับบ้านไปแบบสบายใจเฉิบ ซึ่งมีนักมวยไม่กี่คนนักที่สามารถรักษาเพดานการชกของตัวได้จนถึงสุดทางแบบนี้ และเราพอจะบอกได้ว่า บ็อกเซอร์ เป็นสไตล์ที่มีส่วนทำให้ ฟลอยด์ ยืนระยะที่น่ามหัศจรรย์นี้ ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

สุดท้ายแล้วมวยสไตล์ไหนเก่งกว่ากัน?

แม้จะอ่านกันยาวมาถึงตรงนี้ แต่สุดท้ายแล้วคำตอบที่ว่า "มวยสไตล์ไหนเก่งกว่ากัน" เราคงไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน 100% สำหรับเรื่องนี้ เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายอย่างทั้ง ความถนัด, ฝีมือนักมวย, เป้าหมายของนักมวยแต่ละคน ว่าพวกเขาต้องการแบบไหน 


Photo : wwos.nine.com.au

วันที่ ปาเกียว เก่งที่สุดในโลก นั่นก็เพราะว่าเขาใช้มวย ไฟท์เตอร์ ที่ถนัด บวกกับร่างกายที่แข็งแรงอยู่ในจุดพีกที่สุด แล้ว ไมค์ ไทสัน ล่ะ? ทำไมถึงมีแต่คนบอกว่าเขาคือแชมป์โลกเฮฟวี่เวตที่เก่งที่สุด นั่นก็เพราะสไตล์ ไฟท์เตอร์ มันเข้ากับธรรมชาติและสิ่งที่เขามีมากที่สุดเช่นกัน 

ขณะที่มวย บ็อกเซอร์ อย่าง มูฮัมหมัด อาลี ที่ใช้เทคนิค การดักชกจังหวะสองด้วยความเร็ว และมี "คางแข็ง" (โดนชกแล้วไม่ร่วง) เป็นกำแพงอีกชั้น ... แต่ สุดท้าย อาลี เองก็มีบั้นปลายชีวิตที่ต้องทรมานกับโรคพาร์คินสัน ที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีการยืนยันได้ว่าเกิดจากการโดนต่อย แต่ในวันที่ อาลี ยังชกอยู่เขาก็ต้องเจอกับคู่ชกหมัดหนักมากมาย อาทิ จอร์จ โฟร์แมน, แลร์รี่ โฮล์มส์ และ โจ เฟรเซียร์ เป็นต้น 

ทุกสไตล์ล้วนมีจุดแแข็งและจุดอ่อนแตกต่างกัน นักมวยคนไหนถนัดสไตล์อะไรก็ต้องมุ่งไปยังแนวทางที่ตัวเองถนัดให้ถึงที่สุด ไม่มีใครสวมหน้ากากคนอื่น และทำได้ดีเหมือนกับต้นตำรับแน่ในโลกใบนี้ หากจะให้ ไทสัน, ปาเกียว, โฟร์แมน เปลี่ยนสไตล์มาเป็นมวยเชิง เน้นเทคนิคตั้งรับ เชื่อว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาเหล่านี้ก็คงทำได้ไม่ดีไปกว่าการทำสิ่งที่ตัวเองถนัดอย่างแน่นอน 

อิปโป เองก็เช่นกัน นักมวยตัวเล็ก เทคนิคน้อย เริ่มต้นช้าเช่นเขา แค่ได้ต่อสู้ด้วยพลังที่มี เพิ่มพูนพลังหมัดค้นหาท่าไม้ตายจนได้ "เดมพ์ซี่ย์ โรล" ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจดจำแล้ว และการสู้ยิบตาจนวินาทีสุดท้าย ก็ทำให้เขาเหมาะสมที่จะรับบทพระเอกของเรื่องยิ่งกว่าใครอีกด้วย 


Photo : renote.jp

ทุกคนต่างมีวิธีทาง และเป้าหมายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะ ไฟท์เตอร์ หรือ บ็อกเซอร์ ต่างก็เป็นสไตล์ที่ต้องใช้ความสามารถและขึ้นไปวัดกันบนเวทีเท่านั้น

เพียงแต่ว่า การต่อยแบบเซฟร่างกาย ชิงความได้เปรียบ ยืดอายุการใช้งานของตัวเองให้ทำเงินได้เรื่อยๆ และรักษาสุขภาพในวันที่เลิกชก ล้วนเป็นสิ่งที่หากเลือกได้ ใครๆ ก็อยากจะเลือกเส้นทางนี้ทั้งนั้น ... และนั่นเป็นเหตุผลให้มวย "บ็อกเซอร์" กลายเป็นที่นิยมในยุควิทยาศาสตร์การกีฬากว้างไกลเช่นนี้นั่นเอง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook