เกลียดข้ามทศวรรษ : เหตุใด "ไอเซย์ โธมัส" ถึงเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของ "ไมเคิล จอร์แดน"

เกลียดข้ามทศวรรษ : เหตุใด "ไอเซย์ โธมัส" ถึงเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของ "ไมเคิล จอร์แดน"

เกลียดข้ามทศวรรษ : เหตุใด "ไอเซย์ โธมัส" ถึงเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของ "ไมเคิล จอร์แดน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แหวนแชมป์ NBA 6 วง, MVP รอบชิงชนะเลิศ 6 สมัย, MVP ฤดูกาลปกติ 5 สมัย, ติดทีมออลสตาร์ 14 ครั้ง, แชมป์สแลมดังค์ 2 ครั้ง, เหรียญทองโอลิมปิก 2 เหรียญ และสถิติที่เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา 15 ฤดูกาลที่โลดแล่นในบาสเกตบอลอาชีพ คงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีเกินพอว่า ไมเคิล จอร์แดน คือตำนานแห่งวงการแม่นห่วง ที่หลายคนยกให้เขานั้นเป็น "G.O.A.T." หรือ "ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล"

อย่างไรก็ตาม ทุกเส้นทางการสร้างความยิ่งใหญ่ของใครสักคน คงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยไม่สร้างศัตรูไว้ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มีความแค้นเคืองกันจริงหรือคนอื่นปั้นให้ และด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ตำนานเบอร์ 23 ของ ชิคาโก บูลส์ มีคู่อริในวงการแม่นห่วงเป็นจำนวนไม่น้อย

แต่คงไม่มีศัตรูคนไหนของ MJ ที่เป็นอริกันมายาวนานกว่า ไอเซย์ โธมัส อีกแล้ว

เหตุจากความอิจฉา?

หากเทียบรุ่นกันแล้ว ไอเซย์ โธมัส (Isiah Thomas) การ์ดจ่ายระดับตำนานของ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ถือเป็นรุ่นพี่ของ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) อยู่ 3 ปี (ไอเซย์เข้า NBA ปี 1981 ส่วนจอร์แดนเข้าปี 1984) แถมยังติดทีมออลสตาร์ในฐานะตัวจริงได้ตั้งแต่ปีรุกกี้ทั้งคู่อีกด้วย

มีตำนานเล่าขานว่า ความอิจฉาในชื่อเสียงที่โด่งดังเสียยิ่งกว่าตัวของจอร์แดนแม้จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ทำให้ไอเซย์สั่งสมไฟแค้นที่มีในตัว ก่อนจะปะทุออกมาในเกมออลสตาร์ปี 1985 ซึ่งเป็นเกมออลสตาร์ครั้งแรกของจอร์แดน ด้วยการเป็นตัวหลักที่รวมหัว "แช่แข็ง" จอร์แดนไม่ให้เล่นออกในเกมนั้น ไม่ส่งบอลให้ ไม่ประสานงานใดๆ ทั้งสิ้น จนทำให้ MJ ฟอร์มดับอนาถ ชู้ตลง 2 จาก 9 ครั้ง ทำได้เพียง 7 คะแนนในเกมดังกล่าว

1

ซึ่งแม้ตัวไอเซย์เองจะเคยออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่นเมื่อปี 2001 ว่า "เรื่องดังกล่าว (หมายถึงการตั้งใจทำให้จอร์แดนเสียหน้าในเกมออลสตาร์) ไม่เคยเกิดขึ้น" แต่ แบรด เซลเลอร์ส (Brad Sellers) หนึ่งในนักบาสเกตบอลที่เคยเป็นเพื่อนร่วมทีมทั้งกับ MJ และโธมัส กลับชี้ว่า ความอิจฉาที่ไอเซย์มีต่อจอร์แดนนั้น คือความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย

"เราต่างก็เคยได้ยินถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมออลสตาร์ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น คือไอเซย์เป็นคนชิคาโก (เจ้าตัวเกิดและเติบโตที่เมืองนี้) อีกทั้งยังทำงานอย่างหนักจนกลายเป็นผู้เล่นชั้นนำที่เปรียบเหมือนตัวแทนของเมืองนี้ แต่จู่ๆ ไมเคิลก็เข้ามาทำลายสิ่งนั้นไปอย่างสิ้นซาก"

"มันมีความอิจฉาอยู่จริง และถ้าคุณลงลึกในเรื่องนี้ มันมีเรื่องศักดิ์ศรีอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งผมก็จินตนาการแทนซีค (ชื่อที่เซลเลอร์สเรียกไอเซย์) ไม่ออกเหมือนกันว่าจะรู้สึกอย่างไร ที่จู่ๆ ก็มีคนนอก (จอร์แดนเกิดที่มหานครนิวยอร์ก โตในรัฐนอร์ธแคโรไลนา) เข้ามา แล้วคนทั้งเมืองก็หนุนหลังสุดตัวจนไม่มีความรักเหลือให้ไอเซย์อีกเลย ก็คงมีแค่คนในครอบครัวเท่านั้นแหละมั้งที่ยังรักเขา"

2

และจากปากคำของ จอห์น ซัลลีย์ (John Salley) อดีตสมาชิกทีมพิสตันส์รุ่นเดียวกับไอเซย์.. บางที แม้แต่คนในครอบครัวก็ยังไม่รักเพื่อนของเขาคนนี้ด้วย

"มีอยู่ครั้งหนึ่ง ไอเซย์กลับบ้าน แล้วไปเจอลูกพี่ลูกน้องที่ใส่เสื้อแข่งทีมบูลส์ของจอร์แดน ซึ่งนั่นทำให้เจ้าตัวโกรธมาก เพราะญาติของเขาเป็นยอดผู้เล่นใน NBA แท้ๆ แต่คนบ้านเดียวกันกลับไม่ยอมซื้อเสื้อของเขา"

Jordan Rules

ไม่ว่ามูลเหตุของความไม่ชอบหน้าจะมาจากไหน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความชังที่มีให้กันนั้น ได้ลามไปถึงเรื่องในสนามด้วย

อันที่จริงหากตัดเรื่องส่วนตัวออกไป โอกาสที่จอร์แดนกับไอเซย์จะกลายเป็นคู่ปรับต่อกันก็มีมากอยู่แล้ว เนื่องจาก ชิคาโก บูลส์ และ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ต้นสังกัดของทั้งสองอยู่ในกลุ่มเซ็นทรัล สายตะวันออกเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า อย่างน้อยๆ คู่นี้ก็ต้องเจอกัน 4 ครั้งในฤดูกาลปกติ (NBA วางโปรแกรมให้ทีมในกลุ่มเดียวกันต้องเจอกันแบบ เหย้า 2 เยือน 2) อยู่แล้ว ยิ่งหากเข้ารอบเพลย์ออฟได้ ก็ต้องเจอกันอีก

3

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ทำให้ความเกลียดชังลุกลามยิ่งขึ้น นั่นคือสไตล์การเล่นของไอเซย์และผองเพื่อนนั่นเอง

ในช่วงปลายยุค 1980's ดีทรอยต์ พิสตันส์ ภายใต้การคุมทีมของ ชัค เดลีย์ (Chuck Daly) สร้างชื่อและผลงานโดดเด่นด้วยรูปแบบการเล่นที่ไม่มีใครหน้าไหนคิดจะเลียนแบบ นั่นคือเน้นความดุดัน ลูกตุกติกต่างๆ นานา แม้จะทำให้คู่แข่งบาดเจ็บก็ไม่แคร์ ทำให้พวกเขาได้รับฉายา "Bad Boys".. และ ไอเซย์ โธมัส คือหนึ่งผู้เล่นคนสำคัญของทีมชุดดังกล่าว

แน่นอนว่า ด้วยความที่ต้องเจอกันบ่อย ไมเคิล จอร์แดน จึงเป็นอีกหนึ่งศัตรูที่ทีมพิสตันส์ทั้งทีมหมายหัวว่าต้องจัดการ ซึ่ง ชัค เดลีย์ ถึงกับทำแนวทางการเล่นไว้รับมือสตาร์ผู้นี้โดยเฉพาะในชื่อ "Jordan Rules" โดยยอดโค้ชผู้นี้ได้อธิบายไว้ว่า

"ถ้าไมเคิลอยู่ในจุดที่มีโอกาสทำแต้ม เราต้องบีบให้เขาไปทางซ้ายและจัดการดับเบิลทีม (ให้ผู้เล่น 2 คน ประกบจอร์แดน) ใส่เขา หากเขาอยู่ทางฝั่งซ้าย รีบเข้าไปดับเบิลทีมทันที ถ้าอยู่ฝั่งขวา ให้ค่อยๆ ดับเบิลทีม และถ้าอยู่ในพื้นที่กรอบ ให้ผู้เล่นตัวใหญ่ไปดับเบิลทีมใส่ อีกเรื่องที่สำคัญ คือถ้าหมอนั่นอยู่ในวิถีของคุณ จัดการมันซะ ถ้าหลุดมาจากการสกรีน เก็บมันได้เลย จำไว้ เราไม่ต้องการเล่นหนัก ถึงหลายคนจะคิดแบบนั้นก็ตาม แต่เราต้องเข้าไปปะทะ และใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายจัดการมันซะ"

4

ฟังแล้วอาจจะเข้าใจยากไปสักหน่อย เรามีเวอร์ชั่นเข้าใจง่ายๆ โดย เดนนิส ร็อดแมน (Dennis Rodman) อีกหนึ่งคนที่เคยเล่นร่วมกับทั้งไอเซย์และจอร์แดน ซึ่งเล่าถึงสิ่งที่ ชัค เดลีย์ สอนเขาและเพื่อนร่วมทีมพิสตันส์ว่า

"Jordan Rules มีดังนี้ : ทุกครั้งที่หมอนั่นมันพยายามจะเข้ามายัดห่วงใส่เรา อัดมันให้ร่วง อย่าให้มันดังค์หรือทำอะไรได้ เราจะอัดมันและมันต้องร่วงไปนอนบนพื้น พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องใช้ร่างกายของเราทำให้ไมเคิลเจ็บให้ได้"

สไตล์การเล่นสุดโหดดังที่ได้กล่าวมา คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ ดีทรอยต์ พิสตันส์ เอาชนะ ชิคาโก บูลส์ ในรอบเพลย์ออฟได้ 3 ปีซ้อน ระหว่างปี 1988-1990 แถมยังคว้าแชมป์ NBA ได้ 2 ปีติด ในปี 1989 กับ 1990 อีกด้วย

แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบ คนอย่าง ไมเคิล จอร์แดน ไม่มีทางอยู่เฉยแน่.. ปกติแล้ว MJ จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเล่นเวตเทรนนิ่งนัก เพราะเขากลัวว่ามวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น จะทำให้สูญเสียสัมผัสและความแม่นยำในการชู้ตลูกไป ทว่าหลังเจอกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จอร์แดนตัดสินใจจ้าง ทิม โกรเวอร์ (Tim Grover) มาเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัว และเข้าคอร์สเพิ่มกล้ามเนื้อถึง 15 ปอนด์ หรือราว 7 กิโลกรัม ในช่วงซัมเมอร์ปี 1990 โดยเขาให้เหตุผลถึงการตัดสินใจดังกล่าวว่า "หลังจากถูกอัดเสียน่วมมานาน มันถึงเวลาที่ผมต้องตอบโต้บ้างแล้ว"

5

ผลลัพธ์ที่ออกมา ถือว่ายิ่งกว่าคุ้มค่า เพราะในรอบเพลย์ออฟปี 1991 บูลส์ ก็สามารถเอาชนะ พิสตันส์ ได้สำเร็จ แถมเป็นการชนะแบบ "กวาด" ซีรี่ส์ 4 เกมรวด ทำเอาเหล่าผู้เล่นทีมคู่ปรับถึงกับเสียเส้น ไม่ยอมจับมือหลังจบเกมสุดท้ายในศึกชิงแชมป์สายตะวันออก ก่อนที่จะก้าวไปคว้าแชมป์ NBA พร้อมต่อยอดสู่การสร้าง Dynasty กับแชมป์ 3 สมัยซ้อน ระหว่างปี 1991-1993

และแม้จอร์แดนจะก้าวข้ามไอเซย์ รวมถึง ดีทรอยต์ พิสตันส์ ได้แบบหมดจด แต่ความบอบช้ำที่เหล่า Bad Boys ได้ฝากไว้ ยังคงอยู่ในความทรงจำกระทั่งทุกวันนี้

"ผมเกลียดพวกเขา ที่สำคัญคือ ความเกลียดชังนั้นยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้"

ความจริงของ 'Dream Team'?

6

ความเกลียดชังระหว่าง ไมเคิล จอร์แดน กับ ไอเซย์ โธมัส อาจจะคงอยู่มาอย่างยาวนาน แต่คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่รุนแรงที่สุดเท่ากับเหตุการณ์ใน "Dream Team" อีกแล้ว

โอลิมปิก 1992 ที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน คือครั้งแรกที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC รวมถึง สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ หรือ FIBA อนุญาตให้ผู้เล่นใน NBA สามารถลงแข่งได้ คณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐอเมริกาจึงเรียกรวมพลสตาร์ดังอย่างเต็มสูบ เพื่อหวังคว้าเหรียญทองล้างอายจากเมื่อ 4 ปีก่อนซึ่งคว้าเพียงเหรียญทองแดงให้ได้

แน่นอนว่า ไมเคิล จอร์แดน คือผู้เล่นคนแรกที่ถูกเรียกมาติดทีม ก่อนที่สตาร์คนอื่นๆ จะตามมาเป็นพรวน แม้แต่ แมจิค จอห์นสัน ที่ขณะนั้นได้ประกาศเลิกเล่นหลังตรวจพบเชื้อ HIV ยังมีชื่อ กระทั่งดราม่าก็บังเกิดเมื่อ ไอเซย์ โธมัส สตาร์เบอร์ต้นๆ ของลีก ไม่มีชื่อในทีมชุดนี้

7

"การไม่มีชื่อในดรีมทีม มันทำให้ผมเจ็บปวดสุดๆ เหมือนเป็นหลุมขนาดใหญ่ในประวัติการเป็นนักบาสเกตบอลของผม" ไอเซย์เผยถึงเรื่องราวในเวลานั้น "ตอนที่รายชื่อผู้เล่นถูกประกาศ แต่ผมไม่มีชื่ออยู่ในนั้น มันมีเรื่องราวของความขัดแย้งมากมาย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ หรือทำไมผมถึงไม่มีชื่อ เท่าที่รู้คือ ผมรู้ว่ากฎเกณฑ์เป็นอย่างไร และผมก็ผ่านหมดทุกข้อ แต่ถ้าผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมเพราะเสี้ยวหนึ่งในอารมณ์ที่ผมไม่ยอมจับมือใครสักคน ผมคิดว่าคงโกรธเกลียดเรื่องดังกล่าวในตอนนี้ยิ่งกว่าเวลานั้นเสียอีก"

ไม่ต้องสงสัย ทุกสายตาจ้องไปที่ ไมเคิล จอร์แดน ทันทีว่า เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ไอเซย์ไม่มีชื่อในทีม โดยในหนังสือ Dream Team ที่เขียนโดย แจ็ค แม็คคัลลัม (Jack McCallum) ได้อ้างอิงคำพูดของ ไมเคิล จอร์แดน ที่พูดกับ ร็อด ธอร์น (Rod Thorn) สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐอเมริกาว่า "ผมจะไม่เล่น ถ้า ไอเซย์ โธมัส มีชื่อในทีม" ทว่าธอร์นก็ได้ปฏิเสธในเวลาต่อมา โดยย้ำว่า "ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่อง ไอเซย์ โธมัส ในการสนทนากับจอร์แดนเลย"

8

แล้ว ไมเคิล จอร์แดน พูดถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไร? น่าแปลกที่แม้จะถูกกล่าวหาเช่นนั้น แถมยังมีกรณีพิพาทในสนามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ใครจะเชื่อว่า ความเคารพที่เขามีต่อไอเซย์นั้นสูงกว่าที่หลายๆ คนคิดมากทีเดียว

"ผมยอมรับในความสามารถของ ไอเซย์ โธมัส มากๆ เลยนะ สำหรับผมแล้ว สุดยอดการ์ดจ่ายอันดับ 1 ตลอดกาล คือ แมจิค จอห์นสัน และถัดมา ก็คือ ไอเซย์ โธมัส ไม่ว่าผมจะเกลียดเขาขนาดไหน แต่ผมก็นับถือฝีมือของเขา และถึงหลายคนมองว่าผมทำให้เขาไม่มีชื่อในดรีมทีม แต่ผมไม่เคยพูดเกี่ยวกับเขาในเรื่องนั้นเลย"

และที่น่าแปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ ขนาด ไอเซย์ โธมัส เอง ยังแทบไม่เชื่อในความเกลียดชังที่จอร์แดนมีต่อเขา

"ผมประหลาดใจจริงๆ นะที่เขาโกรธและเกลียดผมขนาดนั้น เพราะผมไม่เคยประสบกับเรื่องดังกล่าวเลย เชื่อหรือเปล่าว่าลูกชายของผมมีทั้งรองเท้าของ ไมเคิล จอร์แดน รวมถึงเสื้อแข่งของเขาทั้งกับทีมบูลส์และทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญ ผมซื้อให้ลูกเองกับมือ"

หากฟังจากปากของ ไอเซย์ โธมัส ดูเหมือนว่า เขาไม่เคยโกรธหรือเกลียด ไมเคิล จอร์แดน เลยแม้แต่น้อย เพราะหากคิดง่ายๆ คนเกลียดกันจะยอมซื้อเสื้อของคนที่เกลียดได้ลงคอจริงหรือ

แต่สำหรับคนที่ถูกกระทำอย่างจอร์แดน ความเกลียดชังที่ยาวนานข้ามทศวรรษ หากพิจารณาก็ดูสมเหตุสมผล เพราะต้องไม่ลืมด้วยว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ไอเซย์ก็ได้สร้างศัตรูที่เป็นเพื่อนร่วมวงการบาสเกตบอลมากมาย หนึ่งในนั้น คือ สก็อตตี้ พิพเพ่น (Scottie Pippen) เพื่อนร่วมทีมบูลส์ ที่แสดงความเกลียดชังออกมาอย่างชัดแจ้งเช่นกัน

9

"ผมนี่โคตรขยะแขยงรูปแบบการเล่นของเขาเลย ไอเซย์เป็นเหมือนจอมทัพในสนาม เขาคือคนที่จะคอยหวดเพื่อนร่วมทีมทุกคนแล้วบอกว่า 'ทำยังไงก็ได้ เตะก้นพวกเขาให้ยับไปเลย' แน่นอน ผมไม่ต้องการให้เขาอยู่ในดรีมทีม"

ซึ่งแม้แต่ตัวของจอร์แดนเองก็ยอมรับว่า แม้ไอเซย์จะเป็นหนึ่งยอดฝีมือแห่งวงการบาสเกตบอลก็ตาม แต่สิ่งที่เจ้าตัวทำมาตลอดอาชีพ มันได้สร้างความเกลียดชังขึ้นในใจผู้คนอย่างมากมาย 

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย บางทีการตัดเนื้อร้ายออกไป คงเป็นการดีที่สุดแล้ว..

"ดรีมทีมนั้นเป็นทีมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยบรรยากาศความใกล้ชิด และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้น มันนำมาซึ่งความสามัคคีที่ดีที่สุดแล้ว" จอร์แดนเผย 

"แต่หากไอเซย์อยู่ในทีม มันจะทำให้ความรู้สึกต่างๆ เพี้ยนไปจากนี้หรือไม่? แน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย"

10

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ เกลียดข้ามทศวรรษ : เหตุใด "ไอเซย์ โธมัส" ถึงเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของ "ไมเคิล จอร์แดน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook