คนโกงที่โลกรัก : เอ็ดดี เกอร์เรโร กับบทบาทนักมวยปล้ำเม็กซิกันในภาพจำด้านลบของอเมริกัน

คนโกงที่โลกรัก : เอ็ดดี เกอร์เรโร กับบทบาทนักมวยปล้ำเม็กซิกันในภาพจำด้านลบของอเมริกัน

คนโกงที่โลกรัก : เอ็ดดี เกอร์เรโร กับบทบาทนักมวยปล้ำเม็กซิกันในภาพจำด้านลบของอเมริกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากคุณเป็นแฟนมวยปล้ำช่วง 15-20 ปีก่อน ไม่มีทางที่จะไม่รู้จัก เอ็ดดี เกอร์เรโร นักมวยปล้ำมาดกวน จอมตุกติก ที่ชนะใจแฟนมวยปล้ำทั่วโลก และทำให้เขาเป็นที่จดจำ จากแฟนมวยปล้ำ แม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตไป เกือบ 15 ปีแล้วก็ตาม

หนึ่งในบทบาทที่ทำให้เอ็ดดี กลายเป็นที่นิยม คือชั้นเชิงการโกงในสังเวียน ตามคอนเซ็ปต์ I lie, I cheat, I steal (ฉันโกหก, ฉันโกง, ฉันขโมย) ซึ่งไม่ว่าเขาจะเป็นนักมวยปล้ำธรรมะ หรืออธรรม เขายังคงเป็นนักมวยปล้ำจอมโกง ในสังเวียนไม่เปลี่ยนแปลง

คาแรคเตอร์ของเอ็ดดี ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล ในทางกลับกันคาแรคเตอร์นี้ ตรงกันข้ามกับตัวตนที่แท้จริงโดยสิ้นเชิง แต่ตัวเขาต้องสวมบทบาทนี้ เนื่องจากเชื้อสายเม็กซิกัน ที่มีอยู่ในตัว ทำให้เขาต้องรับบทบาท เป็นภาพสะท้อนของคนเม็กซิกัน บนสังเวียนมวยปล้ำ จากภาพจำของคนอเมริกัน

เม็กซิกัน-อเมริกัน

เอ็ดดี เกอร์เรโร คือนักมวยปล้ำ รุ่นที่ 2 จากตระกูลเกอร์เรโร ที่สืบเชื้อสายจาก กอรี เกอร์เรโร สุดยอดนักมวยปล้ำชาวเม็กซิกัน

แม้จะมีเชื้อสายชาวเม็กซิกันอยู่เต็มตัว แต่โดยสัญชาติแล้ว เอ็ดดีถือว่าเป็นคนอเมริกัน เพราะเขาเกิดและเติบโต ในรัฐเท็กซัส ใช้ชีวิตเรียนหนังสือ และฝึกมวยปล้ำ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

กระนั้น ความเป็นเม็กซิกัน ที่แสดงออกผ่านทางนามสกุล รูปร่าง หน้าตาของเขา ทำให้เอ็ดดีไม่สามารถหนีพ้นการถูกตีกรอบให้เป็นคน “ลาตินอเมริกัน” แทนที่จะเป็น “อเมริกัน” แบบคนสหรัฐฯทั่วไป


Photo :  luchawiki.org

ลาตินอเมริกัน (เรียก ฮิสแปนิก อเมริกัน ก็ได้เช่นกัน) คือคำที่ใช้เรียกคนที่มีเชื้อสายเม็กซิโก หรือผู้อพยพจากเม็กซิโก รวมถึงทวีปอเมริกากลาง ที่อพยพเข้ามาอาศัยในอเมริกา ซึ่งมีความหมายในเชิงลบ ... คนเหล่านี้ในสายตาชาวอเมริกันผิวขาว พวกเขาคือพลเมืองชั้น 2 ของสังคม เหมือนกับคนผิวดำ ไม่มีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากับคนผิวขาว และถูกมองด้วยแง่ลบ จากสังคมอยู่เสมอ

แม้ว่าเอ็ดดีจะเป็นนักมวยปล้ำฝีมือดี ผ่านการฝึกสอนมาอย่างเข้มงวด จากคนในตระกูล แต่ความเป็นเม็กซิกันของเขา ทำให้เอ็ดดีต้องพบกับความยากลำบาก กับการเริ่มต้นอาชีพนักมวยปล้ำ 

ในช่วงปลายยุค 80’s ไม่มีใคร อยากดูนักมวยปล้ำเม็กซิกันเฉิดฉาย ท่ามกลางกระแสอเมริกัน ฮีโร ในวงการมวยปล้ำ ไม่ว่าจะเป็น ฮองค์ โฮแกน, สติง, ดัสติน โรดส์ ที่เป็นนักมวยปล้ำมีชื่อเสียง แถวหน้าในสหรัฐอเมริกา


Photo : www.tvovermind.com

ท้ายที่สุด เอ็ดดีต้องย้ายไปอยู่ที่เม็กซิโก เพื่อหาโอกาสขึ้นปล้ำให้กับตัวเอง เอ็ดดีได้รับการต้อนรับที่นั่น เนื่องจากนามสกุลเกอร์เรโรของเขา  

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอ็ดดี ที่สหรัฐอเมริกา ... เอ็ดดีมีความฝัน อยากเป็นนักมวยปล้ำมีชื่อเสียง บนแผ่นดินบ้านเกิด แต่ทุกครั้งที่เขามารับงานปล้ำในสหรัฐฯ บทบาทเดียวที่เข้าได้รับ คือ จ็อบเบอร์ หรือนักมวยปล้ำโนเนม ที่ขึ้นไปเวทีเพื่อโดนกระทืบ และถูกจับกดนับสาม

เอ็ดดีทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับ แต่สิ่งเขาได้รับกลับมา คือค่าแรงราคาถูก ที่ไม่คู่ควรความสามารถของเขา

สิ่งที่เอ็ดดีต้องพบ คือเรื่องปกติ ที่คนลาตินอเมริกัน ในสหรัฐต้องเผชิญ เพราะถูกมองว่าเป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ไร้ความสามารถ ... ในสังคมอเมริกา พวกเขามองว่า คนลาตินมีหน้าที่แค่ทำงานตามที่สั่ง รับค่าแรงถูกๆกลับบ้าน กลับบ้านไปกินเหล้าเมายา ตื่นมาทำงาน รับค่าแรงราคาถูกในวันรุ่งขึ้น วนลูปไปเรื่อยๆ

ท้ายที่สุด เอ็ดดีล้มเลิกความฝัน กับการปล้ำในสหรัฐฯ หันไปปล้ำเต็มตัวที่ประเทศเม็กซิโก กับสมาคม AAA ด้วยกิมมิคนักมวยปล้ำเม็กซิกัน ที่หันหลังให้กับวิถีรากเหง้าของตัวเอง กลายเป็นคนอเมริกา ที่เหยียดคนเม็กซิกัน ใส่ชุดที่ออกแบบจากธงชาติสหรัฐอเมริกาขึ้นปล้ำ กลายเป็นนักมวยปล้ำอธรรมตัวแสบ

Photo :  luchawiki.org

คาแรคเตอร์นี้ สร้างชื่อให้กับเอ็ดดีอย่างรวดเร็ว เพราะแฟนมวยปล้ำเม็กซิกัน เกลียดเอ็ดดีและคู่แท็กทีมของเขา อย่าง อาร์ต บาร์ อย่างสุดหัวใจ และคาแรคเตอร์นี้ ทำให้เอ็ดดี และ อาร์ต บาร์ กลายเป็นคู่แท็กทีม ที่คนเม็กซิกัน เกลียดมากที่สุดตลอดกาล จวบจนถึงปัจจุบัน

เป็นเรื่องตลกไม่น้อย เมื่อสุดท้ายเอ็ดดี เอาความตลกร้าย ในสังคมอเมริกา ที่มีต่อชาวลาตินอเมริกา มาใช้หากิน จนทำให้เขากลายเป็นนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงในที่สุด ... แต่เอ็ดดีได้แสดงให้เห็นว่า ความเกลียดชัง ความบาดหมาง ระหว่างคนอเมริกันกับเม็กซิกัน มีอยู่จริง และหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

Latino World Order 

ความโด่งดัง ในเม็กซิโก ทำให้ชื่อของเอ็ดดี เกอร์เรโร เป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกา และสมาคมชั้นนำอย่าง WCW และ WWE (WWF ในขณะนั้น) ต่างต้องการตัวเอ็ดดีไปปล้ำ เพื่อเป็นนักมวยปล้ำหัวหอก เจาะตลาดประเทศเม็กซิโก

แต่ เอ็ดดี เกอร์เรโร กลับย้ายไปปล้ำให้กับสมาคมอินดี้ อย่าง ECW เพราะที่นี่อนุญาตให้เอ็ดดีออกแบบคาแรคเตอร์ของตนเอง และคาแรคเตอร์ที่เอ็ดดีต้องการ คือนักมวยปล้ำใส่กางเกงธงชาติสหรัฐฯ เหมือนตอนปล้ำอยู่ที่เม็กซิโก


Photo :  wrestlebloger.files.wordpress.com

สิ่งที่เอ็ดดีไม่ต้องการสมัยเป็นวัยหนุ่ม คือการรับบทเป็นนักมวยปล้ำเม็กซิกันสเตอริโอไทป์ แบบที่คนอเมริกันติดภาพจำ ดังนั้นเขาจึงต้องการไปปล้ำที่ไหนก็ได้ ที่จะไม่ให้เขาออกมาพร้อมธงชาติเม็กซิกัน ทำตัวเป็นคนขี้เมา หรือเป็นพวกแก๊งเม็กซิกันจอมสร้างปัญหา

แม้จะมีอิสระในการปล้ำ แต่สุดท้ายเอ็ดดี ไม่สามารถเอาชนะเงินตราได้ ในเมื่อเขายังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ในสหรัฐฯ เขาจึงรับข้อเสนอรายได้ดี จาก WCW สมาคมมวยปล้ำที่ทำให้เอ็ดดี ต้องมารับบทนักมวยปล้ำ เม็กซิกันสเตอริโอไทป์ ในที่สุด

ตอนแรก WCW ใช้งานเอ็ดดีในฐานะนักมวยปล้ำขายฝีมือ และเริ่มต้นอย่างร้อนแรง ในฐานะแชมป์ WCW US ในปี 1996 แต่ยิ่งเวลาผ่านไป บทบาทของเอ็ดดียิ่งถดถอย ทั้งที่เขาเป็นหนึ่งในนักมวยปล้ำ ที่สร้างแมทช์ชั้นเลิศให้กับสมาคม ร่วมกับเพื่อนๆ นักมวยปล้ำชาวเม็กซิกัน แต่เอ็ดดีและผองเพื่อน กลับเป็นได้แค่คู่เปิดรายการเท่านั้น

ท้ายที่สุด เดือนสิงหาคม ปี 1998 เอ็ดดีอดกลั้นความโกรธของเขาไม่ไหว เขาบุกเข้าไปในห้องของโปรดิวเซอร์ใหญ่ของ WCW นามว่า เอริค บิสชอร์ฟ และต่อว่าบิสชอร์ฟอย่างหนัก เรื่องที่เขาไม่ยอมผลักดันนักมวยปล้ำสายเลือดเม็กซิโก

เหตุการณ์ครั้งนั้น ดันไปจุดไอเดียบางอย่างให้กับบิสชอร์ฟ เขาตัดสินใจสร้างกลุ่มที่ชื่อว่า Latino World Order หรือ LWO ขึ้นมา โดยเป็นกลุ่มที่รวมนักมวยปล้ำเม็กซิโกแทบทุกคน ใน WCW และประกาศสงครามกับนักมวยปล้ำคนอื่น รวมถึงคนดูชาวอเมริกัน โดยมีเอ็ดดีเป็นหัวหน้า


Photo : naciondeportes.com

LWO คือกลุ่มมวยปล้ำที่สร้างคาแรคเตอร์ มาจากภาพสเตอริโอไทป์ ที่ชาวอเมริกันมองชาวเม็กซิกัน อย่างสมบูรณ์ ... ทั้งการรวมตัวเป็นแก๊งของชาวเม็กซิกัน หาเรื่องคนอื่นไปทั่ว พูดภาษาสเปน ใส่เสื้อที่มีลายธงชาติเม็กซิโก แถมแต่งตัวแบบแรงงานเม็กซิกัน ในสหรัฐฯ อีกด้วย

“ถ้าพวกแกไม่พอใจล่ะก็ มาจูบก้นกูซะ” คือคำพูดติดปากของเอ็ดดี และพวกพ้อง LWO ที่จะพูดกับแฟนมวยปล้ำชาวอเมริกันอยู่เสมอ เพื่อสะท้อนคาแรคเตอร์ของคนเม็กซิกัน ที่สนใจแค่พวกพ้อง แต่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับชาวอเมริกัน ผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยชอบธรรม (คนอเมริกันคิดแบบนั้น ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม)

แม้เอ็ดดีจะตัดสินใจเอาด้วยกับความคิดนี้ของบิสชอร์ฟ เพราะอย่างน้อย เขามองว่า LWO จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เขายกระดับตัวเอง รวมถึงเพื่อนนักมวยปล้ำชาวเม็กซิโกด้วย

แต่เขาคิดผิดมหันต์ ... LWO กลายเป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์ ที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์มวยปล้ำ เพราะคนอเมริกันเกลียดคอนเซ็ปต์ กลุ่มของนักมวยปล้ำเม็กซิกันรักพวกพ้องอย่างมาก ที่แย่ไปกว่านั้น แฟนมวยปล้ำ มองว่า LWO คือการรวมตัว ของไอ้พวกนักมวยปล้ำขี้แพ้ชาวเม็กซิกัน

LWO มีอายุอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็ถูกยุบ นักมวยปล้ำในกลุ่มโดนลดระดับเป็นจ็อบเบอร์ ให้เหล่าสตาร์ดังไล่กระทืบทุกสัปดาห์ ขณะที่เอ็ดดีไม่สามารถคว้าเข็มขัดมาครองได้อีก จนกระทั่งเขาออกจาก WCW ไปอยู่กับ WWE ในที่สุด

 

เจ็บปวดกับสิ่งที่ไม่ได้เป็น

เอ็ดดีเริ่มต้นใหม่ ในเดือนมกราคม ปี 2000 กับ WWE โดยคาแรคเตอร์ใหม่ เป็นนักมวยปล้ำพูดน้อยต่อยหนัก ไม่เน้นคุย เน้นกระทืบ ร่วมกับเพื่อนนักมวยปล้ำ ที่ย้ายมาจาก WCW ด้วยกัน เช่น คริส เบนวา (Chris Benoit), ดีน มาเลนโก (Dean Malenko) เป็นต้น


Photo : i.ytimg.com

อย่างไรก็ตาม คาแรคเตอร์ มีอายุอยู่ไม่กี่เดือน เพราะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนดู และเอ็ดดี เกอร์เรโร ต้องเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตัวเองอีกครั้ง เป็นคาแรคเตอร์ ที่สร้างชื่อให้กับเขา ในเวลาต่อมา นั่นคือ Latino Heat (ลาติโน ฮีต)

Latino Heat คือคาแรคเตอร์ หนุ่มเพลย์บอยชาวเม็กซิกัน ดื่มเหล้า ชอบปาร์ตี้ พูดภาษาสเปน ผู้มาพร้อมกับรถย้อนยุคคันใหญ่ แต่งช่วงล่างให้เด้งขึ้นเด้งลงได้ (นิยามการแต่งรถแบบนี้เรียกว่า โลว์ ไรเดอร์) ซึ่งคาแรคเตอร์นี้ คือคาแรคเตอร์ที่ยังคงรวบรวมสเตอริโอไทป์ ที่ชาวอเมริกัน มองคนเม็กซิกันเหมือนเดิม เพียงแค่เป็นเม็กซิกันที่ดูดี มีชาติตระกูล มากกว่าตอนเป็น LWO

คาแรคเตอร์ Latino Heat สร้างความนิยมให้เอ็ดดีอีกครั้ง แฟนมวยปล้ำชื่นชอบเขา เสียอย่างเดียว เอ็ดดีไม่ชอบคาแรคเตอร์นี้ เพราะชีวิตจริงเอ็ดดี เป็นคนที่เงียบขรึม เขาจะไม่พูดจาเฮฮากับใคร ยกเว้นเพื่อนสนิทจริงๆ ของเขา อีกทั้งยังเคร่งศาสนาอีกด้วย

คนหลังฉากรู้ดีว่า เอ็ดดีไม่อยากเป็น Latino Heat สุดท้ายคาแร็คเตอร์นี้อยู่ได้ไม่นาน เอ็ดดีต้องไปรับคาแรคเตอร์อื่น แต่นานวันเข้า กลายเป็นคาแรคเตอร์ของเอ็ดดีไร้ทิศทาง ความเครียมสะสมในตัวเขา และเปลี่ยนให้เอ็ดดี กลายเป็นคนติดเหล้า ติดยา และถูกปล่อยตัวจาก WWE ในปี 2001


Photo : vignette.wikia.nocookie.net

เอ็ดดีเฉียดตายหลายครั้ง จากการเสพยาเกินขนาด หนึ่งในเหตุผลสำคัญ เป็นเพราะว่า เขามีความฝันที่อยากจะประสบความสำเร็จ ในวงการมวยปล้ำ แต่ทุกอย่างไม่เคยเป็นไปตามที่เขาต้องการ เขาไม่เคยได้รับบทบาทที่เขาอยากจะทำ และบทบาทที่จะทำให้เขาเป็นที่นิยม เขาก็ไม่อยากทำ เขาเกลียดที่จะต้องมารับบทเป็นคนเม็กซิกัน พูดตลกด้วยภาษาสเปน 

“เอ็ดดีเสียสละอะไรมากมาย ให้กับวงการนี้ เขามอบชีวิตให้กับมวยปล้ำ ... เขาคือสุดยอดนักมวยปล้ำที่มนุษย์สักคนจะเป็นได้ มันน่าเหลือเชื่อมากที่เขามีความสามารถขนาดนี้” คริส เจอริโกกล่าวถึงเพื่อนสนิทของเขา

เอ็ดดีอยากให้คนจดจำเขา ในฐานะสุดยอดนักมวยปล้ำในสังเวียน มากกว่าจดจำคาแรคเตอร์สนุกสนานของเขา เขาทุ่มเทตัวเองอย่างมาก กับการปล้ำบนเวที แต่เขาไม่เคยได้รับการผลักดัน ด้วยคาแรคเตอร์นี้ เมื่อไม่ประสบความสำเร็จดังใจหวัง เอ็ดดีต้องเจอกับสิ่งที่เรียกว่า นรกทั้งเป็น

“เอ็ดดีสูญเสียทุกอย่าง เขาติดยา ถูกไล่ออกจากงาน มีหนี้ก้อนโตรออยู่ แต่มันก็ทำให้เขารู้ว่า เขาต้องเปลี่ยนตัวเอง ถ้าอยากจะกลับมาในวงการนี้อีกครั้ง” เจอริโก เล่าถึงช่วงเวลาเลวร้าย ที่เอ็ดดีต้องเผชิญ และจะนำมาซึ่งช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของเขา

 

สุดยอดนักมวยปล้ำเชื้อสายลาตินอเมริกา

เอ็ดดี ตั้งใจเข้ารับการบำบัด และเขาเอาชนะ อาการติดเหล้า ติดยา ได้อย่างรวดเร็ว เขาพิสูจน์ตัวเองให้คนในวงการได้เห็นว่า เอ็ดดี เกอร์เรโร สุดยอดนักมวยปล้ำ ได้กลับมาแล้ว ... เดือนเมษายน 2002 เอ็ดดีได้รับการว่าจ้างจาก WWE อีกครั้งหนึ่ง

เอ็ดดีคืนสังเวียนอีกครั้ง กับคาแรคเตอร์ Latino Heat แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ทุกครั้งที่เอ็ดดีปรากฎตัว เขากลายเป็นคนที่มีจิตวิญญาณ ของ Latino Heat อย่างแท้จริง ไม่เหมือนกับสมัยที่เขารับบทบาทนี้ในอดีต


Photo : rumbleramble.com

เอ็ดดีเปลี่ยนความคิดของเขาใหม่ เขาพร้อมรับทุกบทบาท ไม่ว่าเขาจะชอบมันหรือไม่ ต่อให้เป็นคาแรคเตอร์สเตอริโอไทป์ของคนเม็กซิกัน แต่หากเขาทำแล้วคนดูชอบ เขาเต็มใจที่จะรับบทนั้น

ความนิยมจากแฟนมวยปล้ำ พุ่งเข้าหาเอ็ดดีอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเขาจะเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม และเหมือนเอ็ดดีจะจับจุดได้ว่า แฟนมวยปล้ำชอบที่เขาทำตัว เป็นนักมวยปล้ำเม็กซิกันจอมขี้โกง จอมตุกติก ซึ่งเป็นภาพจำที่คนอเมริกัน มีต่อชาวเม็กซิกัน

เอ็ดดีจึงหันไปจับคู่กับหลานชาย ชาโว เกอร์เรโร พร้อมกับประกาศแนวทางการปล้ำ ของพวกเขาทั้งคู่ว่า เราโกหก เราโกง และเราขโมย (We lie, we cheat, and we steal) 

ประโยคนี้ กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจากแฟนมวยปล้ำ นี่คือครั้งแรกที่คนในวงการมวยปล้ำ เอาเรื่องราวด้านลบที่ชัดเจนของชาวเม็กซิกัน มารับบทบาทในวงการมวยปล้ำ แต่พวกเขาทำอย่างเต็มใจ และภูมิใจ ที่จะแสดงมันออกมาให้โลกได้เห็น

บ่อยครั้งที่เอ็ดดีเอาชนะคู่ต่อสู้ ด้วยการตบตากรรมการ (โกหก), ลอบทำร้ายคู่ต่อสู้ หรือเล่นงานคู่ต่อสู้ด้วยอาวุธ (โกง), รวมถึงขโมยของจากนักมวยปล้ำคู่แข่ง เพื่อทำให้พวกเขาเสียสมาธิ (ขโมย)

เมื่อคาแรคเตอร์นี้ ทำให้เอ็ดดีและชาโว ประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์แท็กทีม ความนิยมของเอ็ดดียิ่งเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในหมู่แฟนมวยปล้ำเชื้อสายลาตินอเมริกัน


Photo : cdn3.whatculture.com

WON นิตยสารมวยปล้ำชื่อดัง เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2003-2005 กระแสนิยมของเอ็ดดีดังสุดขีด ในหมู่แฟนมวยปล้ำ และเขาได้รับเลือกจาก WON ให้เป็นนักมวยปล้ำ ที่เรียกคนดูเข้าสนามได้มากที่สุด ในปี 2004 

จนมีคำกล่าวว่า เอ็ดดี เกอร์เรโร คือนักมวยปล้ำลาตินอเมริกัน ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ ของวงการมวยปล้ำ 

ความนิยมล้นหลาม ส่งผลให้เอ็ดดีประสบความสำเร็จ บนสังเวียนมวยปล้ำ ทั้งในฐานะแชมป์ United States คนแรกของ WWE และก้าวไปคว้าแชมป์โลก WWE ในปี 2004 

ช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งของเอ็ดดี คือการป้องกันแชมป์โลก WWE ในศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการมวยปล้ำเรสเซิลมาเนีย ครั้งที่ 20 กับเคิร์ท แองเกิล นักมวยปล้ำที่รับบทเป็นอเมริกันฮีโร จิตวิญญาณของชาวอเมริกัน 

การปะทะกันระหว่าง ไอ้ขี้โกงเม็กซิกัน (สเตอริโอไทป์ที่คนอเมริกัน มองชาวเม็กซิกัน) เจอกับ นักมวยปล้ำอเมริกันฮีโรผู้หยิ่งยโส (สเตอริโอไทป์ที่คนทั่วโลก มองชาวอเมริกัน) ก่อนที่ผลลัพธ์ของแมทช์ จะจบลงด้วยการใช้ลูกตุกติกของเอ็ดดี จับแองเกิลกดนับ 3 ป้องกันแชมป์โลก ในอีเวนต์มวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกได้สำเร็จ


Photo : s2.dmcdn.net

ณ ช่วงเวลานั้น เอ็ดดียืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกมวยปล้ำ ท่ามกลางการเห็นพ้องต้องกันของแฟนมวยปล้ำทั่วโลก ว่านี่คือสิ่งที่เอ็ดดีควรได้รับ ... ในอีกแง่หนึ่ง นี่คือครั้งแรก ที่นักมวยปล้ำเชื้อสายเม็กซิกัน ได้รับการยอมรับจากวงการมวยปล้ำสหรัฐอเมริกา

แม้เอ็ดดี จะต้องจากโลกใบนี้ไปอย่างรวดเร็ว ในเดือนตุลาคม ปี 2005 ด้วยวัยเพียง 39 ปี แต่สิ่งที่เขาฝากไว้กับวงการมวยปล้ำ ทั้งความสนุก ความสุข ความตลก ยังคงอยู่ในใจของแฟนมวยปล้ำ ไม่รู้ลืม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook