"ทรูวิชั่นส์ VS สมาคมกีฬาฟุตบอล" กับชะตากรรมบอลไทยลีก?
บนความขัดแย้งเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกสูงสุดของเมืองไทย ที่ล่าสุด ณ วันนี้ทุกอย่างยังหาทางลงที่เสียหายน้อยที่สุดไม่ได้
เรื่องราวของ "ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด" ที่ไม่ลงตัวของฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2020 กลายเป็นประเด็นที่ทั้งแฟนบอลและเหล่าสโมสรสมาชิกที่เข้าร่วมการแข่งขัน กำลังวิตกสุดๆ ว่าบทสรุปสุดท้าย จะไปจบกันที่ตรงไหน?
ตลอดเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวความขัดแย้งของทั้ง ทรูวิชั่นส์ และ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลุกลามใหญ่โตจากต้นเหตุสำคัญนั่นคือ วิกฤตการณ์จากพิษโควิด-19 ที่ทำให้วงการกีฬาทั่วโลกต้องหยุดชะงัก
เช่นเดียวกับฟุตบอลไทยลีก จากเดิมโปรแกรมของฤดูกาล 2020 ที่เคยเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ และจะไปสิ้นสุดในเดือนตุลาคม ต้องหยุดลงทันที หลังมีคำสั่งระงับการแข่งขัน ไปในวันที่ 4 มีนาคม หลังผ่านเกมการแข่งขันไปได้แค่ 4 นัด จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลานั้น
แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวความขัดแย้ง มันเริ่มขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ สมาคมฟุตบอลไทย ได้ออกแถลงการณ์ว่า ฟุตบอลไทยลีก จะเลื่อนการแข่งขันออกไป โดยจะกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน และจะไปสิ้นสุดในเดือน พฤษภาคม ปี 2021 ซึ่งทั้งหมดผ่านมติที่ประชุม ซึ่งมีตัวแทนของสโมสรเข้าร่วม พร้อมกับมีการปรับเปลี่ยนกฎในบางเรื่องอีกด้วย
ปัญหาสำคัญที่มาสู่เรื่องราวใหญ่โตนี้คือ เรื่องของ "สัญญา" การถ่ายทอดสดของฟุตบอลไทยลีก 1 รวมไปถึง ไทยลีก 2 ที่สมาคมฟุตบอลฯ ทำสัญญาไว้กับ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งจุดเริ่มมันคือการที่ข้อสรุปของการตัดสินใจในเรื่องนี้ ทางทรูวิชั่นส์ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ได้มีตัวแทนเข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น โดยมีแค่ทางสมาคมฟุตบอลฯ และสโมสรสมาชิกเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม และลงมติในวันนั้น
ปัญหาต่อมาคือปีนี้เป็นซีซั่นสุดท้ายแล้ว ที่ทาง ทรูวิชั่นส์ จะได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน โดยในซีซั่นหน้า จะเป็นเจ้าใหม่ที่ชนะการประมูล เข้ามาทำการถ่ายทอดสดแทน ดังนั้น สัญญาที่ทางสมาคมฯ ทำไว้กับ ทรูวิชั่นส์ จึงกลายเป็นปัญหาในทันที เนื่องจากทางทรูวิชั่นส์ ไม่สามารถดำเนินการถ่ายทอดไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ปีหน้าได้ เพราะได้วางผังรายการของช่องไว้แล้ว
ทางฝั่ง สมาคมฯ ฟุตบอล ได้บอกสาเหตุถึงการต้องย้ายลีกไปแข่งขันในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นเพราะยึดเอาเหตุผลความปลอดภัยจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันคือสิ่งที่ทาง ศบค. ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการแข่งขันได้
อีกทั้งข้อสำคัญคือ นักเตะต่างชาติ ก็ไม่สามารถเดินทางได้ทันที และต้องใช้เวลาลาในการดำเนินการ จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเข้าประเทศ และสถานที่ในการกักตัว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องทำไปตามกระบวนการ
ขณะที่ ทางฝั่งทรูวิชั่นส์เอง ก็ยืนยันชัดเจนว่า ตามสัญญาเดิม จะถ่ายทอดสดการแข่งขัน ไปถึงแค่วันที่ 25 ต.ค. นี้เท่านั้น แต่ก็พร้อมที่การถ่ายทอดสดไปถึงช่วงสิ้นปีนี้ได้ โดยพร้อมที่เจรจาในสัญญาฉบับใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ทางทรูฯ ก็ยินดี หากสมาคมฟุตบอลฯ จะหาผู้รับสัญญาณถ่ายทอดสดรายอื่นมาทดแทน แต่ข้อสำคัญคือทางทรูวิชั่นส์ จะขอเจรจามูลค่าสิทธิประโยชน์ที่ลดลง เนื่องจากจำนวนทีมลดลงจาก 18 เป็น 16 ทีม ทำให้แมตช์ลดลง ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาร่วมกัน ซึ่งในข้อนี้ก็ต้องยอมรับโดยตรงว่าไม่ได้เกิดเหตุจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้
จากเหตุและผลของทั้งสองฝ่าย เมื่อมองจากคนที่อยู่ตรงกลาง คงต้องบอกว่ามันเป็นปัญหาที่น่าปวดกบาลทั้งสองฝ่ายนั่นแหล่ะ
ทางฝั่งทรูวิชั่นส์เอง พวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไรที่ผิด เพราะทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามสัญญาที่ทำกับสมาคม แต่ในข้อนี้ มันก็มองได้อีกเช่นกันว่า สาเหตุสำคัญมันก็ล้วนมาจากพิษของการระบาดจากโควิด-19
ดังนั้น เมื่อมาถึงวันนี้ นอกเหนือจาก ทรูวิชั่นส์เองที่ปวดหัว เพราะเหล่าสมาชิก ที่เสียเงินรายเดือนมาเพื่อชมเกมของไทยลีก อาจจะไม่ได้ดูไปจนจบซีซั่น ตอนนี้ก็เริ่มมีท่าทีที่ไม่พอใจ
ขณะเดียวกันสิ่งที่สมาคมฯ ตัดสินใจลงไป มันก็ส่งผลกับสโมสรสมาชิก ที่พวกเขาจะต้องสูญเสียเงินสนับสนุนที่จะต้องลดลงไปตามข้อตกลงที่ไม่เป็นไปตามสัญญากับเจ้าของลิขสิทธิ์ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ และชักหวั่นใจเหลือเกินว่ามันจะเดินทางไปถึงทางตัน เพราะบางสโมสรอาจแบกรับภาระที่หนักนี้ไม่ไหว
ฟุตบอลลีกไทยใน 10 ปี ที่ผ่านมา เดินทางมาไกล และผ่านเรื่องราวความยากลำบากมามากมาย ไม่อยากให้ถึงทางตันแบบนี้เลยครับ
ถึงบรรทัดนี้แล้ว อยากให้ผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย ลองกลับมาคุยกันอีกสักครั้ง เพื่อทางออกที่ดีที่สุดเถอะครับ