Marathon in da House : วิ่งมาราธอนในบ้านยากแค่ไหน และต้องทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ?

Marathon in da House : วิ่งมาราธอนในบ้านยากแค่ไหน และต้องทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ?

Marathon in da House : วิ่งมาราธอนในบ้านยากแค่ไหน และต้องทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นช่วงที่เรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมายที่ไม่มีโอกาสได้ทำในภาวะปกติเนื่องจากภาระทั้งหลายดูดเวลาชีวิตไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม ทำอาหาร หรือแม้แต่การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายภายในบ้านกลายเป็นเทรนด์ยอดฮิตที่ผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นแคมเปญมากมายตามที่เห็นในโลกโซเชียล อย่างไรก็ตามสำหรับบางคนการออกกำลังกายในบ้านดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาไป พวกเขาต้องทำสิ่งที่ยากกว่านั้น ท้าทายกว่านั้น นั่นก็คือ “การวิ่งมาราธอนในบ้าน”

ใช่...คุณไม่ได้อ่านผิดแต่อย่างใด เรากำลังหมายถึงการวิ่ง 42.195 กิโลเมตรนั่นแหละ เพียงแต่ย้ายเส้นทางการวิ่งมาอยู่หลังรั้วบ้านเท่านั้นเอง

การวิ่งมาราธอนในบ้านทำได้หรือไม่ มีความยากอย่างไร และต้องทำอย่างไรถึงจะพิชิตสำเร็จ? ติดตามได้ที่ Main Stand


Photo : northernrunningguide.com

“ผมได้อ่านข่าวเกี่ยวกับคนที่พิชิตการวิ่งมาราธอนโดยการวิ่งในบ้านหรือระเบียงอพาร์ทเม้นท์ของตัวเอง จากนั้นผมก็เดินมาที่สวนหลังบ้านของผม แล้วผมก็รู้สึกว่าตัวเองน่าจะวิ่งมาราธอนที่นี่ได้เหมือนกัน”

“ปัญหาแรกที่ผมพบคือผมไม่สามารถรู้ระยะทางจริงๆ ได้ว่าตัวเองวิ่งไปเท่าไรแล้ว ส่วนปัญหาที่สองคือความเบื่อหน่ายที่ต้องวิ่งอยู่ในเส้นทางสั้นๆ บรรยากาศเดิมๆ เป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง มันคือการต้องต่อสู้กับจิตใจอย่างแท้จริง”

“ปัญหาแรกของผมได้รับการแก้ไขโดยมีบริษัทอุปกรณ์กีฬาท้องถิ่นบริษัทหนึ่งมอบระบบจับเวลาวัดระยะทางของพวกเขามาให้ใช้ ส่วนปัญหาที่สองผมแก้ไขโดยการเปลี่ยนเส้นทางการวิ่งในทุกๆ 100 รอบ” แกเร็ธ อัลเลน (Gareth Allen) ทหารผ่านศึกวัย 47 ปี จากเมืองเซาธ์แฮมตัน ประเทศอังกฤษ ผู้เคยผ่านการวิ่งมาราธอนมาแล้วมากกว่า 137 รายการเผยถึงปัญหาที่เขาต้องพบเจอกับ USA Today 

ปัญหาที่อัลเลนพบเจอถึงขนาดที่ว่านักวิ่งมากประสบการณ์อย่างเขายังยอมรับว่าการวิ่งมาราธอนในสวนหลังบ้านที่มีความยาวเพียง 130 ฟุต หรือประมาณ 39 เมตร ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตามด้วยความรักในการวิ่ง เขาไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ในบ้านโดยปล่อยให้วันเวลาผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ได้อีกต่อไป

“ในการระหว่างการวิ่งผมได้ทำการไลฟ์สตรีมมิ่งไปด้วย ปรากฏว่ามีคนมาดูผมถึง 4,000 คน ผลตอบรับมันบ้ามากๆ เลย จากตอนแรกผมไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหรอก ผมแค่อยากรู้สึกสนุกไปกับมันเท่านั้นเอง”

สุดท้ายแล้ว แกเร็ธ อัลเลน ก็สามารถพิชิตการวิ่งมาราธอนในสวนหลังบ้านของตัวเองได้สำเร็จโดยใช้ระยะเวลาไปทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 2 นาที 

“คำแนะนำหลักของผมเลยคือการต้องเปลี่ยนทิศทางในการวิ่งไปเรื่อยๆ มันช่วยได้จริงๆ นอกจากนั้นคุณต้องได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างที่ดี มันคือปัจจัยสำคัญในการทำลายกำแพงในใจของคุณให้สำเร็จ” 

ในกรณีของ อัลเลน ยังถือว่าโชคดีที่มีสวนหลังบ้านซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างขวางพอสมควร อย่างไรก็ตามบางคนไม่โชคดีแบบ อัลเลน อย่างเช่น วอเชียก มานนิก (Wojtek Machnik) นักวิ่งวัย 42 ปีจากกรุงวอซอร์ ประเทศโปแลนด์ และ กูลานาม อาลีเนียร์ เด็กหนุ่มนักวิ่งเชื้อสายฝรั่งเศส จากเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ที่มีเพียงห้องในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ เป็นที่พักพิงเท่านั้น

“ผมวิ่งมาราธอนในระเบียงอพาร์ทเม้นท์ของผมเองที่มีความยาวเพียงแค่ 7 ฟุต ผมใช้เวลา 6 ชั่วโมง 48 นาที ในการพิชิตมันได้ แต่มันก็เล่นผมจนอาเจียนเลยล่ะ” มานนิก ผู้เพิ่งพิชิตการวิ่งมาราธอนรายการที่ 100 ในชีวิตของตัวเองมาหมาดๆ ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติ COVID-19 เผยกับ Aljazeera โดยสาเหตุที่ทำให้นักวิ่งมือโปรอย่างเขาถึงขั้นเกือบเอาตัวไม่รอดก็เพราะการต้องวิ่งวนกลับไปมาในพื้นที่แคบๆ นั้นส่งผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง และด้วยระยะเวลาที่นานกว่า 6 ชั่วโมงจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เขาจะรู้สึกเวียนหัวถึงขั้นอาเจียนออกมาในที่สุด

“ตอนแรกผมก็คิดว่าคงเป็นเรื่องง่ายๆ ในการวิ่งไปมาในห้องนั่งเล่นของผม แต่มันกลับไม่ง่ายเลย มันยากมากๆ เลย” อาลีเนียร์ บอกกับ Aljazeera ถึงแม้เขาจะไม่เวียนหัวถึงขั้นอาเจียนแบบ มานนิก แต่ปัญหาที่เขาพบเจอคืออากาศที่ร้อนอบอ้าว หยดเหงื่อที่นองเต็มพื้นทำให้ต้องระวังในทุกฝีก้าวของการวิ่งเพื่อไม่ให้ลื่นล้ม และการต้องวิ่งอยู่ในห้องซึ่งเป็นสถานที่ปิด การถ่ายเทของอากาศย่อมแย่กว่า นั่นทำให้ระบบหายใจไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เหมือนตอนที่วิ่งมาราธอนปกติ

นี่คือปัญหาและความยากลำบากที่เหล่านักวิ่งต้องเจอเมื่อหวังจะพิชิตมาราธอนภายในบ้านตัวเอง ดังนั้นใครที่อยากจะทำบ้าง ก่อนเริ่มวิ่งก็ลองสำรวจให้รอบคอบ ทั้งสภาพร่างกายของตัวเองที่ต้องเคยผ่านการวิ่งมาราธอนปกติมาแล้ว เนื่องจากการวิ่งมาราธอนในบ้านนั้นยากกว่าหลายเท่า นอกจากนั้นก็เป็นในเรื่องของสถานที่ที่อย่างน้อยก็ต้องมีความกว้างขวางระดับหนึ่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้าใครมีสวนในบ้านหรือลานหน้าบ้านนับว่าเป็นเรื่องโชคดีอย่างมาก ข้อสุดท้ายคือเรื่องของจิตใจที่ต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยแพชชั่นและกำลังใจจากคนรอบข้าง เนื่องจากกำแพงที่โหดหินที่สุดของการวิ่งมาราธอนในบ้านคือความจำเจเบื่อหน่ายที่อาจทำให้คุณถอดใจยอมแพ้ไปเสียง่ายๆ 


Photo : www.thenational.ae

แต่ถ้าคุณรู้ตัวเองดีว่าไม่ได้แข็งแรงหรือมีความอดทนขนาดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นพิชิตมาราธอนก็ได้ เพียงแค่ลุกขึ้นมาวิ่งหรืออกกำลังกายเล็กน้อยก็เป็นผลดีต่อร่างกายมากกว่าการนอนอยู่เฉยๆ อยู่แล้ว นอกจากนั้น WHO (World Health Organization) หรือองค์การอนามัยโลกก็ได้มีการออกแคมเปญเชิญชวนให้คนหันมาออกกำลังกายที่บ้านในช่วงนี้ เพราะนอกจากเพื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้จิตใจที่กำลังเศร้าหมองเพราะวิกฤติ COVID-19 แจ่มใสขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook