ไขข้อข้องใจ : นักชกอาชีพที่แจ้งเกิดจากมวยสมัครเล่นหมัดเบาจริงไหม?

ไขข้อข้องใจ : นักชกอาชีพที่แจ้งเกิดจากมวยสมัครเล่นหมัดเบาจริงไหม?

ไขข้อข้องใจ : นักชกอาชีพที่แจ้งเกิดจากมวยสมัครเล่นหมัดเบาจริงไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จำครั้งล่าสุดที่ชมการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นแล้วมีการตัดสินแพ้ชนะด้วยการน็อกได้ไหม? สำหรับเราแทบไม่มีอยู่ในความทรงจำเลย และเชื่อว่าอีกหลายคนก็เช่นกัน เพราะแทบทุกครั้งมวยสากลสมัครเล่นมักจะตัดสินการแพ้ชนะโดยการนับคะแนน จนทำให้เกิดเป็นคำถามให้น่าสงสัยว่า

"หมัดของนักมวยสากลสมัครเล่นนั้นเบาหรือเปล่า?"

ยังไม่จบเพียงเท่านั้น คำถามดังกล่าวยังต่อยอดไปถึงสู่อีกคำถามว่า แล้วหมัดของนักมวยอาชีพที่แจ้งเกิดมาจากสายการชกมวยสากลสมัครเล่นมาก่อนละ หมัดจะเบาเหมือนกันหรือไม่?

ติดตามคำตอบของคำถามเหล่านี้ได้ที่ Main Stand

มวยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่กีฬาเดียวกัน?

ถึงแม้ทั้งมวยสากลอาชีพและมวยสากลสมัครเล่นจะดูคล้ายคลึงกันมาก ไม่มีอะไรมากกว่าปล่อยหมัดใส่กัน ใครสามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ก่อนก็เป็นฝ่ายชนะ หรือถ้าไม่มีใครลงไปกองกับพื้นเวทีจนครบกำหนดยก ผู้ที่ปล่อยหมัดเข้าเป้ามากกว่าก็จะเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียดจะพบว่ามันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เรียกว่าแทบจะเป็นกีฬาคนละชนิดกันเลยก็ว่าได้

 1

ความแตกต่างอย่างแรกคือเรื่องของกฎกติกา ตามมาตรฐานมวยสากลสมัครเล่นของโอลิมปิก จำนวนยกจะมีเพียงแค่ 3 ยก ยกละ 3 นาทีเท่านั้น ในขณะที่มวยสากลอาชีพมาตรฐานศึกชิงแชมป์โลกของสถาบันหลักอย่าง WBC หรือ WBA มีจำนวนยกมากกว่าถึง 4 เท่าตัว คือ 12 ยก ยกละ 3 นาที ดังนั้นการจะชนะคู่ต่อสู้ด้วยการน็อกสำหรับมวยสากลสมัครเล่นจึงเป็นเรื่องยากมากๆ เนื่องจากเวลาในการชกที่มีอย่างจำกัด ไม่เพียงพอในการค่อยๆ "นวด" ให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บไปเรื่อยๆ การน็อกส่วนใหญ่จึงมาจาก "หมัดปาฏิหาริย์" เปรี้ยงเดียวจอดแทบทั้งสิ้น แม้ทางสมาคมมวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ หรือ AIBA จะมีการปรับเปลี่ยนกติกาเป็นระยะๆ อย่างการปรับให้เป็นการแข่งขัน 5 ยก ยกละ 2 นาที ช่วงปี 1997-1999 และ 4 ยก ยกลง 2 นาที ระหว่างปี 1999-2009 เพื่อให้ใกล้เคียงกับมวยอาชีพยิ่งขึ้น ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนภาพรวมของการแข่งขันเสียเท่าไหร่

 2

ในแง่ของการให้คะแนน มวยทั้งสองประเภทก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมวยสากลสมัครเล่นนั้นกรรมการข้างสังเวียนจะให้คะแนนตามจริง นั่นคือถ้ากรรมการเล็งเห็นว่าหมัดที่นักมวยคนนั้นปล่อยไปเข้าเป้าและมีน้ำหนักมากพอ ก็จะนับเป็น 1 คะแนน ถ้าหมัดที่สองเข้าอีก ก็จะกลายเป็น 2 คะแนน ส่วนมวยสากลอาชีพนั้นจะให้คะแนนกันเป็นรายยก โดยนักมวยฝ่ายที่ทำได้ดีกว่า ออกหมัดเข้าเป้าได้มากกว่าก็จะได้คะแนนเต็ม 10 ในยกนั้นไป ส่วนอีกฝ่ายก็อาจจะได้ 9 หรือถ้าในยกนั้นถึงขั้นล้มลงให้กรรมการนับคะแนนก็อาจจะเหลือแค่ 8 หรือ 7 

ด้วยกฎกติกาการให้คะแนนรูปแบบนี้ก็น่าจะทำให้เห็นภาพชัดว่าเส้นทางสู่ชัยชนะของมวยสองประเภทนี้แตกต่างกัน สำหรับมวยสากลสมัครเล่น ด้วยเวลาระยะเวลาในการชกที่น้อยกว่า แถมยังใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างรัดกุมเช่นเฮดการ์ดบริเวณศีรษะ แม้จะมีการยกเลิกการสวมเฮดการ์ดไปตั้งแต่ปี 2013 โดยเหตุผลจากงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งชี้ว่า การสวมเฮดการ์ดกลับกลายเป็นการสร้างผลเสียต่อสมองในระยะยาว ตลอดจนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่นักมวยเพื่อก้าวสู่ระดับอาชีพ รวมถึงน้ำหนักของนวม (มวยสากลสมัครเล่นนิยมใช้นวม 12 ออนซ์ ซึ่งจะหนากว่า ป้องกันการกระแทกได้ดีกว่านวม 10 ออนซ์ที่เป็นขนาดมาตรฐานสำหรับมวยสากลอาชีพ) ที่มากกว่าในการชกมวยสากลอาชีพ การชกมวยสากลสมัครเล่นจึงเน้นการทำคะแนนไปทีละหมัด มากกว่าจะเดินหน้าเข้าน็อกคู่ต่อสู้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก ตรงกันข้ามกับมวยสากลอาชีพ ที่แทบจะไร้อุปกรณ์ป้องกันตัว อีกทั้งการชกก็ยาวนานถึง 12 ยก ดังนั้นการจะเอาชนะน็อกคู่ต่อสู้ด้วยการน็อกก็ไม่ใช่เรื่องยาก เราจึงเห็นมันเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

 3

สาเหตุที่กฎกติกาของมวยทั้งสองประเภทแตกต่างกันขนาดนี้ก็เพราะขึ้นชื่อว่า "สมัครเล่น" ยังไงเสียความปลอดภัยก็ต้องมาอันดับหนึ่ง จุดประสงค์ของมวยประเภทนี้คือไม่ต้องการเห็นนักกีฬาบาดเจ็บ ตรงกันข้ามกับมวยสากลอาชีพที่เป็นกีฬาเพื่อความบันเทิงเต็มรูปแบบ การได้เห็นนักมวยเลือดตกยางออก หรือล้มไปกองกับพื้นสังเวียนจึงเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงดังกล่าว 

และแม้ทาง AIBA จะพยายามหาทางเชื่อมโยงมวยสากลสมัครเล่นกับมวยอาชีพเข้าด้วยกัน กับการจัดการแข่งขัน World Series of Boxing (WSB) มาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งนักมวยได้รับค่าเหนื่อยจากการขึ้นสังเวียนด้วย แต่รูปแบบการแข่งขันต่างๆ ไม่ว่าจะระยะเวลาในการชกต่อ 1 ไฟต์ (5 ยก ยกละ 3 นาที) รวมถึงการให้คะแนน ก็ยังคงอิงกับมวยสากลสมัครเล่นมากกว่าอยู่ดี ที่สำคัญคือ นักสู้ที่ขึ้นเวทีรายการนี้ ยังสามารถกลับไปแข่งให้ทีมชาติของตนในรายการโอลิมปิกได้อีกด้วย

สไตล์การชกที่แตกต่าง

เมื่อกติกาของมวยทั้งสองประเภทนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าก็ย่อมส่งผลต่อสไตล์การชกของนักมวยโดยตรง ในโลกของมวยสากลระดับอาชีพนั้นจะเห็นได้ว่ามีนักมวยมากมายหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็น "อินไฟท์เตอร์" ซึ่งเป็นสไตล์ที่เดินหน้าลุยแหลก ต้อนคู่ต่อสู้ให้จนมุม โดยไม่เกรงกลัวว่าจะโดนหมัดสวนมา โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็น ไมค์ ไทสัน อดีตนักชกราชารุ่นเฮฟวี่เวต "แมนนี่ ปาเกียว" ยอดนักชกชาวฟิลิปปินส์ อดีตแชมป์โลก 8 รุ่น หรือแม้กระทั่ง มาคุโนอุจิ อิปโป ตัวละครพระเอกจากมังงะญี่ปุ่นเรื่อง ก้าวแรกสู่สังเวียน

 4

ส่วนอีกสไตล์เรียกว่า "เอ้าท์บ็อกเซอร์" หรือภาษามวยในบ้านเราเรียกว่า "มวยจังหวะฝีมือ" ที่ไม่นิยมการคลุกวงใน เน้นการตั้งรับ ความเร็วในการดักชก เว้นระยะห่างจากคู่ชก และอาศัยการแย็บด้วยเทคนิคที่ดีกว่า โดยตัวอย่างนักชกสไตล์นี้ที่ชัดเจนก็คงหนีไม่พ้น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ อดีตนักชกแชมป์โลกไร้พ่ายที่หลายคนอาจจะไม่ชอบหน้าเขาเท่าไร รวมถึง มิยาตะ อิจิโร่ คู่แข่งคนสำคัญของ มาคุโนอุจิ อิปโป จากเรื่องก้าวแรกสู่สังเวียน 

ในขณะที่นักมวยสากลสมัครเล่นนั้นเราแทบจะไม่เห็นนักมวยสไตล์อินไฟท์เตอร์ที่ประสบความสำเร็จเลย ทุกคนที่เคยขึ้นโพเดี้ยมรับเหรียญรางวัลส่วนใหญ่เป็นนักชกสไตล์เอ้าท์บ็อกเซอร์ทั้งสิ้น แม้กระทั่งนักชกฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกของบ้านเราอย่าง สมจิตร จงจอหอ, วิจารณ์ พลฤทธิ์, มนัส บุญจํานงค์ และ สมรักษ์ คำสิงห์ ก็ล้วนแล้วเป็นมวยจังหวะฝีมือ เน้นโจมตีคู่ต่อสู้จากวงนอกทั้งหมด

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกติกาของมวยสากลสมัครเล่น ที่ใช้การนับคะแนนแบบหมัดต่อหมัด อีกทั้งการน็อกคู่ต่อสู้ในระยะเวลาเพียง 3 ยกก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นแทนที่จะคลุกวงในแบบอินไฟท์เตอร์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเพลี่ยงพล้ำเสียคะแนนให้คู่ต่อสู้ได้ง่าย ก็เน้นการชกจากวงนอก ใช้จังหวะฝีมืออย่างรอบคอบ ไม่ต้องเน้นน้ำหนักหมัดให้รุนแรงมาก เก็บแรงไว้ชิงทำคะแนนขึ้นนำน่าจะเป็นการดีกว่า เพราไม่ว่าจะมองจากมุมไหน สไตล์การชกแบบเอ้าท์บ็อกเซอร์ก็เหมาะกับรูปแบบของมวยสากลสมัครเล่นมากกว่า

 5

ขณะที่เรื่องน้ำหนักหมัด ซึ่งแฟนมวยหลายคนสงสัยว่า ในมวยสากลสมัครเล่น หมัดหนัก หรือหมัดเร็ว แบบไหนที่กรรมการพร้อมจะเทคะแนนให้มากกว่ากัน ซึ่ง จอห์นนี เหงียน จากเว็บไซต์ ExpertBoxing ให้มุมมองไว้ว่า

"แม้การต่อยแบบเข้าเป้าชัดเจน 3 หมัด จะได้คะแนนมากกว่าหมัดเร็วๆ 10 หมัดที่อาจจะไม่เข้าเป้าเสียหมดก็ตาม แต่หากว่าด้วยเรื่องน้ำหนักแล้ว จะเบาปานปุยนุ่น หรือหนักขนาดส่งอีกฝ่ายร่วงได้ ก็มีค่า 1 หมัดเท่ากัน ไม่เพียงเท่านั้น มวยสากลสมัครเล่น โดยเฉพาะโอลิมปิก ถือเป็นตัวอย่างชัดเจนเลยว่า ความหนักเบาไม่ใช่ประเด็น แต่สิ่งสำคัญคือ คุณจะสามารถออกหมัดเข้าเป้าคู่ต่อสู้ได้ตลอดการชกหรือไม่"

"หากสังเกตการชกมวยสากลสมัครเล่นก็จะเห็นว่า สไตล์การชกที่ได้ผล คือการต่อยแล้วชิ่ง (hit-&-run) มากกว่าการแลกหมัด หากคุณพยายามที่จะน็อกคู่ต่อสู้จนเกินไป และไม่สามารถส่งเขาร่วงได้ขึ้นมาแล้วล่ะก็ คุณก็อาจจะต้องแพ้ เพราะออกหมัดเข้าเป้าน้อยกว่าคู่ชกก็เป็นได้"

คำถามที่ตามมาคือ "แล้วเมื่อนักมวยสากลสมัครเล่นเทิร์นโปรเข้าสู่วงการมวยสากลอาชีพล่ะ พวกเขาจะเป็นยังไง?"

ยอดฝีมือสมัครเล่นในสังเวียนอาชีพ

มูฮัมหมัด อาลี, ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์, วาซิลี่ โลมาเชนโก้, ออสการ์ เดอ ลา โฮยา, เกนนาดี้ โกลอฟกิ้น, อาเมียร์ ข่าน, แอนโทนี่ โจชัว, ลุค แคมป์เบลล์, กิลเลอร์โม่ ริกองโดซ์ รายชื่อของยอดนักมวยดีกรีแชมป์โลกเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เคยเดินเส้นทางการเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นมาก่อน ถึงขั้นที่มีเหรียญโอลิมปิกประดับบารมีกันทุกคน และเมื่อนำสถิติการชกของพวกเขามากางดูก็พบว่าทุกคนมีสถิติการชนะน็อกคู่ต่อสู้ไม่ต่ำกว่า 60% โดยเฉพาะ เกนนาดี้ โกลอฟกิ้น (ชนะน็อก 35 จาก 40 ไฟต์ที่ชนะ), วาซิลี่ โลมาเชนโก้ (ชนะน็อก 10 จาก 14 ไฟต์ที่ชนะ) และ แอนโทนี่ โจชัว (ชนะน็อก 21 จาก 23 ไฟต์ที่ชนะ) ที่ถึงขั้นขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องจักรน็อกคู่ต่อสู้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการที่จะบอกว่าน้ำหนักของนักมวยอาชีพที่แจ้งเกิดจากมวยสากลสมัครเล่นนั้นเบาจึงเป็นเรื่องที่ดูจะฟังไม่ขึ้นเสียเท่าไหร่ 

 6

ไม่เพียงเท่านั้น จอห์นนี เหงียน จากเว็บไซต์ ExpertBoxing ยังเผยด้วยว่า หมัดเบาๆ อย่าง หมัดแย็บ ที่ดูไร้พิษสงนั้น มีประโยชน์มากกว่าที่คนทั่วไปเห็นถึงความแรงเวลาเข้าเป้า เพราะหมัดยิ่งเบา ก็เท่ากับว่ามีความเร็วหมัดมากกว่า กินแรงน้อยกว่า ออกอาวุธได้ในมุมที่กว้างกว่า และใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ หลากหลายกว่าหมัดหนักๆ ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยสร้างความสับสนให้กับคู่ต่อสู้ ซื้อเวลาให้คุณปล่อยหมัดเด็ดพิฆาตแบบที่อีกฝ่ายไม่ทันได้ตั้งตัวอีกด้วย

 7

อย่างไรก็ตามท่ามกลางรายชื่อของยอดมวยจากหลากสัญชาติ หลายยุคหลายสมัย ที่กล่าวไปด้านบนกลับมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือแทบทุกคนเป็นนักมวยสไตล์เอ้าท์บ็อกเซอร์ ซึ่งสาเหตุก็คงมาจากพื้นฐานการฝึกซ้อมในสมัยเป็นนักมวยสากลสมัครเล่น และเมื่อก้าวขึ้นสู่สังเวียนอาชีพ พวกเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนสไตล์ของตัวเอง เพียงแต่ปรับมันให้เข้ากับรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนไปก็เท่านั้นเอง 

 8

ดังนั้นสรุปสุดท้ายของคำถามตั้งต้นที่ว่า "นักชกอาชีพที่แจ้งเกิดจากมวยสมัครเล่นหมัดเบาจริงไหม?" คำตอบคือ "ไม่จริง" โดยสิ้นเชิง เพราะถึงแม้ในตอนที่ชกระดับสมัครเล่นพวกเขาจะไม่ได้เน้นเรื่องของน้ำหนักหมัดมากนัก แต่เมื่อเข้าสู่ระดับอาชีพ พวกเขาก็ได้ฝึกฝนร่างกาย รวมถึงน้ำหนักหมัดจนไม่ต่างจากนักมวยอาชีพคนอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีพื้นฐานจากการชกมวยสากลสมัครเล่นมาก่อน พวกเขาส่วนใหญ่จึงมีสไตล์การชกแบบเอ้าท์บ็อกเซอร์ ที่เน้นการชกแบบชิงจังหวะฝีมือ อาศัยเทคนิคเป็นหลัก ซึ่งการเป็นนักมวยสไตล์เอ้าท์บ็อกเซอร์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีน้ำหนักหมัดที่เบา พวกเขาแค่เลือกที่จะไม่เดินหน้าลุยแหลก และรอที่จะปล่อยหมัดออกไปในจังหวะที่เหมาะสมเสียมากกว่า เพราะเพียงหมัดเดียวในจังหวะที่ใช่ ก็สามารถทำให้คู่ต่อสู้ลงไปนอนนับ 10 กับพื้นเวทีได้เช่นกัน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ไขข้อข้องใจ : นักชกอาชีพที่แจ้งเกิดจากมวยสมัครเล่นหมัดเบาจริงไหม?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook