“หมู ปากน้ำ” ในวันอกหักจากอังกฤษและสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก “กุนเชียง”

“หมู ปากน้ำ” ในวันอกหักจากอังกฤษและสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก “กุนเชียง”

“หมู ปากน้ำ” ในวันอกหักจากอังกฤษและสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก “กุนเชียง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเทศอังกฤษ คือดินแดนที่นักสนุกเกอร์อาชีพทั่วโลก ต่างใฝ่ฝันอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นและแข่งขันล่าเงินรางวัลในรายการระดับเมเจอร์

การออกไปเล่นสนุกเกอร์อาชีพที่อังกฤษ แค่ความสามารถอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ “เงินทอง” เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับต้นทุนในการต่อยอดความฝัน 

นพพล แสงคำ นักสนุกเกอร์วัย 28 ปี มือวางอันดับ 42 ของโลก สูญเงินหลักแสนในชั่วพริบตา ภายหลังจากที่สมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์อาชีพโลก (WPBSA) และเวิลด์สนุกเกอร์ทัวร์ (WST) ประกาศเลื่อนการแข่งขันออกไปอย่างไม่มีกำหนด และทำให้เขาต้องรีบเดินทางจากอังกฤษกลับประเทศไทยแบบมือเปล่าทันที 

ในวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เขามองหาโอกาส ด้วยตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาตลอดชีวิต นั่นคือ การขายอาหาร เพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง 

จากนักสนุกเกอร์ที่แข่งรายการระดับโลก เขากลายร่างมาเป็น พ่อค้าขายกุนเชียง ภายใต้แบรนด์ “หมูน้อย ร้อยร้าน (Moonoi100Shop)” ซึ่งเขาบอกกับเราว่า ประสบการณ์ในวันที่ต้องมาแพ็คกุนเชียงส่งให้ลูกค้านั้น 

...ทำให้เขาได้เรียนรู้ และเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น กว่าที่เคยเป็นมา ตลอดเส้นทางนักสอยคิวอาชีพ

การได้เล่นอาชีพที่อังกฤษ ถือว่าเป็นความฝันของคุณหรือเปล่า ? 

ผมว่านักสนุกเกอร์ทั่วโลก ทุกคนใฝ่ฝันอยากจะเทิร์นโปร และใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ ผมเองก็มีความฝันมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มหัดเล่นสนุ๊กฯ ตอนอายุ 14 ปีว่า อยากจะไปอยู่ในโทรทัศน์ อยากเล่นอาชีพ เหมือนอย่าง อาต๋อง ศิษย์ฉ่อย (รัชพล ภู่โอมอ้อม) 

พออายุ 15 ปี ผมได้เข้าไปเก็บตัวเป็นเยาวชนทีมชาติ ตอนอายุ 17 ปี ผมได้แชมป์เยาวชนโลก ทำให้ได้สิทธิ์เทิร์นโปรเป็นครั้งแรก โดยสิทธิ์ในการเป็นโปร จะมีระยะเวลาอยู่ที่ 2 ปี แต่เงื่อนไขช่วง 2 ปีนี้ ผมต้องทำอันดับให้ติด 1-64 ของโลกให้ได้ ถ้าหลุดจากนี้ จะหมดสิทธิ์ในการเป็นโปร 

ครั้งแรกสุขสมหวังไหม ? 

ปีแรกผมไปอยู่ที่อังกฤษหลายเดือน อยู่กับ อาต๋องนี่แหละครับ เพราะผมพูดภาษาไม่ค่อยได้ มีอะไรก็ให้ อาต๋องช่วยตลอด ช่วงนั้นผมซ้อมเยอะมาก วันละ 12 ชั่วโมง แต่ผลงานออกมาไม่ดีเลย ผมจบอันดับเกือบบ๊วย ได้อันดับ 95 จาก 96 คน 

ผมร้องไห้อยู่ประมาณ 3 เดือน เสียใจมาก ได้แต่ถามตัวเองว่า ทำไมเวลาแข่งถึงไม่สามารถทำได้เหมือนตอนซ้อม ผมแข่งไป มือสั่นไป ใจสั่น ตาเบลอ แพ้ทีหนึ่ง 5-0, 6-0, 9-0 มันไม่ไหวจริงๆ 

ผมกลับมาอยู่เมืองไทยตอนอายุ 19 ปี เล่นให้ทีมชาติไทย ก่อนได้กลับไปเทิร์นโปรใหม่ ตอนอายุ 21 ปี หลังจากได้แชมป์เยาวชนเอเชีย แต่ก็มีปัญหาการเงินมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปัญหานักสนุ๊กฯ ไทย แทบทุกคนเจอเหมือนกันหมด 

ผมคิดว่ามีนักสนุ๊กฯ ไทย ที่เก่งๆ อีกหลายคน ที่สามารถเล่นระดับโลกได้ แต่บางคนถึงเลือกที่จะอยู่เมืองไทย เล่นทัวร์นาเมนต์ภายในประเทศ เพราะค่าใช้จ่ายในการจะไปอยู่ที่อังกฤษ ปีหนึ่งต้องใช้เงินประมาณ 1.5 ล้านบาท

เท่ากับว่าเราเสียเงินเป็นแสนต่อเดือน การอยู่ในไทย เล่นทัวร์นาเมนต์ทั่วไป น่าจะคุ้มกว่า ถ้าไปอังกฤษแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้เงินกลับมาเท่าไหร่ พอชนะก็ต้องหัก 22 เปอร์เซนต์ ไหนจะค่าที่พัก ค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ที่เราต้องใช้จ่ายเวลาอยู่ต่างประเทศ

ฝ่าฟันปัญหาพวกนี้ได้อย่างไร ?

มันก็ลำบากนะ ถ้าเล่นอาชีพโดยไม่มีผู้สนับสนุน ผมเคยเกือบจะเลิกเหมือนนะ มันเคยมีเคสของ นักสนุ๊กฯจีน จากเป็นลูกคนมีตังค์ ฐานะร่ำรวย ต้องขายบ้านสามหลังมาเป็นทุน เพราะว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จเป็นเวลาหลายปี จนสุดท้ายต้องเลิกเล่น และไปขับแท็กซี่

อย่างพี่เอฟ นครนายก (เทพไชยา อุ่นหนู) เขายิ่งกว่าผมอีก ปีก่อนที่จะได้แชมป์ Shoot Out! เขาไม่มีสปอนเซอร์เลย แถมลูกของพี่เอฟ เรียนที่อังกฤษด้วย ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเยอะมาก ในขณะที่เงินรางวัลจากการแข่งขัน แข่งชนะแล้ว ไม่ใช่ได้เงินทันทีนะครับ ต้องรอ 2 เดือนกว่ามีการเบิกจ่าย 

ผมเคยถามตัวเองนะว่าไหวไหม ? อยากเลิกไหม ? เพราะยิ่งแทงยิ่งกดดัน ยิ่งมีค่าใช้จ่าย มันมีความเสี่ยงสูง พูดตรงๆ ตัวผมเองไม่ได้มีฝีมือเก่งเท่าไหร่ ในสายตาคนที่เมืองไทย หลังจากได้แสงโสมเป็นสปอนเซอร์ในปีแรก ผมก็ไม่มีสปอนเซอร์อีกเลย เขาดูทรงแล้ว เราน่าจะไม่ติดท็อป 64 

จนกระทั่งตอนอายุ 22 ปี ผมมาได้ HI-END Snooker Club เป็นผู้สนับสนุนให้ผมต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว ผลงานก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเม็ดเงินอาจไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่มันสูงมาก 

อย่างน้อยเงินจากสปอนเซอร์ ก็ช่วยเติมทุนให้เราพอได้วัด ได้สู้อีกสักตั้งหนึ่ง บวกกับตัวผมเอง เลือกสมัครลงแข่งรายการที่เมืองไทยหมดเลย เพื่อเอาเงินรางวัล มาเป็นทุนให้ได้แข่งที่นี่ ถ้ามีรายการที่ไทย ผมก็จะบินกลับมาแข่ง แข่งจบก็กลับอังกฤษ

ปีที่แล้วคุณทำแมกซิมั่มเบรก (ไม้เดียว 147 แต้ม) ใส่ มาร์ก เซลบี้ มือ 1 ของโลก ปีนี้ก่อนหน้าจะเจอโควิด-19 ตั้งเป้ากับตัวเองไว้ขนาดไหน ? 

ผมอยากติดท็อป 16 ปีที่แล้วมันมีทั้งช่วงที่ฟอร์มดี และช่วงที่ฟอร์มตกนานหลายเดือน ทำให้อันดับตกลงไปอยู่ที่ 40 กว่า และการจะติดอันดับท็อป 16 เป็นไปได้ยาก 

พอเข้าปีใหม่ (2563) ก่อนจะมาเจอโควิด ผมเข้ารอบ 32 คนสุดท้าย 3 รายการติด เจอ นีล โรเบิร์ตสัน ก็สามารถเบียดกับเขาได้ กลับมาแข่งรายการที่ไทย เมื่อวันที่ 1-7 มีนาคม จากนั้นบินไปอังกฤษในวันที่ 8 มีนาฯ เพื่อเตรียมตัวสำหรับแข่งรอบคัดเลือก ชิงแชมป์โลก 2020

ตอนนั้นมีหวั่นใจไหมครับว่า สนุกเกอร์จะต้องหยุดทำการแข่งขัน ?

ไม่เลยนะครับ ผมอยู่ที่อังกฤษมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว จนถึงต้นเดือนมีนาคม ไม่ได้กลับบ้านเลย ช่วงที่มีการแพร่ระบาดที่ จีน ตอนเดือนธันวาคม คนที่อังกฤษไม่ได้รู้สึกกลัวเลย ใช้ชีวิตกันปกติมาก จนเข้าช่วงเดือนมีนาคม 

หลังจากที่ผมกลับมาจากไทย ก็เริ่มมีผู้ติดเชื้อ แต่ที่นี่เขายังใช้ชีวิตกันปกติเลย และมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ ไม่ใส่แมสก์ เขามีความเชื่อว่า คนใส่แมสก์คือพวกที่มีเชื้อโรค ผมจึงไม่กล้าใส่แมสก์ออกไปข้างหน้า เพราะกลัวถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ดี 

ส่วนเรื่องการแข่งขัน ผมไม่คิดว่ามันจะถูกเลื่อนออกไป คิดว่าอย่างมาก คงแข่งแบบสนามปิด ผมก็ซ้อมสนุกเกอร์ตามปกติ แต่เริ่มเห็นว่า เพื่อนนักสนุ๊กฯชาวจีน ไม่ยอมมาซ้อมที่คลับ จองตั๋วกลับประเทศกันแล้ว 

ตอนนั้นยังไม่ได้มีการประกาศเลื่อนการแข่งขันออกมาเลยนะ แต่เพื่อนคนจีนเขามั่นใจว่า สถานการณ์ที่อังกฤษจะควบคุมไม่อยู่ และการแข่งขันจะถูกเลื่อนอย่างแน่นอน 

ตอนนั้นที่อังกฤษ ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มทะยานเข้าหลักหมื่นแล้ว แต่คนภายนอกก็ยังไม่ได้ตื่นตระหนก ไม่เหมือนที่เมืองไทย ที่คนใส่แมสก์กันตลอด มีครั้งหนึ่งผมเห็น ฝรั่งเจอคนเอเชียใส่แมสก์ อยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ฝรั่งคนนั้นดันไปแกล้งไอจามใส่คนเอเชียอีก 

ระหว่างที่อยู่อังกฤษ ผมพยายามเลี่ยงการออกไปสถานที่ ที่มีคนจำนวนมาก เวลาเดินผ่านคน ก็จะใช้มือปิดจมูก แล้วรีบวิ่งผ่านไป 

สถานการณ์ในอังกฤษมาถึงจุดไหนที่ต้องกลับเมืองไทย ? 

ผมอยู่ดูสถานการณ์ จนช่วงเช้าวันที่ 20 มีนาคมฯ ผมได้รับการยืนยันที่ค่อนข้างชัวร์ว่า จะมีการเลื่อนการแข่งขันออกไปอย่างไม่มีกำหนด และรัฐบาลไทยเตรียมออกมาตรการให้คนที่เดินทางมาจากอังกฤษ ต้องมีใบรับรองแพทย์ ผมก็มึนเลย เพราะยังไม่รู้ว่าจะไปคุยกับหมอยังไง

ผมจองตั๋วเครื่องบินด่วนกลับไทยเลย ได้ไฟลท์กลับประมาณ 2 ทุ่ม วันนั้นความจริงผมมีแผน ที่จะไปจัดการเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษีโรงเรือน เพื่อให้เขาเปลี่ยนมาเป็นส่งบิลทางออนไลน์ เพราะผมเพิ่งย้ายห้องมาอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 1-2 เดือน แต่ก็ไม่ได้ทำสักอย่าง ไม่รู้ว่าตอนนี้โดนตัดไฟไปยัง (หัวเราะ)

พอกลับมาถึงเมืองไทย คุณคิดหรือวางแผนจะทำอะไรต่อจากนี้ 

ตั้งแต่หัดเล่นสนุ๊กฯ จนถึงตอนนี้ ผมไม่เคยหยุดซ้อมเกิน 2 วัน ชีวิตปกติของผมคือการออกบ้านไปซ้อม ไม่มีหยุด พอมาถึงเมืองไทย ผมต้องโดนกักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน ออกไปไหนไม่ได้ ซ้อมสนุ๊กฯ ไม่ได้ 

ผ่านไปแค่ 2 วัน ผมรู้สึกเบื่อมากๆ ถ้าต้องอยู่แบบนี้สักเดือนหนึ่ง โดยไม่ได้ทำอะไรเลย ผมอยู่ไม่ได้แน่ๆ ผมจึงคิดว่าต้องหาอะไรมาขาย เพื่อให้เกิดรายได้ ไม่ต้องถึงขั้นรวย แค่ให้พอมีกินมีอยู่ช่วงนี้ก็พอ ความจริงผมมีเงินเก็บอยู่จำนวนหนึ่งนะ แต่ไม่อยากใช้เงินส่วนนี้

ทำไมต้องถึงเลือกกุนเชียง ?

ผมเลือกจากสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมมาลิสต์ดู มีอะไรบ้าง มันก็หลายอย่างเลยที่ชอบ เช่น กาแฟ, อาหารหลายเมนู แต่ผมเลือก กุนเชียง เพราะผมชอบกินกุนเชียง สามารถกินได้ทุกมื้อ แถมกุนเชียงเป็นอาหารที่สามารถเก็บได้นาน 

โรงงานที่ขายกุนเชียง ตั้งอยู่ใกล้ๆ บ้านแม่ผม แถวสมุทรปราการ เจ้าของก็สนิทสนมกัน ผมกินมาตั้งแต่เด็ก คิดว่ามันพอมีโอกาส น่าจะคุยกันได้ ทางโรงงานเขาก็โอเคที่จะให้เรารับมาขายต่อ 

ถึงผมจะเคยมีประสบการณ์ขายเสื้อ เพื่อนำเงินไปทำบุญ ได้เงินมาเป็นแสนบาท แต่กับกุนเชียง ผมไม่มั่นใจเลยว่า มันขายได้จริงๆไหม เพราะผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน แฟนคลับที่ติดตามเรา ก็เป็นคนที่ชอบสนุ๊กฯ เขาจะสั่งกุนเชียงไหม ?  ผมทดลองสั่งมาขายครั้งแรก 10 กิโลกรัม

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ? 

วันแรกมียอดสั่ง 20 กิโลฯ ประมาณ 40 ถุง วันต่อมามีออเดอร์ 100 ถุง ส่วนหนึ่งคงเพราะแฟนคลับ คงเห็นใจที่เราได้รับผลกระทบ เฉพาะแค่ 3 วันแรก ผมขายได้ประมาณ 100-200 กิโลฯ 

หลังจากนั้น รายการแฉ ของพี่มดดำ (คชาภา ตันเจริญ) ติดต่อมาทาง Facebook บอกว่าอยากให้เราไปออกรายการ ผมตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าคนระดับพี่มดดำ จะมาสนใจชีวิตคนอย่างเรา 

ผมเพิ่งขายได้สองวันเอง แล้วการจะไปออกรายการแบบนี้ได้ มันต้องเสียเงิน ใช้ตังค์ แต่นี่เขาเชิญเราไปออก ช่วยโปรโมตให้ ก็นัดกันประมาณ 1 สัปดาห์ ไปออกรายการเขาแบบงงๆ ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์ ก็เลยคุยกับทางโรงงานว่า ขอติดแบรนด์ของตัวเองได้ไหมบนสินค้า ทางโรงงานเขาก็โอเค ให้ติดแบรนด์ของเราไปออก

หลังจากออกรายการแฉ ยอดขายผมเพิ่มขึ้นเยอะมาก ช่วง 2-3 วันแรกหลังออนแอร์ ผมแทบไม่นอนเลย มีไลน์เด้งทั้งวัน น้องที่เป็นแอดมิน มีคนเดียว รับสายลูกค้าไม่ทันเลย สองวันแรกผมขายได้ประมาณ 2,000 กิโลฯ รับออเดอร์นั่งแพ็คสินค้า จนถึงตี 4 เข้านอน ตื่นตอน 7 โมงเช้ามาแพ็คต่อแล้วไปส่งให้ลูกค้า 

ผมนั่งแพ็คของไป มองกระจกเห็นตัวเองกำลังแพ็คของ ก็หัวเราะตัวเองว่า “นี่ผมมาทำอะไรตรงนี้” แต่ตอนที่ผมขำตัวเอง ผมได้บทเรียนชีวิตเยอะมาก

บทเรียนที่คุณได้จากการขาย กุนเชียง คืออะไร ? 

ผมเล่นสนุ๊กฯ ตั้งแต่อายุ 14 ปี แข่งแป๊ปเดียวก็ได้เงิน หลักพัน หลักหมื่น มาง่ายดาย ตั้งแต่เด็ก แต่พอผมต้องมาเป็น พ่อค้าขายกุนเชียง ผมได้กำไรต่อกล่อง 10 บาท 20 บาท นั่งแพ็คสินค้าปวดหลัง ปวดไปทั้งตัว เหนื่อยกว่าเล่นสนุ๊กหลายเท่า แต่เงินที่ได้แตกต่างกันเยอะมาก 

มันทำให้ผมรู้ว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเดินทางพลาดมาตลอด เพราะเราได้เงินเป็นก้อนใหญ่ ได้เงินไว ทำให้มองข้ามบางอย่างบางสิ่ง ผมเคยชินกับการใช้เงินเพื่อซื้อของที่ตัวเองอยากได้ คิดว่านั่นคือวิธีในการหาความสุข

ถึงแม้ว่าผมจะมีเงินเก็บติดตัว แต่หากผมรู้จักใช้จ่าย และเห็นคุณค่าเงินมากกว่านี้ บางทีผมอาจมีเงินเก็บเกิน 10 ล้านบาท จากเงินรางวัลที่ผมทำได้ 

เพราะสำหรับพ่อค้า แค่บาทเดียวกยังสำคัญมาก ผมแพ็คกุนเชียงกล่องหนึ่ง ใช้เวลาตั้งหลายนาที ได้กำไรแค่ 10 บาท แต่เงิน 10 บาท ถ้ารวมกันหลายก้อน มันสามารถกลายเป็นเงินที่มีมูลค่ามากได้ การมาขายกุนเชียงมันเปลี่ยนวิธีคิดของผมไปเลย 

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการมาเป็น พ่อค้ากุนเชียง ที่คุณคิดว่าสามารถเอาไปปรับใช้ในการเป็น นักสนุกเกอร์อาชีพได้ดียิ่งขึ้น 

ผมได้เรื่องความอดทน เมื่อก่อนถ้าผมรู้สึกเหนื่อยมากๆ หรือผมฟีลไม่ได้ วันนั้นผมจะแทงได้ไม่ดี บางทีรู้สึกไม่อยากแข่งเลย แต่พอเราขายกุนเชียง ผมไม่อยากแพ็คของส่งลูกค้าเลย แต่ผมหยุดได้ไหม ? ผมหยุดไม่ได้ เพราะลูกค้ารอเราอยู่ 

ผมคิดว่าตัวเองได้ต้องเรียนรู้แล้วว่า ในกีฬาสนุกเกอร์ เราต้องหาวิธีการเล่นเพื่อชัยชนะ ในวันที่ฟีลเราไม่ดี นั่นแหละคือ ความอดทนอย่างแท้จริง

อีกเรื่องที่ผมได้รับกลับมาคือ ความกล้าแสดงออก และความมั่นใจในตัวเอง เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะผมไม่มีพรสวรรค์ในการแทงสนุ๊กฯ อาศัยซ้อมเยอะ ซ้อมหนัก ที่ผ่านมา ถ้าผมมั่นใจในตัวเองผมอาจทำผลงานได้ดีกว่านี้

ผมอยากออกจากกรอบความคิดนี้มานานแล้ว วันแรกที่ผมตัดสินใจว่าจะมาขาย กุนเชียง ผมเตรียมใจแล้วว่า ต้องมีคนที่พูดถึงผมในทางไม่ดี แซวว่าผมเป็นนักกีฬาถังแตก ไปถึงระดับโลก ทำไมตกอับมาขายกุนเชียง

แต่ผมเชื่อมั่นในตัวเองว่า สิ่งที่ผมทำคืองานสุจริต ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ผมก็กล้าที่เปิดเผยตัวเองออก และไม่เคยอายที่จะบอกใครว่า ผมขายกุนเชียง

ไม่กี่สัปดาห์ก่อน คุณเจอปัญหาที่ใหญ่มาก ในการเล่นอาชีพ แต่วันนี้คุณกลับดูมีความสุขมากๆ 

ผมชอบดูชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จ นักธุรกิจระดับประเทศ หลายคนเคยเจอกับช่วงเวลาวิกฤต เคยเจอปัญหาอุปสรรคทั้งนั้น แต่คนพวกนี้ ก้าวข้ามมาได้ เพราะมีสติ คิดบวก และมองหาโอกาสเสมอ

ผมมองหาโอกาสจากวิกฤตของตัวเอง คือการขายกุนเชียง ที่คนทุกวัยสามารถกินได้ และเก็บได้นาน แต่ในทางกลับกัน ถ้าวันนี้ผมยังไม่มองหาโอกาส นั่งโทษทุกอย่างว่า ทำไมต้องเกิดอย่างนั้น ? ทำไมต้องเป็นแบบนี้ ? วันนี้ผมอาจจะเป็นคนที่ไม่มีความสุข และนั่งทุกข์ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้ 

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ “หมู ปากน้ำ” ในวันอกหักจากอังกฤษและสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก “กุนเชียง”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook